Skip to main content

ถึงทุกวันนี้คนส่วนใหญ่คงรู้กันแล้วว่า พม่าย้ายเมืองหลวงจาก ร่างกุ้ง (Rangoon) ไปยังเมืองเนปิดอว์ (Naypyitaw หรือ Naypyidaw) หลายคนอาจไม่รู้ว่าทำไม เหตุผลที่คาดเดากันไปก็มีหลายอย่าง ทั้งความเชื่อถือของนายพลตานฉ่วยตามคำทำนายของโหรส่วนตัว ภัยคุกคามจากอเมริกา หรือข่าวล่าสุดเรื่องการสะสมอาวุธ สร้างอุโมงค์ใต้ดินซึ่งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเกาหลีเหนือเมื่อไม่นาน เพื่อลำเลียงพลและสรรพาวุธป้องกันตนเองและควบคุมชนกลุ่มน้อยต่างๆ

\\/--break--\>
ประเทศไทยมีอาณาเขตติดต่อกับพม่า แต่คนไทยรู้จักพม่าแค่เพียงความทรงจำในอดีต ในฐานะผู้ร้ายที่เคยเผาบ้านเผาเมืองเมื่อสองร้อยปีก่อน ขณะที่เราเอ็นดูลาวด้วยเป็นบ้านพี่เมืองน้อง แต่ลาวก็ไม่อยากเป็นน้อง ขออยู่ในฐานะเสมอกัน เพราะลึกๆ แล้วลาวก็น่าจะชังไทยเหมือนกับที่ไทยชังพม่า หากใช้เหตุผลเดียวกัน คือ คนไทยเคยเผาบ้านเมืองลาวเอาไว้เมื่อสองร้อยปีก่อน


ไม่ว่าไทยกับพม่าจะรักหรือชังกันเพียงใด แต่ในฐานะปุถุชน เราควรทำความเข้าใจมากขึ้นตามรอบวงที่โลกได้หมุนเวียนไป ด้วยสงครามในอดีตนั้นเป็นสงครามกษัตริย์ ที่มุ่งรบกันเพื่อศักดิ์ศรี มิใช่สงครามระหว่างรัฐ อย่างน้อยในฐานะมนุษย์ก็ควรเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อประชาชนชาวพม่า อย่างคนที่มีลมหายใจ ดิ้นรนลี้ภัยสงคราม และขาดไร้โอกาสในชีวิต


คนไทยคุ้นเคยกับชื่อ “พม่า” (พรหม / Brahma) ซึ่งต่อมาก็เปลี่ยนเป็น “เบอร์มาร์” (Burma) ตามคำเรียกของอังกฤษเจ้าอาณานิคม และเปลี่ยนเป็น “เมียนมาร์” (Myanmar) เมื่อปี ๒๕๓๒ ภายหลังได้เอกราชอีกครั้ง


พม่ามีภาพลักษณ์ในการใช้กำลังต่อประชาชนที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และที่แตกต่างทางความคิดเห็นในประเทศของตนตลอดเวลา การย้ายเมืองหลวงหลายต่อหลายหน มีทั้งที่เป็นไปด้วยสัญชาติญาณการเอาตัวรอด การแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติ ชัยภูมิได้เปรียบทางกองทัพ หรือเพราะเชื่อถือโชคลาง เราอาจเข้าใจความคิดแบบกษัตริย์ (และผู้นำ) พม่า จากเหตุผลของการย้ายเมืองหลวงในหลายๆ ครั้งนี้ก็เป็นได้ แม้ในทุกครั้งประชาชนพม่าไม่เคยมีส่วนร่วมในการรู้เห็น


การย้ายเมืองหลวงของพม่าครั้งล่าสุดคือเมื่อธันวาคม ๒๕๔๘ จากย่างกุ้งไปยังเมืองเนปิดอว์ ใจกลางของประเทศ ไกลจากเมืองหลวงเดิมประมาณ ๔๐๐ กม. และหากนับการเริ่มต้นการอพยพในประวัติศาสตร์พม่า จากตะวันตกเฉียงใต้ของจีนเข้ามายังพม่าตอนบน ตั้งอาณาจักรพุกามขึ้นโดยพระเจ้าอโนรธา ใน พ.. ๑๕๘๗ ถือเป็นการอพยพเพื่อสร้างเมืองหลวงครั้งแรก


