เช้าตรู่วันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนตื่นขึ้นด้วยเสียงโทรศัพท์ของพี่สาวที่โทรหาด้วยน้ำเสียงห่วงใย กลัวว่าจะอยู่ในที่เกิดเหตุ เนื่องจากเธอยังไม่ได้ออกเวรจากการดูแลคนไข้กะกลางคืน จึงได้เห็นข่าวเช้าของการปราบปรามประชาชนที่หน้ารัฐสภาก่อนที่จะรีบโทรมา คาดว่าด้วยวิสัยของผู้เขียนมักจะร่วมในเหตุการณ์ประท้วงอยู่บ่อยครั้ง ครั้งนี้เธอคาดผิด แต่กลับเป็นความดีใจของเธอที่น้องสาวไม่ได้อยู่ที่นั่น แต่เป็นความกังวลสำหรับผู้เขียนแทนเพราะพี่สาวคนที่สองของบ้านกลับเป็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ประท้วงและติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรตั้งแต่การชุมนุมครั้งที่สองเริ่มต้นขึ้น แต่โชคดีที่เธอปักหลักอยู่ที่ทำเนียบในวันนั้น แม้เราสองคนจะคิดต่างขั้วกันอยู่เสมอ แต่ก็ไม่เคยเห็นด้วยกับการกระทำความรุนแรงของผู้มีอำนาจต่อกลุ่มประชาชนรากหญ้าที่ปราศจากอาวุธทุกกลุ่ม ทุกกรณี
เช้าวันนั้นช่อง 7 สี ช่อง 9 อสมท. มีภาพเหตุการณ์สดออกอากาศอยู่เป็นระยะ ในขณะที่ช่อง 3 ยืมภาพข่าวจากสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวีมาประกอบรายการเรื่องเล่าเช้านี้ วันนั้นผู้สื่อข่าวทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่ แม้ว่าจะฝ่าฟันกับอันตรายและถูกผลกระทบจากแก๊สน้ำตา เพื่อให้ได้ภาพข่าวและข่าวมาสู่ผู้ชมทางบ้านอย่างเปิดเผย และไม่บิดเบือน ในภาพข่าวก็ได้เห็นภาพช่างกล้องบางคนเสี่ยงชีวิตเพื่อให้ได้ภาพตำรวจยิงแก๊สน้ำตาสู่ฝูงชนอย่างชัดเจนถึงกับไปยืนถ่ายภาพข้างหน้าแถวตำรวจขณะระดมยิงแก๊สน้ำตา จนมีเสียงตวาดเล็ดลอดออกไมค์ให้กลับเข้ามาอยู่ข้างหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ
การทำหน้าที่ของผู้สื่อข่าวภาคสนามกับพิธีกรข่าวและผู้ประกาศข่าวของสื่อมวลชนในวันนั้น ฉายให้เห็นถึงวิญญาณของความเป็นสื่อที่ทำหน้าที่เปิดเผยความจริงของการกระทำความรุนแรงของรัฐต่อประชาชนที่ปราศจากอาวุธ บางคนเสี่ยงชีวิตและบาดเจ็บ บางคนแม้จะได้รับผลกระทบจากแก๊สน้ำตาแต่ก็พยายามรายงานข่าวและยังคงทำหน้าที่ของตนต่อไป
แต่ทว่า.....ภาพของการทำงานของผู้สื่อข่าวกับภาพข่าว อาจจะไม่ใช่ประเด็นเดียวที่ผู้ชมถูกกำหนดให้ชม เนื่องจากว่าในปัจจุบัน สถานีโทรทัศน์กับการโฆษณาในยุคการสื่อสารข้ามพรมแดน มีแนวการโฆษณาประชาสัมพันธ์แบบใหม่ โดยการให้ผู้ชมแสดงความคิดเห็นผ่านรายงานด้วยการส่งข้อความทางโทรศัพท์มือถือไปยังเลขหมายที่กำหนดไว้หน้าจอ ขึ้นอยู่กับแต่ละรายการกำหนดหมายเลขโทรศัพท์ให้ติดต่อไป และข้อความเหล่านั้นก็จะนำขึ้นเป็นตัววิ่งในแถบด้านล่างของรายการ ดึงความสนใจของผู้ชมไปไม่มากก็น้อย ในแง่ของการสื่อสารมวลชน ข้อความเหล่านี้ย่อมมีอิทธิพลต่อความคิดความรู้สึกของผู้คนไม่น้อย
ในวันที่ 7 ตุลาคมจึงมีจำนวนข้อความวิ่งอยู่บนหน้าจอ ด้วยข้อความที่ต่างกันไป และสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง ในขณะรายงานข่าวมีข้อความหนึ่ง เขียนว่า "ตำรวจทำดีที่สุดแล้ว" แช่ไว้เป็นเวลานาน นานพอที่เห็นข้อความแล้วจะสามารถเดินไปค้นหากล้องในกระเป๋า เปิดกระเป๋ากล้องและถ่ายภาพนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ข้อความที่ขึ้นนั้นแม้จะขัดแย้งกับสิ่งที่เห็นในภาพข่าว ขัดแย้งกับความรู้สึกของผู้คน ที่เห็นตำรวจเล็งปืนยิงแก๊สน้ำตาเข้าไปในฝูงชน แทนที่จะยิงขึ้นฟ้า แต่กลับมีข้อความดังกล่าวขึ้นมา เป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์แย้งภาพที่กระทำ ในยุคการโฆษณาประชาสัมพันธ์ยุคใหม่หรือไม่???
การให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นผ่านข้อความ (SMS) ทางจอโทรทัศน์เป็นปรากฎการณ์หนึ่งของยุคสมัย แต่ข้อควรระมัดระวังต่อสังคมอย่างไร มีหรือไม่