Skip to main content
เป้าหมายของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตรกับเป้าหมายของคนเสื้อแดงนั้นไม่อาจกล่าวได้ว่าเหมือนกันเสียทีเดียวหากแต่มีความเหลื่อมล้ำกันอยู่มาก หมายถึงว่ามีทั้งส่วนที่เหมือนกันและแตกต่างกัน แต่ก่อนจะพูดถึงส่วนที่เหมือนและต่างนั้นต้องทำความเข้าใจเป็นเบื้องต้นกันก่อนว่า คนเสื้อแดงมีหลายประเภท หลายเฉด


คนเสื้อแดงมีตั้งแต่กลุ่มฮาร์ดคอร์แบบอาจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์, จักรภพ เพ็ญแข และสีแดงอ่อนๆ ประเภท "แดงสมานฉันท์"


สีแดงมีหลายดีกรีคือมีทั้งพวกอนุรักษ์นิยมอ่อนๆ ,เสรีนิยม ไปจนถึงกลุ่มถอนราก ถอนโคน (radical)


ถ้าหากจำแนกตามสาขาอาชีพแล้ว กลุ่มคนเสื้อแดงก็มีความหลากหลายตั้งแต่ประชาชนคนรากหญ้า คนอีสาน เหนือ ใต้ กลุ่มนักศึกษาหัวก้าวหน้า พ่อค้าแม่ค้า นักการเมือง นักวิชาการ เอ็นจีโอ นักเคลื่อนไหว ฯลฯ จะเห็นได้ว่าคนเสื้อแดงมีความหลากหลายยิ่ง สามารถกล่าวได้ว่าแม้กระทั่งคนที่ "ไม่เอาทักษิณ" ก็สามารถเป็นเสื้อแดงได้เช่นเดียวกัน


"จุดร่วมของความเป็นแดงอยู่ไหน?"


จุดร่วมของความเป็นแดงคือความต้องการประชาธิปไตยที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ตุลาการไม่ถูกแทรกแซง กองทัพไม่มายุ่งเกี่ยวกับการเมืองโดยเด็ดขาด องคมนตรีไม่คอยชักใยอยู่เบื้องหลัง มีการเมืองภาคประชาชนที่เข้มแข็ง สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากการร้องขอจากรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ เพราะว่าที่แท้แล้วพรรคประชาธิปัตย์นั้นเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการประชาธิปไตยโดยตรง หากแต่จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการต่อสู้ทั้งในและนอกสภา


อดีตนายก ฯ ทักษิณ ชินวัตร เคยพูดหลายครั้งว่าคิดถึงเมืองไทย ต้องการกลับ(มาตาย)เมืองไทย นี่เป็นเป้าหมายของปุถุชนคนไกลบ้านและความปรารถนาส่วนตนของอดีตนายก ฯ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเมืองไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น


อีกทางที่อาจเป็นไปได้ก็คือการเจรจาต่อรองกับผู้มีอำนาจ หากตกลงกันได้ทุกอย่างก็เรียบร้อย แต่หากตกลงกันไม่ได้เพราะมีบางกลุ่มไม่ต้องการเจรจา สิ่งที่พอจะทำได้สำหรับการนี้คือการกดดันทั้งในและนอกสภาผู้แทนราษฎรคือใช้พรรคฝ่ายค้านเพื่อไทย และใช้มวลชนคนเสื้อแดงช่วยกันตีกระหน่ำให้ผู้มีอำนาจอ่อนกำลังกระทั่งยอมเจรจาต่อรอง


อดีตนายก ฯ ต่อสู้กับกลุ่มอมาตยาเพื่อต่อรอง ไม่ได้ต่อสู้เพื่อแตกหัก ?


