รถบนถนนแล่นผ่านไปมาด้วยความเร็วสูง รถไฟฉึกฉักผ่านวันละหลายขบวน สลับด้วยเครื่องบินนานาชาติที่ขึ้นลงวันละหลายเวลา ชีวิตที่นั่นส่วนหนึ่งจึงอื้ออึงด้วยเสียงรถยนต์ รถไฟ และเครื่องบิน บางครั้งผลัดกันมา บางครั้งก็มาพร้อมๆ กัน
หากไม่เอาเรื่องหูอื้อมาเป็นประเด็น ข้อดีที่ฉันหาได้คือ มันทำให้เราใส่ใจฟังคนอื่นพูดมากขึ้น (ไม่อย่างนั้นจะไม่ได้ยิน) และรู้จักที่จะเว้นวรรคคำพูดให้ถูกกาลเทศะ เพื่อไม่ให้เสียแรง(พูด) ไปเปล่าๆ
ถึงจะมีโทลด์เวย์เกะกะสายตา ฉันยังมีโอกาสดูละครเมฆบนฟ้า วันดีคืนดีจะมีฝูงแมลงปอบินขึ้นไปอวดปีกใสๆ ถึงข้างหน้าต่างตึก
ริมถนนใหญ่มีคลองเล็กๆ ที่ตื้นเขินเพราะใบไม้ใบหญ้าและขยะอันประกอบไปด้วยถุงพลาสติก ขวด ห่อขนม และกล่องโฟม ถัดเข้ามาเป็นที่ลุ่มรกร้าง มีแอ่งน้ำขังกับดงหญ้าคาสูงท่วมเอว พุ่มกระถินขึ้นแซมกกธูปและกอผักบุ้งที่ใบใหญ่จนน่าตกใจ มีเถาตำลึงเลื้อยอยู่เป็นหย่อมๆ มองเห็นดอกสีขาวกับลูกสุกสีแดงอยู่ตรงนั้นตรงนี้
ในดงหญ้าคามีบ้านพักของคนงานก่อสร้างปลูกติดกันอยู่ประมาณ ๓-๔ หลัง
บ้านเหล่านั้นสร้างขึ้นง่ายๆ ด้วยโครงไม้ยูคา เสาบางท่อนปักอยู่ในแอ่งน้ำ หลังคามุงด้วยสังกะสีและแผ่นป้ายหาเสียง (ผลประโยชน์ที่ประชาชนหยิบฉวยได้ในฤดูเลือกตั้ง)
บางวันฉันเห็นคนงานหญิงเดินเก็บผักบุ้งกับยอดกระถิน มื้อเย็นของเขาคงมีน้ำพริก
หมาเร่ร่อนตัวหนึ่งเดินสะเปะสะปะมาอาศัยร่มเงาของบ้านคนงานก่อสร้าง มันเป็นหมาที่น่าจะผ่านการเป็นแม่มาหลายครั้งแล้ว ดูจากทรวดทรงที่ผอมแห้ง นมเหี่ยวยานยอบแยบแกว่งไปมาเวลาวิ่ง
บ้านกรรมกรไม่ได้มีอาหารมากพอให้มันอิ่มท้องทุกครั้งที่หิว แต่มีร่มเงาให้มันหลบแดดฝน ไม่มีเสียงไล่หรือการทำร้ายทุบตี มันจึงหยุดการเร่ร่อนไว้ที่เพิงสังกะสีริมถนนใหญ่ และถ้ามันคิดเป็น (ซึ่งฉันเชื่อว่าเป็น) มันคงดีใจที่จะได้เลิกเร่ร่อนเสียที
แต่มีบางอย่างที่มันยังไม่รู้
คนทำงานก่อสร้างไม่มีหลักแหล่งถาวร จบงานเก่าก็รื้อบ้านย้ายไปงานใหม่ ทำงานตรงไหน ก็สร้างบ้านตรงนั้น ระยะเวลาของการเป็นเจ้าของบ้าน นานเท่าที่งานเสร็จ
ชีวิตกรรมกร หลายช่วงจึงเป็นชีวิตเร่ร่อน
......................
หลายปีมาแล้ว ขณะที่ทำงานเป็นอาสาสมัครศูนย์เด็กเล็กลูกคนงานก่อสร้างในกรุงเทพมหานคร ฉันเคยเดินตามเด็กๆ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา จากฝั่งสาทรไปคลองสาน ด้วยสะพานที่ตอนนั้นยังไม่เปิดให้รถวิ่ง สองฝั่งแม่น้ำมีบ้านพักคนงานอยู่กันหนาแน่นใกล้เคียงชุมชนแออัด
คนงานมาจากแทบทุกภาคของประเทศ บางคนย้ายมาจากงานเดิมด้วยกัน บางคนมาเจอกันงานเดียวแล้วจากกันไป บางคนมาพบรักและอยู่กินกันในบ้านพักมุงสังกะสี ระยะเวลาการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ยาวนานพอที่เด็กหลายๆ คนจะเกิดและเติบโตท่ามกลางกองอิฐ หิน ทราย เหล็ก และกระบะผสมปูน มีเครนและปั้นจั่นแขวนให้แหงนดูแทนพวงปลาตะเพียน
ครั้งนั้น เด็กๆ ลูกคนงานที่เร่ร่อนไปกับพ่อแม่ มักถูกตัดโอกาสเข้าโรงเรียน ด้วยเหตุผลที่ฉันคิดว่าไร้สาระสิ้นดี นั่นคือขาดหลักฐาน ไม่มีทะเบียนบ้านและใบเกิด เนื่องจากอยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง เป็นเหตุผลสั้นๆ ที่สามารถปิดกั้นสิทธิเด็กไม่ให้ได้รับการศึกษา เหมือนคนไข้ที่หมอไม่ยอมรับรักษา เพียงเพราะว่าไม่มีเงินจ่าย
ช่วงชีวิตนิดน้อยของเด็กๆ ในศูนย์ฯ อาจทำได้เพียงแค่ท่อง ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก และรู้จักคำด่ามากกว่าการอ่านตัวสะกด
"อยากพาลูกเมียกลับบ้าน แต่ไม่รู้จะมีโอกาสอีกไหม" กรรมกรวัยใกล้ห้าสิบคนหนึ่งบอกฉัน เขามาจากสกลนคร
...................
