Skip to main content

ฉันรู้สึกรำคาญคุณพ่อคุณแม่รู้ดีที่ทำเป็นเข้าอกเข้าใจต้นข้าว ก่อนอื่นใดขอให้ทำความเข้าใจชีวิตคนจริง ๆ ก่อนดีไหม

 

 

 

เธอโทรมาฉันเป็นรอบที่เท่าไหร่ไม่ได้นับ หลังจากปัดสายทิ้งไปสองครั้งเมื่อหลายวันก่อน เมื่อคืนเธอโทรมาอีก

“เป็นยังไงบ้าง สบายดีไหม” ฉันถาม

“สบายดี” เสียงเธอแผ่ว ๆ “เขากลับมาบ้านตั้งแต่วันที่ 14 แต่เกรงใจไม่อยากบอกให้พี่ไม่สบายใจ” เธอเล่าถึงสามีที่ไปบำบัดยาเสพติดในเมืองแต่อยู่ไม่ครบกำหนดเวลาหนึ่งเดือนก็ขอหมอกลับบ้านมาก่อน

เกือบสามปีที่ผ่านมา เธอโทรมาบ่นบ่อย ๆ เกี่ยวกับพฤติกรรมสามีที่ติดยาบ้าและอาจจะยาเสพติดชนิดอื่นอีก เขามีพฤติกรรมก้าวร้าวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และล่าสุดเธอต้องหอบลูกเล็กหนีไปยังหมู่บ้านอื่นและหนีเข้าเมืองเพราะกลัวจะถูกทำร้าย

ปีที่ผ่านมาเธอไม่ได้ปลูกข้าว เพราะสภาพร่างกายไม่ไหว เจ็บออด ๆ แอด ๆ จากโรคเบาหวาน ขณะที่สามีซึ่งเคยขยันขันแข็งก็กลับติดยา เขาเข้าป่าเก็บหาของขายหรือรับจ้างอยู่บ้างแต่ก็เอาเงินไปซื้อยาเสียหมดโดยไม่ได้จุนเจือเมียกับลูกอีกสามคน

ครอบครัวนี้อยู่ในกลุ่มคนยากจนในหมู่บ้าน ไม่มีนา มีแต่ไร่ และปลูกข้าวไม่พอกินตลอดปี ชาวบ้านในหมู่บ้านมีรายได้จากการปลูกพืชเศรษฐกิจขาย หลัก ๆ คือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีผักบ้าง ถั่วลิสงบ้างตามสภาพดินฟ้าอากาศ ทุน และแรงงานที่มี

ตลาดค้าข้าวที่เข้าไม่ถึง

ในเมืองกรุงตอนนี้มีคุณพ่อ-คุณแม่รู้ดีสถาปนาตัวเองมาเข้าใจเรื่องการทำนาอยู่หลายคน แทนที่จะหาทางช่วยชาวไร่ชาวนากลับยังพูดอะไรมั่ว ๆ เฉกเช่นคนที่ถนัดแต่ทำนาบนหลังคนอยู่นั่นเอง

ขณะที่ชาวนาพื้นราบทั่วประเทศกำลังเดือดร้อนกับราคาข้าวตกต่ำ ชุมชนบนดอยขนาดสามสิบกว่าหลังคาเรือนแห่งนี้ ไม่ค่อยจะเกี่ยวกับเรื่องยุ่ง ๆ ในตลาดค้าขาวเหมือนใครเขา

แต่เปล่าเลย ! ไม่ใช่เพราะการเป็นอยู่อย่างพอเพียงหรืออุดมคติเกี่ยวกับการทำนาแบบเพ้อ ๆ อย่างที่คนในเมืองคิด

ชาวไร่ชาวนาบนดอยทำนาด้วยแรงงานตัวเองเป็นหลัก มีจ้างบ้าง แลกเปลี่ยนแรงงานบ้าง ตามเงื่อนไขของแต่ละครัวเรือน แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้พวกเขาทำนา “คุ้ม” หรือสามารถ “อยู่ได้ดี” ในแบบที่คุณพ่อรู้ดีทั้งหลายแนะนำ