นอกจากความพยายามในการกดดันกลุ่มผู้มีอำนาจแล้ว หนทางอีกประการหนึ่งคือการหันไปพึ่งพระบรมโพธิสมภารซึ่งอดีตนายก ฯ ก็ยอมรับในที่สุดว่าเคยทำหนังสือถึงองค์พระมหากษัตริย์ถึง 3 ครั้ง แม้จะปฏิเสธว่าไม่ใช่เป็นการขออภัยโทษแต่เป็นการกราบบังคมทูลถวายรายงานเท่านั้น


"ในฐานะที่ตนเป็นข้ารองพระบาท รับใช้พระองค์ท่านมาตลอด เมื่อตนอยู่ต่างประเทศ ก็ต้องกราบบังคมทูลว่าสิ่งที่ถูกกล่าวหานั้นเป็นอย่างไร โดยทำมา 3 ครั้ง ครั้งล่าสุดทำก่อนเดินทางกลับมาประเทศไทยก็ได้กราบบังคมทูลให้ทราบว่าจะกลับมา"
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01p0101150352§ionid=0101&selday=2009-03-15 (มติชนรายวัน, อาทิตย์ 15 มี.ค. 52)


บทความของพิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ ได้วิเคราะห์ถึงประเด็นนี้ไว้แล้วว่า

"จุดอ่อนประการสำคัญของฝ่ายประชาธิปไตยคือ ทั้งอดีตผู้นำพรรคไทยรักไทยและแกนนำพรรคพลังประชาชนยังคงเพ้อฝันลม ๆ แล้ง ๆ ที่จะประนีประนอม "หย่าศึก" กับฝ่ายเผด็จการอำมาตยาธิปไตย ปฏิเสธที่จะรับรู้บทเรียนทางประวัติศาสตร์ของคณะราษฎรยุค 2490 และไม่เรียนรู้จากประสบการณ์จริงของตนเองในช่วงสามปีมานี้ว่า ฝ่ายเผด็จการอำมาตยาธิปไตยตลอดหลายสิบปีมานี้ รู้จักเดินแต่เพียงแนวทางเดียวคือ "ประนีประนอมหลอก ๆ" แต่ "เข่นฆ่าทำลายล้างจริง ๆ" โดยมีเป้าหมายคือ กวาดล้างศัตรูทางการเมืองอย่างถึงรากถึงโคนทุกครั้ง และในครั้งนี้ พวกเขาก็ยังคงเดินตามแนวทางเดิมไม่เปลี่ยนแปลง


อดีตผู้นำพรรคไทยรักไทย และแกนนำพรรคพลังประชาชนจึงได้กระทำผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ยุทธวิธีหลายครั้ง พวกเขาต่อสู้ผ่านกลไกของรัฐบาลอย่างโดดเดี่ยว ไร้เป้าหมาย โดยไม่สนใจการเคลื่อนไหวมวลชนประชาธิปไตยนอกสภา เพ้อฝันว่า ด้วยการวิงวอนร้องขอและต่อรองกัน ฝ่ายอำมาตยาธิไตยก็จะยอมรามือ ปล่อยให้กลไกรัฐสภาดำเนินไป และยอมให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ" http://www.prachatai.com/05web/th/home/15739


อารมณ์ค้างและความกังขาต่อการยกเลิกการชุมนุมหน้าทำเนียบอย่างกะทันหันของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 26 ก.พ. ที่ผ่านมาซึ่งผมอยู่ที่นั่นด้วยทำให้คิดถึงประเด็นนี้


"นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง กล่าวถึงสาเหตุการเลิกการชุมนุมยืดเยื้อของกลุ่มคนเสื้อแดงว่าช่วงเย็นเมื่อวันที่ 26 ก.พ. แกนนำคนเสื้อแดงทั้งหมดได้ร่วมประชุมกันที่หลังเวทีใหญ่เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ เพื่อหาข้อสรุปการชุมนุม ซึ่งแกนนำเห็นพ้องต้องกัน ว่า การชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดงในวันนี้ ไม่สามารถชนะรัฐบาลได้"

http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ID=15716&Key=HilightNews


แกนนำกลุ่มเสื้อแดงทำหน้าที่ได้ดี แต่บอกตรง ๆ ว่าผมชักเริ่มเบื่อ ผมคิดมากไปเองหรือระแวงเกินไปหรือเปล่าว่าที่คิดว่าแกนนำคนเสื้อแดง(ส่วนหนึ่ง) จำกัดหวังอยู่เพียงแค่เรื่องราวของอดีตนายก ฯ ทักษิณ ชินวัตรเท่านั้นและจะหยุดการต่อสู้ลงเมื่อเจรจาลงตัว ?


