Skip to main content

20080325 ป้ายเส้นทางสู่ป่าชุมชน

แสงไฟสีส้มดวงเล็กๆ ดาหน้ากันเข้ามาจากทุกทิศทาง ยกเว้นจากส่วนที่เป็นด้านหลังไร่ เพราะนั่นคือป่าชุมชนผืนใหญ่ ที่เป็นเป้าหมายของการไปสู่ของแสงไฟเหล่านั้น ดูแล้วน่าตื่นเต้นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพายุฝนที่โหมกระหน่ำเมื่อตอนเย็นนี้

ฉันนึกถึงแนวรั้วลวดหนามด้านท้ายไร่ ที่เสร็จไปครึ่งทางแล้ว ด้วยฝีมือของตาลี
“เราทำรั้วกั้นที่ของเรา ไม่มีใครเขามาว่าได้หรอก อีกหน่อยพอฝนตกชุก คุณต้องทำประตูกั้นทางเข้าไร่ด้วยนะ ทำรั้วง่ายๆพอเป็นที่เข้าใจว่าถนนที่ตรงมาทางนี้คือทางส่วนบุคคล ไม่ใช่ทางสาธารณะ” แกย้ำถึงความจำเป็น เพราะฉันเคยลังเลกลัวว่าจะไปทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน ต้องเดินอ้อมไปไกลจึงจะไปถึงป่าชุมชนนั้นได้ แต่แกยังยืนยันว่า

“เมื่อก่อนตรงนี้ไม่มีทาง ไม่มีใครเดินผ่านหรอก พอคุณมาทำทางเข้าบ้านตัวเอง เขาเห็นว่าเดินสะดวกจึงขอผ่านทางไปป่า แต่มันต้องเดินผ่านหน้าบ้านคุณ ไม่ดีหรอกไม่ปลอดภัย คนแปลกหน้าเยอะแยะที่เข้ามาในหน้าฝน”

ตาลีบอกว่าชาวบ้านจากหลายๆ หมู่บ้านที่อยู่ใกล้ป่าผืนนี้ ต่างมุ่งหน้ามาหากินในป่าเมื่อฤดูฝนมาถึง และฉันได้ประจักษ์แก่สายตาตัวเอง ทั้งที่เป็นเพียงพายุฤดูร้อนหนึ่งห่าเท่านั้น พวกเขาก็ยังกรูกันมา ราวกับฝูงมดที่ตามกลิ่นหอมหวานของชานอ้อยกระนั้น

ทำให้รู้ว่าวิถีแห่งการหาอยู่หากินยังไม่หล่นหายไปในระหว่างเส้นทางการพัฒนาไปสู่การผลิตเพื่อขาย แม้ว่ามันจะกลายเป็นเรื่องหลัก แต่นั่นก็เป็นพืชบางชนิดที่ส่งป้อนเข้าสู่โรงงาน และแต่ละชนิดมักจะเขมือบเอาปุ๋ยและสารเคมีไปกินจนลำต้นอวบอ้วน แต่คนปลูกกลับผอมแห้งแรงน้อย เช่นตาลีเป็นต้น

ป่าผืนใหญ่แห่งนี้ที่ทางจังหวัดภูมิใจหนักหนา จึงกลายเป็นป่าผืนเล็กๆที่สะอาดปราศจากสารเคมี หากเทียบกับพื้นที่ปลูกอ้อยปลูกมันสำปะหลังทั้งหลาย สัตว์ป่าต่างหลบลี้ไปอยู่ที่นั่น มันจึงกลายเป็นลานล่าของชาวบ้านที่รู้จักการหากิน

แต่เมื่อปลายปีที่แล้ว ทางราชการมีนโยบายห้ามล่าสัตว์ทุกชนิดในป่านั้น ทั้งยังมีป้ายเขียนเตือนตาเอาไว้ว่า “ฝ่าฝืนปรับ 500 บาท”

คนจะหากินกับคนที่อยากจะเก็บรักษา หากเป็นคนละกลุ่ม ความขัดแย้งก็มักจะตามมา หรือไม่ก็ต้องมีคนแหกกฏ แต่ถ้าคนที่หากินเรียนรู้ที่จะเก็บรักษา เมื่อนั้นทุกอย่างก็จะลงตัว

