ช่วงที่ผู้เขียนอยู่อินโดนีเซีย ต้องพึ่งข่าวสารและสมัครเป็นสมาชิกหนังสือพิมพ์และนิตยสารภาษาอังกฤษสองฉบับคือ the Jakarta Post และ Tempo เพื่อเข้าใจ (ผ่านสื่อ) ต่อสังคมอินโดนีเซียน ซึ่งช่วยได้ในภาพรวม ไม่ได้ทำให้ผู้เขียนตกกระแสสังคมอินโดนีเซียเกินไป ผู้เขียนได้เคยเอ่ยถึงและนำคำสัมภาษณ์ผู้จัดการในเครือจาการ์ตา โพสต์ลงในคอลัมไปบ้างแล้ว ครั้งนี้จะขอเอ่ยถึงองค์กรสื่อหนึ่งที่ทรงอิทธิพลมากแห่งหนึ่งของอินโดนีเซีย และได้ชื่อว่าเป็นสื่อกระแสหลักแต่เป็นทางเลือกหนึ่งของภาคประชาชนแดนตากาล็อค
Tempo (หรือหมายถึง Time) มีสองภาคภาษาคือ ภาคภาษาอินโดนีเซียและภาคภาษาอังกฤษ จำนวนพิมพ์ของภาคภาษาอังกฤษกว่าสองหมื่นเล่มในแต่ละสัปดาห์ ไม่นับภาคภาษาอินโดนีเซีย ซึ่งแน่นอนว่า เจ้าของภาษาย่อมมีข่าวเข้มข้นกว่า การเลือกภาคภาษาอังกฤษคือ เลือกสรรข่าวสารสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่คาดว่าเป็นชาวต่างชาติและชนชั้นกลาง (ชนชั้นปัญญาชน) บางกลุ่ม
เอ่ยชื่อ Tempo นั่นหมายถึงการเอ่ยถึงรากของการต่อสู้เพื่อเสรีภาพสื่ออันยิ่งใหญ่ของอินโดนีเซีย เพราะ Tempo เป็นนิตยสารข่าวรายสัปดาห์ฉบับหนึ่งที่ยืนหยัดถึงเสรีภาพการนำเสนอข่าวสารและกล้าวิพากษ์วิจารณ์เจาะลึกถึงความไม่ชอบมาพากลของรัฐบาลเผด็จการซูฮาร์โตสมัยนั้น การเสนอข่าวคอรัปชั่นเรือรบสงครามของลูกชายนายพลซูฮาร์โตอย่างต่อเนื่องทำให้ นิตยสาร Tempo และสื่อฉบับอื่นที่เล่นข่าวเดียวกันอย่าง DeTik และ Editor ถูกปิดลงด้วยอำนาจของเผด็จการ เมื่อปี พ.ศ. 2537 การสั่งปิด Tempo และสื่ออีกสองฉบับทำให้สะเทือนต่อเสรีภาพของสื่อในแดนตากาล็อค ซึ่งได้ก่อกระแสคลื่นของการเรียกร้องเสรีภาพสื่อและเกิดสื่อทางเลือกขึ้นมากมายในเวลาต่อมา Tempo จึงเป็นประวัติศาสตร์ที่วงการสื่อของอินโดนีเซียต้องจารึก
Tempo เป็นสื่อหนึ่งในเครือขององค์กรสื่อทางเลือกที่เรียกตนเองว่า Utan Kayu Community เป็นสถานที่คล้ายกับว่า เป็นแหล่งอุดมปัญญาและเป็นสังคมวิพากษ์วิจารณ์ที่สำคัญแห่งหนึ่ง เป็นที่แสดงศิลปะ ดนตรี หนังสือ และมีโรงพิมพ์หนังสือของตนเอง นอกจากนี้ยังมีวิทยุชุมชนที่เป็นที่ยอมรับของภาคประชาชนคือ radio 68H ฉะนั้น Utan Kayu จึงครบวงจรของสื่อทางเลือกของภาคประชาชน ในแนววิพากษ์วิจารณ์เชิงลึกและ Tempo เป็นนิตยสารข่าวที่นำความคิดทางสังคมหนึ่งที่ชนชั้น elite รวมทั้งนักการเมืองไม่พลาดในการติดตาม การเปิดโปงการทุจริตโครงการต่างๆ ของนักการเมือง, การติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มอำนาจซูฮาร์โตทั้งครอบครัวและพรรคพวกในโครงการต่างๆ เป็นต้น
