เมธี สิงห์สู่ถ้ำ
กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน
ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ อาจารย์จากศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาที่ดินของหน่วยงานรัฐไว้อย่างน่าสนใจ เริ่มจากการพูดถึงภาพรวมสถานการณ์ที่ดินในประเทศไทยว่า
วิกฤติที่ดินเปลี่ยนมือจากชาวนาสู่นายทุน
ปัจจุบันปัญหาที่ดินอยู่ในสภาวะที่ค่อนข้างรุนแรงทั่วทุกภาค ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งในตอนนี้คือ ที่ดินส่วนใหญ่กำลังจะหลุดมือเกษตรกรผู้ผลิตรายย่อยไปอยู่ในมือของนายทุนทั้งในและนอกประเทศอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เมื่อที่ดินที่เคยเป็นของทุกคนในชุมชนในอดีต ที่ดินที่เคยถือกรรมสิทธิ์แบบรวมหมู่ ได้ค่อยๆ ถูกซอยเป็นแปลง แล้วเปลี่ยนมาเป็นการถือครองแบบปัจเจก
ต่อมาเมื่อกระแสโลกาภิวัตน์เริ่มเคลื่อนตัวเข้าสู่ชุมชน ประเทศไทยเริ่มดำเนินนโยบายในการพัฒนาประเทศตามตามแบบฉบับอเมริกา ไทยเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 1 ในปี 2504 ส่งผลให้เกษตรกรโดยเฉพาะชาวนาภาคกลางต้องประสบกับภาวะล่มสลายจากการผลิตเพื่อตอบสนองกลไกตลาด ที่สุดชาวนาต้องกลายเป็นผู้ปลูกข้าวที่ต้องซื้อข้าวกิน และตกอยู่ในภาวะที่ต้องแบกรับภาระหนี้สิน ที่ดินจึงถูกทยอยขายเพื่อใช้หนี้ ดังนั้นจะเห็นว่า ณ ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่ที่ดินเริ่มเปลี่ยนมือไปอยู่กับนายทุนและเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในเวลาต่อมา
กระทั่งปัจจุบัน ที่ดินที่ยังเหลืออยู่ในมือเกษตรกรกำลังถูกรุกไล่อีกครั้งด้วยกระแสแห่งพืชพลังงาน นายทุนทั้งในและนอกประเทศเริ่มเข้าไปกว้านซื้อที่ดินเพื่อปลูกพืชพลังงาน ด้วยภาวะที่ราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ประกอบกับที่ดินมีราคาที่สูงขึ้น เกษตรกรไม่มีทางเลือก ที่สุดก็ต้องทยอยขายที่ดินให้กับนายทุนอีกรอบ นี่คือบทสรุปคร่าวๆ ของสาเหตุที่ทำให้ที่ดินเปลี่ยนกรรมสิทธิ์การถือครองจากเกษตรกรสู่มือของนายทุน
ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาจะเห็นว่านโยบายการจัดการที่ดินของภาครัฐได้ก่อให้เกิดปัญหาในหลายพื้นที่ของประเทศไทย กรณีที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่ภาคอีสาน คือ กรณีการเปิดให้ต่างชาติสัมปทานทำ “โครงการเหมือนแร่โปแตซ” ที่จังหวัดอุดรธานี บทสรุปจากโครงการ ผู้ที่ได้รับประโยชน์เต็มๆ คือนายทุนต่างชาติ รองลงมาคือนายทุนไทยผู้เป็นเจ้าของบริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องในโครงการ ขณะที่รัฐบาลไทยที่มุ่งหวังว่าจะได้รับผลประโยชน์อย่างมหาศาลจากการสัมปทานโครงการ กลับได้รับอานิสงฆ์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
สถานการณ์วิกฤตที่ดินของไทย ดร.เพิ่มศักดิ์ ได้สรุปว่ามีสาเหตุต่างๆ ดังนี้
1. รัฐมองที่ดินเป็นสินค้า ทำให้ที่ดิน-ป่า เป็นเรื่องของเศรษฐกิจ รัฐไม่ได้มีแนวคิดที่จะพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง ดังจะเห็นได้จาก การเปิดสัมปทานในโครงการต่างๆ ให้กับนายทุน ที่ผ่านมา ถ้านายทุนบริษัทไหนจ่ายค่าตอบแทน หรือทำเงินเข้ากระเป๋าเจ้าหน้าที่รัฐมากที่สุด ก็จะเป็นผู้ที่ได้สัมปทานโครงการนั้นไป
