Skip to main content

ถ่วงดุลผู้นำประชานิยมด้วยระบอบประชาธิปไตย

 

เผ่า นวกุล

 

          เมื่อกล่าวถึงประชานิยม (populism) หลายท่านอาจจินตนาการถึงข้อความอันชวนวิตกของ Dornbusch และ Edwards ในแง่ที่ว่า ประชานิยมถูกสร้างขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ โดยใช้นโยบายทางเศรษฐกิจแบบขยายตัว ใช้นโยบายขาดดุลเป็นแนวทางในการบริหาร ซึ่งในที่สุดแล้วจะเกิดปัญหาต่อสังคมในภายภาคหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้[1] บทความของเขาเกิดขึ้นหลังจากการล่มสลายทางเศรษฐกิจของประเทศแถบละตินอเมริกา มองได้ว่าบทความนี้สะท้อนมุมมองของเขาต่อประชานิยมโดยมีละตินอเมริกาเป็นตัวแบบโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิกฤติหนี้สาธารณะในทศวรรษ 1980[2]

            หากมองประชานิยมในนิยามของ Dornbusch และ Edwards กล่าวได้ว่า มันอาจเป็นการมองในลักษณะที่แคบเกินไป เมื่อศึกษาถึงประชานิยมในเบื้องลึกจะพบว่า ประชานิยมมีพัฒนาการที่น่าสนใจในแต่ละยุคสมัยและท้าทายต่อสังคม เศรษฐกิจและการเมืองของแต่ละสังคมมาโดยตลอด แม้แต่ในประเทศไทยประชานิยมก็เป็นสิ่งที่กล่าวถึงกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จนถึงสุดท้ายผู้คนในสังคมทั้งในประเทศและต่างประเทศต่างพยายามหาทางฝ่าวิกฤติประชานิยมเพื่อที่จะหลุดพ้นหายนะอันน่ากลัวดังเช่นเกิดมาแล้วในละตินอเมริกา

            ดังนั้นบทความชิ้นนี้มุ่งศึกษาถึงพัฒนาการของประชานิยมว่าเป็นอย่างไร เพื่อที่จะลองนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ถึงปัญหาและหาข้อเสนอที่เป็นทางออกให้กับสังคม เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการใช้ประชานิยมจนนำไปสู่การล่มสลายทางเศรษฐกิจของประเทศ

 

ประชานิยม

ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง การระวังภัยจากรูปแบบการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์เป็นสิ่งที่ประเทศทั่วโลกมุ่งกระทำ ในความกลัวต่อการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มอำนาจเดิม พวกเขาต่างหาวิธีป้องกันภัยของวิถีการปกครองที่พวกเขาไม่ต้องการ ไม่เว้นแม้แต่ ประชานิยม ซึ่งก็ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการต่อสู้กับระบอบคอมมิวนิสต์ในประเทศแถบละตินอเมริกาและที่อื่นๆ ทั่วโลก

            ช่วงทศวรรษ 1930-1940 ประชานิยมระยะนี้พุ่งเป้าไปที่การต่อต้อนเหล่าจักรวรรดินิยมที่พยายามเข้ามาควบคุมทรัพยากรธรรมชาติและเศรษฐกิจของประเทศ ความตระหนักและหวาดกลัวต่อการแพร่หลายของระบอบคอมมิวนิสต์ ทำให้ผู้นำในของประเทศเหล่านั้นพยายามกันระบอบคอมมิวนิสต์ให้ออกห่างจากสังคมเพื่อหลีกเลี่ยงการต่อสู้ทางชนชั้นจนอาจก่อให้เกิดการปฏิวัติสังคมในภายหลัง กล่าวได้ว่าในยุคสมัยนี้ความตรึงเครียดของสังคมเกิดจากนัยของความขัดแย้งระหว่าง ประชาชน (people) กับ คณาธิปไตย(oligarchy) หรือ เหล่าจักรวรรดินิยม นั่นเอง[3]

ประชานิยมถูกนำไปสู่ลักษณะของประชานิยมที่สำคัญคือ ประชานิยมโดยรัฐ[4] (state populism) รัฐเข้ามามีบทบาทในด้านการพัฒนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของที่อยู่อาศัยสำหรับคนส่วนมาก เพื่อสร้างความเจริญและความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ประชาชน ซึ่งในที่นี้รัฐถือว่าเป็นจุดศูนย์กลางของ ขบวนการประชานิยม (populist coalition) ที่พยายามสร้างความร่วมมือกับส่วนอื่นๆ ของสังคม