การย้ายเมืองแต่ละครั้งในที่นี้นั่นไม่ได้หมายรวมเฉพาะที่ขุดรากถอนโคน ตอกเสาเข็มก่ออิฐฉาบกำแพงกันใหม่เท่านั้น เพราะเพียงแต่มีสิ่งบอกเหตุ ผู้นำพม่าก็พร้อมจะย้ายที่กิน ที่นอน ที่ว่าราชการเพื่อเอาเคล็ด ในแต่ละครั้งอาจกินเวลาแรมเดือนกระทั่งนานหลายปี


ครั้งที่สอง ภายหลังพุกามของพม่าตกเป็นของไทใหญ่ พ.. ๑๘๔๑ พระเจ้าธิหะสู หรือสีหสู กษัตริย์ไทใหญ่สั่งให้เผาพุกามทิ้ง ย้ายมาสร้าง “เมืองพินยา” ขึ้นใหม่เมื่อ พ.. ๑๘๔๒


ครั้งที่สาม เกิดขึ้นเมื่อ พ.. ๑๙๐๗ ชื่อว่า “กรุงอังวะ” (กรุงรัตนบุระอังวะ) พระเจ้าธาโดมินพญา ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเจ้าไทใหญ่ ๓ องค์ ได้สร้างเมืองใหม่แห่งนี้ขึ้น


ครั้งที่สี่ ภายหลังพระเจ้าธาโดมินพญาสวรรคต เกิดการแย่งชิงราชบัลลังก์ พระราชโอรสองค์หนึ่งของพระเจ้าธิหะสู หรือสีหสู ได้มาตั้ง “เมืองสาแกง” (เมืองจักกาย) ในราว พ.. ๑๘๕๓


ครั้งที่ห้า พระเจ้ากาเลกตองนะโย ได้รับการสนับสนุนจากไทใหญ่เมืองอองบาง (สีป่อ) ตั้งเมืองอังวะขึ้นใหม่ ในปี พ.. ๑๙๖๙


ครั้งที่หก พระเจ้ามินกินโย หรือมังกินโย (มหาศิริชัยสุระ) ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์ตองอูที่เป็นพม่าองค์แรก เพราะก่อนหน้านี้ล้วนตกอยู่ภายใต้อำนาจของไทใหญ่ มอญ และอยุธยา โดยเมืองตองอูเป็นเมืองเก่าและใช้เป็นที่หลบซ่อนของผู้คนเมื่อเมืองพุกามเสียแก่ไทใหญ่เมื่อ พ.. ๑๘๔๑


ครั้งที่เจ็ด พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ (ผู้ชนะสิบทิศ) มีชัยเหนือมอญเมืองหงสาวดี พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ต้องการรวมมอญและพม่าให้เป็นชาติเดียวกัน ไม่ต้องการให้มอญคิดกู้ชาติอีก จึงย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่เมืองหงสาวดี เมื่อ พ.. ๒๐๘๙ จนตลอดรัชสมัยพระเจ้าบุเรงนอง


ครั้งที่แปด หลังพระเจ้านันทบุเรง โอรสพระเจ้าบุเรงนอง พ่ายแพ้ พระเจ้าตองอูยึดเมืองหงสาวดีได้ ในปี พ.. ๒๑๔๒ แต่ไม่ได้ปกครองเมืองหงสาวดี กลับไปอยู่ที่เมืองตองอู อาจเป็นด้วยเกรงในอำนาจของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่กำลังยกกองทัพที่มีอานุภาพเข้มแข็งติดตามขึ้นมา


ครั้งที่เก้า หลังสมัยของพระเจ้านันทบุเรง บรรดาเมืองของพม่าล้วนแตกเป็นเสี่ยง ต่างตั้งตนเป็นใหญ่ ต่อมาในสมัยของพระมหาธรรมราชา (พระเจ้าอนันกะเพตลุน) ได้ปราบปรามเมืองต่างๆ ให้อยู่ในอำนาจ และกลับไปตั้งมั่นอยู่ที่เมืองอังวะ


ครั้งที่สิบ ปลายรัชสมัยของพระมหาธรรมราชา ทรงมีพระสติและความคิดผิดปกติ ทรงย้ายเมืองหลวงจากกรุงอังวะมาอยู่ที่เมืองหงสาวดี เมื่อ พ.. ๒๑๕๖ หวังให้เมืองหงสาวดีกลับเจริญรุ่งเรืองดังเดิม


