Skip to main content

 

 

ลูกสิ้นใจท่ามกลางวงล้อมของเหล่าผู้ที่รักและเมตตาลูก โดยเฉพาะหลวงพ่อซึ่งนั่งสมาธิสงบนิ่งตลอดเวลา ตั้งแต่ลูกมีอาการใกล้จะดับ จนผ่านนาทีแห่งการพลัดพรากนิรันดร์ไปแล้ว ท่านก็ยังนั่งหลับตาทำสมาธิอยู่อย่างนั้น อีกหลายนาที

\\/--break--\>

แม่กับพ่อร้องไห้ วนเวียนกอดลูบร่างลูก ด้วยความรักความผูกพันที่รัดรึงจิตของเราไว้อย่างแน่นหนา แม่รู้สึกเหมือนใจจะขาด ยามนี้มีเพียงอ้อมกอดพ่อเท่านั้นที่เป็นที่มั่นให้พึ่งพิง เราทั้งคู่กอดกันแล้วร่ำไห้ ไม่ต่างจากลุงเปี๊ยก ป้าเฒ่า หรือใครๆ ที่นั่งนิ่งปาดป้ายน้ำตาที่ยากจะกลั้น

 

เพียงไม่นาน ทุกอย่างก็คลายจาง แม่ต้องตั้งสติอีกหน เพราะต้องจัดการกับสิ่งที่รออยู่ นั่นคืองานศพของลูก

 

หลวงพ่อท่านบอกว่า ในเมื่อเขาไปดีแล้ว เราก็ทำงานบุญให้เขาอย่างเรียบง่ายก็แล้วกัน ทางวัดจะเป็นเจ้าภาพให้ พรุ่งนี้เช้าทำบุญตักบาตรอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล ตอนบ่ายก็เผาเลย เพราะไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะยืดเวลาออกไป ในเมื่อร่างของลูกคือสิ่งที่ต้องแตกสลายอยู่แล้ว จะช้าจะเร็วไม่สำคัญ เจ้าของร่างได้ทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างหมดจดแล้ว

 

ลูกแม่ คนที่น่าสงสารอีกคนคือพี่ปุ้ยของลูก พี่ปุ้ยมาถึงที่กุฏิหลังจากลูกจากไปไม่นาน เขามาจากมุกดาหารกับน้าๆหลายคน แต่ไม่มีใครบอกพี่ปุ้ยเลยว่าลูกเสียแล้ว ขณะที่เดินขึ้นภูมาอย่างเหนื่อยล้าอ่อนกำลัง เมื่อมาถึงสิ่งที่พี่เขาเห็นคือร่างลูกที่นอนทอดยาวอยู่บนเตียง ไร้ความรู้สึกใดๆแล้ว พี่เขาผวาเข้าไปกอดลูกแล้วร้องไห้

 

คืนแห่งความเศร้าโศกของเราเริ่มทุเลาเบาบางลงบ้าง เพราะมีหลวงพ่อที่คอยให้สติ ท่านบอกว่าทุกอย่างก็ต้องเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่มีอะไรที่ไม่เกิดไม่ดับ แต่เราจะเข้าถึง เข้าใจ จนระงับความทุกขเวทนาได้หรือไม่เท่านั้นเอง

 

รุ่งเช้า วันที่ 22 สิงหาคม

 

 

 

สายฝนทิ้งรอยไว้ให้เมื่อย่ำรุ่ง ความหนาวเย็นคลี่ห่มทั่วภูผา ในหุบเขามองจากระเบียงกุฎิ มีหมอกหนาหนักซุกนิ่งอยู่เต็มหุบ แม่เหม่อมองด้วยใจหม่น นึกถึงลูกที่เคยตื่นแต่เช้าแล้วนั่งดูหมอกขาวโพลนนั้นด้วยกัน

ครั้นแสงอาทิตย์สาดผ่านมาบางๆ ทุกอย่างเริ่มเคลื่อนไหวอีกครั้ง เหมือนที่ละไอหมอกค่อยๆจางหายไปในที่สุด

 