กระนั้นก็ตาม เราคงไปคาดหวังเรียกร้องจากคนอื่นไม่ได้แม้แต่คนเสื้อแดงด้วยกันเอง ขอเพียงรักษาเป้าหมายของตนเองไว้ อย่าลดระดับการต่อสู้ของตนเองลงแม้ว่าบางคนจะไม่ได้ต้องการเหมือนเราก็ตาม

 

 

บล็อกของ เมธัส บัวชุม

เมธัส บัวชุม
ผมใส่เครื่องหมายไปยาลน้อยหลังคำว่า “ม็อบพันธมิตร ฯ” ด้วยละไว้ในฐานที่เข้าใจว่าผู้อ่านแต่ละคนสามารถที่จะเลือกใส่คำต่อท้ายคำว่า “พันธมิตร” ลงไปได้ตามที่เห็นสมควร เพราะรู้สึกกระดากละอายเกินกว่าที่จะเรียกกลุ่มนี้ด้วยชื่อเต็ม ๆ ที่ต่อท้ายด้วยคำว่า “ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ครั้งแล้ว ครั้งเล่าที่คนกลุ่มนี้แสดงให้เห็นถึงลักษณะที่ตรงกันข้ามกับคำว่า “ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” คือมีแต่ความใจแคบ เอาแต่ใจตนเอง ขาดความอดทนอดกลั้นทางการเมือง ความอดทนอดกลั้นทางการเมืองที่เป็นคุณลักษณะสำคัญของการอยู่ร่วมกัน (เพราะจะได้ไม่ต้องฆ่ากัน) นอกจากขาดความอดทนอดกลั้นแล้วกลุ่มพันธมิตร ฯ…
เมธัส บัวชุม
บทความที่แล้ว ผมเสนอว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่ม “พันธมิตรประชาชนเพื่ออะไรก็ตามแต่” ไม่สามารถเรียกว่าด้วยคำหรูๆ เกินจริงอย่าง “อารยะขัดขืน” ได้ หากแต่ควรเรียกว่า “อารยะข่มขืน” น่าจะเหมาะกว่า และผมได้แปลคำว่า “อารยะข่มขืน” ว่าหมายถึงการ “ข่มขืนที่เนียนๆ” อันหมายถึงการละเมิดขืนใจทั้งในระดับบุคคลและระดับสังคมที่ดูเหมือนจะถูกกฎหมายและดูเหมือนจะมีอารยะ แต่ที่แท้แล้ว เลวร้ายไม่น้อยกว่าการใช้กำลังบังคับตรงๆ เพราะเป็นการใช้กลอุบายเล่ห์เหลี่ยมหรือกลวิธีที่แนบเนียนแยบคายในการเข้าไปมีสิทธิเหนือร่างกายและจิตใจของผู้อื่น ส่วนในระดับของสังคมการเมืองนั้น…
เมธัส บัวชุม
เพื่อให้เห็นภาพและเกิดความชัดเจน เป็นความเหมาะสมที่เราจะเทียบเคียงการทำรัฐประหารซึ่งทุกครั้งจะถูกอ้างในนามของชาติ ศาสน์ กษัตริย์ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสามอย่าง (เขาพระวิหาร การแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช ปฏิญญาฟินแลนด์) เข้ากับการข่มขืน เพราะมันมีอะไรหลายอย่างที่เหมือนกันมาก ๆ ใช้เพียงสามัญสำนึกเราก็รู้ว่าการทำรัฐประหารและการข่มขืนคือการละเมิดเพิกถอนในสิทธิทุกด้านและทุก ๆ หลักการของความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในร่างกาย จิตใจและสติปัญญาตลอดจนพฤติกรรมการแสดงออก สิ่งที่คนถูกข่มขืนได้สูญเสียไปคือคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ อันเป็นแก่นสาระของการมีชีวิตอยู่…