ครั้งที่สิบเอ็ด พระเจ้าธาลุน พระเจ้าอาของพระเจ้ามินเรทิพพา กษัตริย์องค์ก่อน และเป็นพระอนุชาของพระมหาธรรมราชา บิดาของพระเจ้ามินเรทิพพา หลังยึดอำนาจจากพระนัดดาได้แล้ว จึงย้ายไปอยู่ที่กรุงอังวะ ในปี พ.. ๒๑๗๘


ครั้งที่สิบสอง หลังมอญก่อการกบฏ จนราชวงศ์ตองอูสูญสิ้น พระเจ้าอลองพญา (อองไจยะ) ลุกขึ้นกอบกู้เอกราชคืนสำเร็จ สถาปนา “เมืองชเวโบ” ขึ้นเมื่อ พ.. ๒๒๙๕


ครั้งที่สิบสาม พระเจ้าอลองพญาตีเมืองเก่าๆ ของพม่าคืน รุกคืบผนวกเอาหัวเมืองมอญได้แก่ สิเรียม หงสาวดี และตะเกิง (ร่างกุ้ง) ทางใต้สุด เข้าเป็นของพม่า ตั้งแต่ พ.. ๒๒๙๘ ได้บูรณะเมืองตะเกิงขึ้นใหม่พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเมืองใหม่ว่า “ร่างกุ้ง” แปลว่าสิ้นสุดสงคราม


ครั้งที่สิบสี่ หลังมังลอก (พระเจ้านองดอว์คยี) สิ้นพระชนม์ ขณะนั้น มังหม่อง พระโอรสยังเป็นทารกอยู่ พระเจ้ามังระ (พระเจ้าสินพยูซิน) ซึ่งเป็นพระอนุชามังลอกยึดครองราชบัลลังก์ สั่งการให้มังหม่องบวชตลอดชีวิต จากนั้นจึงได้ย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่กรุงอังวะ พ.. ๒๓๐๘


ครั้งที่สิบห้า พระเจ้าโบดอว์พญา (พระเจ้าปดุง) พระราชโอรสองค์ที่ ๓ ของพระเจ้าอลองพญา ทรงย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่ เมืองอมรปุระ เมื่อ พ.. ๒๓๒๕


ครั้งที่สิบหก ในรัชสมัยพระเจ้ามินดง เริ่มได้รับผลกระทบจากการทำสงครามและการคุกคามจากอังกฤษ จึงย้ายจากเมืองอมรปุระมาอยู่ที่ เมืองมัณฑะเลย์ ในปี พ.. ๒๔๐๐


ครั้งที่สิบเจ็ด หลังพระเจ้าธีบ่อเสียเอกราชแก่อังกฤษเมื่อปี พ.. ๒๔๒๘ อังกฤษจัดการปกครองพม่าใหม่ให้ขึ้นตรงต่อผู้สำเร็จราชการที่อินเดีย และย้ายเมืองหลวงของพม่ามาอยู่ที่ “มะละแหม่ง” ในเขตมอญ


การย้ายเมืองครั้งล่าสุดของพม่า ครั้งที่ ๑๘ หลังจากอังกฤษและพม่าได้ทำสัญญาลงนามมอบเอกราชเมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.. ๒๔๙๐ “พม่าย้ายเมืองหลวงกลับไปที่ “เมืองร่างกุ้ง”ภายหลังการเลือกตั้ง ทหารได้เข้ามาปกครองประเทศ ชาติพันธุ์ต่างๆ ที่เคยร่วมต่อสู้เพื่อเอกราชสมัยนายพลอองซาน ที่เคยสัญญากันไว้ว่ากลุ่มต่างๆ จะรวมกันอยู่ในสหภาพพม่าเป็นเวลา ๑๐ ปี หลังจากนั้นสามารถแยกตัวเป็นอิสระได้ แต่ภายหลังได้รับเอกราชแล้ว สัญญาดังกล่าวถูกฉีกทิ้งโดยคณะทหารพม่า นับแต่นั้นประชาชนทุกหมู่เหล่าถูกกดขี่ จำกัดสิทธิ และถูกปราบปรามอย่างรุนแรง โดยไม่รับฟังเสียงทักท้วงจากนานาชาติ การปกครองประเทศในระบบสหภาพ ที่ประกอบด้วยรัฐต่างๆ ได้แก่ กะเหรี่ยง อาระกัน คะฉิ่น คะยา ฉิ่น ฉาน และมอญ แต่ในความเป็นจริงรัฐเหล่านั้นมีอยู่แต่ในกระดาษ ไม่เคยได้รับการปฏิบัติ


