Skip to main content

เผ่า นวกุล

nawakulbanrai@gmail.com

 

กล่าวอย่างตรงไปตรงมา บทความนี้ต้องการนำเสนอมุมมองทางการเมืองว่าด้วยการโกหกของนักการเมืองเป็นสำคัญด้วยเหตุที่ว่า หากเราพิจารณาสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศหรือต่างประเทศก็ตาม นักการเมืองกับการโกหกหรือบางกรณีอาจกล่าวได้ว่าพูดจาวกวน เปลี่ยนไปมาชั่วข้ามวัน มิได้ทำตามสิ่งที่สัญญาไว้และอื่นๆ แต่เหตุใดเล่านักการเมืองเหล่านี้ยังสามารถดำรงอยู่บนพื้นที่สาธารณะได้และบางรายก็อยู่ได้อย่างยาวนาน ผู้เขียนพบการให้เหตุผลที่น่าสนใจในงานวิชาการด้านปรัชญาการเมืองของ Alex Tuckness และ Clark Wolf เรื่อง This Is Political Philosophy: An Introduction ตีพิมพ์ในปี 2017 จึงต้องการนำเสนอการอธิบายที่น่าสนใจนี้เพื่อให้ทุกคนร่วมกันพิจารณา

Alex Tuckness และ Clark Wolf เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงบทสนทนาระหว่าง Sophy และ Justin ในประเด็น “การโกหก” (Lying) ของนักการเมืองซึ่งเป็นการยกตัวอย่างมาให้เห็นภาพได้ดีเป็นอย่างมาก

สำหรับ Sophy พยายามเสนอให้การโกหกเป็นอาชญากรรม (crime) ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การออกกฎหมายขึ้นมาควบคุมการกระทำการนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ในการรณรงค์เลือกตั้ง ซึ่งผลของมันเป็นสิ่งที่ Sophy มองว่าเลวร้ายกว่าการโกหกในชั้นศาลเพราะการโกหกโดยนักการเมืองมันส่งผลต่อประชาชนในวงกว้าง

สำหรับ Justin มองว่าการโกหกมิใช่อาชญากรรมแต่อย่างใด บางครั้งการโกหกก็จำเป็นในสถานการณ์ต่างๆ การกำหนดกฎหมายเช่นนั้นเสมือนหนึ่งการพยายามผลักผู้คนให้เข้าไปสู่คุกโดยไม่สมเหตุสมผล และที่สำคัญโลกในความเป็นจริงก็เต็มไปด้วยการโกหกเพื่อเป้าหมายทั้งดีและไม่ดีซึ่งรวมไปถึงการทำเพื่อผลประโยชน์ประชาชน  ดังนั้น เป็นการยากเหลือเกินที่จะทำให้การโกหกเป็นอาชญากรรม

ดูเหมือนว่าปัญหาเช่นบทสนทนานี้เป็นปัญหาโลกแตกที่ถกเถียงกันได้แบบไม่รู้จบ อย่างไรก็ตาม Tuckness และ Wolf พยายามยกเหตุแย้งภาพลบที่เกิดขึ้นกับนักการเมืองโดยอ้างผลการศึกษาที่น่าสนใจของนักจิตวิทยาอย่าง ‪Garold Jellison ซึ่งจากการศึกษามนุษย์ 20 รายพบว่าใน 24ชั่วโมงเฉลี่ยแล้วแต่ละรายโกหกประมาณ 200 ครั้ง ซึ่งภาพงานศึกษาของนักจิตวิทยาอย่าง Jellison ตรงกันข้ามกับผลสำรวจประชาชนชาวอังกฤษที่เชื่อว่านักการเมืองจากการเลือกตั้งของพวกเขาโกหกตลอดเวลาทุกเมื่อเชื่อวัน เป็นไปไม่ได้เลยที่จะเชื่อคำกล่าวของนักการเมือง ซึ่งสิ่งนี้อาจมองได้ว่า Tuckness และ Wolf พยายามแสดงให้เห็นว่าบางครั้งการโกหกอาจมิได้อยู่ในพื้นที่ของนักการเมืองเท่านั้น อย่างไรก็ตาม คำถามนี้ไม่ใช่ประเด็นที่พวกเขาทั้งสองต้องการตอบคำถาม หากแต่พวกเขาต้องการแสดงให้เห็นว่าอะไรเป็นสิ่งที่ทำให้นักการเมืองมักจะหลุดจากมลทินจากการโกหก

