Skip to main content

ผมเขียนบทความชุดนี้มาหลายเดือน มาถึงตอนนี้ นับว่าเป็นชุดบทความที่ยาวไม่น้อย 

เมื่อผมอ่านทวนย้อนตอนที่ 12 พบว่าน้ำเสียงของบทความดูหม่นเศร้าหดหู่อยู่ไม่น้อย แต่ก็เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นจริงๆ ในยามพลัดพรากจากบ้านเกิดเมืองนอน ไปพบกับบางสิ่งบางอย่างที่รู้ว่าเราไม่สามารถไปถึงได้ก็ยิ่งกดข่มความรู้สึกอยู่บ้าง 

ในสมัยที่ผมเรียนปริญญาเอกที่ฮาวายอิ มีนิทรรศการศิลปะชื่อ "Japan-Paris" ซึ่งเป็นการรวบรวมผลงานของศิลปินญี่ปุ่นที่ออกไปเผชิญกับศิลปะสมัยใหม่ (Modern Art) ซึ่งขณะนั้นอยู่ในยุคสมัยที่เราเรียกขานว่า "ยุคสมัยใหม่" ในท่ามกลางความตื่นตาตื่นใจในเทคนิคและวิทยาการของโลกตะวันตก ศิลปินชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยสามารถดูดซับ และผนวกเอาศิลปะสมัยใหม่เข้าเป็นแนวทางของตัวเองได้ในที่สุด 

แต่ก็มีศิลปินจำนวนไม่น้อยที่พ่ายแพ้ให้กับความแตกต่างและแรงปะทะประสานระหว่างโลกศิลปะจากฝั่งตะวันออกกับฝั่งตะวันตก

การเผชิญหน้าครั้งนั้น เป็นแรงบันดาลใจให้ผมเขียนบันทึกเป็นส่วนหนึ่งของงานวิทยานิพนธ์และขยายเป็นวิจัยชุดภาวะสมัยใหม่ที่ ศ. ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ กรุณาชักชวนให้ผมไปมีส่วนร่วม และดำเนินมาถึงจุดหนึ่งแล้ว ปัจจุบันโครงการวิจัยชิ้นนี้กำลังถึงตอนที่ผมพยายามเรียนรู้จากประสบการณ์ของญี่ปุ่นเพราะพวกเขาเผชิญกับ "ภาวะสมัยใหม่" ในระดับแนวหน้า

ในขณะที่ "ศิลปะสมัยใหม่" ของไทยนั้น เราได้รับผ่านประสบการณ์ของชนชั้นนำสยามที่เดินทางไปเรียน ไปค้าขายและดำเนินกิจการการทูตกับโลกตะวันตก 

อาจจะมีเพียงพระสรลักษณ์ลิขิต ที่เป็นศิลปินราชสำนักได้มีโอกาสตามเสด็จไปยุโรป และเรียนศิลปะแบบตะวันตกโดยผ่านธรรมเนียมการ "คัดลอก" และ "เลียนแบบ"

แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีการศึกษาถ่ายทอดอย่างเป็นทางการ เพราะในราชสำนักนั้น "พระราชนิยม" เป็นตัวกำหนดความเป็นไปของโลกศิลปะ

กระทั่งการมาของนายคอราโด เฟโรจี ที่ทางราชสำนักสยามต้องการช่างฝีมือที่จะเข้ามาทำงานในสยามทดแทนการจ้างช่างในยุโรปซึ่งมีราคาสูงและไม่ต้องด้วยความงามตามแบบสยาม

ในเวลาต่อมา นายเฟโรจีนี่เองที่กลายมาเป็นผู้วางรากฐานให้ศิลปินสยามและไทยได้เรียนรู้สิ่งที่เรียกว่า "ศิลปะสมัยใหม่" แต่ล้าหลังจากยุโรปไปหลายสิบปี มิพักต้องกล่าวถึงระยะการรับรู้แบบประสบการณ์ตรง กับประสบการณ์ทางอ้อมโดยผ่านการคัดกรองและกำกับของนายเฟโรจี