ประชานิยมยังถูกนำมาใช้ในแง่ของ ความเป็นสังคมสมัยใหม่ (modernization) ประชานิยมไม่ได้ถูกใช้ในแง่นโยบายเท่านั้น แต่ยังถูกใช้ในแง่ของ ขบวนการประชานิยม การนำเอาอุตสาหกรรมมาใช้ถือเป็นส่วนหนึ่งที่อำนวยให้ประชาชนมีโอกาสที่ดีในการพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ของพวกเขา ในละตินอเมริกาประชานิยมถูกใช้ในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับบารมีของผู้นำ อำนาจส่วนบุคคลมีความสำคัญต่อลักษณะประชานิยมในละตินอเมริกา ประชานิยมถูกตั้งข้อสงสัยที่ออกห่างจากการสร้างความเป็นสถาบัน (institutionalization)[5] เป็นอย่างมาก บทบาทของผู้นำกลับมีพลังมากกว่าความเป็นสถาบัน[6]

ในส่วนสำคัญต่อมา ประชานิยมถูกนำไปเกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยแบบตัวแทน (representative democracy) ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับประชาชนคนส่วนมากโดยตรง ประชานิยมเป็นเรื่องของคนส่วนมากไม่ว่าจะเป็นในระบอบประชาธิปไตยหรือเผด็จการ โดยเฉพาะในละตินอเมริกา ประชานิยมถูกใช้ในรูปของเผด็จการมากกว่าประชาธิปไตย เช่น Juan Peron ซึ่งมาจากการสนับสนุนของเผด็จ ใช้การสร้างภาพต่อชนชั้นแรงงานจนก่อกำเนิดระบบอุปถัมภ์ เป็นต้น แต่กระนั้นก็ดี ประชานิยมถูกตั้งคำถามในแง่ของเศรษฐกิจที่จะก่อให้เกิด การล่มสลายทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้เกิดสภาวะเงินเฟ้อ ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในระดับมหภาคในเวลาต่อมา[7]

 

สำนักเคนส์(Keynesian) กับ การล่มสลายทางเศรษฐกิจในทศวรรษ 1980

 

กล่าวได้ว่าหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐอเมริกาเข้ามามีบทบาทในฐานะเป็น “เจ้าโลก” ทางเศรษฐกิจ การใช้หลักคิดสำนักเคนส์แพร่หลายเป็นอย่างมากทั้งในยุโรปและกลุ่มประเทศโลกที่สามทั้งหลาย อเมริกาส่งเหล่าเทคโนแครตทั้งหลายที่เชี่ยวชาญเศรษฐทรรศน์สำนักเคนส์ไปเป็นที่ปรึกษาประเทศเหล่านี้[8] กล่าวได้ว่าประเทศทั้งหมดต่างอุดมไปด้วยอิทธิพลทางเศรษฐกิจของสำนักเคนส์ไปโดยปริยาย

แต่กระนั้นก็ดี วิกฤตการทางการเงินโดยเฉพาะอย่างยิ่งในละตินอเมริกาช่วงทศวรรษ 1980 มาพร้อมกับการล่มสลายของหลักคิดทางเศรษฐกิจหรือเศรษฐศาสตร์แบบเก่าของสำนักเคนส์ การใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจนำมาซึ่งวิกฤติทางการเงิน เงินเฟ้อขยายตัวอย่างมาก นำไปสู่วิกฤตการทางเศรษฐกิจและการเงินขนานใหญ่ นำมาซึ่งความเสียหายของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกที่สามแถบละตินอเมริกา อาทิ เปรู โบลิเวีย ซึ่งมีอัตราเงินเฟ้อสูงถึง 5,000% และ 11,000% ตามลำดับ[9] พร้อมกันนี้สำนักเคนส์ถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับแนวคิดที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นของ stagflation[10] แนวนโยบายของสำนักเคนส์อ่อนกำลังลงจากเหตุการณ์ที่กล่าวไป

กล่าวได้ว่าแนวคิดของเคนส์มีบทบาทเป็นอย่างมากต่อนโยบายเศรษฐกิจทั่วโลกก่อนทศวรรษ 1980 วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ทั้งวิกฤติการณ์ราคาน้ำมันในปี 1973-74 และเกิดซ้ำในปี 1979 จนนำไปสู่วิกฤติหนี้ต่างประเทศในโลกที่สาม (โดยเฉพาะแถบละตินอเมริกา) จนนำไปสู่วิกฤติการณ์เศรษฐกิจถดถอยไปทั่วโลก[11] เป็นตัวสะท้อนได้อย่างดีว่าพลังของสำนักเคนส์ได้ดับมอดลงไปอย่างสิ้นเชิง

 

ฉันทมติวอชิงตัน(Washington Consensus) กับ เสรีนิยมใหม่(neoliberal)

 

หลังการล่มสลายทางเศรษฐกิจของโลกพร้อมกับการสิ้นอิทธิพลของสำนักเคนส์ นำมาซึ่งอิทธิพลสำนักเศรษฐศาสตร์แห่งใหม่ที่เตรียมเข้ามาแทนที่แบบเดิม การเรียนรู้วิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจของละตินอเมริกานำมาสู่นโยบายเศรษฐกิจแบบใหม่ที่เรียกว่า เสรีนิยมใหม่ (neo-liberal) ระบบเศรษฐกิจนี้สถาปนาตนเองขึ้นมาในบนโลกผ่านการทำงานร่วมกับธนาคารโลก องค์การการค้าโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ภายใต้ชื่อ the Washington Consensus หรือ ฉันทมติวอชิงตัน ของ John Williamson ในปี 1990[12]