เย็นวันหนึ่งที่เดินตามเด็กชายเล็กๆ ไปเยี่ยมบ้านของเขา หรือพูดให้ชัดคือเพิงยาวๆ มุงสังกะสีแล้วกั้นเป็นห้องแคบๆ สำหรับคนงาน หมาสีน้ำตาลตัวหนึ่ง วิ่งกระดิกหางเล็กๆ มาหา เด็กน้อยวิ่งเข้าไปอุ้มกอดมันอย่างสนิทสนมรักใคร่
"ไอ้ตาล ไอ้ตาล" เด็กน้อยหัวเราะชอบใจเมื่อหมาเลียแก้ม แล้วหันมาอวดว่า
"นี่ไง ไอ้ตาลของหนู"
ฉันมองความรักของเด็กกับหมาแล้วอดยิ้มไม่ได้
"ย้ายบ้านไปอย่าลืมพามันไปด้วยนะ"
"ไปไหนเหรอ" เด็กน้อยถามด้วยท่าทางงุนงง แต่แม่ของเด็กที่กำลังให้ลูกคนเล็กดูดนมตอบฉันว่า
"โอ๊ย ลำพังคนยังไม่ค่อยจะพอกินเลยครู เรื่องอะไรจะหอบหมาไปด้วยล่ะ ไม่เอาหรอก"
ถึงไม่เข้าใจเรื่องย้าย แต่คงพอจับความได้เรื่องหมา เด็กรีบพูดว่า"ไม่เอา หนูจะเอาไอ้ตาล"
"มึงไม่ต้องเสือ_ เดี๋ยวกูได้ทิ้งมึงอีกคน" คนเป็นแม่เอ็ดลูก ตามด้วยถ้อยคำหยาบๆ ที่ออกอากาศไม่ได้อีกหลายคำ เด็กน้อยหน้าสลด แต่กอดหมาแน่นขึ้นจนมันครางหงิงๆ
ชีวิตที่ไม่มีหลักประกัน ทำให้บางคนพยายามตัดภาระให้เหลือน้อยที่สุด และบางครั้งก็จำต้องเลือกความอยู่รอดมากกว่ามนุษยธรรม
เมื่องานเสร็จ คนงานรื้อถอนที่พักไปจนหมด สถานที่ที่เคยเป็นบ้าน อาจกลายเป็นลานจอดรถ หรือสถานที่ส่วนบุคคล ที่แม้คนก่อสร้างก็คงไม่มีสิทธิ
ถึงตอนนั้น หมาจะถูกไล่ออกจากที่ที่มันอยู่มาตั้งแต่เกิด มันจะวิ่งวนหาบ้านและครอบครัว(ที่มันคิดว่าเป็น)ของมันอย่างตื่นตระหนก แล้วมันก็ต้องพยายามเอาชีวิตรอดต่อไปในเมืองใหญ่เพียงลำพัง กลายเป็นส่วนเกินของสังคมและต้องถูกจัดการทางใดทางหนึ่ง เพื่อลดปัญหา "หมาเร่ร่อนจรจัด" ที่ตัวมันเองไม่ได้ตั้งใจจะเป็น
ไม่ว่าหมาหรือคน ไม่มีใครอยากมีชีวิตที่ไร้บ้าน
แม่หมาในเพิงพักคนงาน ทำให้ฉันคิดถึงหมาสีน้ำตาลในแหล่งก่อสร้างเชิงสะพานสาทร
............................
แล้วเช้าวันหนึ่ง บ้านพักคนงานริมถนนใหญ่ก็หายไปหมด เหลือเพียงบางส่วนของเสาไม้ระเกะระกะและเศษสังกะสีผุๆ จมอยู่ในแอ่งน้ำ งานก่อสร้างคงจบลงแล้ว คนงานพร้อมครอบครัวและสัมภาระ อาจกำลังโดยสารรถบรรทุกหรือกระบะ เร่ร่อนไปยังที่ไหนสักแห่ง
ฉันถือถุงข้าวเดินหาแม่หมา อดมองไปทางถนนใหญ่ไม่ได้ ภาวนาในใจขออย่าให้เห็นร่างของมันกองอยู่ที่ใดที่หนึ่ง
"ไม่อยู่แล้ว มันไปกับพวกคนงานแล้ว" ใครคนหนึ่งบอกฉัน
"หมายความว่าไงคะ เขาพามันไปหรือมันวิ่งตามรถเขาไป" ฉันถามด้วยความกังวล
"ได้ยินว่าคนงานเขาเอามันไปด้วย แหม มันมาอยู่กับเขาตั้งหลายเดือน เขาก็คงรักมันมั่งแหละ" ใครคนเดิมตอบ
ฉันรู้สึกโล่งใจ ภาวนาขอให้มันได้ติดตามคนงานกลุ่มนั้นไปจริงๆ แม้ไม่มีที่อยู่ถาวร แต่ขอให้มันได้รับความรักอย่างถาวร
เพราะหากว่าความรักเดินทางไปด้วย ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ทุกหนแห่งคือบ้าน
........................
*เพลง Home ของธีร์ ไชยเดช