เมธัส บัวชุม
กล้องถ่ายรูป นอกจากจะเป็นเครื่องมือสำหรับเก็บภาพแล้วยังสามารถเป็นอาวุธไปได้พร้อมกัน  หลายคนที่สันหลังหวะและกำลังจะหวะจึงมักกลัวกล้องเพราะมันจะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ฟ้องด้วยภาพ” ซึ่งมีน้ำหนักมากกว่าคำบรรยายเป็นไหน ๆ และในรายที่ความผิดปรากฏชัดแล้ว กล้องก็สามารถทำให้เกิดปรากฏการณ์ “ประจานด้วยภาพ” ได้อีกด้วยนักการเมืองหรือดาราหรือกระทั่งคนธรรมดาเวลาทำผิดจึงมักจะหลบกล้อง เช่น อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ให้นักศึกษาอมนกเขาแลกเกรดก็พยายามเลี่ยงหลบกล้องโดยเอาปี๊บคลุมหัว หรือนักการเมืองบางรายลงทุนพรางตัวเพื่อไม่ให้กล้องจับภาพได้ขณะที่เข้าพบป๋าเป็นการส่วนตัว…
เมธัส บัวชุม
"ขี้กะโหล่ย" เป็นศัพท์วัยรุ่นทั่วไป สามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันได้ มักจะมีความหมายเชิงลบ ทำนองว่าไม่เข้าท่า ไม่ได้เรื่อง นิสัยไม่ดี พฤติกรรมแย่ เป็นที่รังเกียจ ไม่ควรเข้าใกล้ อย่าไปคบหา ชอบเอาเปรียบ เห็นแก่ได้ ฯลฯ ตัวอย่างเช่น "ไอ้ลองมันขี้กะโหล่ย หน้าพระใจมาร กูไม่อยากสุงสิงกับมันหรอก" หรือ "ไอ้ลิ้มขี้กะโหล่ยโดนตำรวจจับไปเมื่อวานฐานปากดี"  หรือ "ม็อบพันธมารขี้กะโหล่ย หลอกขายเสื้อยามเผาแผ่นดิน" ฯลฯ
เมธัส บัวชุม
ปฏิวัติ 14 ตุลา 2516 ประชาชนรวมตัวกันเพื่อขับไล่รัฐบาลเผด็จการทหาร ดึงอำนาจจากมือของเหล่าขุนนางข้าราชการมาเป็นของประชาชน ซึ่งในขณะนั้นบรรดาขุนนางข้าราชการแห่งระบอบอมาตยาธิปไตยครอบครองเป็นใหญ่ในเวทีการเมืองของสภาผู้แทนราษฎรอยู่  แต่ปัจจุบันกลับตาลปัตร เมื่อประชาชนร่วมแรงร่วมใจกับรัฐบาลประชาธิปไตยต่อสู้กับซากเดนแห่งระบอบอมาตยาธิปไตย ซึ่งกลายเป็นกลุ่มพลังนอกเวทีรัฐสภา เป็นกลุ่มเผด็จการนอกรัฐธรรมนูญที่ต้องการบ่อนเซาะทำลายความเข้มแข็งของระบอบรัฐสภาการขยับตัวเคลื่อนไหวของ “ระบอบเก่า” เพื่อหวนกลับมามีบทบาทในเวทีการเมือง ทำให้ประชาชนเกิดกระแสตื่นตัวต่อต้าน…
เมธัส บัวชุม