เรื่องความต้องการที่ไม่ลงตัว หรือความต้องการที่มุ่งไปสู่ความเห็นแก่ตัวเกี่ยวกับการใช้สารเคมี ทำให้ฉันนึกถึงเรื่องคนปลูกกะหล่ำ ที่ละเว้นไม่ฉีดยาฆ่าแมลงในแปลงกะหล่ำที่เก็บไว้กินเอง ของคนทางภาคเหนือ และที่อีสาน เขาจะไม่ฉีดยาฆ่าแมลงในแปลงแตงโมที่กินเอง หรือที่ภาคใต้ที่งดใช้ฟอร์มาลีนในปลาที่เก็บไว้กินเอง เรื่องปลาทะเล (ฉันยืนยันได้เมื่อซื้อปลาทูตัวเล็กๆ จากตลาดที่นี่ เก็บไว้หลายวันยังไม่เน่าเปื่อย แถมยามจับมาคลุกข้าวให้หมาน้อย ยังคันมือจนต้องรีบล้างมือ)

ในป่าผืนนี้มีร่องน้ำที่เป็นคล้ายตาน้ำ ยามฝนตกชุกสัตว์เล็กสัตว์น้อยต่างมาชุมนุมกันมากมาย ทั้งชนิดที่เคลื่อนไหวไปบนอากาศ เคลื่อนไหวไปตามพื้นดินและชนิดที่มุดไปตามใต้ดิน หรือทั้งที่อยู่บนดินและใต้ดิน เช่นเขียดและแย้ ที่มีอยู่มากที่สุด

การตามล่าหาเขียดตัวน้อยๆ ขนาดเท่าปลายนิ้วก้อยเป็นที่นิยมเพราะส่วนหนึ่ง เขาบอกว่ามันอร่อย เคี้ยวกรุบๆไม่มีกระดูก และการหาอยู่หากินก็ยังเป็นวิถีชีวิตของคนอีสาน ไม่ว่าคนๆนั้นจะเป็นนักลงทุนปลูกสร้างพืชเศรษฐกิจมากมายแค่ไหน หากมีเวลาพอไปหากินได้เขาก็จะไป แถมมีการคุยทับกับอีกว่าใครหากินได้เก่งกว่าใคร

“โชค” ลูกชายตาลี คืออีกคนหนึ่งที่มักจะออกหาเขียดในตอนกลางคืน เพื่อขายเอาเงินไปเรียนหนังสือในตอนกลางวัน แต่เขามักจะออกไปหาตามลำห้วยนอกเขตป่า ซึ่งมีจำนวนเขียดน้อยกว่าในป่า
“น้าครับ เขียดในสวนน้าน้าหวงไหมครับ ผมขอมาหาได้ไหมครับ” เขาเคยเอ่ยถามฉัน จนฉันต้องหัวเราะออกมาดังๆ ใครกันจะหวงเขียด แล้วเขียดจะมาอยู่ในที่ของฉันได้ยังไง ฉันยังไม่เห็นเลยสักตัว
“ที่แบบนี้แหละครับที่เขียดชอบมาอยู่ อีกหน่อยเมื่อต้นไม้โตขึ้น เขียดกับแย้จะมาอยู่กันเต็มเลยล่ะครับ”

อืม...ดีเหมือนกัน ป่าชุมชนถูกปิด  แต่ป่าส่วนตัวถูกเปิดให้ล่าสัตว์ได้ ถึงเวลานั้นขอฉันคิดอีกทีก็แล้วกันว่าที่ทางขนาดนี้จะรองรับชาวบ้านทั้งห้าหกหมู่บ้านได้อย่างไร

สวนป่าขนาดย่อม ที่ฉันพยายามจัดการฟื้นฟูดินที่ตายไปนานแล้วให้กลับมามีชีวิตอีกหนด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ อย่างชนิดเลือดตากระเด็น หากว่าพอจะมีประโยชน์อยู่บ้างต่อชาวบ้าน สิ่งที่ฉันหวังไม่ใช่ให้เขามาหากิน แต่อยากให้เขาคิดได้ว่า

“หยุดใช้สารเคมี แล้วอาหารจะหวนคืน”

