ไม่ต้องเป็นผู้ฉลาดหลังเหตุการณ์เราก็จินตนาการได้ไม่ยากว่าการชุมนุมก่อน 19 กันยายน 2549 ของกลุ่มพันธมิตร ฯ นั้นเป็นการออกบัตรเชิญให้ทหารทำรัฐประหารแม้ว่าบางคนอาจคิดว่าเป็นไปไม่ได้ การชุมนุมของพันธมิตร ฯ หลังพรรคพลังประชาชนได้เป็นรัฐบาลก็เช่นเดียวกัน ไป ๆ มา ๆ ก็เหมือนเดิมคือการออกบัตรเชิญให้ทหารล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอีกคำรบหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลพลังประชาชนได้บทเรียนมาแล้วก่อนหน้านี้ และได้รู้ว่าความผิดพลาดในรายละเอียดเพียงนิดเดียวอาจเป็นเงื่อนไขนำไปสู่การยึดอำนาจรอบสองได้ รัฐบาลจึงระมัดระวังอย่างยิ่งในการจัดการกับม็อบพันธมิตร ฯ แต่โอกาสที่จะเกิดการรัฐประหารขึ้นก็ใช่ว่าจะไม่มี โอกาสที่จะเกิดรัฐประหารก็มีเหมือนกันทั้งนี้เพราะม็อบพันธมิตร ฯ ได้รับการหนุนหลังจากคนหลายกลุ่มรวมทั้งสื่อมวลชนกระแสหลัก
การชุมนุมเคลื่อนไหวของพันธมิตรนั้นเรียกได้ว่า "ทำลายสถิติ" น่าฉงนใจอย่างยิ่งว่าแรงผลักดันชนิดใดหนอที่ทำให้คนมาเข้ากลุ่มรวมตัวกันได้ยาวนานขนาดนี้ บางคนอธิบายว่าเป็นเรื่องของผลประโยชน์ เมื่อมีคนไปจ้างให้มาชุมนุม ประชาชนก็มา แต่ผมเชื่อว่าหลายคนที่ไปชุมนุมกับพันธมิตร ฯ นั้นไม่เกี่ยวกับค่าจ้าง แต่เป็นความเชื่อฝังหัวบางประการ รวมทั้งความเชื่อที่ว่าในที่สุดกลุ่มพันธมิตร ฯ จะได้รับชัยชนะ
บางคนอธิบายว่าการชุมนุมของพันธมิตร ฯ เป็นเหมือนลัทธิทางศาสนา มีการปลุกใจ ร้องเพลง สวดมนต์ พูดง่าย ๆ ว่ามีพิธีกรรมที่กล่อมเกลาให้ผู้ชุมนุมเปลี่ยนจาก "ประชาชน" กลายเป็น "สาวก" ของลัทธิทางศาสนา เป็นสาวกของลัทธิพันธมิตร ซึ่งจะทำเช่นนี้ได้ก็ต้องอาศัยการโฆษณาชวนเชื่ออย่างเป็นระบบซึ่งลัทธิพันธมิตรทำได้เป็นอย่างดี
การผสมผสานกัน ระหว่างความปรารถนาทางการเมืองกับความเชื่อทางศาสนาก่อให้เกิดลัทธิที่ปนเปกันไปของความเป็นศาสนาและความเป็นการเมือง ชัดเจนมากยิ่งขึ้นเมื่อผู้ฝักใฝ่ในลัทธิพิธีนอกรีต-สันติอโศก เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองด้วย ถือเป็นการบรรจบกันของศาสนาและการเมือง
ลัทธิพันธมิตร ฉลาดที่นำการเมืองและศาสนามารวมเข้าไว้ในพื้นที่เดียวกัน นอกจากการขึ้นปราศรัยด้วยความกราดเกรี้ยวแล้ว ยังมีรายการบันเทิงสอดแทรกโดยตลอด มีการให้ความหวังถึงอนาคต วาดฝันถึงการเมืองใหม่ที่ไม่มีการโกงกิน การสร้างสังคมใหม่ ผู้ร้ายคือปิศาจทักษิณต้องถูกกำจัด และมีพระเอกคือเหล่าพันธมิตร ฯ การโฆษณาชวนเชื่อแบบศาสนาผสมการเมืองนี้สะกดให้ผู้คนคล้อยตามโดยแทบไม่มีเงื่อนไข
การมอมเมาวันแล้ววันเล่าของลัทธิพันธมิตร ฯ ถึงจุดสูงสุดเมื่อมาถึงวัน "เป่านกหวีดครั้งสุดท้าย" ท่ามกลางความยินดีของบรรดาสาวกที่เชื่อว่าเป็นการขยับเข้าใกล้ชัยชนะ
บางคนวิเคราะห์นี่เป็นการหาทางลงของพันธมิตร ฯ เพราะการปักหลักอยู่ที่สะพานมัฆวานอาจสร้างแรงสะเทือนให้รัฐบาลได้แต่ไม่สามารถล้มรัฐบาลได้แน่นอน การดันทุรังปักหลักชุมนุมต่อไปนอกจากจะล้มรัฐบาลไม่ได้แล้ว ยังส่งผลให้รายได้จากการโฆษณาทาง ASTV หดหายไปอีกด้วยแม้ว่าจานดาวเทียมหรือขายของที่ระลึกจะขายได้ก็ตาม ลำพังเพียงแค่เงินบริจาคคงจะเลี้ยงบริษัทไปได้ไม่นานและเหล่าสาวกแม้นจะจงรักภักดีแต่ก็เหนื่อยล้าได้เหมือนกัน การเป่านกหวีดครั้งสุดท้ายจึงเป็นความจำเป็น