การตอบคำถามของ Tuckness และ Wolf เริ่มต้นด้วยยกเหตุการณ์หนึ่งเพื่ออธิบาย เหตุการณ์นี้เริ่มต้นที่ Pablo เชื่อว่า Ramon หลบศัตรูอยู่ในบ้านของญาติ และเมื่อศัตรูมาถึง Pablo จึงได้บอกกับศัตรูว่า Ramon อยู่ที่สุสานไม่ได้อยู่ในบ้านแต่อย่างใด แต่ในความเป็นจริง Ramon ไปที่สุสานทำให้ Ramon ถูกศัตรูพบและเข่นฆ่า ผลลัพธ์จึงเป็นสิ่งที่ Pablo ไม่คาดคิด คำถามคือ Pablo โกหกหรือไม่?

สำหรับ Tuckness และ Wolf มองว่าการโกหกจึงสามารถมองได้หลายมิติ แต่หากพิจารณาจากกรณีนี้สามารถมองได้ 2 มิติ ทางหนึ่ง Pablo คาดการณ์ผิดพลาดเพราะคิดว่า Ramon จะต้องอยู่ในบ้าน ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่ใช่การ “โกหก” แต่มันคือ “ความผิดพลาด” (mistake) อีกทางหนึ่ง การที่ Pablo เชื่อว่า Ramon อยู่ในบ้านและบอกศัตรูว่า Ramon อันนี้ต่างหากคือการโกหก ซึ่งความสำคัญประเด็นนี้อยู่ที่ว่าเอาเข้าจริงแล้วการโกหกต้องเป็น “intention to speak false word” หรือ “เจตนาที่จะโกหก” นั่นเอง ซึ่งสิ่งที่ Pablo ทำในประเด็นที่สองนี้ต่างหากคือการโกหกที่แท้จริง

อย่างไรก็ตาม กรณีที่สองแม้ว่าจะถูกมองว่าเป็นการโกหกที่แท้จริงแต่เหตุใดกรณีเช่นนี้ไม่ว่าใครก็ตามจะมองว่า Pablo มิได้ทำผิดและเป็นผู้มีมลทินแต่อย่างใด เหตุผลที่ Tuckness และ Wolf ยกมาดูจะเป็นคำตอบที่ทุกคนเข้าใจได้ ดังนี้

หากคิดแบบอรรถประโยชน์ (utility) หรืออีกคำหนึ่งอาจจะใช้คำว่าประโยชน์นิยม (utilitarianism) การอธิบายด้วยแนวคิดนี้ง่ายที่สุดเพราะเชื่อว่าการโกหกจะนำมาซึ่งสิ่งที่ดีกว่าหรือทำให้เรามีความสุข ไม่เจ็บปวด ตัวอย่างเช่น หากการโกหกจะทำให้ไม่เกิดสงครามก็เป็นอะไรที่สมเหตุสมผลมากกว่าพูดความจริงแล้วจะนำสังคมไปสู่สงคราม เป็นต้น ดังนั้น สำหรับแนวคิดอรรถประโยชน์หากการพูดความจริงนำมาซึ่งความเลวร้ายเป็นอย่างมาก การโกหกก็อาจเป็นสิ่งที่ถูกต้องหากกระทำก็เป็นได้

          แนวคิดแบบการจงใจ/ความมุ่งมาดปรารถนา (intention) อธิบายถึงการโกหกว่าอาจสามารถทำได้หากสิ่งนี้สามารถช่วย “พิทักษ์ชีวิต” (save a life) ซึ่งสิ่งนี้ดีกว่าการโกหกเพื่อให้ตนพ้นผิดจากการกระทำที่ตนเองสร้างขึ้น