บล็อกของ เงาศิลป์

เงาศิลป์
ประมาณตีสาม เราค่อยๆไต่ขึ้นสู่เขตภูเขาสูง ฉันนึกเดาเอาว่าที่นี่น่าจะเป็นเขตรัฐสลังงอร์ เพราะว่าเผอิญสายตาปะทะกับป้ายที่เขียนว่า เกนติ้ง ไฮแลนด์ มีลูกศรชี้ไปทางซ้ายมือ แต่รถยังมุ่งหน้าตรงไป กระทั่งฉันเห็นเมืองเล็กๆมีไฟฟ้าสว่างไสว สาดจับที่รูปปั้นขององค์พระศิวะสีทองอร่ามความสูงร่วมร้อยเมตร ยืนตระหง่านตรงปากทางขึ้นถ้ำซึ่งมีขนาดใหญ่โตมโหฬาร ไม่น้อยไปกว่ากัน ฉันรู้สึกคลับคล้ายคลับคลาว่าจะเป็นถ้ำบาตู ฮินดูสถานที่สำคัญของคนมาเลเซียเชื้อสายอินเดีย และถัดมาอีกไม่เกินครึ่งชั่วโมง มีป้ายเขียนไว้ว่า พิพิธภัณฑ์โอรัง อัสลี…
เงาศิลป์
คุณเคยเดินทางไปในทิศทางที่ไม่คุ้นเคยบ่อยไหม ขณะนั้นหัวใจของคุณเต้นเป็นจังหวะอะไร มันระทึกตื่นเต้นโครมครามปานช้างป่าตกมันหรือเปล่า หรือว่าเรียบเรื่อยราวห่านหงส์กระดิกปลายเท้าแผ่วใต้สายน้ำนิ่ง แล้วเคลื่อนร่างไปข้างหน้าอย่างละมุน แม้แต่ผิวน้ำก็แทบจะไม่กระจาย
เงาศิลป์
กำแพงบางๆ ที่กั้นระหว่างความทุกข์กับความสุข คือความกระหายใคร่รู้ในบางสิ่งบางอย่างที่ต้องหาคำตอบด้วยตนเอง จะเรียกสิ่งนั้นว่า ความท้าทาย การผจญภัย หรือความใฝ่รู้ ก็น่าจะได้ แต่บางทีมันกลับเป็นเครื่องจองจำบีบรัดหัวใจให้อึดอัดจนหายใจไม่ออก และฉันไม่ชอบอารมณ์นั้นเลย ฉันจึงต้องพยายามจะเป็นฝ่ายชนะมันด้วยการออกเดินทางเพื่อไปหาคำตอบ แม้จะอยู่สุดหล้าฟ้าเขียวก็ตาม  
เงาศิลป์
ป่าในสำนึก คือวิหารอันโอฬาร ที่เปลี่ยนแปลงรูปทรงทุกขณะที่เคลื่อนเข้าใกล้ มีพลังดึงดูด มีมนต์สะกด มีความยิ่งใหญ่ที่ข่มให้เราตัวเล็กลง ฉันจึงหลงรักการถูกครอบงำนี้ อย่างไม่อยากถอนใจ
เงาศิลป์
ฉันได้ตายลงแล้วจริงๆ เพราะเบื้องหน้าที่มองเห็นคือท่านท้าวพญายมราช "ทำไมเจ้าจึงเลือกประตูบานที่สาม"น้ำเสียงเข้มขรึมไม่ด้อยไปกว่าท่วงท่าอันน่าเกรงขามบนบัลลังค์ ฉันซึ่งนั่งคุกเข่าก้มหน้าหลบสายตา ยิ่งต้องทำตัวห่อลีบ ประหนึ่งหลบหลีกคมหอกดาบที่พุ่งมาพร้อมกับคำถามนั้น
เงาศิลป์
  ลูกรักของแม่ ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ทำให้เรารู้จักคำว่าสูญเสียได้อย่างลึกซึ้ง แม้แต่แม่เองก็ยังต้องครุ่นคิดย้อนหลังไปว่า ถ้าสามารถย้อนเวลาไปแก้ไขหรือป้องกันการจากพรากที่แสนจะรันทดนี้ได้ ในตอนไหนได้บ้าง แม่ก็จะทำ ถ้าแม่รู้ว่าลูกจะอยู่กับเราไม่นาน แม่จะไม่ส่งลูกไปอยู่กับคนอื่น แม้คนนั้นจะเป็นปู่กับย่าก็ตาม ถ้าแม่รู้ว่าลูกป่วยหนักและมีเวลาเหลืออีกไม่นานนัก แม่จะไม่เชื่อหมอที่วินิจฉัยในครั้งแรก ถ้ารักษาลูกได้ด้วยวิธีใดๆ เพื่อให้ลูกหายขาด แม่ก็จะทำ แต่ก็นั่นล่ะ พูดไปเมื่อสายเสียแล้ว จะมีประโยชน์อะไร ที่จะรำพัน ดังนั้น สิ่งที่พอจะทำได้ คือ แม่อยากบอกกับคนที่เป็นพ่อแม่ทุกคนว่า…