พิธีกรรมยามเช้า เป็นไปตามปกติของชาววัด เสร็จจากนั้น เราจึงนำหีบศพของลูกมาไว้ที่ศาลาใหญ่ เพื่อที่ญาติมิตรจะได้มาคารวะศพอย่างสะดวก ศาลาใหญ่หลังนี้เป็นอาคารสองชั้น อยู่ด้านหน้าของวัด เป็นที่รับรองแขกคณะใหญ่ๆอยู่แล้ว

 

วันนั้น คนที่รู้ข่าวเดินทางมาร่วมงานศพลูกทั้งใกล้ทั้งไกล มากมายหลายร้อย แม้ว่าเป็นการจัดงานศพที่กระชับเวลาให้สั้นที่สุด หลายคนที่มางานศพลุงยุทธ มาจากภาคเหนือ ภาคใต้ เมื่อรู้ว่าลูกเสียแล้ว พวกเขาก็มาร่วมงานของลูก ในฐานะคนที่รู้จักมักคุ้นกับพ่อ และมีอยู่หนึ่งคณะ ที่เดินทางมาทำกิจกรรมเข้าค่ายที่ศูนย์อินแปงพอดี คือทีมอาจารย์ซาโตมิ กับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยคูคูคาอิน อาจารย์ท่านนี้ รู้จักกับลูกตั้งแต่เล็กๆ เพราะท่านจะพานักศึกษามาจัดกิจกกรมที่บ้านเราทุกปี จนรักพ่อเหมือนลูก และรักลูกเหมือนหลาน การมาค่ายครั้งนี้ กลายเป็นว่า ได้มาร่ำลาลูกเป็นครั้งสุดท้ายไปด้วย

 

งานศพลูก คงต้องขอบคุณใครๆมากมาย เพราะไม่ว่าจะเป็นอาหารที่เลี้ยงรับรองแขก ที่พ่ออยากให้เป็นมังสวิรัติ และการเตรียมสถานที่ที่จะเผา หรือเชิงตะกอน ที่ต้องหาไม้ฟืนมาให้มากพอเพียงและรวดเร็ว ทุกอย่างสำเร็จได้เพราะพี่น้องชาวบ้านละแวกใกล้ไกลทั้งหลาย ที่มาช่วยกัน

 

ราวๆบ่ายสามโมง ทุกคนเคลื่อนมาที่เชิงตะกอน ริมหน้าผา ทางทิศตะวันออกของกุฎิที่ลูกอยู่ หลวงพ่อกับคณะสงฆ์ได้ทำพิธีสวดและเป็นประธานฌาปณกิจ จากนั้นเปลวเพลิงก็ลุกโหมจนร้อนแรง ท่ามกลางอากาศที่มัวซัว เมฆหมอกยังห่มคลุมทั่วภู

 

ลูกคือร่างแรก ที่ทรุดลงแนบแผ่นดินบนภูสูงแห่งนี้ ด้วยเมตตาบารมีของหลวงพ่อท่านอย่างแท้จริง

 

 

 

