หลังยุคเสรีภาพทางสื่อที่อินโดนีเซียได้รับตั้งแต่ปี 1998 จาการ์ตาโพสต์จึงเน้นการกระจายหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นหลายราย ไม่มีใครถือหุ้นใหญ่กระทั่งควบคุมการบริหารเบ็ดเสร็จ ผู้ถือหุ้นมีตั้งแต่กลุ่มธุรกิจทุนนิยมจ๋า กลุ่มธุรกิจสื่อทางเลือก (อูตันกายู กรุ๊ป) กลุ่มธุรกิจสื่อยักษ์ใหญ่ (คอมปัส กรุ๊ป) ฯลฯ เป็นต้น ความหลากหลายของผู้ถือหุ้นอาจมีส่วนถ่วงดุลอำนาจกันเองได้ จะโชคร้ายจริงๆ ก็ต่อเมื่อมีการร่วมหัวกันปฏิบัติการ แต่เชื่อไว้ก่อนหว่าหลักการในเชิงธุรกิจแบบนี้น่าจะเวิร์ก
ถามว่า แล้วเป้าหมายการนำเสนอข่าวอย่างสื่อมืออาชีพบรรลุไหม ภายใต้โครงสร้างบริษัทแบบนี้แล้วพออุ่นใจได้บ้าง ส่วนที่เหลือเขาบอกถึงความมั่นใจในการเป็นสื่อมืออาชีพของเขา โครงสร้างของบุคลากรข่าวทั้งชาวอินโดนีเซียและชาวต่างประเทศพร้อมทั้งปริมาณและคุณภาพ ปัญหาอย่างเดียวที่จะมีก็คือ การเซนเซอร์ตัวเองของนักข่าว นิสัยที่อาจติดมาจากยุคสมัยของเผด็จการซูฮาร์โตที่มีการบิดเบือนปิดกั้นและคุกคามสื่ออย่างรุนแรง ตรงนี้เขาสามารถแก้ไขได้ ด้วยการสร้างเสรีภาพที่เป็นจริงให้เกิดขึ้นบนหน้ากระดาษของจาการ์ตาโพสต์ บอกนักข่าวว่าให้มั่นใจที่จะพูดออกมาในความจริงที่เขาค้นพบ จงมั่นใจว่าปลอดภัยในเสรีภาพการพูดของพวกเขา
เล่าให้ฟังว่า สื่อในอินโดนีเซียทั้งท้องถิ่นและกระแสหลักเคยถูกปิดกั้นเสรีภาพถึง 30 กว่าปี กว่าจะสูดอาการบริสุทธิ์ของเสรีภาพ นักข่าวบางคนก็ปาเข้าไป 70 กว่าปีแล้ว ประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อเสรีภาพสื่อแตกต่างจากไทยอย่างสิ้นเชิง ประเทศไทยที่อ้างตัวว่าเป็นประเทศประชาธิปไตย สื่อมีเสรีภาพเต็มที่ แต่ทว่า เหตุการณ์ทางการเมือง เหลือง-แดงที่ผ่านมา สื่อทั้งหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์กลับเอนเอียงอย่างเห็นได้ชัด จะเป็นการจงใจเซนเซอร์ตัวเองหรือยินดีกับสิ่งที่ตัวเองนำเสนอก็สามารถคาดเดากันได้ด้วยสติปัญญาของผู้อ่านและผู้ชม
จึงน่าเศร้าใจอย่างยิ่งว่า ความยินดีต่อการเซนเซอร์ตัวเอง หรือยินดีต่อการนำเสนอสิ่งที่ตนนำเสนออยู่โดยปราศจาการตรวจสอบและการให้ข้อมูลรอบด้านแก่ผู้ชมของสื่อไทยนั้น.. ยังสามารถเรียกตนเองว่าเป็นสื่อเสรีในประเทศที่ปกครองแบบประชาธิปไตยได้จริงหรือ
ถึงเวลาหันมาวิพากษ์ตนเองบ้างหรือยัง ...