ฉันทามติวอชิงตันนำมาซึ่งเสรีนิยมใหม่นโยบายหลักมุ่งเน้นไปที่ การลดการขาดดุลทางการคลัง ส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ เปิดการค้าเสรี การแปรรูปกิจการของรัฐ การลดการควบคุมของรัฐบาลกลาง เป็นต้น[13] แต่ถึงอย่างไรก็ดี นโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ทางหนึ่งอาจก่อให้เกิดผลดี แต่อีกทางหนึ่งก็กลับสร้างความหายนะให้กับเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในสหรัฐอเมริกาช่วงระยะเวลาการใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ปี 1974-2004 คนอเมริกาที่ยากจนประมาณ 20% กลับมีรายได้เพิ่มประมาณ 2% เท่านั้น ทรัพย์สินส่วนใหญ่ประมาณ 37% ตกอยู่ในมือผู้ร่ำรวย[14]

ไม่เฉพาะแต่ในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ประเทศในแถบละตินอเมริกาก็ได้ใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมเช่นกัน หากจะยกตัวอย่างให้เห็นถึงผลกระทบของการใช้นโยบายดังกล่าวเป็นตนว่า การแปรรูปกิจการของรัฐด้านน้ำประปาในประเทศโบลิเวีย การทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาลโบลิเวียในขณะนั้นร่วมกับธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศนำมาซึ่ง กรอบนโยบายการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก(ESAF) ระหว่างปี 1998-2001[15] และจบลงที่การประท้วงจนนำมาสู่การที่ประชาชนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก

อีกทางหนึ่ง ผู้นำประเทศต่างๆ ในละตินอเมริกา อาทิ Fernando Mello ของบราซิล Carlos Menem ของอาเจนตินา และ Alberto Fujimori ของเปรู ไม่เพียงแต่ใช้นโยบายทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ซึ่งถือกำเนิดจากฉันทมติวอชิงตันเท่านั้น[16] หากแต่ยังรวมถึงการใช้ลักษณะของ ลักษณะส่วนบุคคล การออกเสียงประชามติ ประชานิยม และประชาธิปไตยแบบทำแทน (delegative democracy)[17] ทั้งหมดนี้คือแกนหลักของประชานิยมที่เรียกว่า “ประชานิยมใหม่ หรือ neo-populism”

รัฐบาลในแถบละตินอเมริกาใช้นโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่อย่างรุนแรงในหลังปี 1990 การดึงดูดความสนใจโดยตรงกับประชาชน ซึ่งจะเห็นได้จากการกลับมาสู่ตำแหน่งอีกครั้งของ Alberto Fujimori และ Fernando Mello แต่อย่างไรก็ตามภายหลังจากการใช้นโยบายทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ ประเทศที่กล่าวมาข้างต้นในละตินอเมริกากลับพบจุดจบที่ย่อยยับ อาทิ เศรษฐกิจล่มสลายในอาเจนตินาในปี 2001 ฟูจิโมริถูกเนรเทศออกนอกประเทศ ประชาชนถูกฆ่าบนท้องถนนในโบลิเวีย เป็นต้น[18]

แม้ว่าในละตินอเมริกาจะเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงของการใช้นโยบายทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ทั้งใน อาเจนตินา เปรู โบลิเวีย แต่อย่างไรก็ตามสายธารของเสรีนิยมใหม่ก็ยังไหลรินต่อไป  ยังไม่มีผู้ใดเสนอวิธีการอื่นที่นำมาแทนเสรีนิยมใหม่ได้ แต่อย่างไรก็ตามก็มีกระแสธารการคัดค้านนโยบายทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่เช่นกัน อาทิ  การรวมกลุ่มกันของผู้นำประเทศละตินอเมริกาเพื่อต่อต้านเสรีนิยมใหม่ของอเมริกา[19]

 

ประชานิยมฝ่ายซ้าย (Leftist Populism)

 

ในยุคสมัย Fernando Mello ของบราซิล Carlos Menem ของอาเจนตินา และ Alberto Fujimori ได้เกิดประชานิยมรูปแบบใหม่ที่เน้นสองด้านไปพร้อมกันคือ นโยบายทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ รวมถึงการใช้ลักษณะของ ลักษณะส่วนบุคคล การออกเสียงประชามติ ประชานิยม และประชาธิปไตยแบบทำแทน ผู้นำเหล่านี้ดึงดูดความสนใจโดยตรงของประชาชนหมู่มาก เป็นผู้นำประชานิยมที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ซึ่งเรียกว่า ประชานิยมใหม่