บล็อกของ เงาศิลป์

เงาศิลป์
ฉันสังเกตดูรอบๆ บ้านหลังน้อยของลุงลี แทบไม่มีพืชผักที่พอจะเก็บกินได้ สงสัยอยู่ครามครันว่า ทำไมไม่ปลูก ในเมื่อแกเป็นคนเก่าแก่และเป็นคนเดียวที่อยู่ในป่านี้มานานถึง 20 กว่าปี ตอนที่ฉันได้หน่อกล้วยหอมพันธุ์ดีมาจากหนองคาย แกก็ยังอุตส่าห์เอาปุ๋ยขี้ควายมาให้ตั้งสามกระสอบ แถมยังสอนวิธีปลูกให้อีกด้วย เมื่อเห็นฉันลงมือขุดหลุมห่างๆ เพราะคิดว่าในอนาคตมันต้องแตกหน่อมาชนกันเอง แกกลับบอกว่าให้ชิดๆกันหน่อยจะดีกว่า เป็นแรงดึงดูดให้กล้วยโตเร็วขึ้น ฉันก็เอาตามนั้น ก้นหลุมกว้างลึกรองด้วยปุ๋ยมูลสัตว์สลับหญ้าแห้ง ดูเป็นวิชาการมากๆ ตามคำแนะนำของแกถามแกว่าจะเอาไปปลูกเองสักต้นไหม…
เงาศิลป์
ฟืนท่อนใหญ่ถูกซุนเพิ่มเข้าไปอีกท่อน มันเป็นไม้ส้มเสี้ยวที่ถูกโค่นล้มลงเพราะขวางทางรถยนต์คันใหญ่ คนตัดบอกว่าไม้ชนิดนี้ยากที่จะแปรรูปเพราะเนื้อไม้บิดเป็นเกลียว ฉันจึงขอให้เขาตัดเป็นท่อนสั้นๆ เพื่อจะใช้ประโยชน์ตามแต่จะคิดได้ แต่พอลมหนาวทายทักแข็งขันมากขึ้น ฉันต้องตัดใจตัวเองจนเลือดซิบ ขณะที่ก้มลงลากมันมาใส่ไฟอย่างยากเย็น เพราะทั้งหนักและเสียดาย และรู้สึกผิดต่อตัวเองหมาน้อยสองตัวต้องการความอบอุ่นตลอดคืน ฉันเองก็ต้องการ แม้จะมีผ้าห่มแต่ก็ไม่เพียงพอที่จะกันหนาวได้ การใช้ฟืนดุ้นเล็กๆ คือภาระที่ต้องลุกขึ้นมาใส่ไฟเกือบตลอดเวลา ถ้าเป็นอย่างนั้นฉันคงไม่มีเรี่ยวแรงเหลือไว้ทำงานในไร่ยามกลางวันอีกเป็นแน่…
เงาศิลป์
สวัสดีค่ะ ขาดหายไปนานสำหรับเรื่องของชะตากรรมคนขาหัก ขอสารภาพว่าที่ทิ้งช่วงห่างหายไปนานขนาดนี้ เพราะว่าขาดความเชื่อมั่นที่จะเขียน (อย่างรุนแรง) เนื่องจากรู้สึกว่าท่านผู้อ่านประชาไท ค่อนข้างมีภูมิปัญญาสูง แต่คนเขียนปัญญาต่ำ ครุ่นคิดอยู่นานว่าจะจบเรื่องนี้อย่างไรดี ในท่ามกลางสภาพปัญหาการดิ้นรนรักษาตนเองและบางครั้งได้รับการดูแลอย่างไม่คาดคิด ค่ะ...ตอนนี้ขอสรุปรวบรัดเล่าให้ฟังว่า เกิดอะไรขึ้นในที่สุด.....หลายครั้งที่ได้พบและเรียนรู้เรื่องการดูแลสุขภาพจากผู้รู้ แต่ครั้งที่เป็นประสบการณ์ตรงที่สุดก็คือ การฝังเข็มจากพี่อ้อย (กัลยา ใหญ่ประสาน) รุ่นพี่ที่เคารพรัก เจ้าของร้านอาหารสุขภาพโขง-สาละวิน…
เงาศิลป์
วันเวลาที่ผ่านไป ฉันค่อยๆ คลายความกังวล แม้ว่าความรู้สึกเจ็บปวดจะมาอยู่เป็นเพื่อนเกือบตลอดเวลา แต่วิชาเกลือจิ้มเกลือ เจ็บแก้เจ็บ ยังใช้ได้เสมอ (โปรดใช้วิจารณญาณในการนำไปทดลอง)และแล้วเหมือนกรรมบันดาล (อีกแล้ว) วันหนึ่ง ฉันได้เรียนรู้ว่า คนเราได้ใช้ศักยภาพของตัวเองเพียงแค่ 60 – 70 % เท่านั้น ส่วนที่เหลือยังไม่เคยรู้จักมัน และปล่อยให้มายาคติบางอย่างครอบงำ โดยเฉพาะคำว่า “อย่าทำ” .... “ไม่ควรทำ”.....หรือ “ไม่เหมาะสมที่จะทำ” และอะไรอีกหลายความคิดที่ปิดกั้นโอกาสของตัวเองกลางเดือนตุลาคมของปีหนึ่ง ฉันเร่ร่อนลงเรือไปที่หาดไร่เล ตอนนั้นแทบว่าไม่มีคนไทยรู้จักหาดไร่เล นอกจากฮิปปี้และนักปีนผา (…
