Skip to main content

 

คนเราจะวัดความเป็นรัฐบุรุษที่แท้ได้ก็เมื่อวิกฤตการณ์มาถึง แล้วเขาสนองตอบต่อวิกฤตการณ์นั้นอย่างไร

หลายปีก่อน ผมมักจะอ้างคำพูดจากนักการทหารที่ว่า “ความโกรธเกรี้ยวของนักการทหารนั้นเป็นอัปมงคลต่อบ้านเมือง” ความเกรี้ยวกราดของผู้นำในยามวิกฤตนอกจากจะไม่เป็นผลดีต่อกองทัพแล้ว ขวัญกำลังใจของทหารยิ่งตกต่ำ

การจัดการบ้านเมืองยามวิกฤตต่างไปจากการบริหารชาติตามปกติ เพราะคนที่อยู่ในงานบริหารรู้ว่าในรอบหลายปีมานี้ นอกจากภาคธุรกิจจะนำเอาหลักคิดเรื่องการบริหารความเสี่ยงมาใช้ในภาคธุรกิจแล้ว ยังมีการบังคับให้หน่วยราชการ สถานศึกษาประเมินความเสี่ยงของหน่วยงานและธุรกิจที่ทำอยู่ เพื่อทำการบริหารความเสี่ยง (risk management) แต่เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ขึ้นจริงๆ จะต้องเปลี่ยนปรับยกระดับเป็นการบริหารวิกฤต (crisis management)  เมื่อวิกฤตผ่านแล้ว ค่อยปรับตามสถานการณ์ลงเป็นการบริหารความเสี่ยง

แต่ที่หนักที่สุดก็คือ ความตระหนักรู้และเตรียมตัวโดยการประเมินและรับความเสี่ยงเป็นเรื่องในยามปกติ แต่เมื่อความเสี่ยงนั้น ไม่ใช่ความเสี่ยงอีกต่อไป  แต่เป็นภัยที่คุกคามการดำรงอยู่ของหน่วยงาน องค์การ สถาบัน มันก็คือวิกฤตที่ต้องถูกบริหาร จัดการ เพื่อมิให้เป็นวิกฤต หรือภัยคุกคาม  

แต่โอกาสความเป็นไปได้ที่หนักที่สุดก็คือเมื่อวิกฤตการณ์นั้นได้เปลี่ยนเป็นภัยพิบัติ (disaster) การบริหารภัยพิบัติจึงไม่ใช่การบริหารสถานการณ์ปกติ แต่ต้องปรับตัวสนองตอบต่อสถานการณ์อยู่เสมอ ประเมินความเสี่ยงและวิกฤตที่จะเกิดขึ้นอยู่เสมอ ไม่ใช่นั่งๆ นอนๆ สั่งการ และผู้นำการบริหารวิกฤตจะต้องไปยืนแถวหน้าของวิกฤต มิใช่ที่โต๊ะบัญชาการ

ในการบริหารวิกฤต ยังมีสิ่งที่เรียกว่า จุดที่ไม่อาจหวนคืน (the point of no return) คือจุดที่ไม่อาจจะทวนย้อนกลับไปได้อีก เปรียบเปรยเช่น เราเชื่อว่าเราสามารถใช้ลาบรรทุกฟางได้ การวางฟางเส้นแล้วเส้นเล่าบนเครื่องบรรทุกบนหลังลาคือการเพิ่มน้ำหนักและความตึงเครียดให้กับลา แต่หากไม่คำนึงถึงจุดที่ลาแบกน้ำหนักไม่ไหว เพราะผู้วางเส้นฟางทึกทึกเอาว่าลาทนได้ หรือหลังลารับน้ำหนักไหว ก็ใส่เส้นฟางลงไปเรื่อยๆ จนหลังของลาทานน้ำหนักบรรทุกไม่ได้และหักลง

เช่นเดียวกับจุดที่เราต้องการวัคซีนที่ดีที่สุด ในห้วงเวลาที่จำเป็นที่สุด แต่เมื่อเราได้มานเวลาที่ต้องการทันท่วงที เพราะวัคซีนมีระยะที่ไปทำปฏิกิริยากับร่างการให้กระตุ้นและสร้างภูมิคุ้มกัน ถึงได้วัคซีนมา วิกฤตก็จะทบทวีไปอีกรูปแบบหนึ่ง

ธรรมชาติของการบริหารวิกฤตจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนและรอไม่ได้

แต่หากวิกฤต ยกระดับกลายเป็นภัยพิบัติที่จำนวนความเสียหายเกินกว่าสังคม สถาบัน องค์กร หรือหน่วยเล็กๆ ของสังคมจะรับได้ องค์กรนั้น สถาบันการเมืองนั้นก็จะพังทลาย เสียรูปยิ่งกว่าปราสาททราย หรือเกิดความเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึง เพื่อสนองตอบต่อวิกฤต และแสวงหาดุลยภาพการบริหารใหม่