ข่าวลือที่ว่าระบบผังเมืองย่างกุ้งที่อังกฤษเป็นผู้จัดทำไว้ ตกอยู่ในมือของกองทัพสหรัฐ พม่าจึงมีมาตรการป้องกันการโจมตีจากทหารอเมริกัน ด้วยการสร้างอุโมงค์ใต้ดินและขีปนาวุธทั้งหลายขึ้น อย่างไรก็ตาม ก็ไม่มีสิ่งใดรับประกันได้ว่ากองทัพพม่าจะพ้นรัศมีการทำลายล้างดังกล่าว


คนที่ไม่มีความรู้ด้านการเมืองอย่างผมเชื่อว่า ประสบการณ์ที่เคยผิดพลาดเมื่อครั้งเหตุการณ์กบฏชนกลุ่มน้อยเมื่อต้นราชวงศ์ตองอู และในอีกหลายครั้ง เพราะพม่าตั้งเมืองหลวงค่อนไปทางเหนือหรือใต้มากเกินไป เมืองหลวงใหม่ที่อยู่ตรงจุดศูนย์กลางของประเทศพม่าพอดิบพอดีนี้ สามารถควบคุมดูแลชนกลุ่มน้อยครอบคลุมพื้นที่ได้ทั่วประเทศ รวมทั้งสามารถควบคุมสันญาณโทรคมนาคมทั้งในและนอกประเทศได้ดี พร้อมรองรับข้อตกลงทางธุรกิจเซ็นสัญญากับนายกพลัดถิ่นที่พนมเปญเมื่อก่อนหน้านี้


เมื่อทบทวนประวัติศาสตร์พม่าตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบันอย่างละเอียดจะพบว่า การย้ายเมืองของพม่าในหลายครั้งอยู่บนความเชื่อส่วนบุคคล ข้อสังเกตจากการที่ผมได้เดินทางไปพม่าเมื่อต้นปี พ.. ๒๕๔๘ พบผู้นำพม่ากำลังประกอบพิธีหลวง ต่อชะตาเมืองอย่างขะมักเขม้นบนลานพระธาตุอินทร์แขวน (พระเจดีย์ไจ้ทีโย)


แขวงเมืองพยีปะนา” ที่ตั้งเมืองหลวงล่าสุดของพม่าในเมืองเนปิดอว์อาจบอกอะไรได้บางอย่าง คนมอญ พม่า ปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง) และไทใหญ่หลายคนเชื่อว่า เป็นความเชื่อด้านโชคลางของพม่า เพราะเมืองพยีปะนานั้น เป็นเมืองเก่าของมอญ ที่อยู่ตรงแดนกันชนระหว่างเมืองมอญและพม่ามาตั้งแต่สมัยพระเจ้าราชาธิราช มอญเรียกว่า “เมืองเปรียงปะนาน” ซึ่งแปลว่า “ที่เตรียมพล” ก่อนพม่าและมอญจะยกทัพโจมตีกันและกัน พม่าจึงต้องการได้ทั้งชื่อ และชัย (ภูมิ)


มอญเมืองไทยหลายคนเชื่อว่า “เป็นไปตามแหม่งเจ้น” หรือคำพญากรณ์โบราณที่ว่า วันหนึ่งมอญจะได้เมืองคืนโดยไม่เสียเลือดเนื้อ เพราะพม่าทิ้งเมืองตะเกิง (ร่างกุ้ง) ของมอญเอาไว้ให้เฉยๆ (ข้อนี้เห็นทีจะยาก เพราะพม่าเคยพูดใส่หน้าแม่ทัพมอญที่ร้องขอความกรุณามาแล้วว่า แผ่นดินกว้างใหญ่ไพศาล ไม่ใช่แค่ดงกระเจี๊ยบ จะได้ยกให้กันง่ายๆ)