เงาศิลป์
การขึ้นภูกระดึงอย่างไร้ความพร้อม กลับทำให้ฉันได้สิ่งดีๆมากมายคุณนิมิตร เจ้าหน้าที่ป่าไม้ตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราว ได้เขียนจดหมายน้อยอย่างไม่เป็นทางการ ให้ฉันถือไปยื่นให้กับเจ้าหน้าที่บนภู ที่เป็นเพื่อนกัน ในจดหมายเขียนว่า “ช่วยดูแลคนที่ถือจดหมายฉบับนี้ด้วย ตามสมควร” ที่อาคารลงทะเบียนบนภู ฉันยื่นจดหมายให้กับเจ้าหน้าที่ คะเนจากหน้าตา เขาคนนั้นคงมีอายุพอๆกับฉัน เมื่ออ่านจบเขามองหน้าฉันอย่างเฉยเมย บอกว่าบ้านพักเต็มหมดแล้ว เหลือแต่เต๊นท์  ฉันบอกว่าฉันตั้งใจจะพักเต๊นท์อยู่แล้ว“มากันกี่คน” น้ำเสียงห้วนๆ  ไม่รู้ทำไม“คุณเห็นกี่คนล่ะคะ คุณเห็นแค่ไหนก็แค่นั้นล่ะค่ะ” ฉันตอบกึ่งยียวน…
เงาศิลป์
เช้าวันนี้….ใบไม้สีเหลืองเกลื่อนพื้น ดูสวยงาม แต่ไม่นานมันจะถูกเรียกว่า “ขยะ” ด้วยเรียวไม้กวาดก้านมะพร้าว ค่อยๆลากให้มันมากองรวมกัน ทีละนิดรอยทรายเป็นเส้นลดเลี้ยวตามแนวกวาด ลีลาคล้ายบทกวีร้อยบท ที่มีเนื้อหาเดียว คือความสงบทุกเช้า ฉันจะอยู่กับมัน ทั้งไม้กวาด พื้นทรายและใบไม้ร่วงสายตาจับอยู่ที่พื้น..แต่ด้วยหางตา เห็นบางอย่างเคลื่อนไหวอยู่บนถนนหน้าบ้าน  จากที่ยืนอยู่ ระยะทางราวร้อยก้าว เงาร่างเดินโยกเยก บดบังด้วยแนวพุ่มไม้เตี้ยๆ จึงมุ่งมองอย่างตั้งใจ เห็นใครบางคนเคลื่อนไหวอย่างช้าๆจึงเดินออกไปดูร่างล่ำสันค่อยๆ เคลื่อนไปอย่างลำบาก เขาใช้ไม้ยาวๆ ค้ำถ่อ ประคองร่างกายให้ขาตวัดสลับกันไป …
เงาศิลป์
“ฉันจะต้องไม่พิการ”ฉันคำรามหนักแน่นอยู่ในใจ ในคืนวันหนึ่ง เมื่อนอนอยู่ในท่าทีเอาขาขวาพาดไว้บนกำแพง เพื่อดัดขาไล่ความเมื่อยล้า จากงานหนักจากวันนั้น อะไรก็ตามที่ทำให้เข่าของฉันเจ็บน้อยลง ฉันจะทำทันที เริ่มจากการค้นหาวิธีแก้ไข ควบคู่ไปกับการยอมรับความเจ็บปวดของขาข้างขวาว่าเป็นคู่แท้ของชีวิตปีแรก ฉันเดินกะเผลกแบบคนขาเป๋ เพราะขาขวาสั้นกว่าขาซ้าย และยังไม่มีพละกำลัง เวลาเดินจึงเห็นว่าตัวเอียงมาก เป็นที่เวทนาตัวเองยามคนจ้องมอง ทำให้ฉันเข้าใจหัวอกคนพิการมากขึ้นแต่แล้ววันหนึ่ง เหมือนพระมาโปรด ฉันกลับมากรุงเทพฯ แล้วไปเยี่ยมเพื่อนๆที่มหาวิทยาลัย ขณะนั่งอยู่ริมสนามฟุตบอล มองคนอื่นๆเล่นกิฬา อย่างเสียดาย…