สมจิต คงทน
กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน (โลโคลแอค)
เมื่อชาวบ้านถูกฟ้องคดี
"ก่อนถูกฟ้องคดีเขาเป็นคนขยัน พอถูกจับและยึดที่ดินไป ซึ่งเป็นที่ดินที่เขาสองคนผัวเมียได้อยู่อาศัยทำกินกันมายาวนาน เขากลายเป็นคนคิดมาก ควบคุมสติตัวเองไม่ได้ ทุบตีเมียตัวเอง และเคยคิดฆ่าตัวตาย จนกลายเป็นปัญหาครอบครัว สุดท้ายก็ต้องแยกทางกัน ส่วนลูก 2 คนก็แบ่งกันไปคนละคน"
นางเหิม เพชรน้อย ชาวบ้านตำบลบ้านนา จังหวัดพัทลุง เล่าถึงชะตากรรมชีวิตของเพื่อนบ้านครอบครัวหนึ่งที่ถูกฟ้องทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา โดยกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า หรือ เทือกเขาบรรทัด ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ภาคใต้ จังหวัดพัทลุง ตรัง และนครศรีธรรมราช
ย้อนไปเมื่อปี 2542 นางเหิมและนายวิง เพชรน้อย ได้ซื้อที่ดินแปลงหนึ่ง จำนวน 35 ไร่ สภาพที่ดินเป็นสวนยางพาราเก่าที่หมดสภาพแล้ว เป็นที่ดินที่มีใบ ภบท.5 (ใบแจ้งการเสียภาษีบำรุงท้องที่) ในทุกๆ 4 ปี ต้องไปชำระภาษีที่องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านนา อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง สาเหตุที่ซื้อมาในขณะนั้นเพราะมีคนบอกว่า สามารถทำเรื่องขอกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางได้ และในปี 2545 จึงได้ไปขอทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ซึ่งต่อมาช่วงปลายปีทางเจ้าหน้าที่ สกย. ได้ส่งคนเข้าไปสำรวจด้วยการส่องกล้อง และในวันที่ 10 มีนาคม 2546 ได้นายวิง ได้รับอนุญาตให้โค่นต้นยางเก่าได้
เมษายน 2546 นายวิงเริ่มต้นโค่นต้นยางเก่า
22 มิถุนายน 2546 นายวิงจุดไฟเผ่าซากต้นยางเก่า
23 มิถุนายน 2546 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติพร้อมกับตำรวจในท้องที่ ได้เข้ามาจับกุมนายวิง ด้วยข้อหา ครอบครอง บุกรุก แผ้วถาง เผ่าป่า ตัดโค่นต้นไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติ แต่เนื่องจากที่ดินผืนนี้มีเพื่อนบ้านที่ครอบครองด้วยกัน อีก 4 คน เจ้าหน้าที่อุทยานจึงนัดให้ทั้งหมดไปให้ปากคำที่สถานีตำรวจ
นายวิงเล่าถึงตอนไปให้ปากคำว่า "เขาบอกให้เราไปเป็นพยาน เพื่อแสดงว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่ใช่ที่ดินของเราอย่างเดียวแต่เป็นของคนอื่นด้วย แต่กลายเป็นว่าเราไปรับสารภาพ เราจึงกลายเป็นผู้ต้องหา ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา"
จนกระทั่งวันที่ 27 ธันวาคม 2546 ศาลจังหวัดพัทลุงมีคำพิพากษาให้ลงโทษ จำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท นายวิงเช่นเดียวกันกับเพื่อนบ้านอีก 4 คน
นายวิงยังกล่าวว่า "ศาลไม่ได้ถามอะไรเลย เขาบอกว่าเรารับสารภาพแล้ว จึงเอาตัวเราเข้าห้องขัง นอนอยู่ในห้องขังหนึ่งคืน เพราะภรรยาหาหลักทรัพย์มาประกันตัวไม่ทัน เนื่องจากต้องไปเฝ้าลูกสาว ซึ่งคลอดลูกอยู่ที่โรงพยาบาล"
หลังจากศาลตัดสินแล้ว พวกตนก็ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล ไม่ได้รุกล้ำเขาไปในที่ดินผืนดังกล่าวอีกเลย
เวลาผ่านไปเกือบ 4 ปี สิ่งที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นอีกครั้ง...เมื่อศาลได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายนายวิงเป็นจำนวนเงินถึง 2,540,963 บาท ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2550