ในเมื่อรัฐบาลทหารพม่าออกมายืนยันชัดเจนว่า เหตุผลที่ย้ายเมืองหลวงเพราะ ย่างกุ้ง เป็นเมืองท่าที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง สภาพเก่า ผังเมืองคับแคบ ไม่สามารถขยายเมืองออกไปได้ตามการเติบโตของเมืองที่ควรเป็น เราก็คงได้แต่นิ่งฟัง แม้จะรู้ตัวว่าเชื่อยาก การย้ายเมืองของพม่าครั้งนี้ หากไม่นับโชคลาง และตัดทิ้งเรื่องความเกรงกลัวในอำนาจอเมริกันของนายพลตานฉ่วย ด้วยในระยะหลังพม่าก็มีจีนอยู่เคียงข้างเสมอแล้ว เชื่อว่าเหตุผลที่น่าสนใจก็คือ พม่ากำลังเข้าใกล้จุดแตกหักจากพื้นฐานจิตใจอันโหดร้ายที่เคยก่อไว้กับชนกลุ่มน้อยต่างๆ แม้แต่ประชาชนชาวพม่าแท้ของตนเอง ด้วยเชื่อว่า วันเวลาที่ความคับแค้นเหล่านั้นจะประทุออกมาอย่างไม่อาจควบคุมใกล้มาถึงในเร็ววัน

 

 

บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
คนส่วนใหญ่รับรู้ว่าวัดชนะสงครามเป็นวัดมอญ ใช่ว่าคนสนใจประวัติศาสตร์จึงได้รู้ความเป็นมาของวัด แต่เป็นเพราะหน้าวัดมีป้ายโลหะสีน้ำตาลที่ทางการชอบปักไว้หน้าสถานที่ท่องเที่ยว ความระบุประวัติไว้ว่าวัดนี้เป็นวัดของพระสงฆ์ฝ่ายรามัญ (มอญ) แต่ก็ไม่แน่ใจนัก คนสมัยนี้อาจเข้าใจว่ามอญเป็นชื่อต้นไม้จำพวกเห็ดราปรสิตชนิดหนึ่งก็ได้
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน   การสื่อสารระหว่างมนุษย์ด้วยวิธีต่างๆ เพื่อให้ฝ่ายหนึ่งรับรู้ความหมายจากอีกฝ่ายหนึ่ง และเกิดการตอบสนอง นับแต่โบราณกาลมีตั้งแต่การสุมไฟให้เกิดควัน นกพิราบสื่อสาร ปัจจุบันการสื่อสารมีหลายวิธีรวดเร็วทันใจมากขึ้น อาจเป็นวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ โทรศัพท์มือถือ ดาวเทียม ระบบโทรคมนาคม หรือการสื่อสารระบบเครือข่ายที่อาศัยดาวเทียมและสายเคเบิลใยแก้ว ที่เรียกว่า อินเตอร์เน็ต ก็ได้ ส่วนภาษาที่มาพร้อมกับวิธีการสื่อสารเหล่านั้น เป็นเครื่องมือที่สำคัญซึ่งมีพัฒนาการไม่หยุดนิ่ง มีการหยิบยืมคำในภาษาอื่น เปลี่ยนรูปแบบและความหมายตลอดเวลา…
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน   พิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยนั้นมีมาอย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ถึงแม้ว่าจะเริ่มต้นจากการหาที่เก็บของเก่าก็ตาม แต่จากประสบการณ์ที่ว่านี้ ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนที่กำลังคิดทำพิพิธภัณฑ์ว่าจะใช้เก็บของเก่าหรือใช้เป็นสถานที่เรียนรู้ โดยเฉพาะในยุคที่ผู้คนเริ่มเห็นคุณค่าท้องถิ่นของตน การตัดสินใจเกี่ยวกับท้องถิ่นจึงควรมาจากท้องถิ่นเพื่อประโยชน์ของท้องถิ่น
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน     หญ้าขัดมอญ เป็นพืชล้มลุก ทรงพุ่มเตี้ย ตระกูลเดียวกับชบา ขึ้นเองตามธรรมชาติไม่ต้องปลูกและดูแลรักษา คนในสังคมเมืองคงไม่คุ้นชื่อคุ้นต้นไม้ชนิดนี้ หลายคนเห็นเป็นวัชพืชอย่างหนึ่งที่ต้องกำจัด นอกจากบางคนที่ช่างสังเกตธรรมชาติรอบตัวก็อาจจะพบว่า หญ้าขัดมอญ เป็นไม้พุ่มเตี้ยแตกกิ่งก้านหนาแน่น ใบเล็กเรียวเขียวเข้ม ยิ่งเวลาออกดอก สีเหลืองอ่อนหวานพราวพรายรายเรียงอยู่ทั่วทุกช่อใบ ชวนมองไม่น้อย แถมมีประโยชน์ในครัวเรือนหลายอย่าง ทั้งด้านการใช้สอยและสรรพคุณทางสมุนไพร
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน บทสรุปย่อสำหรับผู้บริหาร (Executive Summary) ของศูนย์พม่าศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร ในการนำการเสนอโครงการวิจัย ชุด "โครงการประเทศพม่าศึกษา" ชื่อหัวข้อวิจัย คือ "มโนทัศน์ทางการเมืองของรัฐพม่าบนพื้นที่สื่อรัฐบาลทหาร" ที่ผ่านการอนุมัติจากสกว.
องค์ บรรจุน
  องค์ บรรจุน ๗ กรกฏาคม ที่ผ่านมาเป็นวันอาสาฬหบูชา รุ่งขึ้นก็เป็นวันเข้าพรรษา วันสำคัญของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก เมื่อมีวันหยุดยาวติดต่อกันหลายวัน ผู้คนจึงออกต่างจังหวัดกันมาก ถนนช่วงนั้นจึงโล่งอย่างเทศกาลใหญ่ๆ ทุกครั้ง เปิดทีวีมีแต่ข่าวขบวนแห่เทียนเข้าพรรษากันทัวประเทศ ยิ่งใหญ่เท่าไหร่ แปลกเท่าไหร่ยิ่งดี บางจังหวัดไม่เคยจัดก็สู้อุตส่าห์ซื้อช่างแกะเทียนค่าตัวแพงลิบมาจากอุบลราชธานี กลายเป็นว่าทุกวันนี้คนทำเทียนเข้าพรรษาเพื่อขายการท่องเที่ยว ไม่ได้ถวายให้พระใช้งานจริงขณะนั้นเวลา ๑๐.๓๐ น. ผมนั่งอยู่โคนต้นอโศกอินเดียภายในวัดชนะสงคราม ความคลุกคลีกับวัดวามานานจึงพาลห่างวัด…
