Skip to main content

น่าดีใจที่สำนักพิมพ์ “นานมีบุ๊ค” พิมพ์วรรณกรรมเยาวชนออกมาอย่างต่อเนื่องโดยคัดกรองเอาจากการประกวดรางวัล “แว่นแก้ว” แม้ว่าวรรณกรรมที่ผ่านเข้ามาบางเรื่องอาจไม่อยู่ในระดับที่ดีนัก นอกจากจะเป็นการปลุกการอ่านและการเขียนวรรณกรรมเยาวชนให้กระเตื้องขึ้นบ้างแล้วยังถือเป็นการให้ความสำคัญกับเด็ก ๆ ที่น่ารักน่าชังในอีกโสดหนึ่งด้วย


กระเบนยักษ์คู่อาฆาต” ผลงานของ “เพชร บุตรทองพูน” เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผ่านคัดกรองจากรางวัลวรรณกรรมเยาวชนพระราชทาน “แว่นแก้ว” ซึ่งยืนยงและหนักแน่นในการสร้างสรรค์วรรณกรรมเยาวชนมานานหลายปีจนอาจจะเรียกได้ว่าเป็นรางวัล “แว่นแก้ว” เป็นสถาบันทางวรรณกรรม ต่างจากรางวัลวรรณกรรมเฉพาะกิจอื่น ๆ วรรณกรรมเยาวชนเรื่อง “กระเบนยักษ์คู่อาฆาต” นี้ได้รับรางวัลชมเชย ประจำปี 2545


ตัวละครเอกของเรื่องอยู่ในวัยหนุ่มเต็มที่คือกำลังเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย อยู่ในช่วงที่อาจเรียกว่า “เยาวชนตอนปลาย” ซึ่งเป็นวัยที่กำลังค้นหาและเรียนรู้ความหมายและขอบเขตความเป็นไปได้ในด้านต่าง ๆ ของสิ่งที่เรียกว่า “ชีวิต” ด้วยการลองผิดลองถูกด้วยตนเองขณะเดียวกันก็ศึกษาเอาจากคนรุ่นก่อน ๆ


วัยหนุ่มของ “เจตน์” ตัวละครเอกแห่ง “กระเบนยักษ์คู่อาฆาต” ผ่านประสบการณ์และความผิดหวังมาหลายต่อหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการพลาดหวังในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยแม้ว่าจะได้คะแนนดีตอนเรียนมัธยม ความใฝ่ฝันอยากเป็นนักฟุตบอลแต่ฝีเท้าไม่เป็นใจ หรือการที่ครอบครัวของเขาแตกแยกอันเป็นปมในใจที่ยากจะลบ


เจตน์ทดแทนสิ่งที่ “เสียไป” เหล่านี้ ด้วยการมุ่งแสวงหาคุณค่าและความหมายของการมีชีวิตอยู่จากโลกที่ใหญ่กว่านั่นคือโลกธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่สวยงามและไม่แน่นอนผ่านกิจกรรมชีวิตที่เรียกว่า ตกปลาและล่าสัตว์


การเข้าป่าล่าสัตว์ ทำให้เขาพบประสบการณ์บางอย่างซึ่งช่วยให้เขาเห็นว่ากิจกรรมนี้ไม่เหมาะกับตัวเขา


การเตรียมพร้อมรอคอยการฆ่า ต่อมไร้ท่อบางตัวในร่างกายจะขับสารบางอย่างที่ทำให้ตื่นเต้น ก้าวร้าว หลุกหลิก ยากที่จะควบคุมสมาธิ ร้อนก็ร้อนเกินไป หนาวก็หนาวเกินไปจนแทบทนไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่สิ่งสำคัญก็คือต้องนั่งนิ่งเงียบ ต้องควบคุมสมาธิ” (หน้า 99)


เนื้อสัตว์ที่ล่ามาได้ เด็กหนุ่มเพิ่งรู้สำนึกในบัดนี้ว่าไม่ได้วิเศษวิโสอะไร มันมักขื่นคาว จนต้องเพิ่มปริมาณเครื่องแกงเพื่อหวังจะดับกลิ่น ครั้งหนึ่ง เด็กหนุ่มเคยแข็งใจดื่มเลือดค่างผสมเหล้าขาว เขาต้องแอบไปอาเจียนแทบตาย ไม่ใช่เพราะรสเลือด แต่เป็นเพราะเห็นค่างซึ่งถูกตัดหางเอาเลือดไปแล้วถูกถลกหนัง มันไม่ผิดอะไรกับเด็กทารกผอมขี้โรค เร้าความสังเวชจนสุดทน” (หน้า 100)


