น่าดีใจที่สำนักพิมพ์ “นานมีบุ๊ค” พิมพ์วรรณกรรมเยาวชนออกมาอย่างต่อเนื่องโดยคัดกรองเอาจากการประกวดรางวัล “แว่นแก้ว” แม้ว่าวรรณกรรมที่ผ่านเข้ามาบางเรื่องอาจไม่อยู่ในระดับที่ดีนัก นอกจากจะเป็นการปลุกการอ่านและการเขียนวรรณกรรมเยาวชนให้กระเตื้องขึ้นบ้างแล้วยังถือเป็นการให้ความสำคัญกับเด็ก ๆ ที่น่ารักน่าชังในอีกโสดหนึ่งด้วย
“กระเบนยักษ์คู่อาฆาต” ผลงานของ “เพชร บุตรทองพูน” เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผ่านคัดกรองจากรางวัลวรรณกรรมเยาวชนพระราชทาน “แว่นแก้ว” ซึ่งยืนยงและหนักแน่นในการสร้างสรรค์วรรณกรรมเยาวชนมานานหลายปีจนอาจจะเรียกได้ว่าเป็นรางวัล “แว่นแก้ว” เป็นสถาบันทางวรรณกรรม ต่างจากรางวัลวรรณกรรมเฉพาะกิจอื่น ๆ วรรณกรรมเยาวชนเรื่อง “กระเบนยักษ์คู่อาฆาต” นี้ได้รับรางวัลชมเชย ประจำปี 2545
ตัวละครเอกของเรื่องอยู่ในวัยหนุ่มเต็มที่คือกำลังเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย อยู่ในช่วงที่อาจเรียกว่า “เยาวชนตอนปลาย” ซึ่งเป็นวัยที่กำลังค้นหาและเรียนรู้ความหมายและขอบเขตความเป็นไปได้ในด้านต่าง ๆ ของสิ่งที่เรียกว่า “ชีวิต” ด้วยการลองผิดลองถูกด้วยตนเองขณะเดียวกันก็ศึกษาเอาจากคนรุ่นก่อน ๆ
วัยหนุ่มของ “เจตน์” ตัวละครเอกแห่ง “กระเบนยักษ์คู่อาฆาต” ผ่านประสบการณ์และความผิดหวังมาหลายต่อหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการพลาดหวังในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยแม้ว่าจะได้คะแนนดีตอนเรียนมัธยม ความใฝ่ฝันอยากเป็นนักฟุตบอลแต่ฝีเท้าไม่เป็นใจ หรือการที่ครอบครัวของเขาแตกแยกอันเป็นปมในใจที่ยากจะลบ
เจตน์ทดแทนสิ่งที่ “เสียไป” เหล่านี้ ด้วยการมุ่งแสวงหาคุณค่าและความหมายของการมีชีวิตอยู่จากโลกที่ใหญ่กว่านั่นคือโลกธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่สวยงามและไม่แน่นอนผ่านกิจกรรมชีวิตที่เรียกว่า ตกปลาและล่าสัตว์
การเข้าป่าล่าสัตว์ ทำให้เขาพบประสบการณ์บางอย่างซึ่งช่วยให้เขาเห็นว่ากิจกรรมนี้ไม่เหมาะกับตัวเขา
“การเตรียมพร้อมรอคอยการฆ่า ต่อมไร้ท่อบางตัวในร่างกายจะขับสารบางอย่างที่ทำให้ตื่นเต้น ก้าวร้าว หลุกหลิก ยากที่จะควบคุมสมาธิ ร้อนก็ร้อนเกินไป หนาวก็หนาวเกินไปจนแทบทนไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่สิ่งสำคัญก็คือต้องนั่งนิ่งเงียบ ต้องควบคุมสมาธิ” (หน้า 99)