Tempo มีบรรณาธิการซึ่งเป็นคนคุณภาพของวงการสื่อคนหนึ่ง ที่ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยและเป็นส่วนหนึ่งที่ต่อต้านเผด็จการรัฐบาลทหารซูฮาร์โต เขาคือ Guenawan Mahamad [1] เขาเป็นทั้งกวี นักเขียน สื่อที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพสื่อ และเป็นนักประชาธิปไตย เขาเป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อแนวคิดหลักของ Tempo และ Utan Kayu ก็คงไม่ผิดนัก เพราะผู้สื่อข่าวทั้งหลายในองค์กรก็คือ กลุ่มคนที่ติดตามประวัติศาสตร์การต่อสู้เสรีภาพสื่อของ Guenawan และติดตามผลงานและผลิตผลทางด้านการงานในรูปนิตยสาร หนังสือของเครือนี้ และพวกเขาถือว่า Guenawan เป็นครูในในแวดวงอาชีพสื่อสารมวลชน ที่มีความคิดก้าวหน้า และมีจริยธรรมของสื่อ กฎบรรญัติอันเคร่งครัดของผู้สื่อข่าวใน Tempo คือ การห้ามรับซองขาว จากแหล่งข่าวเป็นอันขาด ผู้สื่อข่าวต้องซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ และยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก Tempo จึงมีนักข่าวที่กินอุดมการณ์ ทำงานหนัก แต่พออยู่พอกิน ต่อเนื่องกันมาหลายรุ่น
นอกจากนี้ มิตรสหายที่ร่วมรบมาในสนามสื่อตั้งแต่เริ่มก่อตั้งของ Guenawan ก็คือ กลุ่มคนที่เป็นนักกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัย University of Indonesia เป็นกลุ่มคนที่สนใจการเมืองภาคประชาชน ซึ่งในการเมืองอินโดนีเซียมีรากอันแตกต่างไปจากสังคมบ้านเราตรงที่เป็นอาณานิคม การต่อสู้ของภาคประชาชน (independent) จึงเข้มข้น และหลากหลายแนวความคิดนำ (ทางการเมือง) แนวความคิดความเป็นเอกราช เปลี่ยนผ่านทั้ง โปร- คอมมิวนิสต์ แอนตี้- คอมมูนิสต์ และโปร-ประชาธิปไตย (แบบตะวันตก) ซึ่ง Guenawan โตมากับบริบทสังคมในช่วงนี้ เขาเป็นนักประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ เขาไม่นิยมรัฐอิสลาม แต่เสนอแนวคิดอิสลามเสรี [2] ฉะนั้นแม้ว่าเขาจะเป็นสื่อมวลชนหัวก้าวหน้า เป็นที่ยอมรับของภาคประชาชน แต่ในอีกมุมหนึ่ง เขาก็ถูกระแวดระวังจากอิสลามหัวรุนแรงในข้อกล่าวหา ว่ามีอเมริกาสนับสนุน [3]
ด้วยความที่มิตรสหายร่วมรบมีหลากหลายแนวคิดก้าวหน้า แต่ผสานกันในจุดร่วมเดียวกันคือ ข่าวสารเพื่อภาคประชาชน Tempo และสื่อในเครือ Utan Kayu จึงเป็นสื่อที่อยู่ข้างประชาชนที่เสียเปรียบ การเปิดโปงคอรัปชั่น ก่อกระแสความเป็นธรรมกับชนกลุ่มน้อย และคนชายขอบ เช่น รณรงค์ให้ความสนใจกับคนไร้บ้านในเรื่องสุขภาพ เป็นต้น แต่ Tempo มีบุคลิกต่างตรงที่เขย่าในเชิงโครงสร้างหลักที่นำมาซึ่งความไม่เป็นธรรมทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และกฎหมาย Tempo จึงเป็นสื่อที่ทรงอิทธิพลสามารถเขย่ารัฐบาลได้ทุกสมัย
อ้างอิง
1 Steele Janet, Wars Within, Institute of Southeast Asian Studies, Singapore, 2005
2 ในหนังสือเล่มเดียวกัน
3 สัมภาษณ์ ซานอล ซูร์โยโกซูโม, เมษายน 2548