นี่คือสิ่งที่เขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับการล่าสัตว์ซึ่งไปด้วยกันไม่ได้กับลักษณะนิสัยของเขา ที่สุดแล้ว เขาจึงถอยห่างออกมา และหันมาเอาจริงเอาจังกับการตกปลา โดยค่อยสั่งสมประสบการณ์การตกปลาในถิ่นที่ต่าง ๆ ตั้งแต่ทะเลแถวเพชรบุรีมาจนถึงทะเลทางใต้


การตกปลา” ในโลกแห่งท้องทะเลสอนให้ได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มากมายกว่าในห้องเรียนอย่างเทียบกันไม่ติด ไม่ว่าจะเป็นกฏแห่งธรรมชาติที่สัตว์ต่าง ๆ ต้องเอาตัวรอด ความรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้างของตนเองขณะนั่งรอปลามากินเหยื่อ ฯลฯ


หลังจากตกปลาอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง “เจตน์” ก็ได้ค้นพบว่า “การตกปลา” นั้นเป็นมากกว่ากีฬาเพื่อความบันเทิงในยามว่างหรือเป็นเพียงเครื่องหย่อนใจในยามเคร่งเครียดจากชีวิตประจำวันและไม่ใช่การมุ่งแต่เอาชีวิตของปลาโดยไม่คำนึงถึงของหลักศีลธรรม เหล่านี้เป็นประสบการณ์ผิวเผินเท่านั้น


แต่ “การตกปลา” ในท้องทะเลเป็นห้องเรียนธรรมชาติที่สอนบทเรียนให้เขาได้รู้จักคำว่า “มิตรภาพ” ซึ่งต้องคอยช่วยเหลือกันและกันในยามเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนของคลื่นลมในท้องทะเลหรือเมื่อเผชิญกับปลากระเบนคู่อาฆาตตัวเมียขนาดใหญ่ที่บาดเจ็บ จนตรอก และต้องปกป้องลูกน้อยตามสัญชาตญาณ


นอกจากตกปลาแล้ว เจตน์ยังเพิ่มเนื้อหาชีวิตของตนเองด้วยการ “ดูนก” ตามคำเชิญชวนของอาจารย์ผู้ที่เขาเคารพ เขาเพลิดเพลินและรู้สึกสบายใจกับการดูนกเพราะมันเป็นกิจกรรมที่ไม่ต้องทำลายชีวิตสัตว์


ในบังไพรดูนก เด็กหนุ่มได้เห็นความน่ารัก ความสง่างามของสัตว์แต่ละชนิด มันปราดเปรียวมีชีวิตชีวาและมีอิสระ ต่างกับสภาพชีวิตในกรงขังอย่างสิ้นเชิง” (หน้า 96)


เจตน์เติบโตขึ้นอย่างมีพัฒนาการ เขาปรับรูปแบบกิจกรรมแห่งชีวิตให้กับเข้ากับทัศนคติที่เปลี่ยนไปตามวันวัยที่เพิ่มขึ้น เขาค่อยละจาก “การตกปลา” สู่กิจกรรมที่เขาเห็นว่าละเอียดอ่อนกว่ามีพิษภัยต่อสิ่งอื่นน้อยกว่านั่นคือ ”การดูนก”


กิจกรรมทั้งหมดทั้งปวงเหล่านี้ทำให้เขาโตขึ้น เขาได้ข้อคิดต่าง ๆ เกี่ยวกับชีวิตมากมายซึ่งเขาทำให้มันแหลมคมยิ่งขึ้นด้วยการครุ่นคิด ปมในใจถูกชดเชยด้วยคุณค่าใหม่ ๆ ที่เขาเลือกสรรให้แก่ตนเอง


สารสาระของเรื่อง “กระเบนยักษ์คู่อาฆาตนี้” มุ่งสื่อสารกับคนในรุ่นราวคราวเดียวกัน มากกว่าจะสื่อสารกับวัยเด็กหรือกับผู้ใหญ่ มีข้อมูลเกี่ยวกับการตกปลามากมายแบบคนที่คร่ำหวอดเกี่ยวกับการตกปลามาในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ภาพประกอบไม่ค่อยสวยงามนัก บางทีภาพเด็กดูเหมือนคนแก่ กระนั้นก็ตาม ขอให้กำลังใจแก่นักเขียนรางวัล “แว่นแก้ว” ในการสร้างสรรค์วรรณกรรมเยาวชนต่อไป.



