\\/--break--\>
ครั้งหนึ่งเธอติดตามสัมภาษณ์คนที่เคยออกรายการทีวียอดนิยมรายการหนึ่งที่นำเสนอเรื่องราวของชีวิตผู้คน เธอพบว่า ชีวิตหลังจากรายการออกอากาศแล้ว คนเหล่านี้ประสบปัญหาในการใช้ชีวิตที่ไม่สามารถเป็นไปอย่างปกติสุขเช่นเดิมได้ บางรายพบว่า ญาติพี่น้องที่ถูกนำมาเกี่ยวข้องกับเรื่องราวชีวิตได้รับผลกระทบในเชิงลบ แต่ไม่อาจท้วงถามความรับผิดชอบจากใคร ได้แต่รอให้กระแสของเรื่องราวชีวิตของพวกเขาค่อยๆ เลือนหายไปจากสังคม แต่เธอก็สังเกตได้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังคงเป็นแผลที่หากใครมาสะกิดก็จะเจ็บขึ้นมาได้เหมือนกัน
เมื่อผู้เขียนถามว่า เมื่อไปพบเรื่องราวที่น่าสนใจเช่นนี้ในฐานะสื่อสารมวลชนคนหนึ่ง ทำไมไม่นำเสนอสู่สาธารณชนล่ะ เพื่อเป็นการตรวจสอบการทำงานของสื่อไง เธอตอบว่า เธอเป็นนักศึกษาตัวเล็กๆ จะไปทำอะไรได้ รายการทีวีเป็นรายการดัง คนนิยมชมชอบเยอะ พูดง่ายๆ คือ เขายิ่งใหญ่กว่าเธอมาก
คำตอบและการกระทำของเธอ กลายเป็นการเซนเซอร์ตัวเองไปโดยปริยาย เป็นสิ่งที่เกิดจากความกลัวบางสิ่งบางอย่างในโครงสร้างสังคมที่ดำเนินมาเป็นเช่นนั้น บ่งบอกถึงความเป็นสังคมนั้น สังคมไทยเป็นสังคมที่ปลูกฝังความกลัวบางอย่างและไม่กล้าตรวจสอบ ไม่กล้าทวงถาม ไม่กล้าค้นหาความถูกต้อง เราสมยอมและยอมรับให้อำนาจบางอย่างกดทับมาตลอด และอำนาจนั้นก็ส่งผลให้เกิดความกลัว เป็นความกลัวแบบอัตโนมัติ เหมือนมีคำสั่งที่ฝังลงในชิฟ และที่สุดแล้ว การศึกษาและสถาบันการศึกษาก็ไม่ได้เป็นเครื่องมือที่ช่วยแก้ปัญหานี้ มันเป็นวัฒนธรรมความกลัวที่มีอยู่ทุกมุมในสังคม แม้แต่สถาบันการศึกษาที่สอนสื่อ และสื่อถือเป็นสถาบันหนึ่งที่มีอำนาจต่อรองมากกว่าสถาบันอื่น แต่ก็ไม่ได้มีอิสระทางความคิดและปลดปล่อยตัวเองจากความกลัวแต่อย่างใด
สังคมไทยยอมปล่อยให้คนมีเงินและอำนาจอยู่ในมือดำรงอยู่ได้ จึงไม่ควรโทษเด็กสาวที่มองเห็นความเป็นจริงในเรื่องนี้ และหาทางเลือกให้กับเธอเอง เมื่อเธอเองก็เป็นเหยื่อของสังคมที่หลอมกันมาแบบนั้น