ในระหว่างที่ผมอยู่บอสตัน เมื่อมีแขกแก้วมาเยือน ผมมักจะพาไปชมงานศิลปะที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะของฮาร์วาร์ด ซึ่งในฐานะ "คนใน" ผมสามารถรับรองแขกได้หนึ่งคน เท่ากับว่าบัตรประจำตัวของฮาร์วาร์ดสามารถพาแขกเข้าชมนิทรรศการและพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ซึ่งผมใช้สิทธินี้จนเกินคุ้ม เพราะในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาที่เก็บชุดดอกไม้แก้วก็ไปหลายครั้ง ทั้งพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา พิพิธภัณฑ์อารยธรรมโบราณ (Semitic Museum) และหอศิลปซึ่งอยู่ใกล้บ้านอาจารย์พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์มากๆ 

ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่ฮาร์วาร์ดล่าสุดเป็นการรวมเอาสามพิพิธภัณฑ์ไว้เป็นหนึ่งเดียว คือพิพิธภัณฑ์ Fogg Museum, Busch-Reisinger Museum และ Arthur M.Sackler Museum เข้าไว้ด้วยกัน และเปิดก่อนหน้าผมจะไปถึงไม่นานนัก พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้รวบรวมเอาผลงานสำคัญๆ ไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะสมัยใหม่อย่างปิคาสโซ กระทั่งงานของศิลปินรุ่นพ่อของ conceptual art อย่างโยเซฟ บอยส์ (Joseph Beuys) และกลุ่มฟลุกซูส (FLuxus) ก็มี ขณะที่งานศิลปะยุคก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงอารยธรรมจีน อินเดีย เมโสโปเตเมีย กรีกและอารยธรรมอื่นๆ ก็มีให้ศึกษาจนไม่อาจกล่าวถึงได้หมด

แต่ใช่หรือไม่ว่า นี่คือคุณสมบัติของมหาวิทยาลัยที่พึงปรารถนา กล่าวคือ ถึงแม้ว่าชุดสะสมของฮาร์วาร์ดไม่ได้มี master pieces เยอะแยะ แต่ของที่มีก็เป็นงาน "ต้นฉบับ" ที่สำคัญๆ และมีงานของศิลปินชั้นยอดของโลกเอาไว้ให้ชมด้วยตาเปล่า เป็นประสบการณ์ตรง (ไม่ผ่านกระจกกันกระสุน) จึงได้เห็นฝีแปรงและรอยสีในระดับใกล้ชิดเอามากๆ 

งานที่ผมชอบมากๆ ก็คือ การมาถึงของรถไฟ (Arrival of a Train) ของ Claude Monet, French (Paris, France 1840 - 1926 Giverny, France) ซึ่งเป็นงานชิ้นเอกชิ้นหนึ่งในชุดสะสมของฮาร์วาร์ด 

ทุกครั้งที่ไปชม ผมอดไม่ได้ที่จะยืนมองนิ่งๆ และถ่ายรูปเก็บไว้ แต่ยังไงเสีย ก็ไม่มีทางเก็บเอาความรู้สึกจริงๆ ที่เห็นภาพนี้

 

ความงามของภาพนี้ในทัศนะของผมก็คือ การแสดงให้เห็นถึงเครื่องจักรสมัยใหม่ที่พามนุษย์เดินทางไปมาหาสู่กันได้ทีละมากๆ และขนส่งสินค้าได้ไกลๆ มีความปลอดภัยสูง 

โดยที่พวยควันจากปล่องไอน้ำของรถไฟ ลอยออกมาเป็นสาย ฟุ้งกระจายทั่วชานชาลา เป็นทั้งพลังและอหังการ์ของศิลปินที่เลือกเขียนภาพนี้ เพราะไม่ง่ายเลยที่จะจับอารมณ์ของรถไฟที่พุ่งตรงเข้ามา มีอาคารเป็นพื้นหลัง มีชานชาลาที่กลุ่มคนยืนรออยู่ห่างๆ และมีคนงานยืนอยู่เบื้องหน้า (http://www.harvardartmuseums.org/art/228649)

รถไฟสื่อสะท้อนถึงความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนสังคมจากเกษตรกรรมสู่อุตสาหกรรม และชื่นชมวัตถุจากวิทยาการใหม่ที่ทำให้มนุษย์เอาชนะขีดจำกัดด้านกายภาพและเวลา เป็นมนุษย์ที่มีชัยชนะเหนือพลังที่ธรรมชาติให้มาด้วยปัญญาของมนุษย์เอง