แต่อย่างไรก็ดี เมื่อผู้นำประชานิยมใหม่เหล่านั้นหมดอำนาจลง กระแสการต่อต้านนโยบายทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ก็กลับมีพลังมากขึ้น จนนำมาซึ่งการเข้ามาของผู้นำฝ่ายซ้ายที่ต่อต้านทุนนิยมฝั่งอเมริกาอย่าง Hugo Chavez ของเวเนซุเอลา

สิ่งที่เกิดขึ้นในยุคประธานาธิบดี Hugo Chavez  เรียกว่า “การร้องไห้ของประชาชน หรือ Cry of the People” แรงงานในเมือง คนหนุ่มสาว และส่วนอื่นๆ พวกเขาไม่เพียงแต่น้อยเนื้อต่ำใจและอัดอันตันใจเท่านั้น แต่พวกเขายังต้องการมีอำนาจทางสังคม ภายใต้วลี “their place under the sun”[20]

หากมองถึงบทบาทของ Hugo Chavez กล่าวได้ว่า วิธีการที่เขาใช้ในการอยู่ในอำนาจนั้นอาศัยลักษณะส่วนบุคคลเป็นสำคัญเพื่อสร้างอำนาจให้กับตนเองและอีกทางหนึ่งก็อาศัยความอ่อนแอของสถาบันอื่นๆของสังคม[21] ซึ่งในที่นี้ก็ทำให้เขาไม่ถูกการตรวจสอบถ่วงดุลจากสังคมเท่าที่ควร ซึ่งการดำรงอยู่ในลักษณะนี้อาจนำมาสู่การกลายร่างเข้าสู้ ผู้นำแบบเผด็จการเสียงข้างมาก (tyranny of the majority) ก็เป็นได้

 

ทางออกจากผู้นำแบบเผด็จการเสียงข้างมาก (Tyranny of the Majority)

 

          จากที่กล่าวไปทั้งหมดข้างต้น ผู้เขียนสามารถจำแนกประชานิยมออกเป็น 3 แบบหลัก คือ ประชานิยม (populism) ประชานิยมใหม่ (neo-populism) และประชานิยมฝ่ายซ้าย (Leftist Populism)

            ประชานิยมในความหมายของผู้เขียนจะใช้กรอบการอธิบายของ Dornbusch และ Edwards โดยชี้ให้เห็นประชานิยมในแง่ของการใช้เงินหรือการใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัวในการบริหารประเทศ พร้อมกันนั้นนโยบายทั้งหมดต่างอาศัยการสนับสนุนของประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งส่วนมากเป็นชนชั้นล่างหรือคนจน นโยบายในลักษณะนี้แม้ว่าจะสร้างความพึงพอใจให้กับส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ในอีกด้านหนึ่งคนชั้นกลางและชั้นสูงต่างพากันวิพากษ์กันอย่างกว้างขวาง

            ประชานิยมแบบนี้จับมือกับหลักคิดของสำนักเคนส์ซึ่งมีอำนาจมากในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หลายประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศโลกที่สามต่างใช้แนวทางดังกล่าวจนเป็นเหตุให้เกิดวิกฤติทางการเงินอย่างใหญ่หลวงในช่วงทศวรรษที่ 1980

            หลังจากการล่มสลายของสำนักเคนส์ก็ก่อเกิดแนวทางใหม่ในการดำเนินการด้านเศรษฐกิจภายใต้ the Washington Consensus และยังรวมถึงการใช้ ลักษณะส่วนบุคคล การออกเสียงประชามติ ประชานิยมและประชาธิปไตยแบบทำแทน ในการทำงานจนก่อให้เกิดประชานิยมแบบใหม่นั่นก็คือ ประชานิยมใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นประชานิยมที่สนับสนุนทุนนิยมอเมริกันจนถูกขนานนามว่า “ประชานิยมฝ่ายขวา” แต่อย่างไรก็ตามจุดจบของทุนนิยมนี้ก็หาได้ต่างจากทุนนิยมที่เกิดขึ้นในอดีตไม่

            อย่างไรก็ตาม ประชานิยม ก็มีพัฒนาการที่น่าสนใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าสู่อำนาจของ Hugo Chavez ในประเทศเวเนซุเอลา เขาได้เริ่มขบวนการต่อต้านทุนนิยมฝั่งอเมริกาแต่ไม่ได้ละทิ้งนโยบายทางเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ อาศัยความอ่อนแอของสถาบันทางสังคมอื่นเพื่อคำจุนตนเองให้อยู่ในอำนาจ นั่นก็คือ ประชานิยมฝ่ายซ้าย