บล็อกของ นาลกะ

นาลกะ
-1- หลานเกิดปีเดียวกับที่ผมเดินทางออกจากบ้าน มุ่งหาประสบการณ์และไล่คว้าหาความหมายของสิ่งที่เรียกว่าชีวิต  คืนวันของหลานที่เติบโตขึ้นด้วยความเอาใจใส่ของพ่อแม่คือจำนวนเวลาที่ผมจากบ้านเกิดเมืองนอน
นาลกะ
    คงเป็นเพราะรูปเล่มงามตาน่าหยิบจับและเครดิตก่อนเข้าสู่เนื้อเรื่องที่บอกว่า “เล็กน้อยมากจนสามารถนั่งอ่านข้าง ๆ เตียง ยิ่งใหญ่มากจนสามารถเปลี่ยนชีวิตทั้งชีวิต” เร้าความสนใจให้เปิดพลิกและลงมืออ่าน
นาลกะ
-1- ฉันเดินตัดผ่านสนามหลวงเพื่อไปขึ้นรถเมล์กลับหอพักเกือบทุกวัน เรื่องราวที่แทบจะเป็นแบบฉบับและเหตุการณ์ซ้ำ ๆ ที่ได้พบเห็นจากผู้คนแห่งสนามหลวงวันแล้ววันเล่า ทำให้เกิดภาพประทับในใจโดยไม่รู้ตัว เมื่อฉันได้รู้จักกับสนามหลวงมากขึ้น ฉันก็ได้พบว่าสถานที่แห่งนี้เปี่ยมไปด้วยสีสันและชีวิตชีวาอย่างแท้จริง ที่แห่งนี้มีเรื่องราวชีวิตของคนระดับล่างมากมาย แต่ละคน แต่ละชีวิตนั้นน่าจะปรากฏอยู่ในนิยายมากกว่าจะเป็นเรื่องจริง คนเหล่านี้ไม่ควรจะมีอยู่จริง!
นาลกะ
“ลูกผู้ชายหัวใจมีรัก(Man and Wife)” คือนิยายอันละเมียดบรรจงของ Tony Parsons เป็นผลงานภาคต่อจาก “ลูก(ผู้)ชายหัวใจคุณพ่อ (Man and Boy)” ซึ่งเคยสร้างความเกรียวกราวในแวดวงนักอ่านได้มากพอสมควร(ผมเคยวิจารณ์ไว้แล้วที่ http://blogazine.prachatai.com/user/nalaka/post/1562 ) ฝีมือแปลโดย ภัสรี สิงหเดช  
นาลกะ
โดยทั่วไปแล้ว หนังสือของสำนักพิมพ์ “ผีเสื้อ” สามารถการันตีคุณภาพ(แต่ไม่การันตียอดขาย) ได้ในระดับหนึ่ง เรียกได้ว่าไม่มีคำว่าผิดหวังในแทบทุกเล่มเพราะว่าโดยส่วนใหญ่แล้วเป็นวรรณกรรมแปล! “พ่อผมไม่เคยฆ่าใคร” ซึ่งเขียนโดย ฌ็อง-หลุยส์ ฟูร์นิเย่ร์ และแปลโดย วัลยา วิวัฒน์ศร ก็เช่นเดียวกัน
นาลกะ
วรรณกรรมเยาวชนรางวัลชมเชยประเภทบันเทิงคดีสำหรับเยาวชน ก่อนวัยรุ่น (12-14) จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติปี 2530 และได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 100 เล่ม ที่เด็กและเยาวชนไทยควรอ่าน โดยฝีมือการประพันธ์ของนักเขียนซึ่งเป็นรู้จักกันดี "อัศศิริ ธรรมโชติ"
นาลกะ
ด้วยชื่อเรื่องที่ไม่คุ้นหู และหน้าปกเป็นรูปน้ำตกกลางป่าสวยงาม วรรณกรรมเยาวชนเล่มนี้ชวนให้สะดุดใจและเปิดอ่าน ซึ่งก็ใช้เวลาอ่านไม่นานนักก็จบเล่มเพราะมีความหนาไม่ถึง 50 หน้ารวมภาพประกอบ
นาลกะ
ผลงานเรื่องนี้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ จากการประกวดวรรณกรรมเยาวชนรางวัลแว่นแก้ว ครั้งที่ 2 ผู้เขียนคือ “เก็ตตะหวา” วาดภาพประกอบโดย ธีระพงษ์ บัวระเพชร และจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊ค เจ้าเก่า แก่นแกนของเรื่องคือพัฒนาการของเด็กผู้หญิงที่ชื่อ “ผิงผิง” ซึ่งอาศัยอยู่กับพ่อแม่บุญธรรม และไม่ใคร่จะชอบพ่อที่แท้จริงนักเพราะคิดว่าพ่อทอดทิ้งเธอซ้ำยังปล่อยให้แม่ตาย แต่ที่จริงแล้วพ่อของเธอนั้นรักเธอมาก เหตุที่ต้องฝากเธอไว้กับคนอื่นนั้นเพราะหน้าที่การงานที่เป็นนักมายากลต้องตระเวณแสดงไปตามที่ต่าง ๆ ทั้งคนที่นำลูกไปฝากไว้นั้นก็เป็นเพื่อนเก่าและเป็นนายอำเภอที่ไม่มีลูกของตนเองสามารถดูแลผิงผิงได้