อาการตบะแตกกับนักข่าว/คอลัมนิสต์ ของนายก ฯ สมัคร  สุนทรเวช เป็นเรื่องที่เข้าใจได้และไม่ใช่อะไรที่น่าตื่นเต้นตกใจแต่อย่างใด  แต่บรรดานักข่าวและผู้อยู่ในแวดวงออกอาการตระหนกตกใจราวกับสาวแรกรุ่นที่กำลังจะโดนข่มขืนเป็นครั้งแรก โดยไม่ตระหนักเลยว่า ที่ผ่านมานักข่าว/คอลัมนิสต์ กระทำการข่มขืนคนอื่นอยู่ตลอดเวลา หรือในทางกลับกันก็ถูกอำนาจที่เหนือกว่าข่มขืนหลายครั้ง การคุกคามข่มขืนสื่อมวลชนในยุคเผด็จการทหารครองเมือง เทียบไม่ได้แม้แต่นิดเดียวกับปัจจุบัน สื่อบางแขนงชิงข่มขืนตัวเองเสียก่อนที่จะถูกเผด็จการทหารที่นำโดยพลเอกสนธิ  บุณยรัตนกลิน จัดการข่มขืน (เราควรย้ำถึงชื่อของพลเอกสนธิ …
เมธัส บัวชุม
เครือผู้จัดการมีสื่ออยู่ในมือหลากหลายครบครัน ทั้งเคเบิลทีวี สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุและเวบไซต์ อันทำให้การโฆษณาชวนเชื่อที่เหลวไหลของพวกเขาเป็นไปอย่างครอบคลุมกว้างขวาง เกิดประสิทธิภาพไม่น้อยพวกเขา (เครือผู้จัดการ) สถาปนาตัวเองตามแต่ใจต้องการโดยที่ไม่ต้องรอให้ใครมาเลือกตั้งหรือแต่งตั้งด้วยบทบาทหลากหลายเหลือเชื่อคือเป็นตั้งแต่ “ยาม” ไปจนถึง “ผู้จัดการ”“ยาม” และ “ผู้จัดการ” นั้นอยู่กันคนละชนชั้นหรือพูดด้วยภาษาแบบหมอประเวศ วะสี ก็คืออยู่กันคนละ “ภาคส่วน” แต่บทบาทหน้าที่ทั้งหมดนี้พุ่งไปที่จุดประสงค์เดียวกันสำหรับ “ยาม” ภาพลักษณ์ที่ตายตัวคือเป็นคนระดับล่างของสังคม เป็นผู้ใช้แรงงานหรือใช้กำลัง…
เมธัส บัวชุม
เหตุการณ์ทางการเมืองช่วงก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เพื่อล้มรัฐบาลประชาธิปไตยกระทั่งถึงยุคเผด็จการคมช. ครองเมืองซึ่งได้สร้างเครื่องมือต่างๆ (รวมทั้งรัดทำมะนวยฉบับหัวคูน) เพื่อสืบทอดอำนาจและทำการถอนรากถอนโคนรากฐานอุดมการณ์ประชาธิปไตยนั้น มีอะไรที่น่าสนใจมากมายจนผมคิดว่าน่าจะมีนักเขียนมือดีสักคนนำเอาเรื่องราวเหตุการณ์ต่าง ๆ บวกกับจินตนาการบรรเจิดมาผูกร้อยเข้าเป็นนวนิยายชั้นเยี่ยมได้สักหลายเรื่อง การเมืองช่วงก่อนและหลังรัฐประหารนั้น “เป็นนิยายยิ่งกว่านิยาย” เสียอีก ไม่ว่าจะเป็นการกลับตาลปัตรกลายเป็น “ฮีโร่” อย่างช่วยไม่ได้ ของอดีตนายกฯ ทักษิณ  ชินวัตร ความพ่ายแพ้ยกแรกของเผด็จการทหาร…
เมธัส บัวชุม