          ประเด็นเรื่องสิทธิ (rights) ในประเด็นนี้ Tuckness และ Wolf พยายามเสนอแนวคิดของ Hugo Grotius นักนิติศาสตร์ชาวชาวฮอลแลนด์ช่วงปลายศตวรรษที่ 16 ว่าอันที่จริงการโกหกสามารถกระทำได้หากเป็นหน้าที่ (duty) ที่รัฐต้องทำเพื่อพิทักษ์ชีวิตคน ดังนั้น หน้าที่ (โกหกเพื่อพิทักษ์ชีวิต) จึงสำคัญกว่าการพูดความจริง อีกประการที่ Grotius เสนอคือ การโกหกกระทำได้หากอยู่ในสถานการณ์ที่จำเป็น เช่น ในการเล่นการพนันที่ทุกคนพร้อมที่จะโกงกันตลอดเวลา หรือการที่สายลับจำเป็นอย่างยิ่งที่ไม่พูดความจริงเพื่อประโยชน์ของทุกคน

          ใบอนุญาตโกหก (A license to lie) ในข้อนี้ Tuckness และ Wolf ยกแนวคิดของ Niccolo Machiavelli มาอธิบายโดยให้แยกพื้นที่ออกเป็น 2 พื้นที่ คือ พื้นที่ชีวิตประจำวันที่การมีคุณธรรม (virtue) จำเป็นอย่างมาก ดังนั้น ในพื้นที่นี้การโกหกดูจะเป็นอะไรที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ทางการเมือง คุณธรรมไม่สามารถนำมาใช้ได้ ผู้ปกครองต้องเตรียมพร้อมตลอดเวลาเพื่อปกป้องบ้านเมืองโดยการกระทำที่ไม่สุจริต (dishonest) ซึ่งจำเป็นมากเมื่อถึงสถานการณ์ที่จำเป็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเอาชนะศัตรูเพื่อดำรงไว้ซึ่งรัฐที่มั่นคง

          ในที่นี้ดูเหมือนว่าทุกเหตุผลน่าสนใจทั้งหมด หากแต่อยู่ที่ว่าบริบทของเหตุการณ์หนึ่งๆ จะสัมพันธ์กับการให้เหตุผลใด ทั้งนี้ในกรณีของ Pablo และ Ramon แนวคิดอรรถประโยชน์ แนวคิดแบบการจงใจ/ความมุ่งมาดปรารถนา และประเด็นเรื่องสิทธิดูจะเป็นเหตุผลที่สอดคล้อง

Alex Tuckness และ Clark Wolf ส่งท้ายการสร้างความชอบธรรมในการโกหกของนักการเมืองในอีก 2 ประเด็นคำถามสำคัญคือ คำถามที่หนึ่ง เมื่อใดที่การโกหกได้รับการยอมรับว่าสมเหตุสมผล? และคำถามที่สอง หากนักกการเมืองกระทำสิ่งหนึ่งเพื่อปกป้องพลเมืองของตนแต่การปกป้องนี้สร้างผลเสียต่อพลเมืองประเทศอื่น สิ่งนี้จะกล่าวได้หรือไม่ว่านักการเมืองเหล่านี้เป็นคน “มือสกปรก” (dirty hands)?

คำถามที่หนึ่ง เมื่อใดที่การโกหกได้รับการยอมรับว่าสมเหตุสมผล? คำถามนี้น่าสนใจทีเดียวโดย Tuckness และ Wolf ให้การอธิบาย 2 ประเด็นหลักกล่าวคือ

           หนึ่ง ผลสุดท้าย (consequence) หากสามารถทำให้ผลสุดท้ายซึ่งก็คือสิ่งที่ดีมีน้ำหนักมากจนทำให้การโกหกนั้นมีนำหนักน้อยหรือขนาดเล็กกว่าสิ่งที่ดีนั่นถือว่าการโกหกได้รับการยอมรับว่าสมเหตุสมผลแล้ว

          สอง การแก้ลำ (retaliate) ในกรณีนี้เหตุผลเช่นเดียวกับที่ Hugo Grotius เสนอคือ การโกหกกระทำได้หากอยู่ในสถานการณ์ที่จำเป็น เช่น ในการเล่นการพนันที่ทุกคนพร้อมที่จะโกงกันตลอดเวลา ซึ่งในที่นี้หมายความว่า การโกหกภายใต้สถานการณ์เช่นนี้มีความชอบธรรมเพื่อใช้เป็นการแก้ลำคู่ต่อสู้

ส่วนคำถามที่ว่า หากนักกการเมืองกระทำสิ่งหนึ่งเพื่อปกป้องพลเมืองของตนแต่การปกป้องนี้สร้างผลเสียต่อพลเมืองประเทศอื่น สิ่งนี้จะกล่าวได้หรือไม่ว่านักการเมืองเหล่านี้เป็นคน “มือสกปรก” (dirty hands)?

