Skip to main content

20080325 ป้ายเส้นทางสู่ป่าชุมชน

แสงไฟสีส้มดวงเล็กๆ ดาหน้ากันเข้ามาจากทุกทิศทาง ยกเว้นจากส่วนที่เป็นด้านหลังไร่ เพราะนั่นคือป่าชุมชนผืนใหญ่ ที่เป็นเป้าหมายของการไปสู่ของแสงไฟเหล่านั้น ดูแล้วน่าตื่นเต้นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพายุฝนที่โหมกระหน่ำเมื่อตอนเย็นนี้

ฉันนึกถึงแนวรั้วลวดหนามด้านท้ายไร่ ที่เสร็จไปครึ่งทางแล้ว ด้วยฝีมือของตาลี
“เราทำรั้วกั้นที่ของเรา ไม่มีใครเขามาว่าได้หรอก อีกหน่อยพอฝนตกชุก คุณต้องทำประตูกั้นทางเข้าไร่ด้วยนะ ทำรั้วง่ายๆพอเป็นที่เข้าใจว่าถนนที่ตรงมาทางนี้คือทางส่วนบุคคล ไม่ใช่ทางสาธารณะ” แกย้ำถึงความจำเป็น เพราะฉันเคยลังเลกลัวว่าจะไปทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน ต้องเดินอ้อมไปไกลจึงจะไปถึงป่าชุมชนนั้นได้ แต่แกยังยืนยันว่า

“เมื่อก่อนตรงนี้ไม่มีทาง ไม่มีใครเดินผ่านหรอก พอคุณมาทำทางเข้าบ้านตัวเอง เขาเห็นว่าเดินสะดวกจึงขอผ่านทางไปป่า แต่มันต้องเดินผ่านหน้าบ้านคุณ ไม่ดีหรอกไม่ปลอดภัย คนแปลกหน้าเยอะแยะที่เข้ามาในหน้าฝน”

ตาลีบอกว่าชาวบ้านจากหลายๆ หมู่บ้านที่อยู่ใกล้ป่าผืนนี้ ต่างมุ่งหน้ามาหากินในป่าเมื่อฤดูฝนมาถึง และฉันได้ประจักษ์แก่สายตาตัวเอง ทั้งที่เป็นเพียงพายุฤดูร้อนหนึ่งห่าเท่านั้น พวกเขาก็ยังกรูกันมา ราวกับฝูงมดที่ตามกลิ่นหอมหวานของชานอ้อยกระนั้น

ทำให้รู้ว่าวิถีแห่งการหาอยู่หากินยังไม่หล่นหายไปในระหว่างเส้นทางการพัฒนาไปสู่การผลิตเพื่อขาย แม้ว่ามันจะกลายเป็นเรื่องหลัก แต่นั่นก็เป็นพืชบางชนิดที่ส่งป้อนเข้าสู่โรงงาน และแต่ละชนิดมักจะเขมือบเอาปุ๋ยและสารเคมีไปกินจนลำต้นอวบอ้วน แต่คนปลูกกลับผอมแห้งแรงน้อย เช่นตาลีเป็นต้น

ป่าผืนใหญ่แห่งนี้ที่ทางจังหวัดภูมิใจหนักหนา จึงกลายเป็นป่าผืนเล็กๆที่สะอาดปราศจากสารเคมี หากเทียบกับพื้นที่ปลูกอ้อยปลูกมันสำปะหลังทั้งหลาย สัตว์ป่าต่างหลบลี้ไปอยู่ที่นั่น มันจึงกลายเป็นลานล่าของชาวบ้านที่รู้จักการหากิน

แต่เมื่อปลายปีที่แล้ว ทางราชการมีนโยบายห้ามล่าสัตว์ทุกชนิดในป่านั้น ทั้งยังมีป้ายเขียนเตือนตาเอาไว้ว่า “ฝ่าฝืนปรับ 500 บาท”

คนจะหากินกับคนที่อยากจะเก็บรักษา หากเป็นคนละกลุ่ม ความขัดแย้งก็มักจะตามมา หรือไม่ก็ต้องมีคนแหกกฏ แต่ถ้าคนที่หากินเรียนรู้ที่จะเก็บรักษา เมื่อนั้นทุกอย่างก็จะลงตัว