ชุมชนแห่งนี้เข้าถึงที่ดินได้อย่างจำกัด ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูงและที่สูง ที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิตามกฎหมายแม้ว่าชุมชนตั้งถิ่นฐานมานานกว่าร้อยปี แต่ละปีมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้มาคอยไล่คอยจับอยู่ไม่ขาด พวกเขาไม่มีเทคโนโลยีการเกษตรที่ทันสมัย และมีแรงงานน้อยเพราะลูกหลานเรียนหนังสือหรือเข้าไปหางานทำในเมือง นี่เป็นสาเหตุพื้น ๆ ที่ทำให้พวกเขาต้องใช้แรงงานตนเองในการทำเกษตรเป็นหลัก  

โดยส่วนใหญ่พวกเขาปลูกข้าวไม่ค่อยพอต่อการบริโภคตลอดทั้งปี จะมีเพียงกลุ่มครัวเรือนที่มีที่นาเท่านั้นจึงจะปลูกข้าวได้พอกินและเหลือขายให้กับเพื่อนบ้านอยู่บ้าง

“เมื่อวานไปช่วยเขาเกี่ยวข้าวปวดหลังขนาด ฝนตกใหญ่ข้าวล้มหมด เกี่ยวบ่ม่วนซักหน้อย” เพื่อนเล่ามาตามสายโทรศัพท์ด้วยเสียงแผ่วเช่นเดิม

ความเหนื่อยล้าจากการทำงานหนัก และความเครียดที่เกรงว่าสามีจะกลับไปเสพยาอีกทำให้เธอเปลี่ยนไปมาก จากคนเคยร่าเริงมีเรื่องเล่าตลกชวนหัวแทบทุกครั้งที่คุยกัน มาเป็นคนซึมเซาและเหนื่อยหน่ายกับชีวิต

ฉันไม่โทษสามีของเธอเลยที่เสพยาบ้า เท่าที่ฉันรู้จักเขาเป็นคนขยันขันแข็งรักลูกรักเมีย ด้วยอยู่บนดอยห่างไกลทำให้เขาไม่เคยได้เรียนหนังสือ พูดภาษาไทยไม่ชัด จึงไม่มีโอกาสที่จะเข้าไปรับจ้างในเมือง แต่เขาทำงานสารพัดอย่างเพื่อพยายามยกฐานะครอบครัวให้ดีขึ้น ตั้งแต่เก็บหาของป่าขาย ทำไร่ของตัวเอง รับจ้างเพื่อนบ้านพ่นยาฆ่าหญ้า กลับไปช่วยพ่อของเขาทำเกษตรในอีกหมู่บ้านหนึ่ง และอื่น ๆ อีกหลายอย่าง

อุดมคติกินไม่ได้

เมื่อครั้งไปทำวิจัยที่หมู่บ้านเมื่อราวสิบปีก่อน ฉันเข้าไปอย่าง “ผู้รู้” ที่พยายามจะสอนให้ชาวบ้านหันมาทำเกษตรปลอดสารพิษ ปลูกเพื่อกินเพื่ออยู่ และอนุรักษ์ป่า ครั้นอยู่ในหมู่บ้านเพียงไม่นานฉันค่อยตระหนักว่าตนเองเป็นเพียง “ผู้อวดรู้” ที่ไม่เคยรู้อะไรเลยต่างหาก

ฉันหัดทำเกษตรกับชาวบ้านทุกขั้นตอน ตั้งแต่ถอนหญ้า ปลูกข้าวไร่ ดำนา เกี่ยวข้าว แต่ก็หัดทำได้เพียงอย่างละนิดอย่างละหน่อย ข้อสรุปของฉันคือ “ใช้ไปเถอะค่ะสารเคมีน่ะ” “จ้างไปเลยค่ะถ้าหาคนมารับจ้างได้” คนในเมืองหยิบโหย่งอย่างฉันทำงานหนักแค่ไม่กี่วันก็ยอมแพ้ราบคาบ

ทำนาทำไร่บนดอยมันเหนื่อยหนักกว่าภาพฝันโรแมนติกของใคร ๆ

กว่าจะไปถึงที่ไร่ที่นาบางทีต้องเดินเท้าข้ามดอยเป็นลูก ๆ พอไปถึงก็เหนื่อยเป็นหมาหอบแดด คนมีมอเตอร์ไซค์ค่อยสบายหน่อย แต่ใช่ว่าจะมีกันทุกคน