            กล่าวได้ว่าพัฒนาการของประชานิยมยุคหลังสุดหยุดอยู่ตรงที่ ประชานิยมฝ่ายซ้าย รายละเอียดดังที่ได้กล่าวไปแล้ว จากสิ่งที่เกิดขึ้นคำให้เกิดคำถามในสังคมถึงการทัดทานประชานิยม(ฝ่ายซ้าย) ซึ่งในที่สุดแล้วอาจก่อเกิดเผด็จการเสียงข้างมาก (อ้างเสียงข้างมากหรือประชาชน) จนนำไปสู่การได้ผู้นำที่ไม่ได้รับการตรวจสอบถ่วงดุลหรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งผู้นำผู้นำอาจพัฒนาเป็นผู้นำเผด็จการในที่สุด

            ในแง่ของการทัดทานประชานิยมในลักษณะนี้ผู้เขียนคิดว่า การทัดทานหรือถ่วงดุลประชานิยมควรใช้กระบวนการประชาธิปไตยในการหาทางออก

            ในกระบวนการประชาธิปไตยกล่าวได้ว่า การเลือกตั้ง (election) คือพื้นฐานหนึ่งที่จำเป็นในสังคมประชาธิปไตย การอาศัยหลักการความเท่าเทียมพยายามทำให้คนในสังคมยอมรับในหลักการประชาธิปไตยโดยผู้ที่จะเข้าสู่อำนาจทางการเมืองต้องผ่านกระบวนการเลือกตั้ง เบื้องต้นนี้ Samuel Huntington ชี้ให้เห็นถึงการถูกนำมาใช้เกี่ยวกับการจัดการกับผู้นำแบบเผด็จการ เมื่อสังคมยอมรับระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นจึงส่งผลผลสะท้อนมาถึงผู้ปกครองเผด็จการเช่นกันที่ต้องสร้างความชอบธรรมให้ตนเองผ่านกระบวนการเลือกตั้ง เพราะในที่สุดแล้วเขาเชื่อว่ามันเป็นวิธีเดียวที่จะช่วยรักษาอำนาจเขาไว้ได้[22]

            แต่ผลที่ได้จากการใช้ระบบการเลือกตั้งกลับพบว่า บรรดาผู้นำแบบเผด็จการจำนวนมากอาจหลุดจากอำนาจ (พ่ายแพ้การเลือกตั้ง) ด้วยเสียงของประชาชนนำมาสู่การพ่ายแพ้ของอำนาจเก่า อาทิ ในบราซิลปี 1974 การพ่ายแพ้ของ อินทิรา คานธี ของอินเดียในปี 1977 หรือ การชนะของพรรค NLD ในพม่าปี 1990 เป็นต้น[23] ซึ่งชี้ให้เห็นว่า การเลือกตั้ง เป็นวิธีที่จัดการกับผู้นำแบบเผด็จโดยวิธีการที่ไม่ต้องเสียเลือดเสียเนื้อ ซึ่งก็น่าจะเป็นผลดีต่อสังคม

            ดังนั้นในเบื้องต้นการยอมรับในระบอบประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้งจึงเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการทัดทานอำนาจเผด็จการในระยะแรก

            ต่อมาเมื่อผู้นำเหล่านั้นเข้ามาสู่อำนาจผ่านกระบวนการเลือกตั้ง การกระทำต่างๆ ของพวกเขาจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ที่จะใช้ยุทธวิธีต่างๆ เพื่อทำให้ประชาชนพึงพอใจ ทั้งในแง่ของด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ไม่เว้นแม้แต่นโยบายต่างๆ ที่ดึงดูดใจคนส่วนมากซึ่งมักจะเป็นคนจนเสียเป็นส่วนใหญ่ เพื่ออย่างน้อยพวกเขาจะได้เป็นแรงสนับสนุนและเป็นฐานเสียงในการเมืองของพวกเขาต่อไปในอนาคต นั่นก็คือ นโยบายประชานิยม และเมื่อพวกเขาถูกตั้งคำถามจากสังคมหรือแม้แต่สถาบันทางการเมืองอื่น การอ้างว่าทุกอย่างทำเพื่อประชาชน พวกเราคือตัวแทนของประชาชน ก็สร้างปัญหาให้กับระบบการเมืองทั้งระบบเช่นกัน

            นโยบายประชานิยมเข้ามามีบทบาทอย่างมากในสังคมประชาธิปไตย และในท้ายที่สุดนำมาซึ่งปัญหาที่สำคัญสองประการคือ ปัญหาเกี่ยวกับการคลังสาธารณะและปัญหาเกี่ยวกับการมีผู้นำแบบเผด็จการเสียงข้างมาก

            ในแง่ของปัญหาเกี่ยวกับการคลังสาธารณะ เป็นปัญหาที่ทำให้ประชานิยมถูกมองในแง่ร้าย ซึ่งในทางแก้ต้องกล่าวว่า การใช้งบประมาณของรัฐควรสามารถใช้งบประมาณขาดดุลได้เพื่อความจำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่อย่างไรก็ตามควรคำนึงถึงความสามารถของรัฐในการบริหารหนี้สาธารณะเป็นสำคัญ ซึ่งหากไม่คำนึงอาจจะทำให้ถึงจุดเสี่ยงที่รัฐนั้นๆ เข้าสู่วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่ร้ายแรงอย่างหลียกเลี่ยงไม่ได้