เรื่องความต้องการที่ไม่ลงตัว หรือความต้องการที่มุ่งไปสู่ความเห็นแก่ตัวเกี่ยวกับการใช้สารเคมี ทำให้ฉันนึกถึงเรื่องคนปลูกกะหล่ำ ที่ละเว้นไม่ฉีดยาฆ่าแมลงในแปลงกะหล่ำที่เก็บไว้กินเอง ของคนทางภาคเหนือ และที่อีสาน เขาจะไม่ฉีดยาฆ่าแมลงในแปลงแตงโมที่กินเอง หรือที่ภาคใต้ที่งดใช้ฟอร์มาลีนในปลาที่เก็บไว้กินเอง เรื่องปลาทะเล (ฉันยืนยันได้เมื่อซื้อปลาทูตัวเล็กๆ จากตลาดที่นี่ เก็บไว้หลายวันยังไม่เน่าเปื่อย แถมยามจับมาคลุกข้าวให้หมาน้อย ยังคันมือจนต้องรีบล้างมือ)

ในป่าผืนนี้มีร่องน้ำที่เป็นคล้ายตาน้ำ ยามฝนตกชุกสัตว์เล็กสัตว์น้อยต่างมาชุมนุมกันมากมาย ทั้งชนิดที่เคลื่อนไหวไปบนอากาศ เคลื่อนไหวไปตามพื้นดินและชนิดที่มุดไปตามใต้ดิน หรือทั้งที่อยู่บนดินและใต้ดิน เช่นเขียดและแย้ ที่มีอยู่มากที่สุด

การตามล่าหาเขียดตัวน้อยๆ ขนาดเท่าปลายนิ้วก้อยเป็นที่นิยมเพราะส่วนหนึ่ง เขาบอกว่ามันอร่อย เคี้ยวกรุบๆไม่มีกระดูก และการหาอยู่หากินก็ยังเป็นวิถีชีวิตของคนอีสาน ไม่ว่าคนๆนั้นจะเป็นนักลงทุนปลูกสร้างพืชเศรษฐกิจมากมายแค่ไหน หากมีเวลาพอไปหากินได้เขาก็จะไป แถมมีการคุยทับกับอีกว่าใครหากินได้เก่งกว่าใคร

“โชค” ลูกชายตาลี คืออีกคนหนึ่งที่มักจะออกหาเขียดในตอนกลางคืน เพื่อขายเอาเงินไปเรียนหนังสือในตอนกลางวัน แต่เขามักจะออกไปหาตามลำห้วยนอกเขตป่า ซึ่งมีจำนวนเขียดน้อยกว่าในป่า
“น้าครับ เขียดในสวนน้าน้าหวงไหมครับ ผมขอมาหาได้ไหมครับ” เขาเคยเอ่ยถามฉัน จนฉันต้องหัวเราะออกมาดังๆ ใครกันจะหวงเขียด แล้วเขียดจะมาอยู่ในที่ของฉันได้ยังไง ฉันยังไม่เห็นเลยสักตัว
“ที่แบบนี้แหละครับที่เขียดชอบมาอยู่ อีกหน่อยเมื่อต้นไม้โตขึ้น เขียดกับแย้จะมาอยู่กันเต็มเลยล่ะครับ”

อืม...ดีเหมือนกัน ป่าชุมชนถูกปิด  แต่ป่าส่วนตัวถูกเปิดให้ล่าสัตว์ได้ ถึงเวลานั้นขอฉันคิดอีกทีก็แล้วกันว่าที่ทางขนาดนี้จะรองรับชาวบ้านทั้งห้าหกหมู่บ้านได้อย่างไร

สวนป่าขนาดย่อม ที่ฉันพยายามจัดการฟื้นฟูดินที่ตายไปนานแล้วให้กลับมามีชีวิตอีกหนด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ อย่างชนิดเลือดตากระเด็น หากว่าพอจะมีประโยชน์อยู่บ้างต่อชาวบ้าน สิ่งที่ฉันหวังไม่ใช่ให้เขามาหากิน แต่อยากให้เขาคิดได้ว่า

“หยุดใช้สารเคมี แล้วอาหารจะหวนคืน”