"เมื่อเปิดดูทุกคนต่างตกใจ เพราะมันเป็นหมายเรียกศาล พร้อมคำฟ้องเรียกค่าเสียหาย 2,540,963.16 บาท ระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ และนายวิง เพชรน้อย เป็นจำเลย สำหรับคนอื่นๆที่โดนคดีอาญาพร้อมกับนายวิง ก็มีหมายศาลคดีแพ่งด้วยเช่นกัน เพียงแต่มูลค่าความเสียหายไม่เท่ากัน เช่น นายวิโรจน์ 4,429,681.44 บาท นายทิน 5,108,564,04 บาท"
นางเหิมเล่าด้วยน้ำเสียงอันเศร้าว่า "พวกลูกๆ ร้องไห้ บอกว่าไม่เป็นไรให้เขายึดไปเถอะ เขาจะยึดไปหมดก็ช่างเขา ให้พ่อยังอยู่กับพวกเราก็พอแล้ว ตอนนั้นตนเองก็ฟุ้งซ่าน ไม่กล้าบอกเพื่อนบ้านเพราะอายที่เราถูกคดีอาญาไปแล้ว หนำซ้ำยังมีคดีแพ่งอีก 2 ล้านกว่าบาท ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร เพราะเรามันคนไม่รู้หนังสือ เป็นคนจนนี่ลำบากจริงๆ"
นางเหิมได้เล่าถึงสามีต่ออีกว่า "นายวิงคิดจะฆ่าตัวตาย ตั้งแต่ตอนแรกที่มีหมายศาลมาถึงบ้าน ตอนเสียค่าปรับ 20,000 บาท เมื่อโดนคดีอาญา ต้องไปกู้ยืมเงินเขามา ตอนนี้ยังเสียดอกเบี้ยไม่หมด แล้ว 2 ล้านกว่าบาทจะเอาที่ไหนมาจ่าย แกก็ตกใจ แกบอกว่าถ้าไม่มีแกคนหนึ่งเรื่องทุกอย่างก็จบ"
นี่เป็นเพียงกรณีหนึ่งในทุกข์ของชาวบ้าน ผู้ที่ถูกหน่วยงานรัฐใช้อำนาจกฎหมายเพื่อยัดเยียดความผิดให้อย่างไม่เป็นธรรม เมื่อเห็นว่าลำพังชาวบ้านไม่กี่คนย่อมไม่สามารถต่อสู้แก้ไขปัญหาได้ จึงมีการรวมตัวกันมากขึ้นกับชาวบ้านอื่นๆที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทยานทับที่ดินทำกิน โดยเรียกตัวเองว่า เครือข่ายองค์กรชุมชนรักษ์เทือกเขาบรรทัด ต่อมากลุ่มชาวบ้านได้ใช้แนวทางการต่อสู้ โดยชุมนุมประท้วงของสมาชิกเครือข่ายเพื่อปิดถนนข้างศาลากลางจังหวัดพัทลุง ระหว่างวันที่ 17 - 18 กันยายน 2550 ที่ผ่านมา เพื่อยื่นหนังสือถึง นายสุเทพ โกมลภมร ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง เพื่อขอให้ยุติการดำเนินคดีทั้งทางอาญาและแพ่งต่อสมาชิกเครือข่ายฯ และยุติการทำลายทรัพย์สิน ข่มขู่ คุกคาม ตรวจยึดพื้นที่ทำกินเดิมของสมาชิกเครือข่าย
ร่วมกันฟื้นฟูป่า เด็กปลูกป่าชุมชน
ผลการเจรจาระหว่างตัวแทนชาวบ้านและผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ทางผู้ว่าฯรับประสานงานกับพนักงานอัยการให้ยุติการดำเนินคดีกับชาวบ้าน และได้ตั้งคณะกรรมการประกอบด้วยตัวแทน 3 ฝ่ายคือฝ่ายอุทยานแห่งชาติเขาปู่ - เขาย่า เครือข่ายองค์กรชุมชนรักษ์เทือกเขาบรรทัด และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เพื่อตรวจสอบว่ากรณีที่เป็นปัญหาอยู่นั้นเป็นที่ดินทำกินเดิมหรือไม่ โดยใช้ระยะเวลาตรวจสอบ 1 เดือน
เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 ที่ผ่านมา คณะกรรมการได้นำเสนอผลการตรวจสอบที่ดินทั้งสิ้น 54 ไร่ ต่อนายพินิจ เจริญพานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ซึ่งได้ระบุที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินทำกินเดิมทั้งสิ้น
ป้ายประกาศพื้นที่เครือข่าย
นางเหิมกล่าวในตอนท้ายว่า "การเข้ามาร่วมต่อสู้กับเครือข่ายในครั้งนี้ทำให้ตนและครอบครัวมีกำลังใจ และพร้อมที่จะฝ่าฟันปัญหาอุปสรรคต่างๆที่เกิดขึ้นต่อไป เพราะพวกเราเป็นคนจน เป็นชาวบ้านธรรมดา ถ้าไม่รวมตัว รวมพลังกันก็จะถูกเอารัดเอาเปรียบได้ง่าย"