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุนบทความชิ้นนี้ไม่มีเจตนาตั้งชื่อเลียน "ชัตเตอร์กดติดวิญญาณ" เพราะในภาพยนตร์นั้น เจ้าของกล้องกดชัตเตอร์ติดวิญญาณผีที่เขาขับรถชนและหนีไป ทว่าในที่สุดวิญญาณก็ตามทวงเอาชีวิต ซึ่งต่างจากบทความนี้อย่างสิ้นเชิง เนื่องจาก เจ้าของกล้องถ่ายภาพนับร้อยที่กดชัตเตอร์ใส่ผีตนหนึ่ง คล้ายมหรสพที่นักการเมืองจัดให้ชาวบ้านในฤดูหาเสียง แต่ที่ร้ายก็คือ อำนาจของชัตเตอร์กลับสะกดให้ผีตกอยู่ใต้อำนาจของมนุษย์อย่างที่ผีไม่สามารถเอาคืนได้
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุน แค่อ่านชื่อเรื่องหลายคนคงรู้จักคุ้นเคยกันดีว่านี่คือเนื้อเพลง “สยามเมืองยิ้ม” สำหรับคนที่เป็นคอลูกทุ่งยิ่งต้องรู้ว่า เพลงนี้ขับร้องโดยราชินีเพลงลูกทุ่งผู้ล่วงลับ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ส่วนผู้ประพันธ์เนื้อเพลงเป็นครูเพลงคู่บุญของเธอ ลพ บุรีรัตน์ 
ได้ฟังเพลงนี้ครั้งแรกก็สัมผัสได้ถึงความยิ่งใหญ่ในความเป็นชาติ รู้สึกทันทีว่าไพเราะกินใจ ซาบซึ้งไปกับบทเพลง ยิ่งฟังยิ่งเพราะ ขนาดที่เมื่อสิบกว่าปีก่อนเคยส่งเทปจัดรายการเพลงไปประกวดดีเจทางคลื่น “สไมล์เรดิโอ” ใช้เพลง “สยามเมืองยิ้ม” เป็นเพลงปิดรายการ ได้เข้ารอบแรกเสียด้วยแต่ตกรอบ ๒๐ คนสุดท้าย เพื่อนๆ ที่รอฟังและตามลุ้นพูดเหมือนกันว่า “สมควรแล้ว…
องค์ บรรจุน
  องค์ บรรจุน คนทั่วไปสับสนเกี่ยวกับลักษณะสายพันธุ์และชื่อเรียกของ "กระเจี๊ยบ" ว่าเป็นอย่างไรและเรียกว่าอะไรกันแน่ จะมีสักกี่คนที่รู้ถึงที่มาและคุณค่ามากมายมหาศาลของกระเจี๊ยบบ้านมอญในชนบทหลายแห่งเคยมีต้นกระเจี๊ยบริมรั้ว ริมคลองหนองบึง สำรับกับข้าวเคยมีแกงกระเจี๊ยบไม่ขาด แต่ทุกวันนี้ "กระเจี๊ยบ" เริ่มเลือนหายไปจากชีวิต ชนิดที่ไม่มีใครอาลัยอาวรณ์นัก แม้แต่จะนึกถึงความหลังที่แกงกระเจี๊ยบเคยอยู่คู่ครัวมาแต่อ้อนแต่ออก
องค์ บรรจุน
องค์ บรรจุนหลายปีก่อนผู้เขียนเคยนั่งตากลม น้ำลายบูด หันซ้ายทีขวาที อยู่กลางวงสนทนาของผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมานุษยวิทยา ในวงนั้นมี รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม อยู่ด้วย ท่านพูดถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในเมืองไทยไว้ประมาณว่า สังคมไทยหลอมรวมมาจากผู้คนและวัฒนธรรมของคนหลายกลุ่ม ความเป็นไทยแท้นั้นจึงเป็นเรื่องโกหก โดยเฉพาะคนไทยที่ไม่มีสายเลือดอื่นเจือปนนั้นไม่มีจริงในโลก ในวันนั้นผมได้ยินคำอาจารย์ศรีศักรชัดถ้อยชัดคำเต็มสองหูว่า "ที่ไหนมีคนไทยแท้ช่วยมาบอกที จะเหมารถไปถ่ายรูปคู่เก็บไว้เป็นที่ระลึก และจะกราบตีนงามๆ สักที อยากเห็นจริงๆ..."
องค์ บรรจุน
 องค์ บรรจุนธรรมเนียมไทยแท้แต่โบราณ "ใครถึงเรือนชานต้องต้อนรับ" หัวเรื่องที่จั่วไว้ด้านบนบทความนี้ ถือเป็นคุณสมบัติอันน่าภาคภูมิของคนไทยอย่างหนึ่ง คนไทยทั้งผองเชื่อกันว่าคนไทยมีข้อดีงามหลายอย่าง เป็นต้นว่า โอบอ้อมอารีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ กตัญญูรู้คุณ ซื่อสัตย์สุจริต ยิ้มสยาม หรือแม้แต่ "รักสามัคคี" และ "ไทยนี้รักสงบ..." ล้วนเป็นความดีเด่นประจำชนชาติไทยตามลัทธิอัตตานิยม "คนไทยดีที่สุดในโลก" ดังนั้นเมื่อหมอดูทำนายคนไทยหน้าไหนก็ตามว่าเป็นคนดีดังกล่าวข้างต้น จึงไม่มีใครปฏิเสธว่าหมอดูไม่แม่น
องค์ บรรจุน
ถุงผ้าไม่ได้ลดโลกร้อน เพราะการใช้ถุงผ้าตามกระแสโดยเข้าไม่ถึงหลักใหญ่ใจความ ขณะที่ปริมาณการใช้ถุงพลาสติกยังคงเดิม คงไม่ต้องไปดูไหนไกลอื่น แค่เพียงเราสำรวจดูที่บ้านว่าเรามีถุงผ้าอยู่ในครอบครองกี่ใบ แต่ละวันที่เราออกไปทำธุระนอกบ้าน หรือเวลาที่ตั้งใจไปจ่ายตลาด มีใครสักกี่คนที่เอาถุงผ้าหรือตะกร้าติดตัวไปด้วย และในบรรดาคนที่เอาถุงผ้าหรือตะกร้าติดตัวไปด้วยนั้น จะมีใครบ้างไหมที่ปฏิเสธแม่ค้าว่าไม่เอาถุงพลาสติก โดยเฉพาะแม่ค้าในตลาดสด "ไม่ต้องใส่ถุงพลาสติกชั่งน้ำหนักแล้วเทลงถุงผ้าเลย" อย่างน้อยการซื้อแกงถุงกลับบ้าน นอกจากถุงร้อนที่ใส่แกงแล้ว ยังมีถุงหูหิ้วสวมทับอีก ๑ ใบด้วยหรือไม่