-1-ปกติแล้ว ผมจะไม่หยิบนิตยสาร “เนชั่นสุดสัปดาห์” ขึ้นมาเปิดดูเพราะไม่คิดว่ามีคอลัมน์อะไรที่ดึงดูดใจเพียงพอ นอกจากก่อนหน้านี้ที่พลิกเปิดไปดู “เรื่องสั้น” เพื่อตรวจดูว่าเรื่องสั้นของตัวเองได้รับการพิจารณาหรือเปล่า แต่ตอนนี้ผมหมดปัญญาและพลังที่จะเขียนเรื่องสั้นแล้ว  ดังนั้นเวลาหยุดดูที่แผงหนังสือผมเพียงแต่กวาดสายตาดูนิตยสารรายสัปดาห์ยี่ห้อนี้เพียงผ่าน ๆ เท่านั้นแต่ “เนชั่นสุดสัปดาห์” ล่าสุดที่หน้าปกเป็นรูป “ธีรยุทธ  บุญมี” นักคิดวิธีสร้างข่าวให้ตนเองนั้นสะกดให้ต้องหยิบขึ้นมาเปิดดู ที่น่าสนใจไม่ใช่รูป “ธีรยุทธ  บุญมี” แต่เป็น “คำ” ที่พาดผ่านหน้าปกซึ่งเขียนว่า “ตุลาตอแหล ?” พาดหัว…
เมธัส บัวชุม
-1-การได้รับรู้ข้อมูลจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง ตลอดจนเข้าไปข้องเกี่ยวกับวงการตำรวจ-ยาบ้าเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่สำหรับผม ไม่คิดฝันว่าชีวิตที่หมกมุ่นอยู่แต่กับหนังสือและการคิดประเด็นทางนามธรรมอะไรไปเรื่อยเปื่อยจะได้พบพานประสบการณ์ชีวิตอีกด้านหนึ่ง ที่ต่างออกไปโดยสิ้นเชิง ด้วยวัยที่เพิ่มขึ้น ผมก็เช่นเดียวกับหลาย ๆ คนที่มองเรื่องยาเสพติดด้วยสายตาวิตกกังวล แลเห็นมันเป็นปิศาจที่นำความเลวร้ายเดือดร้อนมาสู่ชีวิต เป็นเหมือนมะเร็งที่คอยบั่นทอนสภาพร่างกายและจิตใจของคนที่ตกเป็นเหยื่อ (มันชวนให้นึกถึงนโยบายปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาลทักษิณเสียจริง ๆ!) ต่างไปจากเมื่อก่อนที่มองเรื่องนี้อีกแบบหนึ่ง…
เมธัส บัวชุม
  หนุ่มคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าวันดีคืนดีเขาก็ต้องตื่นขึ้นมาตอนประมาณตีสาม เพราะเพื่อนของหลานมาเคาะประตูเรียก"มีอะไร" เขาถาม"งานเข้า!" เพื่อนของหลานบอก ก่อนที่จะขยายความว่าหลานของเขาถูกจับยาบ้า ตอนนี้อยู่ที่สถานีตำรวจแล้วเขารีบไปที่สถานีตำรวจทันที อกสั่นขวัญแขวนเพราะเป็นห่วงหลาน พบหลานนั่งก้มหน้า น้ำตาคลอ และถูกใส่กุญแจมือ"ไม่ทัน!" หลานบอกทันทีที่เจอหน้า เขาไม่แน่ใจว่าคำว่า "ไม่ทัน" ของหลานนั้นหมายถึงอะไร มันอาจหมายถึงว่า "หนีตำรวจไม่ทัน" หรืออาจหมายถึงว่า "ทิ้งยาบ้าที่ติดตัวอยู่ไม่ทัน" เขาถามหลานสองสามคำและถามตำรวจอีกสองสามคำ ได้ความว่าหลานมียาบ้าติดตัวอยู่ 20 เม็ด พร้อมกับเงิน 4 พันกว่าบาท…