2. นักการเมืองมีผลประโยชน์ทับซ้อนในที่ดิน หากมีการตรวจสอบข้อมูลจะเห็นว่า ทรัพย์สินของนักการเมืองส่วนใหญ่คือที่ดิน นักการเมืองบางคนมีที่ดินอยู่ในเขตเมืองย่านเศรษฐกิจที่สามารถปั่นราคาได้เป็นอย่างดี บางคนมีที่ดินตามที่ต่างๆ ทั่วประเทศถึง 60 – 70 แปลง บางคนมีที่ดินเป็น 100 แปลง ซึ่งส่วนใหญ่ที่ดินเหล่านี้นักการเมืองมักจะสะสมไว้สำหรับการดำเนินธุรกิจต่างๆ ผ่านการออกกฎหมายหรือนโยบายพัฒนาประเทศ
3. รัฐไม่ไว้วางใจในเรื่องการจัดการที่ดินโดยชุมชน โดยพยายามอ้างเหตุผลว่า ชาวบ้านต้องการกรรมสิทธิ์ในที่ดินเพื่อนำที่ดินไปขายทำกำไรเท่านั้น ด้วยทัศนะดังกล่าวจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมการผลักดันให้ชุมชนจัดการดูแลป่าหรือการผลักดันกฎหมายป่าชุมชนผ่านกลไกของรัฐจึงเป็นไปได้ยาก
4. กระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่มองชุมชนแยกจากทรัพยากรท้องถิ่น เช่น กระแสสีเขียวที่มองชาวบ้านแยกจากป่า
5. กฎหมายที่ไม่เอื้อต่อชุมชน เช่น มติ ครม.30 มิถุนา ‘41 ที่ว่าด้วยเรื่องของการตรวจสอบพิสูจน์สิทธิ์ในที่ดินโดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศจากหน่วยงานรัฐเป็นหลักโดยที่ชุมชนขาดการมีส่วนร่วม
ทางออกการแก้ไขปัญหาที่ดินระดับชุมชน
ดร.เพิ่มศักดิ์ ได้เสนอ 4 แนวทางออกในการแก้ไขปัญหาที่ดินสำหรับชุมชนว่า 1. ต้องสลายอำนาจรัฐส่วนกลางลงให้ได้ แล้วเปลี่ยนมาใช้อำนาจ 3 หลักในการต่อสู้ คือ อย่างแรก ชุมชนต้องแสดงเจตจำนงค์ให้ชัดเจนโดยถือเอาเจตจำนงค์ของรัฐธรรมนูญเป็นหลัก อย่างที่สอง ใช้กฎเกณฑ์กติกาของชุมชนในการจัดการทรัพยากรเป็นตัวตั้ง อย่างที่สาม ใช้ข้อบัญญัติท้องถิ่นเป็นหลักในการต่อสู้
2.ผู้ที่ประสบปัญหาในที่ดิน ต้องไม่หนี ไม่ขาย หรือโยกย้ายออกจากที่ดินเดิม ผู้ที่อยู่ในเขตป่าต้องไม่รุกป่าใหม่ 3.เชื่อมประสานกับชุมชนหรือเครือข่ายอื่นๆ ให้เป็นเครือข่ายใหญ่เพื่อให้เกิดพลังในการต่อสู้ที่มากขึ้น 4.ชุมชนต้องมีการจัดการที่ดินในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อพิสูจน์ให้สาธารณะเห็นว่า ได้มีการใช้ประโยชน์จากผืนดินและที่ดินมีความสำคัญต่อชีวิตอย่างไร
ทางออกการแก้ไขปัญหาที่ดินระดับประเทศ
ดร.เพิ่มศักดิ์ ได้ฉายภาพการจัดการที่ดินในเขตป่าในประเทศแถบยุโรปว่า ส่วนใหญ่ทุกประเทศมีแนวโน้มที่จะลดอำนาจรัฐการจัดการที่ดินลงเรื่อยๆ เช่น บางประเทศจะจัดการที่ดินแบบ 1:1:1 คือ รัฐจัดการประมาณ 33% ชุมชนจัดการประมาณ 33% ส่วนอีก 33% ให้เอกชนเป็นผู้จัดการ ในส่วนของประเทศไทย ดร.เพิ่มศักดิ์ เสนอให้มีการจัดการแบบ 40:40:20 คือ รัฐจัดการ 40% ชุมชนจัดการ 40% และเอกชน 20%
ในตอนท้าย ดร.เพิ่มศักดิ์ ได้สรุปประเด็นเรื่องทางออกในการจัดการที่ดินโดยชุมชนว่า ในปัจจุบันเกษตรกรในหลายพื้นที่ได้พยายามที่จะค้นหาวิธีการที่จะรักษาที่ดินไม่ให้หลุดมือ ที่ดินหลายแปลงได้ถูกปรับเปลี่ยนมาทำการผลิตเชิงบูรณาการ มีการทำการผลิตแบบผสมผสาน ปลูกพืชแบบหลากหลายในแปลงเดียว ทั้งนี้เพื่อเป็นความพยายามที่จะหาคำตอบให้ได้ว่า ทำอย่างไรจึงจะไม่ประสบปัญหาดังที่ผ่านมา ทำอย่างไรที่ดินที่ยังเหลืออยู่ในมือจะยังคงอยู่ในมือของตนเองต่อไป หลายชุมชนเริ่มพบทางออกและได้มีการขยายแนวคิดไปสู่ชุมชนอื่น นับว่าเป็นความสำเร็จอีกก้าวของการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืนโดยชุมชนอย่างแท้จริง