            อีกประเด็นที่สำคัญคือ ผู้นำเผด็จการเสียงข้างมาก การมาซึ่งผู้นำที่อาศัยการเลือกตั้งเป็นฐานสำคัญ การกล่าวอ้างถึงประชาชนที่เป็นฐานเสียงเพื่อผลประโยชน์ของตนเองเป็นสิ่งที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยบิดเบี้ยวในทางหนึ่ง         กล่าวคือ

            ในระบอบประชาธิปไตยแม้ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน แต่การใช้อำนาจต้องกระทำผ่านตัวแทนเป็นสำคัญ พร้อมทั้งการใช้หลักการคานอำนาจ (check and balance) อย่างเข้มแข็งเพื่อกันส่วนหนึ่งส่วนใดใช้อำนาจอย่างเกินของเขต เมื่อเป็นเช่นนั้น ผู้ที่เข้าไปใช้อำนาจในระบอบประชาธิปไตยควรตระหนักถึงหลักการสำคัญอันนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

            ในการกำหนดโครงสร้างทางอำนาจควรกระทำผ่านรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นหัวใจหลักของโครงสร้างรัฐ การวางตำแน่งและหน้าที่ รวมทั้งการตรวจสอบถ่วงดุลที่รัดกุมเป็นสิ่งที่ทำให้การนำไปสู่เผด็จการเสียงข้างมากเป็นไปได้ยากขึ้น

            ฝ่ายบริหาร ควรมีการกำหนดอำนาจที่ชัดเจนว่าสามารถทำอะไรมากน้อยเพียงใด ฝ่ายนิติบัญญัติก็เช่นกันต้องคำนึงถึงการออกกฎหมายที่เหมาะสมและต้องทำหน้าที่อย่างเข้มข้นในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการก็ควรพิจารณาคดีความตามกรอบของกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อผู้ที่กระทำความผิด ทั้ง ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการ ต้องทำงานด้วยความเป็นอิสระต่อกันมากที่สุด ตรวจสอบถ่วงดุลตามหน้าที่ของตนเองอย่างเข้มข้น ในขณะเดียวกันฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ไม่สามารถใช้อำนาจของตนเองเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ได้ เพื่อป้องกันการใช้อำนาจเกินขอบเขตของแต่ละฝ่าย

            ดังนั้น การเลี่ยงผู้นำเผด็จการเสียงข้างมาก สถาบันทางการเมืองอื่น (ฝ่ายนิติบัญญัติและตุลาการ) ควรสร้างความเข้มแข็งของตนเองผ่านการกำหนดโครงสร้างที่เข้มแข็งของรัฐในรัฐธรรมนูญ สร้างระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลให้มีประสิทธิภาพ เมื่อทำได้เช่นนี้ก็จะทำให้ทัดทานการใช้อำนาจของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลสะท้อนถึงผู้นำที่นิยมใช้เสียงข้างมากอ้างความชอบธรรมไม่สามารถอ้างความในลักษณะนี้ได้อีกต่อไป

            เหนือสิ่งอื่นใด เราจะสังเกตได้ว่า ประชานิยม มักมีพลังเป็นอย่างมากในประเทศที่ความเหลือมล้ำทางสังคมสูงดังเช่นในละตินอเมริกา แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้น เป็นไปได้หรือไม่ว่า การสร้างการกระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรมและทั่วถึงเป็นสิ่งที่จำเป็น

ยกตัวอย่างในประเทศไทยเราจะเห็นได้ว่า ทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจ งบประมาณต่างๆ อำนาจทางการเมือง สิ่งเหล่านี้ต่างกระจุกตัวอยู่ในหัวเมืองใหญ่ทั้งสิ้น รายได้ของประชาชนในชนบทและหัวเมืองต่างกันเป็นอย่างมาก รวมทั้งอำนาจทางการเมืองที่ยังกระจุกตัวอยู่ในมือของชนชั้นนำผ่านมุมมองแบบ สองนคราประชาธิปไตย ยังมีอำนาจอยู่มากในสังคมไทย หากยังเป็นเช่นนี้ก็ไม่ต้องสงสัยว่าเพราะเหตุใดผู้นำแบบประชานิยมยังคงมีพลังเหนือกว่าสถาบันอื่นๆภายในสังคม ประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นคนจนคนชั้นล่างคงยังต้องพึ่งพาระบบอุปถัมภ์จากผู้นำเหล่านั้นอยู่ ดังนั้นสิ่งเหล่านี้จึงเป็นส่าสำคัญที่ทำให้ ประชานิยม ยังคงอยู่ในสังคมไทยไปอีกนานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

พร้อมกันนี้กล่าวโดยรวบรัดได้ว่า ระบอบประชาธิปไตยแม้ไม่ใช้ระบอบการปกครองที่ดีที่สุดแต่อย่างน้อยก็เป็นระบอบที่ตรวจสอบถ่วงดุลได้มากที่สุด การทัดทานผู้นำเผด็จการประชานิยม ระบอบประชาธิปไตยถือเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในขณะนี้เพื่อที่จะทัดทาน ถ่วงดุล จากสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมด

 

 

 

 



[1] Rudiger Dornbusch and Sebastian Edwards, The Macroeconomics of Populism in Latin America (Chicago : University of Chicago Press, 1991), 1.