แต่ถ้าองค์กรนั้น ไม่ใช่ห้างร้านเอกชน แต่องค์กรภาครัฐ เป็นสถาบันการเมืองที่ออกแบบมาเพื่อป้องกัน ธำรงชีวิตพื้นฐานแล้ว วิกฤตที่เกิดขึ้นตามมาจะหนักหนาสาหัสหลายเท่าตัว ดังคำว่า รัฐล้มเหลว (failed state) ซึ่งเป็นคำยอดนิยมเมื่อหลายปีก่อนในช่วงที่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรจะถูกกดดันและปิดสถานที่ทำการทางราชการเพื่อกดดันไม่ให้รัฐบาลทำงานได้ และเกิดการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ตามมาในที่สุด

นักคิดคนสำคัญ โนอัม ชอมสกี้ (Noam Chomsky) เขียนไว้ในหนังสือ Failed States: The Abuse of Power and the Assault on Democracy (2006) เล่าว่าแนวคิดเรื่องรัฐล้มเหลวเป็นแนวคิดที่พัฒนามาจากประเทศไฮติไม่สามารถจัดการความวุ่นวายภายในได้ มีการกดขี่ประชาชนและไม่สามารถคืนสู่ประชาธิปไตยได้ ดังนั้นรัฐบาลของบิล คลินตัน จึงได้ทำการ “แทรกแซง” (แต่ถึงที่สุดก็ล้มเหลวเช่นกัน) ที่น่าสนใจก็คือ นี่คือพัฒนาการของคำเรียกและการอธิบายลักษณะเฉพาะของรัฐในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กล่าวคือ เป็นสิ่งที่ต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจมองเข้าไปและต้องการจะ “ช่วยจัดการ” แก้ปัญหาเชิงมนุษยธรรมในประเทศที่เป็นรัฐล้มเหลว สู่การเข้าไปจัดการโดยข้ออ้างที่รุนแรงขึ้นเช่น เป็นรัฐนอกกฎหมาย (outlaw state) เป็นรัฐอันธพาล (rogue state) หรือกระทั่งรัฐล้มเหลว (failed state) ในฐานะรัฐที่ล้มเหลวในการจัดการภายในจนอาจคุกคามต่อความมั่นคงในภูมิภาค หรืออาจใช้ในความหมายที่ไม่มีอำนาจรัฐที่เป็นผล เกิดภาวะสุญญากาศทางอำนาจ (power vacuums)

ก่อนจะเกิดภาวะรัฐล้มเหลวนั้น มีสัญญาณส่งออกมาก็คือการเป็นรัฐที่พังทลาย (collapsed state) คือภาวะที่องค์กรต่างๆ ของรัฐที่มีภารกิจ มีหน้าที่ในการดำเนินงาน แต่ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจนั้นได้ ปล่อยให้องค์กรเอกชน หรือองค์กรระดับรองลงมา (subnational bodies) เข้ามาจัดตั้งกันเอง เพื่อปฏิบัติหน้าที่อันควรเป็นหน้าที่รัฐ

ชอมสกี้เห็นว่ารัฐจะต้องทำหน้าที่พื้นฐานที่เป็นวาระหลัก คือการธำรงไว้ซึ่งสวัสดิการสังคมต่อเพื่อนมนุษย์ สิทธิทางสังคมต่างๆ กล่าวอย่างรวบรัด คือการแสดงความรับผิดชอบดูแลชีวิตมนุษย์ทุกคนในรัฐ

และรัฐต้องคำนึงด้วยว่ารัฐมีหน้าที่หลักคือการอำนวยให้มนุษย์สามารถมีชีวิตที่เป็นปกติสุขได้ ชอมสกี้มองว่าภัยคุกคามสำคัญในยุคของเรา (ขณะนั้น) ได้แก่ ภัยจากสงครามนิวเคลียร์ หายนะจากภัยพิบัติธรรมชาติ และตัวรัฐบาลเอง (โดยเฉพาะหากวิเคราะห์จากมุมของชอมสกี้ ตัวรัฐบาลเองอเมริกันเองมีสถานะที่สามารถคุกคามโลกด้วยเช่นกัน) ซึ่งอาจทำตัวเป็นภัยคุกคามต่อตัวเราด้วย

รัฐล้มเหลวจึงรวมไปถึงรัฐที่อาจก่อภัยคุกคามต่อชีวิต ความมั่นคงในชีวิตของคนในรัฐ

ที่กล่าวมาทั้งการยกระดับการบริหารวิกฤตเป็นการบริหารภัยพิบัติ กับประเด็นเรื่องรัฐล้มเหลวนั้น จะเห็นได้ว่ารัฐบาลไทยผ่านจุดวิกฤตครั้งแล้วครั้งเล่า จนเกิดภัยพิบัติ และกำลังส่งสัญญาณเตือนความล้มเหลวที่หนักกว่าการปิดสถานที่ราชการก่อนรัฐประหาร 2557