ลัทธิพันธมิตรทุ่มเทหมดหน้าตัก ชนิด "ตายเป็นตาย เจ๊งเป็นเจ๊ง" อย่างที่สนธิ ลิ้มทองกุลเคยพูดไว้ พวกเขานำนักรบศรีวิชัย-นักรบรับจ้างไร้วินัย ที่พกพาทั้งปืน มีด และยาเสพติดบุกเข้าไปในตึกที่ทำการสถานีโทรทัศน์ NBT ทุบกระจก ขุ่มขู่พนักงาน หยุดยั้งการออกอากาศของ NBT แล้วพยายามเชื่อมต่อสัญญาณของ ASTV แทน
นี่เป็นการกระทำที่อุกอาจ บ้าบิ่น เราคงไม่อาจเรียกคนที่บุกเข้าไปในที่ทำการของ NBT ว่าเป็นพวกที่มีความกล้าหาญเพราะความกล้าหาญนั้นยังถูกกำกับด้วยสติ แต่สิ่งที่สาวกของลัทธิพันธมิตรทำนั้นเลยเส้นแห่งความมีสติไปมากแล้ว
เสียงสะท้อนจากการบุกเข้าไปในที่ทำการของ NBT นั้นมีแต่ด้านลบ กลุ่มนักวิชาการหัวก้าวหน้าออกแถลงการณ์ประณามพันธมิตรในทันที ความล้มเหลวในปฏิบัติการนี้ทำให้สูญเสียแนวร่วมไป ความชอบธรรมพลอยลดลงไปด้วย อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์จากกลุ่มต่าง ๆ ก็มุ่งไปที่การเรียกร้องจากรัฐบาลเสียมากกว่า
แกนนำลัทธิพันธมิตรบางรายออกตัวด้วยสำนวนเก่า ๆ ว่าคนที่บุกเข้าไปใน NBT ไม่ใช่คนของพันธมิตร ฯ แต่หลักฐานความเป็นสาวกของลัทธิพันธมิตรนั้นชัดเจนจนปฏิเสธไม่ได้ อย่างไรก็ตาม คนที่ถูกจับก็ได้รับการเอาอกเอาใจจากกลุ่มสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งโดยการเข้าไปเยี่ยมให้กำลังใจ
ด้วยความหละหลวมของตำรวจและด้วยความก้าวร้าวของลัทธิพันธมิตร ทำเนียบรัฐบาลจึงถูกยึดอย่างง่ายดาย ใช้คนจำนวนมากพังประตูเข้าไป จัดตั้งเวทีถ่ายทอดออกอากาศผ่าน ASTV ทั่วประเทศ ปราศรัยโจมตีรัฐบาลหนักข้อขึ้น
รัฐบาลพยายามจัดการกับม็อบโดยละมุนละม่อมโดยยืมมือของศาล คำสั่งของศาลนั้นฝ่าฝืนไม่ได้ แต่พันธมิตร ฯ ก็เฉไฉไปได้เรื่อย ๆ ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้กลุ่มนปก. รวมตัวกันอีกครั้งกระทั่งเผชิญหน้ากัน เป็นสงครามกลางเมืองย่อย ๆ และรัฐบาลก็ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามมาด้วยแถลงการณ์จากกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่คล้ายกันคือเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดใช้ความรุนแรงและลาออก แถลงการณ์เหล่านี้ไม่แตะต้องการใช้ความรุนแรงขอพันธมิตร ฯ เลยแม้แต่น้อย
เนื้อหาของความขัดแย้งจะเป็นอย่างไรต่อไป ที่สุดแล้วลัทธิพันธมิตรจะพาไปไกลได้แค่ไหน บทสรุปของละครการเมืองตอนนี้จะลงเอยอย่างไร คงต้องใจเย็นรอดู.
ผมเฝ้ารอคอยดูผลสำเร็จ (หรือไม่สำเร็จ) ของนโยบาย "5 รั้ว" ซึ่งเป็นนโยบายทางด้านยาเสพติดของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ว่าจะทำได้มากน้อยเพียงใด ทำให้ยาเสพติดลดลงได้จริงหรือไม่ "5 รั้ว" ที่ว่าคือ รั้วชายแดน รั้วชุมชน รั้วสังคม รั้วโรงเรียน และรั้วครอบครัว ทั้ง "5 รั้ว" จะช่วยเป็นเกราะป้องกันต้านทานการทะลักเข้ามาของยาเสพติด พร้อมไปกับการปราบปรามอย่างจริงจังเป็นรูปธรรม