[2] ในทศวรรษ 1980s ประเทศในแถบละตินอเมริกาเผชิญวิกฤติวิกฤติหนี้สาธารณะอย่างหนักจนถูกมองว่าเป็น “The Lost Decade” ซึ่งอาจจะสรุปโดยรวบรัดได้ว่าเกิดจากการใช้จ่ายในกิจการสวัสดิการของรัฐเป็นจำนวนมาก การก่อหนี้ต่างประเทศจากการเปิดเสรีทางการเงิน การใช้อัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น

[3] Ignacio Walker, Democracy and Populism in Latin America (University of Notre Dame : Kellogg Institute for International Studies, 2008), 2-3.

[4] Ibid, 4.

[5] ในแง่นี้กล่าวได้ว่า เนื่องด้วยความอ่อนแอของสถาบันทางสังคมและการเมืองอื่นทำให้นักการเมืองมีอำนาจมาก การมีซึ่งประชานิยมในลักษณะการใช้บารมีหรืออำนาจส่วนบุคคลกล่าวได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงปัญหาของสังคมที่ขาดซึ่งการถ่วงดุลหรือคานอำนาจระหว่างกัน ในท้ายที่สุดอาจสุ่มเสียงต่อการกลายเป็นผู้นำแบบเผด็จการได้

[6] Ignacio Walker, Democracy and Populism in Latin America, 5-6.

[7] Ibid, 6-8.

[8] รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, ฉันทมติวอชิงตัน (กรุงเทพ : สำนักพิมพ์คบไฟ, 2548), น. 19-21.

[9] Ignacio Walker, Democracy and Populism in Latin America, 9.

[10] Stagflation เป็นปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจที่ทำให้สำนักเคนส์ (Keynesian) เสื่อมอำนาจลง โดยตามหลักคิดของเคนส์เชื่อว่า เมื่อเศรษฐกิจขยายตัว อัตราการว่างงานจะน้อยลง เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น เมื่อเศรษฐกิจหดตัว อัตราการว่างงานจะมากขึ้น เงินเฟ้อจะลดลง แต่ในช่วงก่อนทศวรรษ 1980s เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจที่กลับหัวกลับหางคือ ช่วงนั้นเศรษฐกิจหดตัวเป็นอย่างมาก แต่ในอีกทางหนึ่งอัตราเงินเฟ้อก็อยู่ในระดับสูงเช่นกัน

[11] รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, ฉันทมติวอชิงตัน, น. 69-70.

[12] เกษียร เตชะพีระ, เศรษฐกิจโลกถดถอยครั้งใหญ่ : ความรุ่งเรืองและความล่มจมของเสรีนิยมใหม่/โลกาภิวัตน์ (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ openbooks, 2555), น. 139-140.

[13] รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, ฉันทมติวอชิงตัน, น. 52-57.

[14] เกษียร เตชะพีระ, เศรษฐกิจโลกถดถอยครั้งใหญ่, น. 142.

[15] เรื่อเดียวกัน, น. 158.

[16] Ignacio Walker, Democracy and Populism in Latin America, 11.

[17] ประชาธิปไตยแบบทำแทน หรือ delegative democracy ประจักษ์ ก้องกีรติ ให้การอธิบายไว้กล่าวโดยสรุปได้ว่า เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ทำงานเพื่อประชาชน แต่ขาดมิติของการตรวจสอบถ่วงดุล เพิ่มเติมใน ประจักษ์ ก้องกีรติ, ประชาธิปไตยของฉัน ของท่านและของเธอใน October 9 (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ openbooks, 2553), น. 33.

[18] Ignacio Walker, Democracy and Populism in Latin America, 11-12.

[19] เกษียร เตชะพีระ, เศรษฐกิจโลกถดถอยครั้งใหญ่, น. 169.

[20] Ignacio Walker, Democracy and Populism in Latin America, 12-13.

[21] Ibid, 14.

[22] Samuel P. Huntington, The Third Wave Democracy in the Late Twentieth Century (University of Oklahoma Press : Norman and London, 1991), 174-175.

[23] Ibid, 175-178.