เพราะที่กล่าวมานี้ เป็นภัยคุกคามจากโรคระบาดในระดับโลก (global scale) ที่ไม่เคยมีมาก่อน เป็นภัยคุกคามความมั่นคงที่มองไม่เห็นและจะป้องกันได้ด้วยวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และในเวลาที่เหมาะสม

ใครๆ ก็รู้ว่าประเทศอย่างสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) เผชิญกับภัยนี้ระลอกแล้วระลอกเล่า นับแต่วันแรกเราที่โลกตระหนัก แต่อัตราการตายสะสมของเกาหลีที่เผชิญมาสองปี ยังน้อยกว่าอัตราการตายสะสมประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในรอบสองสัปดาห์

การที่รัฐบาลไทยเผชิญกับภัยพิบัตินี้และตอบสนองล่าช้า ทั้งๆ ที่มีเวลาเตรียมตัวมานานกว่าหลายๆประเทศ ทั้งยังมีทัศนคติที่เบี่ยงเบนไปมากจากเหตุผลปกติ ไม่ว่าจะเป็นการยึดถือกับวัคซีนบางยี่ห้อ (ซึ่งเท่ากับมีปัจจัยเสี่ยงที่จะล้มเหลวในการจัดการกับปัญหาสูงขึ้น) แทนที่จะลดระดับความเสี่ยง รัฐบาลกลับยกระดับความเสี่ยงขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการประกาศวันหยุดสงกรานต์ให้คนเดินทางไปต่างจังหวัด การทำกระบะทรายเพื่อทดลองเปิดการท่องเที่ยว (แต่ล้มเหลวในทันที) การตั้งทำนบ (barrier) ในการจองวัคซีนโดยภาคเอกชน จนเอกชนต้องไปพึ่ง “องค์กรรองระดับชาติ” เพื่อชิงการนำเข้าวัคซีนที่ประสิทธิภาพสูงกว่า

ไม่นับความล้มเหลวจากการกำหนดวิสัยทัศน์และดำเนินการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่หยุดนิ่งและถดถอยทางเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง

ถ้าไม่เรียก “ไทยวิกฤต” ครั้งนี้ว่ารัฐล้มเหลว จะเรียกอย่างไรได้?

(ตีพิมพ์ครั้งแรก มติชน วันที่ 17 กรกฎาคม 2564 https://www.matichon.co.th/article/news_2834711)

 

 

 

 

 

 

 

บล็อกของ บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
รถบัสนำผมมาถึงเมืองชิคาโกในเวลาสองทุ่มครึ่ง รถจอดที่สถานีปลายทาง Union Station แม้จะเคยมาเมืองนี้ แต่คราวนี้มาคนเดียว และนัดเพื่อนที่ไม่เจอกันเกือ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
เราตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อจะเดินไปบ้านอาจารย์แคทเธอรีน บาววีเพื่อยืมรถอาจารย์ไปเที่ยว อา
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
แม้จะเข้าฤดูใบไม้ผลิแล้ว แต่อากาศที่นี่ยังคงเย็นอยู่บ้าง ในคืนที่ผ่านมาอากาศเย็นสบาย เมื่อเราซื้อของจากซุปเปอร์มาร์เก็ตใกล้ๆ ที่พัก เราเดินกลับบ้านได้สบายๆ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
อย่างที่เคยเล่ามาในตอนก่อนๆ ว่า หนึ่งในความสุขเล็กๆ ของพวกเราคือการได้ไปกินติ่มซำวันเสาร์ (อาจจะมีคนเติมว่าไม่เอาเผด็
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ผมอดคิดไม่ได้ว่าคนรุ่นก่อนช่างกล้าหาญนัก กล้าเดินทางเข้ามาในดินแดนที่ไม่รู้จัก เพื่อแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าการเดินทางของมนุษย์เป็นสิ่งที่มหัศจรรย์ ชีวิตยิ่งมหัศจรรย์กว่า ในความผันแปรเปลี่ยนของมนุษย์
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ผมเขียนบทความชุดนี้มาหลายเดือน มาถึงตอนนี้ นับว่าเป็นชุดบทความที่ยาวไม่น้อย 
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
เมื่อปี พ.ศ.2532 เดือนมิถุนายน ยังไม่รู้ประสีประสาทางการเมือง ในขณะที่เพื่อนๆ พี่ๆ พากันขึ้นคัทเอาท์สนับสนุนประชาธิปไตยในจีน และมีกิจกรรมต่อเนื่องหลังจากที่นักศึกษา ประชาชนถูกล้อมปราบที่ลานหน้าพระราชวังต้องห้าม
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
     มหาวิทยาลัยเกือบทุกแห่งที่ผมได้มีโอกาสผ่านไปมักมีเรื่องราวให้จดจำ ไม่ว่าจะเป็นความสวยงามของภูมิทัศน์ เอ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
Today is the 5th year to commemorate the day that Abhisit Vejjajiva started cracking down the United front for Democracy against Dictatorship (UDD) camp site on Rajadamri. It started with the killing of Seh. Daeng or Gen. Kattiya Sawasdiphol.