“เนื้อสัตว์ที่ล่ามาได้ เด็กหนุ่มเพิ่งรู้สำนึกในบัดนี้ว่าไม่ได้วิเศษวิโสอะไร มันมักขื่นคาว จนต้องเพิ่มปริมาณเครื่องแกงเพื่อหวังจะดับกลิ่น ครั้งหนึ่ง เด็กหนุ่มเคยแข็งใจดื่มเลือดค่างผสมเหล้าขาว เขาต้องแอบไปอาเจียนแทบตาย ไม่ใช่เพราะรสเลือด แต่เป็นเพราะเห็นค่างซึ่งถูกตัดหางเอาเลือดไปแล้วถูกถลกหนัง มันไม่ผิดอะไรกับเด็กทารกผอมขี้โรค เร้าความสังเวชจนสุดทน” (หน้า 100)
นี่คือสิ่งที่เขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับการล่าสัตว์ซึ่งไปด้วยกันไม่ได้กับลักษณะนิสัยของเขา ที่สุดแล้ว เขาจึงถอยห่างออกมา และหันมาเอาจริงเอาจังกับการตกปลา โดยค่อยสั่งสมประสบการณ์การตกปลาในถิ่นที่ต่าง ๆ ตั้งแต่ทะเลแถวเพชรบุรีมาจนถึงทะเลทางใต้
“การตกปลา” ในโลกแห่งท้องทะเลสอนให้ได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มากมายกว่าในห้องเรียนอย่างเทียบกันไม่ติด ไม่ว่าจะเป็นกฏแห่งธรรมชาติที่สัตว์ต่าง ๆ ต้องเอาตัวรอด ความรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้างของตนเองขณะนั่งรอปลามากินเหยื่อ ฯลฯ
หลังจากตกปลาอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง “เจตน์” ก็ได้ค้นพบว่า “การตกปลา” นั้นเป็นมากกว่ากีฬาเพื่อความบันเทิงในยามว่างหรือเป็นเพียงเครื่องหย่อนใจในยามเคร่งเครียดจากชีวิตประจำวันและไม่ใช่การมุ่งแต่เอาชีวิตของปลาโดยไม่คำนึงถึงของหลักศีลธรรม เหล่านี้เป็นประสบการณ์ผิวเผินเท่านั้น
แต่ “การตกปลา” ในท้องทะเลเป็นห้องเรียนธรรมชาติที่สอนบทเรียนให้เขาได้รู้จักคำว่า “มิตรภาพ” ซึ่งต้องคอยช่วยเหลือกันและกันในยามเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนของคลื่นลมในท้องทะเลหรือเมื่อเผชิญกับปลากระเบนคู่อาฆาตตัวเมียขนาดใหญ่ที่บาดเจ็บ จนตรอก และต้องปกป้องลูกน้อยตามสัญชาตญาณ
นอกจากตกปลาแล้ว เจตน์ยังเพิ่มเนื้อหาชีวิตของตนเองด้วยการ “ดูนก” ตามคำเชิญชวนของอาจารย์ผู้ที่เขาเคารพ เขาเพลิดเพลินและรู้สึกสบายใจกับการดูนกเพราะมันเป็นกิจกรรมที่ไม่ต้องทำลายชีวิตสัตว์
“ในบังไพรดูนก เด็กหนุ่มได้เห็นความน่ารัก ความสง่างามของสัตว์แต่ละชนิด มันปราดเปรียวมีชีวิตชีวาและมีอิสระ ต่างกับสภาพชีวิตในกรงขังอย่างสิ้นเชิง” (หน้า 96)
เจตน์เติบโตขึ้นอย่างมีพัฒนาการ เขาปรับรูปแบบกิจกรรมแห่งชีวิตให้กับเข้ากับทัศนคติที่เปลี่ยนไปตามวันวัยที่เพิ่มขึ้น เขาค่อยละจาก “การตกปลา” สู่กิจกรรมที่เขาเห็นว่าละเอียดอ่อนกว่ามีพิษภัยต่อสิ่งอื่นน้อยกว่านั่นคือ ”การดูนก”
กิจกรรมทั้งหมดทั้งปวงเหล่านี้ทำให้เขาโตขึ้น เขาได้ข้อคิดต่าง ๆ เกี่ยวกับชีวิตมากมายซึ่งเขาทำให้มันแหลมคมยิ่งขึ้นด้วยการครุ่นคิด ปมในใจถูกชดเชยด้วยคุณค่าใหม่ ๆ ที่เขาเลือกสรรให้แก่ตนเอง