          ในประเด็นนี้นักประโยชน์นิยมไม่เห็นด้วยหากกล่าวเช่นนี้เพราะสำหรับพวกเขาแล้วสิ่งที่จะแสดงว่าสิ่งนั้นคือสิ่งที่ผิดคือการทำให้ “ความสุข” (happiness) ลดลงหรือไม่ต่างหาก นักประโยชน์นิยมมองว่าหากนักการเมืองโกหกแล้วทำให้ผลสุดท้ายนำมาซึ่งความสุขที่เพิ่มขึ้นของผู้คน (การโกหกปกป้องป้องชีวิตของทุกคน) แน่นอนว่าสิ่งที่กระทำไม่ผิดแต่อย่างใดและไร้ซึ่งมลทิน นักการเมืองจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำทุกสิ่งที่แสดงถึงความชัดเจนว่าการที่พวกเขาโกหกสร้างประโยชน์หรือปกป้องอันตรายต่อส่วนรวมอย่างแท้จริง

          อย่างไรก็ตาม แนวคิดนักวิชาการสาย Kantian ก็อยู่ตรงข้ามวิธีคิดแบบนักประโยชน์นิยมอย่างชัดเจนโดยมองว่ามันเป็นเรื่องผิดอยู่แล้วสำหรับคน “มือสกปรก” หากการกระทำที่ “มือสะอาด” (clean hands) ทำให้พ่ายแพ้เลือกตั้งก็เป็นการดีที่แพ้การเลือกตั้งด้วยมือที่สะอาด สำหรับนักวิชาการสาย Kantian แล้วผิดก็คือผิดจะเป็นอย่างอื่นมิได้

ท้ายที่สุดทั้งหมดที่กล่าวไปอาจจะไม่สามารถให้คำตอบแก่ผู้อ่านได้เฉกเช่นเดียวกับวิทยาศาสตร์ที่มีความจริงเพียงหนึ่งเดียว หากแต่ผู้เขียนต้องการนำเสนอข้อความที่ทำให้เกิดประเด็นคำถามเพื่อขบคิดกันต่อไป เฉกเช่นเดียวกับ Alex Tuckness และ Clark Wolf ที่กล่าวคำถามปิดท้ายในประเด็นการโกหกของนักการเมืองนี้ว่า หากเราลือกตัวแทนเข้าไปทำงานและทราบดีว่าตัวแทนของเราจะต้องทำอะไรบางอย่างที่ไม่เป็นไปในทางที่ดีหรือมือสกปรก ผู้ที่เลือกเขาเข้าไปจะต้องรับผิดชอบต่อมลทินที่เกิดขึ้นหรือไม่ ?

หมายเหตุ

โปรดอ่านเพิ่มเติมใน Alex Tuckness and Clark Wolf, This Is Political Philosophy: An Introduction (Chichester, UK; Malden, MA: John Wiley & Sons, 2017), pp. 236-247.

ที่มาภาพ: 2 ปี 2 เดือน การหายไปของหมุดคณะราษฎร | ประชาไท Prachatai.com/ https://prachatai.com/journal/2019/06/83100

 

 