 

บล็อกของ เผ่า นวกุล

เผ่า นวกุล
เผ่า นวกุลnawakulbanrai@gmail.com 
เผ่า นวกุล
แม้ว่าการฆาตกรรมหมู่ไม่ใช่เรื่องใหม่ในประวัติศาสตร์มนุษย์ อย่างไรก็ดีน้อยมากที่ยุคโบราณจะมีการล้างบาง (wipe out) หรือ ขับไล่ประชาชนพลเมืองทั้งหมด ผู้ชนะต้องการปกครองประชาชน พวกเขาต้องการที่จะทำให้ประชาชนอยู่ภายใต้ปกครองและเป็นทาสพวกเขา ไม่ได้ต้องการให้ประชาชนย้ายออกไปแต่อย่างใด
เผ่า นวกุล
 เผ่า นวกุล
เผ่า นวกุล
การทำให้เป็นประชาธิปไตยโดยอาศัยความรุนแรง ทำได้จริงหรือ?[1] Democratization of Violence[2]
เผ่า นวกุล
ถ่วงดุลผู้นำประชานิยมด้วยระบอบประชาธิปไตย เผ่า นวกุล 
เผ่า นวกุล
ความสนใจในความไม่สนใจทางการเมืองของชนชั้นกลาง(เมือง)
เผ่า นวกุล
  ในทางเศรษฐศาสตร์ถือว่าทรัพยากรเป็นของที่มีอยู่อย่างจำกัด แน่นอนว่าคำว่า “จำกัด” ก็หมายความเป็นนัยว่ามัน “มีน้อย” ไม่ใช่ปัญหาหาก “มีน้อย” แล้วความต้องการของมนุษย์มีน้อยไปด้วยเพราะอย่างน้อยก็ไม่ต้องมาแย่งชิงกัน แต่ประเด็นปัญหาที่สำคัญในโลกสมัยใหม่ที่จำนวนมนุษย์ในสังคมเพิ่มขึ้นมากมายมหาศาลส่งผลให้ความต้องการใช้ทรัพยากรมีมากมายตามไปด้วย แล้วจะทำอย่างไรเล่าหากต่างฝ่ายต่างหมายปองทรัพยากรชิ้นนั้นกันตาเป็นประกาย
เผ่า นวกุล
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ในห้องเรียนนักศึกษาปริญญาตรี เราได้แลกเปลี่ยนกันในเรื่องของการปฏิรูปสังคม เศรษฐกิจ การเมืองไทย ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอ
เผ่า นวกุล
“ เมื่อวันจันทร์ที่ 23 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา ณ สำนักงานใหญ่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร บางเขน พนักงานธนาคารฯที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ได้ออกมายื่นข้อเรียกร้องต่อฝ่ายนายจ้างสาระสำคัญโดยสรุปมีด้วยกัน 3 เรื่องหลักๆที่สำคัญได้แก่
เผ่า นวกุล
คงเป็นข้อถกเถียงของสมาชิกรัฐสภาอันทรงเกียรติที่ร้อนแรงอยู่ในขณะนี้ในประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ทางหนึ่งพยายามชี้ให้เห็นว่า สุดท้ายแล้วประชาธิปไตยนั้นต้องอิงแอบแนบชิดกับประชาชนโดยประชาชนจะเป็นผู้พิจารณาว่าผู้ใดที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่ง สมาชิกวุฒิสภาควรมีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน แต่ก็มีเสียงคัดค้านจากฝ่ายตรงข้ามถึงประเด็นดังกล่าวว่า แล้วอะไรคือข้อต่างของสมาชิกวุฒิสภาซึ่งเป็นสภาสูงและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นสภาล่างหากทั้งคู่ต่างมาจากประชาชนกลุ่มเดียวกัน ถึงขนาดมีสมาชิกรัฐสภาบางท่านกล่าว่า ควรเลิกระบบสองสภามาเป็นระบบสภาเดียว ให้สิ้นเรื่องไป
เผ่า นวกุล
หากกล่าวถึงความรักคงต้องบอกว่าหลายคนมักมีนิยามต่างกันไป ความรักเปรียบเสมือนยาขม ความรักเปรียบเสมือนน้ำผึ้งชโลมจิตใจ หรือแม้แต่ในซีรีย์อภินิหารของจีนก็ยังมีการกล่าวถึงความรักในทำนอง
เผ่า นวกุล
ความรักมักเป็นสิ่งหอมหวานเสมอโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยหนุ่มสาวแรกแย้ม การประสบพบเจอกับใครซักคนโดยไม่ได้ตั้งใจก็ทำให้เรารู้สึกในจิตใจได้หลายแบบไม่ว่าจะเป็น คนนี้น่ารัก คนนี้น่าเกลียด คนนี้เป็นสิว คนนี้ตาเหล่ และคงมีอื่นๆอีกมามายเป็นแน่ และทั้งหลายทั้งปวงวัยรุ่นหนุ่มสาวก็คงเคยที่จะพบใครซักคนซึ่งเป็นเพศตรงข้ามหรือเพศเดียวกันที่คุณถูกตาต้องใจเมื่อแรกเห็น หากจะกล่าวกันให้เข้าใจก็คือ นี่แหละคือ “รักแรกพบของฉัน”