บล็อกของ เงาศิลป์

เงาศิลป์
ฉันสังเกตดูรอบๆ บ้านหลังน้อยของลุงลี แทบไม่มีพืชผักที่พอจะเก็บกินได้ สงสัยอยู่ครามครันว่า ทำไมไม่ปลูก ในเมื่อแกเป็นคนเก่าแก่และเป็นคนเดียวที่อยู่ในป่านี้มานานถึง 20 กว่าปี ตอนที่ฉันได้หน่อกล้วยหอมพันธุ์ดีมาจากหนองคาย แกก็ยังอุตส่าห์เอาปุ๋ยขี้ควายมาให้ตั้งสามกระสอบ แถมยังสอนวิธีปลูกให้อีกด้วย เมื่อเห็นฉันลงมือขุดหลุมห่างๆ เพราะคิดว่าในอนาคตมันต้องแตกหน่อมาชนกันเอง แกกลับบอกว่าให้ชิดๆกันหน่อยจะดีกว่า เป็นแรงดึงดูดให้กล้วยโตเร็วขึ้น ฉันก็เอาตามนั้น ก้นหลุมกว้างลึกรองด้วยปุ๋ยมูลสัตว์สลับหญ้าแห้ง ดูเป็นวิชาการมากๆ ตามคำแนะนำของแกถามแกว่าจะเอาไปปลูกเองสักต้นไหม…
เงาศิลป์
ฟืนท่อนใหญ่ถูกซุนเพิ่มเข้าไปอีกท่อน มันเป็นไม้ส้มเสี้ยวที่ถูกโค่นล้มลงเพราะขวางทางรถยนต์คันใหญ่ คนตัดบอกว่าไม้ชนิดนี้ยากที่จะแปรรูปเพราะเนื้อไม้บิดเป็นเกลียว ฉันจึงขอให้เขาตัดเป็นท่อนสั้นๆ เพื่อจะใช้ประโยชน์ตามแต่จะคิดได้ แต่พอลมหนาวทายทักแข็งขันมากขึ้น ฉันต้องตัดใจตัวเองจนเลือดซิบ ขณะที่ก้มลงลากมันมาใส่ไฟอย่างยากเย็น เพราะทั้งหนักและเสียดาย และรู้สึกผิดต่อตัวเองหมาน้อยสองตัวต้องการความอบอุ่นตลอดคืน ฉันเองก็ต้องการ แม้จะมีผ้าห่มแต่ก็ไม่เพียงพอที่จะกันหนาวได้ การใช้ฟืนดุ้นเล็กๆ คือภาระที่ต้องลุกขึ้นมาใส่ไฟเกือบตลอดเวลา ถ้าเป็นอย่างนั้นฉันคงไม่มีเรี่ยวแรงเหลือไว้ทำงานในไร่ยามกลางวันอีกเป็นแน่…
เงาศิลป์
สวัสดีค่ะ ขาดหายไปนานสำหรับเรื่องของชะตากรรมคนขาหัก ขอสารภาพว่าที่ทิ้งช่วงห่างหายไปนานขนาดนี้ เพราะว่าขาดความเชื่อมั่นที่จะเขียน (อย่างรุนแรง) เนื่องจากรู้สึกว่าท่านผู้อ่านประชาไท ค่อนข้างมีภูมิปัญญาสูง แต่คนเขียนปัญญาต่ำ ครุ่นคิดอยู่นานว่าจะจบเรื่องนี้อย่างไรดี ในท่ามกลางสภาพปัญหาการดิ้นรนรักษาตนเองและบางครั้งได้รับการดูแลอย่างไม่คาดคิด ค่ะ...ตอนนี้ขอสรุปรวบรัดเล่าให้ฟังว่า เกิดอะไรขึ้นในที่สุด.....หลายครั้งที่ได้พบและเรียนรู้เรื่องการดูแลสุขภาพจากผู้รู้ แต่ครั้งที่เป็นประสบการณ์ตรงที่สุดก็คือ การฝังเข็มจากพี่อ้อย (กัลยา ใหญ่ประสาน) รุ่นพี่ที่เคารพรัก เจ้าของร้านอาหารสุขภาพโขง-สาละวิน…
เงาศิลป์
วันเวลาที่ผ่านไป ฉันค่อยๆ คลายความกังวล แม้ว่าความรู้สึกเจ็บปวดจะมาอยู่เป็นเพื่อนเกือบตลอดเวลา แต่วิชาเกลือจิ้มเกลือ เจ็บแก้เจ็บ ยังใช้ได้เสมอ (โปรดใช้วิจารณญาณในการนำไปทดลอง)และแล้วเหมือนกรรมบันดาล (อีกแล้ว) วันหนึ่ง ฉันได้เรียนรู้ว่า คนเราได้ใช้ศักยภาพของตัวเองเพียงแค่ 60 – 70 % เท่านั้น ส่วนที่เหลือยังไม่เคยรู้จักมัน และปล่อยให้มายาคติบางอย่างครอบงำ โดยเฉพาะคำว่า “อย่าทำ” .... “ไม่ควรทำ”.....หรือ “ไม่เหมาะสมที่จะทำ” และอะไรอีกหลายความคิดที่ปิดกั้นโอกาสของตัวเองกลางเดือนตุลาคมของปีหนึ่ง ฉันเร่ร่อนลงเรือไปที่หาดไร่เล ตอนนั้นแทบว่าไม่มีคนไทยรู้จักหาดไร่เล นอกจากฮิปปี้และนักปีนผา (…