บล็อกของ เผ่า นวกุล

เผ่า นวกุล
เผ่า นวกุลnawakulbanrai@gmail.com 
เผ่า นวกุล
แม้ว่าการฆาตกรรมหมู่ไม่ใช่เรื่องใหม่ในประวัติศาสตร์มนุษย์ อย่างไรก็ดีน้อยมากที่ยุคโบราณจะมีการล้างบาง (wipe out) หรือ ขับไล่ประชาชนพลเมืองทั้งหมด ผู้ชนะต้องการปกครองประชาชน พวกเขาต้องการที่จะทำให้ประชาชนอยู่ภายใต้ปกครองและเป็นทาสพวกเขา ไม่ได้ต้องการให้ประชาชนย้ายออกไปแต่อย่างใด
เผ่า นวกุล
 เผ่า นวกุล
เผ่า นวกุล
การทำให้เป็นประชาธิปไตยโดยอาศัยความรุนแรง ทำได้จริงหรือ?[1] Democratization of Violence[2]
เผ่า นวกุล
ถ่วงดุลผู้นำประชานิยมด้วยระบอบประชาธิปไตย เผ่า นวกุล 
เผ่า นวกุล
ความสนใจในความไม่สนใจทางการเมืองของชนชั้นกลาง(เมือง)
เผ่า นวกุล
  ในทางเศรษฐศาสตร์ถือว่าทรัพยากรเป็นของที่มีอยู่อย่างจำกัด แน่นอนว่าคำว่า “จำกัด” ก็หมายความเป็นนัยว่ามัน “มีน้อย” ไม่ใช่ปัญหาหาก “มีน้อย” แล้วความต้องการของมนุษย์มีน้อยไปด้วยเพราะอย่างน้อยก็ไม่ต้องมาแย่งชิงกัน แต่ประเด็นปัญหาที่สำคัญในโลกสมัยใหม่ที่จำนวนมนุษย์ในสังคมเพิ่มขึ้นมากมายมหาศาลส่งผลให้ความต้องการใช้ทรัพยากรมีมากมายตามไปด้วย แล้วจะทำอย่างไรเล่าหากต่างฝ่ายต่างหมายปองทรัพยากรชิ้นนั้นกันตาเป็นประกาย
เผ่า นวกุล
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ในห้องเรียนนักศึกษาปริญญาตรี เราได้แลกเปลี่ยนกันในเรื่องของการปฏิรูปสังคม เศรษฐกิจ การเมืองไทย ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอ
เผ่า นวกุล
“ เมื่อวันจันทร์ที่ 23 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา ณ สำนักงานใหญ่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร บางเขน พนักงานธนาคารฯที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ได้ออกมายื่นข้อเรียกร้องต่อฝ่ายนายจ้างสาระสำคัญโดยสรุปมีด้วยกัน 3 เรื่องหลักๆที่สำคัญได้แก่
เผ่า นวกุล
คงเป็นข้อถกเถียงของสมาชิกรัฐสภาอันทรงเกียรติที่ร้อนแรงอยู่ในขณะนี้ในประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ทางหนึ่งพยายามชี้ให้เห็นว่า สุดท้ายแล้วประชาธิปไตยนั้นต้องอิงแอบแนบชิดกับประชาชนโดยประชาชนจะเป็นผู้พิจารณาว่าผู้ใดที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่ง สมาชิกวุฒิสภาควรมีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน แต่ก็มีเสียงคัดค้านจากฝ่ายตรงข้ามถึงประเด็นดังกล่าวว่า แล้วอะไรคือข้อต่างของสมาชิกวุฒิสภาซึ่งเป็นสภาสูงและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นสภาล่างหากทั้งคู่ต่างมาจากประชาชนกลุ่มเดียวกัน ถึงขนาดมีสมาชิกรัฐสภาบางท่านกล่าว่า ควรเลิกระบบสองสภามาเป็นระบบสภาเดียว ให้สิ้นเรื่องไป
เผ่า นวกุล
หากกล่าวถึงความรักคงต้องบอกว่าหลายคนมักมีนิยามต่างกันไป ความรักเปรียบเสมือนยาขม ความรักเปรียบเสมือนน้ำผึ้งชโลมจิตใจ หรือแม้แต่ในซีรีย์อภินิหารของจีนก็ยังมีการกล่าวถึงความรักในทำนอง
เผ่า นวกุล
ความรักมักเป็นสิ่งหอมหวานเสมอโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยหนุ่มสาวแรกแย้ม การประสบพบเจอกับใครซักคนโดยไม่ได้ตั้งใจก็ทำให้เรารู้สึกในจิตใจได้หลายแบบไม่ว่าจะเป็น คนนี้น่ารัก คนนี้น่าเกลียด คนนี้เป็นสิว คนนี้ตาเหล่ และคงมีอื่นๆอีกมามายเป็นแน่ และทั้งหลายทั้งปวงวัยรุ่นหนุ่มสาวก็คงเคยที่จะพบใครซักคนซึ่งเป็นเพศตรงข้ามหรือเพศเดียวกันที่คุณถูกตาต้องใจเมื่อแรกเห็น หากจะกล่าวกันให้เข้าใจก็คือ นี่แหละคือ “รักแรกพบของฉัน”