ฉันเคยทดลองถอนหญ้าในไร่ข้าว ตั้งแต่เช้ายันค่ำถอนได้ไม่ถึงห้าตารางเมตร ฉันเคยทดลองดำนา ปักข้าวลงไปในที่นาที่มีแต่หินและทรายอย่างยากลำบากและเจ็บปลายนิ้วไปหมด เพราะฝนเพิ่งตกหนัก น้ำที่ไหล่บ่าจากที่สูงพัดตะกอนดินทรายลงมาท่วมที่นาจนพังเสียหาย ฉันเคยทดลองเดินหยอดเมล็ดข้าวโพดบนที่ดินที่ชันและดินเหนียว ปีนป่ายเปะปะไปกับถุงเมล็ดพันธุ์อย่างทุกลักทุเล ฉันเคยทดลองหยอดข้าวไร่ที่จะมีคนเอาไม้แหลมแทงดินเดินนำ เมื่อหยอดเสร็จก็กลบด้วยเท้า แต่ต่อมาไม่นานก็พบว่าข้าวในไร่นั้นเสียหายเกือบหมดเพราะแมลงมดมอดมากินเมล็ดพันธุ์ตั้งแต่ยังไม่งอก แถมหญ้าขึ้นเต็มแปลงเพราะเจ้าของไม่มีเงินซื้อยาฆ่าหญ้ามาพ่น จนต้นข้าวยอมแพ้และผลผลิตแทบไม่เหลือตกถึงเจ้าของไร่         

ฉันไม่ตำหนิสามีของเพื่อนเลยเมื่อทราบว่าเขาเสพยาบ้า และฉันทราบว่าผู้ชายในหมู่บ้านนี้อีกหลายคนก็เสพ ท่ามกลางภาระงานที่หนักหน่วงขนาดนั้นพวกเขามีทางเลือกสักเท่าไหร่กันเชียว การเพิ่มพลังของตนเองให้เอาชนะข้อจำกัดของธรรมชาติ ความผันผวนของตลาด และโอกาสที่ต่ำกว่าคนอื่น ๆ ในสังคม คงเป็นทางเลือกเดียวที่พวกเขามี แม้ว่านั่นจะเป็นการขูดรีดตนเองจนร่างกายเกินรับไหว

เสพยาเพื่อให้มีแรงให้ทำงานได้มากขึ้น หนักขึ้น แต่เมื่อเสพมากขึ้นจนฤทธิ์ของยาปั่นป่วนระบบประสาทก็กลับทำให้เขาทำงานไม่ได้เหมือนเคย และพาลจะทำให้ครอบครังพัง

ชาวบ้านในชุมชนแห่งนี้ไม่ได้ปลูกข้าวขายเป็นหลัก พวกเขาจึงไม่ได้รับผลกระทบจากราคาข้าวในท้องตลาด แต่ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วลิสง ถี่วแดง ผักกาดขาว ฯลฯ เป็นปัจจัยชี้ความอยู่รอดของครอบครัวในแต่ละปี

“ช่วยพี่ด้วย พี่ถูกโกงค่าผักกาดไปสามแสน” ชาวบ้านในหมู่บ้านใกล้เคียงเคยโทรศัพท์มาปรึกษาฉัน เธอเล่าว่ามีพ่อค้าคนกลางเข้ามารับซื้อผักกาดในราคากิโลกรัมละไม่กี่สิบสตางค์ เธอเหมาขายไปจนหมดเพราะหากไม่ขายก็เกรงว่าผักจะเน่าเสียโดยไม่เหลืออะไรไม่ว่าจะกำไรหรือต้นทุน พ่อค้าเอาผักจ่ายเงินเพียงบางส่วน ในช่วงแรก ๆ ก็ยังโทรติดต่อกันได้ แต่ไม่นานก็หายลับไปเลย

เรื่องธรรมดาเกินกว่าจะโรแมนติก

เศรษฐีในเมืองมักถามว่าเกษตรกรพวกนี้ทำไมไม่รู้จักอยู่อย่างพอเพียง ปลูกเฉพาะพอกินพอใช้สิ !

พอกินน่ะคงได้ แต่อะไรคือ “พอใช้” ฉันสงสัย ?