เงาศิลป์
รุ่งขึ้นอีกวัน หลังจากเก็บอัฐิของลูกแล้ว ความเศร้าโศกค่อยๆ ถอยห่างไปจากเรา ในตอนสาย พ่อได้ประกาศเจตนารมย์ให้แก่ญาติมิตรทั้งหลายทราบว่า พ่อจะตั้ง “กองบุญแม่ชีป่าน” ขึ้น เพื่อเป็นการสนับสนุนกิจกรรมด้านธรรมะ แก่เยาวชนตามเจตจำนงค์ของลูกที่เคยบอกกับใครๆไว้ว่า อยากทำงานสืบต่อพระพุทธศาสนา แม่เชื่อว่า ในขณะที่พ่อกล่าวคำขอบคุณทุกๆคนที่นั่งอยู่ในถ้ำ ตอนนั้น ลูกได้รับรู้ด้วยเป็นแน่แท้
เงาศิลป์
    ลูกสิ้นใจท่ามกลางวงล้อมของเหล่าผู้ที่รักและเมตตาลูก โดยเฉพาะหลวงพ่อซึ่งนั่งสมาธิสงบนิ่งตลอดเวลา ตั้งแต่ลูกมีอาการใกล้จะดับ จนผ่านนาทีแห่งการพลัดพรากนิรันดร์ไปแล้ว ท่านก็ยังนั่งหลับตาทำสมาธิอยู่อย่างนั้น อีกหลายนาที
เงาศิลป์
แม่ไล่สายตามองหาคำว่ามะเร็ง ในหน้ากระดาษบันทึกของลูก ตั้งแต่หน้าแรกจนกระทั่งหน้าสุดท้าย ในจำนวนกว่า 300 หน้า ไม่มีสักคำเดียวที่ลูกจะเขียนถึงมัน  
เงาศิลป์
  อาจเป็นเพราะว่าแม่อยู่กับลูกตลอดเวลา จนกระทั่งคิดว่าความสงบนิ่งคืออาการปกติที่ลูกเป็นอยู่ แน่ล่ะ นิสัยของลูกไม่เหมือนเด็กอื่นๆมาตั้งแต่เล็กๆแล้ว ลูกเป็นเด็กที่มีสมาธิมาตั้งแต่ตัวน้อยๆ บางครั้งแม่เคยเห็นลูกนั่งเล่นตุ๊กตาบาร์บี้อยู่คนเดียว ทั้งแต่งตัวและหวีผมให้มันครั้งละนานๆ เป็นชั่วโมง สองชั่วโมง โดยไม่เบื่อหน่าย ก็นั่นคือกิจกรรมของเด็ก ภายในใจอาจมีจินตนาการมากมาย แต่ขณะที่เป็นคนป่วย การใช้เวลานิ่งเงียบอยู่กับตัวเองของลูก คือการเขียนบันทึกและอ่านหนังสือ ความนิ่งเงียบที่เกิดขึ้น ทำให้ลูกดูคล้ายผู้ใหญ่คนหนึ่ง ที่แม้กระทั่งพ่อกับแม่ก็ยังเกรงใจ ไม่กล้ารบกวน  
เงาศิลป์
  วันที่ 1 สิงหาคม 2551 เวลาประมาณ 18 .30 น. ลูกของแม่ได้กลายเป็นลูกขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในนามนักบวชหญิง ผู้ถือศีล 8
เงาศิลป์
  ชีวิตในแต่ละวันเป็นไปอย่างสงบเงียบ เพราะกิจกรรมหลักของลูกคือกินยา กินอาหาร อ่านหนังสือ สลับเขียนบันทึก ส่วนพ่อกับแม่ นอกจากจะต้องทำอาหาร ตรวจอาหาร นวด พอกยา อาบน้ำให้ อุ้มลูกไปห้องน้ำ อุ้มมานอกห้อง ระยะหลังยังต้องอุ้มลงมาอาบแดดยามเช้าๆ ที่แคร่ไม้ไผ่หน้ากุฏิ และต้องผลัดเปลี่ยนกันลงไปข้างล่างเพื่อทำธุระส่วนตัว กับซื้อหาอาหาร