ภาพนี้จึงจับใจและความรู้สึกผมมาก และถูกเขียนขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1877 หรือ พ.ศ. 2420 ซึ่งเราก็ใกล้จะมีรถไฟในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5(คงไม่ต้องบอกว่า เวลาผมดูภาพนี้แล้ว ในสมองผมมีแต่คำว่า "ลูกรัง" ก้องอยู่เป็นฝันร้ายจริงๆ)

(หากสนใจงานศิลปะชิ้นอื่นๆ สามารถลองชมผ่านเว็บได้ครับ ตามลิงค์นี้ http://www.harvardartmuseums.org/collections ครับ)

 

ถ้าจะบอกว่านี่คือมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ลำพังชื่อเสียงทางทางวิชาการผมก็เชื่อแล้ว แต่มาประจักษ์ชัดเมื่อได้เห็น "เบื้องหลัง" ของการสั่งสมความรู้และคลังอาวุธทางปัญญาในพิพิธภัณฑ์ทั้งหลายที่มีอยู่ก็เรียกได้ว่านอนตายตาหลับ แต่จะนอนไม่หลับก็เพราะลูกรังและโคลนทางปัญญาอันต่ำตมที่พอกเอาล้องัวของเราในหล่มโคลนของภาวะสมัยใหม่มานานนมเต็มที

ว่าจะไม่เขียนอะไรที่อ่านแล้วสิ้นหวังหดหู่ แต่ก็ยังหนีไม่พ้นจริงๆ

 

 

 

 

บล็อกของ บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
บ่ายวันหนึ่งขณะที่กำลังออกไปธุระนอกมหาวิทยาลัย เห็นอีกาตัวใหญ่กำลังถอนขนนก
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ฝนเริ่มหยุดตกไปบ้างหลังจากพายุไต้ฝุ่นเอตาวพัดผ่านพ้นไป อีกาหลายตัวออกบินหาอาหาร บ้างก็ผึ่งปีกรับแดดยาม
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ผมพยายามตั้งสถานีทำงานให้เร็วที่สุด แต่ดูเหมือนว่าระบบที่นี่จะเข้มงวดในบางเรื่องเป็นพิเศษ เช่น ระบ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
  ถ้าร่างรัฐธรรมนูญถูกคว่ำก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะมีบางคนยอมตนเป็นระเบิดพลีชีพ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
เครื่องบินลดระดับลงเรื่อยๆ จนเครื่องแท็กซี่ลงจอดได้ ผมเดินทางมากรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อทำงานวิจัย ณ มหาวิทยาลัยโตเกียวเพื่อต่างประเทศศึกษา หรือ Tokyo University of Foreign Studies เดิมทีเรียกกันว่ามหาวิทยาลัยโตเกียวภาษาต่างประเทศ คนที่นี่เรียกอย่างย่อว่า "โตเก
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
        นิวยอร์คในยามต้นฤดูใบไม้ผลิยังคงร่องรอยของความหนาวไว้บ้าง แ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
เมื่อเครื่องแตะรันเวย์ของสนามบินเมืองอัลบานี มลรัฐนิวยอร์ค ผมรับกระเป๋าและออกมารออาจารย์สุดารัตน์ มุสิกวงษ์ ที่เชื้อเชิญให้ผม
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ในการสัมมนาครบรอบ 70 ปีการปลดปล่อยและแบ่งแยกดินแดนเกาหลี และโครงการสันติทัศนศึกษา
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ในยามนี้อากาศเริ่มอบอุ่นมากขึ้น แสงแรกของวันมาถึงก็เป็นเวลาที่ผมตื่นนอนเดินทางไปสนามบินเพื่อเดินทางต่อไปยังเมืองชัททานูกา มลรัฐเทนเนสซี 
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
เมื่อฝนฟ้าตกตามฤดูกาล ท้องถนนของกรุงเทพสามารถเปลี่ยนเป็นท้องน้ำในยามฝนตกเพื่อให้รถเปลี่ยนเป็นเรือได้
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
       ถ้าหากจะศึกษาประวัติศาสตร์ว่าด้วยหนังสือวิชาในโลกหนังสือไทยมีนิตยสารวิชาการอยู่สองฉบ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ว่ากันว่าชื่อเมืองชิคาโกได้มาจากการออกเสียงของชาวฝรั่งเศสจากสำเนียงพื้นถิ่น shikaakwa ซึ่งหมายถึงต้นหอมป่า ฉายาเมืองนี้ถูกเรียกว่าเป็น Windy City