นาลกะ
  เรื่องเล่ามหาสนุกจากทุ่งหญ้าสีเขียว เป็นวรรณกรรมเด็กที่โด่งดังของธอร์นทัน ดับบลิว. เบอเกตส์ (Thornton W. Burgess) เขาได้แต่งเรื่องเล่าเกี่ยวกับสัตว์ป่าและธรรมชาติเป็นนิทานก่อนนอนสำหรับลูกชาย ปลูกฝังให้ลูกชายเติบโตขึ้นอย่างมีความมั่นคงทางอารมณ์และจิตใจ ต่อมาได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือชุดรวม 20 เล่ม ได้รับผลสำเร็จอย่างมาก จนเขาได้แต่งเรื่องเล่าเพิ่มเติมรวม 170 เรื่อง
นาลกะ
  วันนี้ขอเปลี่ยนจากวรรณกรรมไทยมาเป็นวรรณกรรมต่างประเทศกันบ้าง หลังจากอ่านวรรณกรรมเล่มนี้จบแล้ว ยอมรับว่ารู้สึกได้ถึงความแตกต่างระหว่างวรรณกรรมเยาวชนของไทยและต่างประเทศ ทั้งสำนวนภาษา ทั้งเทคนิคลีลาการเล่าเรื่องและความเข้มข้นจัดจ้านของเนื้อหา ขอบ่นนิดหนึ่งว่าเท่าที่อ่านและเขียนถึงวรรณกรรมเยาวชนของไทย จำนวนไม่น้อยถ้าไม่เล่าเรื่องชนบทเรียบ ๆ ง่าย ๆ ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นติดตามแล้วก็มักจะบรรเจิดเพริศแพร้วในเรื่องจินตนาการมากเสียจนกลายเป็นนิทานก่อนนอนไปหรือไม่ก็เขียนสำหรับให้เยาวชนอ่านเท่านั้น ไม่ท้าทายผู้อ่านวัยอื่น ๆ แต่อย่างไรเสีย เชื่อว่าวรรณกรรมเยาวชนไทยคงจะได้พัฒนาขึ้นเป็นลำดับ…
นาลกะ
"โลกนี้ยังมีเพื่อน" คือหนังสือรวมนิทานยอดเยี่ยม รางวัลมูลนิธิเด็ก หนังสือเล่มนี้รวมนิทานไว้ทั้งหมด 7 เรื่องด้วยกัน ตั้งชื่อเล่มตามชื่อนิทานที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจากการประกวดในปีที่ 12 นอกจาก "โลกนี้ยังมีเพื่อน" ซึ่งได้รับรางวัลนิทานยอดเยี่ยมแล้ว ยังมีเรื่องนิทานเรื่อง "นักวาดพู่กันวิเศษ" ที่โดดเด่นจนได้รับรางวัลความคิดสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม ส่วนที่เหลืออีก 5 เรื่องได้รับรางวัลชมเชย
นาลกะ
ลูกแม่น้ำโขง วรรณกรรมเยาวชนรางวัลพระราชทาน "แว่นแก้ว" ชนะเลิศรางวัลที่ 3 คืออีกหนึ่งผลงานจากนานมีบุ๊ค เขียนโดย "เขมชาติ" แม้ว่าลูกแม่น้ำโขงจะเดินตามขนบวรรรกรรมเยาวชนแบบที่เขียน ๆ กัน ที่มักพูดถึงชนบทอันงดงามที่ผู้คนพึ่งพาช่วยเหลือกัน สภาพธรรมชาติที่ผูกพันแวดล้อมวิถีชีวิต การเล่นซนของเด็ก ๆ และข้อคิดทางด้านคุณธรรม เป็นต้นว่า การไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ความมีน้ำใจ  ถึงกระนั้น ลูกแม่น้ำโขง ก็ยังคงน่าอ่านด้วยการบรรยายอย่างมีชีวิตชีวา  เพราะแม่น้ำโขงแม้นจะไหลอย่างที่เคยไหลก็ยังคงน่ามองและมีเสน่ห์อยู่เสมอ