ด้วยสภาพการทำงานหนักแบบนี้ ชาวบ้านเจ็บป่วยกันเป็นอาจิณ ค่าหมอค่ายารักษาฟรี แต่ค่ารถค่าราใครจ่าย ? ถ้าเจ็บแบบเบา ๆ ก็ขี่มอเตอร์ไซค์ หรือขึ้นรถโดยสารที่มีแค่วันละสองรอบลงจากดอยมาหาหมอในอำเภอ ถ้าเจ็บหนักก็ต้องเหมารถยนต์คนในหมู่บ้านมาแบบฉุกเฉิน ถ้าคนป่วยถูกส่งตัวเข้าอำเภอเมืองอีกนั่นก็หมายถึงค่าใช้จ่ายที่ทบเท่าทวีคูณ

ลูกหลานในหมู่บ้านส่วนใหญ่ออกไปเรียนต่างถิ่น เพราะในหมู่บ้านมีโรงเรียนถึงแค่ชั้น ม.3 และคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐาน ค่าเล่าเรียนถูกบอกว่าฟรี แต่ค่าเสื้อผ้านักเรียนชุดเดียวนั้นไม่พอ ค่ากินค่าอยู่ ค่ากระดาษข้อสอบ ค่าอื่น ๆ อีกจิปาถะที่โรงเรียนเรียกเอาแบบต่อรองไม่ได้  

ที่หนักสุดคือค่าปัจจัยค่าผลิต เมล็ดพันธุ์ ยาฆ่าหญ้า เป็นเรื่องหลัก ๆ ส่วนใหญ่เป็นระบบซื้อเชื่อ หรือเกษตรพันธสัญญาแบบไม่เป็นทางการ มันวกวนเหมือนงูกินหาง คือถ้าไม่ทำก็ไม่มีเงินพอใช้ แต่พอทำก็มีต้นทุนสูงและเสี่ยงที่จะขาดทุนซึ่งไม่พอกินพอใช้อยู่นั่นเอง

บางปีบางคนมีแถมค่าใช้จ่ายในการจัดการคดีอีก เพราะถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้จับกุมฟ้องร้องต้องขึ้นโรงขึ้นศาลในตัวเมือง ค่าเดินทางแต่ละเที่ยวไม่ใช่ถูก ๆ

ที่ฉันเล่ามาทั้งหมดไม่ได้คิดจะให้สงสารหรือเห็นใจชาวไร่ชาวนาแบบดราม่าน้ำตาริน แต่แค่อยากจะบอกว่าชีวิตจริงของชาวไร่ชาวนามันเป็นแบบนี้

ฉันรู้สึกรำคาญคุณพ่อคุณแม่รู้ดีที่ทำเป็นเข้าอกเข้าใจต้นข้าว ก่อนอื่นใดขอให้ทำความเข้าใจชีวิตคนจริง ๆ ก่อนดีไหม

นี่ไม่ใช่เรื่องของช่างไฟฟ้าที่ใครจะมาบิดเบือนแบบมั่ว ๆ

ถ้าพวกคุณล้มเพราะส่วนแบ่งการตลาดของเบียร์ไทยตกต่ำนั่นก็แค่ล้มบนฟูกนิ่ม ๆ เด้งดึ๋งเด้งดึ๋งกันไป

แต่การที่ชาวนาผูกคอตายนั่นตายจริง เพราะไม่มีอะไรรองรับชีวิตพวกเขาเลย

ขณะที่รัฐบาลปัจจุบันกำลังเล่นงานอดีตนายกฯที่เคยมีนโยบายรับจำนำข้าว รัฐบาลชุดนี้เองก็แสดงให้เห็นว่าตนล้มเหลวไม่เป็นท่าในการแก้ไขปัญหาให้ชาวไร่ชาวนา เพราะยังไม่เห็นทำอะไรจริงจังนอกจากให้สัมภาษณ์ขายผ้าเอาหน้ารอดและหาเรื่องพูดเพ้อไปวัน ๆ

การที่ชาวนาและประชาชนออกมาหาทางแก้ปัญหากันเองด้วยการช่วยซื้อช่วยขายข้าวนั่นไม่ใช่การสะท้อนตรง ๆ หรอกหรือว่า “รัฐบาลมีไว้ทำไม ?”   

