เมื่อมีเวลาตรวจดูสภาวะจิตใจของตัวเองในช่วงนี้แล้ว ก็เหมือนกับว่าผมได้พบกันสภาวธรรมต่างๆ ที่แปรเปลี่ยนไปหลายๆ ประการ มีเกิด มีดับ สลับกันไปในจิตแต่ละช่วงขณะ คือค่อยๆ รู้สึกตัวบ้างในบางครั้ง รู้ว่าเผลอ รู้ว่าหลง รู้ว่าประคอง ในอารมณ์ต่างๆ เช่น ความคิด ความโกรธ หรือแม้กระทั่งความอยาก
จากวันแรกที่ภาวนามาจนถึงวันนี้ ผมมั่นใจว่าในการเริ่มต้นของการภาวนาที่เราได้พบ เห็นสภาวะต่างๆ นี้ ไม่ใช่เรื่องยากเลย เพียงแค่เรา “วางใจ” ให้ถูกที่ ถูกฐานตามแต่จริตของเรา ซึ่งใครที่ชอบ ภาวนาแล้วสบาย ไม่อึดอัด ทำแล้วมีความสุขก็สามารถทำได้เลย
ฐานของการภาวนา เอาแบบหลักๆ ง่ายๆ นั้นมี 2 ฐาน คือ “ฐานกาย” และ “ฐานจิต” ก่อนที่จะเริ่มต้นภาวนาแรกๆ เราอาจต้องสำรวจตัวเองสักนิดว่ามี “จริต” อย่างไร คือ หากเราเป็นคนที่อยากสวย อยากงาม หรือ ชอบความสงบ เราจะเริ่มต้นภาวนาโดยการใช้ “ฐานกาย” หรือ หากเราเป็นคนคิดมาก ฟุ้งซ่าน เราจะเริ่มต้นภาวนาโดยการใช้ “ฐานจิต”
การเริ่มจากฐานกายนี้ ก็อาจจะทำได้ทั้งการทำสมาธิให้เกิดจิตที่ตั้งมั่นแล้วเมื่อถอนจากสมาธิเราก็ดูสภาวะจิตที่เปลี่ยนแปลงไป และเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของกายและจิต หรือหากใครที่ทำสมาธิยังไม่ชำนาญก็อาจจะใช้วิธีตามดูกายของเราที่เคลื่อนไหวไปมาก็ได้ เพียงแค่เรารู้ลงในปัจจุบันขณะ
ส่วนการเริ่มต้นจากฐานจิต ก็ทำได้โดยการตามรู้จิต เห็นความคิด เห็นความเผลอ ความหลง ที่ใจเราแปรเปลี่ยนไปในแต่ละขณะ มองเห็นอาการต่างๆ ของจิตที่เกิดขึ้น โดยรู้ลงในปัจจุบันขณะเช่นกัน
การภาวนาโดยฐานใดก็ตาม เราจะไม่ไปแทรกแซงกายและจิตของเรา คือ เราเพียงสักว่ารู้ สักว่าเห็นตามความเป็นจริงเท่านี้ก็พอ หากเกิดความคิดก็รู้ว่ากำลังคิด หากเกิดความโกรธก็รู้ว่ากำลังโกรธ หากกระพริบตาก็รู้ว่ากระพริบตา หากหายใจออก หายใจเข้า ก็รู้ว่าหายใจออก หายใจเข้า รู้ลงปัจจุบันตามความเป็นจริง
การวางใจไว้ที่ฐานแต่ละฐานนี้ ในขั้นเริ่มต้น อาจต้อง “จงใจ” ไปรู้สักนิด แต่ไม่ต้องถึงขั้นว่ามัวไปเพ่ง ไปตั้งท่า ว่าอยากจะรู้ อยากจะเห็นอะไร เราดูกายดูจิต เหมือนเราชำเลืองมองคนที่เราชอบ เห็นเขา แต่อย่าให้เขารู้ว่าเขาเห็นเรา ถ้าเขารู้ว่าเรามองเขาอยู่เขาจะไม่แสดงอาการอะไรให้เรารู้มากนัก ต้องค่อยๆ ชำเรืองดู ทีละนิด
เมื่อเราเห็นสภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้น ในกายและในจิตได้แล้ว ในระดับต่อมา ก็ขอรู้ไปโดยอัตโนมัติ คือ เดี๋ยวเราก็รู้ที่กาย เดี๋ยวเราก็รู้ที่จิต สลับกันไปมาในแต่ละขณะๆ ส่วนการภาวนานั้นอาจมีทั้งแบบใช้สมาธินำปัญญา หรือ ปัญญานำสมาธิ หรือแม้แต่การทำทั้งสองอย่างไปพร้อมๆ กัน ก็แล้วแต่ “กำลัง” ของจิตของแต่ละคน
วันนี้ที่เขียนเรื่อง “การวางใจ” ก็เพราะมองเห็นว่าตัวเองเิ่พิ่งจะรู้ว่า การภาวนาที่จะเห็นผลได้ชัด เห็นผลได้เร็ว คือ เราควรวางใจให้เป็น ให้เหมาะกับจริตของตัวเอง และเมื่อภาวนาแล้ว เราจะรู้สึกสบาย ไม่เครียด ไม่ตึง ไม่หย่อนจนเกินไป ยิ่งทำแล้วมีความสุขที่ได้เห็นความจริงที่ปรากฎ
เมื่อวางใจให้เป็นแล้ว เราก็จะเห็นสภาวะจิต สภาวะธรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น และดับลง ที่แปรเปลี่ยนไปในขณะต่างๆ ซึ่งเราไม่ต้องไปคิดว่าแบบนี้เรียกสภาวะอะไร แบบนี้มีชื่อว่าอะไร เพราะยิ่งจะเป็นการติดในสมมุติบัญญัติไปอีก เราทำเรื่องนี้ได้ง่ายเพียงรู้ไปเรื่อยๆ เมื่อรู้แล้วก็รู้ เอาแบบ “รู้” ตัวเดียวเลยครับ ยิ่งทำให้เกิดเหตุ และผลจะนำไปสู่สภาวะรู้ ตื่นและเบิกบาน ณ ปัจจุบัน อยู่ต่อหน้าต่อตาตัวเราเองเลยครับ...