ครั้งก่อนกล่าวถึง Tempo ซึ่งเป็นนิตยสารประเทืองปัญญาของสังคมอิเหนา ที่ชาวอิเหนา (ภาคประชาชนและปัญญาชน) ภาคภูมิใจยิ่งที่ในแวดวงสื่อสิ่งพิมพ์มี Tempo
หากจะเปรียบว่าสังคมมะกันมี Time อิเหนาก็มี Tempo และ Tempo ไม่ใช่นิตยสารรายสัปดาห์ที่เอาข่าวของรายวันมายำ แล้วใส่ความคิดเห็นลงไปอีกหน่อยเพิ่มเหมือนสื่อสิ่งพิมพ์รายสัปดาห์โดยทั่วไปทำกันเท่านั้น แต่นักข่าวของ Tempo มีเวลาในการทำข่าว เจาะข่าวมากพอสมคาร และมีประเด็นข่าวเป็นตัวของตัวเอง เพราะฉะนั้นข่าวเจาะลึกของ Tempo จึงมีลักษณะเฉพาะตัว นอกจากประเด็นเชิงเผ็ดร้อนในเชิงการเมืองแล้ว Tempo ยังมีสารคดีเชิงวัฒนธรรม และบันเทิงในแง่มุมวรรณกรรม ดนตรี ภาพยนตร์ และศิลปะ ที่สอดคล้องไปกันกับเนื้อหาทั้งหมดของหนังสือ
ความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนที่สัมผัสสังคมสื่ออิเหนาทั้งสื่อภาคประชาชน และสื่อภาคธุรกิจ หลังยุคซูฮาร์โต ที่แบ่งภาคค่อนข้างชัดเจนเรื่องการมุ่งเน้นเติบโตในเชิงธุรกิจสื่อ และสื่อภาคประชาชน ซึ่งคนในสื่อทั้งสองกลุ่มก็เป็นคนที่ไขว้กันไปมา และมีประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อเสรีภาพในยุคมืดที่ตกอยู่ภายใต้เผด็จการ 32 ปี เผชิญกับการระมัดระวังในการถูกปิดกิจการและต้องเซนเซอร์ตัวเองในการนำเสนอข่าวมาด้วยกัน ทำให้พวกเขารักและหวงแหนเสรีภาพของสื่อมาก ทั้งสองกลุ่มจึงมีความกระตือรือร้นในการแก้ไขกฎระเบียบ เช่น กฎการขออนุญาตทำเปิดหัวหนังสือจากรัฐ ก็มีการแก้ไขให้ง่ายและถูกคุกคามน้อยที่สุด หรือเปลี่ยนการควบคุมการแบ่งสรรคลื่นความถี่ของวิทยุโทรทัศน์จากการควบคุมของหน่วยงานภาครัฐก็นำไปสู่ภาคประชาชน ซึ่งมีกรรมการในการจัดสรรหลากหลายอาชีพ เพื่อป้องกันการผูกขาดผลประโยชน์โดยการพิจารณาของคนที่ใช้อำนาจรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว
การดิ้นรนจากอำนาจการครอบงำของรัฐที่มีมาอย่างต่อเนื่องของสื่ออิเหนา ทำให้การตระหนักถึงเสรีภาพการพูดการเขียนของพวกเขาค่อนข้างเข้มข้น อย่างไรก็ตาม รัฐก็ยังคงหาวิธีการในการควบคุมสื่อหรือหาเรื่องสื่อได้ ด้วยการไปงัดเอากฎหมายอาชญากรรมหรือ Criminal code ที่เคยใช้ในยุคสมัยของดัทช์ครอบครองมาใช้ ทำให้สื่อต้องได้รับโทษทางอาญาและทางแพ่งได้ง่ายๆ นอกจากนี้ยังฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงินหลายร้อยล้านรูเปียกับผู้สื่อข่าว หรือ บรรณาธิการบริหาร ซึ่งมีคดีฟ้องร้องสื่อหลายสิบรายอยู่ในขณะนี้ และมีบางคนถูกตัดสินจำคุกไป 6 เดือน ถึงหนึ่งปีแล้วก็หลายคน
จากอำนาจมืดใช้ในการปิด เซนเซอร์มาสู่การใช้กฎหมายเล่นงานสื่อ เป็นการเปลี่ยนรูปแบบการคุกคามสื่อของรัฐ ซึ่งองค์กรสื่อในอิเหนา พยายามเรียกร้องและผลักดันให้เลิกใช้กฎหมาย (Criminal code) นี้ ให้หันมาใช้ Press Law ที่มีอยู่แทน เพราะบทในการลงโทษต่างกันมาก
การคุกคามด้วยกฎหมายก็เป็นการปรามให้สื่อลดการนำเสนอข่าวสารที่เป็นเชิงลบของภาครัฐ รวมถึงการคอรัปชั่นลง แต่ดูเหมือนว่าไม่ได้ทำให้ความเข้มข้นของการต่อสู้ให้มีเสรีภาพของสื่ออิเหนาลดลง กลับยิ่งทำให้กลุ่มองค์กรสื่อทั้งหลายจับมือกันแน่นมากขึ้น เพื่อป้องกันการเล่นงานจากกลไกการควบคุมทั้งหลายแบบเข้มข้นขึ้น เพราะรสชาติของเผด็จการยังหลอนพวกเขาอยู่