บล็อกของ "ไม่มีชื่อ"

"ไม่มีชื่อ"
ฉันรู้สึกรำคาญคุณพ่อคุณแม่รู้ดีที่ทำเป็นเข้าอกเข้าใจต้นข้าว ก่อนอื่นใดขอให้ทำความเข้าใจชีวิตคนจริง ๆ ก่อนดีไหม   
"ไม่มีชื่อ"
"ไม่มีชื่อ"
ถ้าจะมีคนในสังคมที่ไม่ทำงานทำการอะไร ก็น่าจะเป็นพวกคนร่ำรวย ที่สามารถสะสมทุนและใช้เงินจากดอกผลของมันซึ่งขับเคลื่อนด้วยหยาดเหงื่อแรงงานของลูกจ้างที่มีทุนน้อยเสียมากกว่า
"ไม่มีชื่อ"
นักศึกษาจบใหม่ มีทางให้เลือกดำเนินชีวิตได้มากสักเท่าไหร่กัน นักเรียนของข้าพเจ้าเรียนจบเกือบหนึ่งปีแต่พวกเขายังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าจะนำพาชีวิตตัวเองไปในทิศทางไหนต่อ
"ไม่มีชื่อ"
ในบริบทที่สังคมเต็มไปด้วยรอยปริแตกและการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ผู้คนจำนวนมากระมัดระวังที่ไม่ตกอยู่ฟากข้างใดของความขัดแย้ง “ความเป็นกลาง” ถูกทวงถามในทุกแวดวง ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน นักวิชาการ นักศึกษา นักพัฒนา ราวกับว่าคำนี้มีความหมายชัดเจนและเป็นธรรมชาติในตัวเอง 
"ไม่มีชื่อ"
 
"ไม่มีชื่อ"
 ภาพมวลมหาประชาชนนำธนบัตรมากมายไปยื่นให้ สุเทพ เทือกสุบรรณ บนถนนกลางกรุงสร้างความตื่นตะลึงปนขุ่นเคืองใจให้แก่คนมีเงินไม่ค่อยพอใช้อย่างข้าพเจ้ายิ่งนัก นี่ยังไม่นับรวมกับเสียงของผู้เข้าร่วมชุมนุมกับม็อบนกหวีดที่ย้ำซ้ำ ๆ ผ่านสื่อต่าง ๆ ว่าพวกเขาเป็นชนชั้นกลางและชนชั้นสูงฐานะดีมีอันจะกิน 
"ไม่มีชื่อ"
เมื่อตื่นเช้ามาพบว่าสังคมไทยกำลังถกเถียงกันเรื่องความเหมาะสมของหลัก “หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง” ในการเลือกตั้ง ข้าพเจ้าหลงคิดไปว่าขณะหลับไปเมื่อคืนโลกได้หมุนย้อนเวลากลับไปกว่า 81 ปี ก่อนที่ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย
"ไม่มีชื่อ"
ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับเสียงของ “ชาวบ้าน” หรือไม่ เสียงของพวกเขาก็ควรมีความหมาย มีสิทธิที่จะเปล่งออกมา และควรได้รับความสำคัญเท่า ๆ กับเสียงของชนชั้นกลางด้วยเช่นกัน แต่สังคมยังให้พื้นที่แก่เสียงของคนเหล่านี้น้อยมาก เมื่อเทียบกับพื้นที่ที่ให้แก่เสียงของชนชั้นกลาง ทั้ง ๆ ที่หลายกรณีเสียงและความต้องการของชนชั้นกลางที่อยู่ห่างออกไปจากพื้นที่ส่งผลต่อปากท้องและการทำมาหากินของพวกเขาโดยตรง     
"ไม่มีชื่อ"
เนื่องจากมันเป็นขบวนการและกระบวนการตอกย้ำความไม่เท่าเทียมกันของอำนาจในการแสดงออกซึ่งสิทธิเสียงระหว่างชนชั้นกลางกับชนชั้นล่างอย่างเห็นได้ชัด โดยผ่านการจัดลำดับชั้นสูงต่ำของ  “จิตสำนึกทางสิ่งแวดล้อม”
"ไม่มีชื่อ"
การบังคับสวมเครื่องแบบนักเรียน-นักศึกษาด้วยข้ออ้างว่าจะไม่ทำให้เกิดความแตกต่างหรือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำนั้น เอาเข้าจริง ๆ มันก็แค่การกลบเกลื่อนความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่จริง และแสดงถึงการไม่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายอย่างตรงไปตรงมามากกว่า