เงาศิลป์
การขึ้นภูกระดึงอย่างไร้ความพร้อม กลับทำให้ฉันได้สิ่งดีๆมากมายคุณนิมิตร เจ้าหน้าที่ป่าไม้ตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราว ได้เขียนจดหมายน้อยอย่างไม่เป็นทางการ ให้ฉันถือไปยื่นให้กับเจ้าหน้าที่บนภู ที่เป็นเพื่อนกัน ในจดหมายเขียนว่า “ช่วยดูแลคนที่ถือจดหมายฉบับนี้ด้วย ตามสมควร” ที่อาคารลงทะเบียนบนภู ฉันยื่นจดหมายให้กับเจ้าหน้าที่ คะเนจากหน้าตา เขาคนนั้นคงมีอายุพอๆกับฉัน เมื่ออ่านจบเขามองหน้าฉันอย่างเฉยเมย บอกว่าบ้านพักเต็มหมดแล้ว เหลือแต่เต๊นท์  ฉันบอกว่าฉันตั้งใจจะพักเต๊นท์อยู่แล้ว“มากันกี่คน” น้ำเสียงห้วนๆ  ไม่รู้ทำไม“คุณเห็นกี่คนล่ะคะ คุณเห็นแค่ไหนก็แค่นั้นล่ะค่ะ” ฉันตอบกึ่งยียวน…
เงาศิลป์
เช้าวันนี้….ใบไม้สีเหลืองเกลื่อนพื้น ดูสวยงาม แต่ไม่นานมันจะถูกเรียกว่า “ขยะ” ด้วยเรียวไม้กวาดก้านมะพร้าว ค่อยๆลากให้มันมากองรวมกัน ทีละนิดรอยทรายเป็นเส้นลดเลี้ยวตามแนวกวาด ลีลาคล้ายบทกวีร้อยบท ที่มีเนื้อหาเดียว คือความสงบทุกเช้า ฉันจะอยู่กับมัน ทั้งไม้กวาด พื้นทรายและใบไม้ร่วงสายตาจับอยู่ที่พื้น..แต่ด้วยหางตา เห็นบางอย่างเคลื่อนไหวอยู่บนถนนหน้าบ้าน  จากที่ยืนอยู่ ระยะทางราวร้อยก้าว เงาร่างเดินโยกเยก บดบังด้วยแนวพุ่มไม้เตี้ยๆ จึงมุ่งมองอย่างตั้งใจ เห็นใครบางคนเคลื่อนไหวอย่างช้าๆจึงเดินออกไปดูร่างล่ำสันค่อยๆ เคลื่อนไปอย่างลำบาก เขาใช้ไม้ยาวๆ ค้ำถ่อ ประคองร่างกายให้ขาตวัดสลับกันไป …
เงาศิลป์
“ฉันจะต้องไม่พิการ”ฉันคำรามหนักแน่นอยู่ในใจ ในคืนวันหนึ่ง เมื่อนอนอยู่ในท่าทีเอาขาขวาพาดไว้บนกำแพง เพื่อดัดขาไล่ความเมื่อยล้า จากงานหนักจากวันนั้น อะไรก็ตามที่ทำให้เข่าของฉันเจ็บน้อยลง ฉันจะทำทันที เริ่มจากการค้นหาวิธีแก้ไข ควบคู่ไปกับการยอมรับความเจ็บปวดของขาข้างขวาว่าเป็นคู่แท้ของชีวิตปีแรก ฉันเดินกะเผลกแบบคนขาเป๋ เพราะขาขวาสั้นกว่าขาซ้าย และยังไม่มีพละกำลัง เวลาเดินจึงเห็นว่าตัวเอียงมาก เป็นที่เวทนาตัวเองยามคนจ้องมอง ทำให้ฉันเข้าใจหัวอกคนพิการมากขึ้นแต่แล้ววันหนึ่ง เหมือนพระมาโปรด ฉันกลับมากรุงเทพฯ แล้วไปเยี่ยมเพื่อนๆที่มหาวิทยาลัย ขณะนั่งอยู่ริมสนามฟุตบอล มองคนอื่นๆเล่นกิฬา อย่างเสียดาย…