Skip to main content


เมื่อมีเวลาตรวจดูสภาวะจิตใจของตัวเองในช่วงนี้แล้ว ก็เหมือนกับว่าผมได้พบกันสภาวธรรมต่างๆ ที่แปรเปลี่ยนไปหลายๆ ประการ มีเกิด มีดับ สลับกันไปในจิตแต่ละช่วงขณะ คือค่อยๆ รู้สึกตัวบ้างในบางครั้ง รู้ว่าเผลอ รู้ว่าหลง รู้ว่าประคอง ในอารมณ์ต่างๆ เช่น ความคิด ความโกรธ หรือแม้กระทั่งความอยาก

จากวันแรกที่ภาวนามาจนถึงวันนี้ ผมมั่นใจว่าในการเริ่มต้นของการภาวนาที่เราได้พบ เห็นสภาวะต่างๆ นี้ ไม่ใช่เรื่องยากเลย เพียงแค่เรา “วางใจ” ให้ถูกที่ ถูกฐานตามแต่จริตของเรา ซึ่งใครที่ชอบ ภาวนาแล้วสบาย ไม่อึดอัด ทำแล้วมีความสุขก็สามารถทำได้เลย


ฐานของการภาวนา เอาแบบหลักๆ ง่ายๆ นั้นมี 2 ฐาน คือ “ฐานกาย” และ “ฐานจิต” ก่อนที่จะเริ่มต้นภาวนาแรกๆ เราอาจต้องสำรวจตัวเองสักนิดว่ามี “จริต” อย่างไร คือ หากเราเป็นคนที่อยากสวย อยากงาม หรือ ชอบความสงบ เราจะเริ่มต้นภาวนาโดยการใช้ “ฐานกาย” หรือ หากเราเป็นคนคิดมาก ฟุ้งซ่าน เราจะเริ่มต้นภาวนาโดยการใช้ “ฐานจิต”


การเริ่มจากฐานกายนี้ ก็อาจจะทำได้ทั้งการทำสมาธิให้เกิดจิตที่ตั้งมั่นแล้วเมื่อถอนจากสมาธิเราก็ดูสภาวะจิตที่เปลี่ยนแปลงไป และเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของกายและจิต หรือหากใครที่ทำสมาธิยังไม่ชำนาญก็อาจจะใช้วิธีตามดูกายของเราที่เคลื่อนไหวไปมาก็ได้ เพียงแค่เรารู้ลงในปัจจุบันขณะ


ส่วนการเริ่มต้นจากฐานจิต ก็ทำได้โดยการตามรู้จิต เห็นความคิด เห็นความเผลอ ความหลง ที่ใจเราแปรเปลี่ยนไปในแต่ละขณะ มองเห็นอาการต่างๆ ของจิตที่เกิดขึ้น โดยรู้ลงในปัจจุบันขณะเช่นกัน


การภาวนาโดยฐานใดก็ตาม เราจะไม่ไปแทรกแซงกายและจิตของเรา คือ เราเพียงสักว่ารู้ สักว่าเห็นตามความเป็นจริงเท่านี้ก็พอ หากเกิดความคิดก็รู้ว่ากำลังคิด หากเกิดความโกรธก็รู้ว่ากำลังโกรธ หากกระพริบตาก็รู้ว่ากระพริบตา หากหายใจออก หายใจเข้า ก็รู้ว่าหายใจออก หายใจเข้า รู้ลงปัจจุบันตามความเป็นจริง


การวางใจไว้ที่ฐานแต่ละฐานนี้ ในขั้นเริ่มต้น อาจต้อง “จงใจ” ไปรู้สักนิด แต่ไม่ต้องถึงขั้นว่ามัวไปเพ่ง ไปตั้งท่า ว่าอยากจะรู้ อยากจะเห็นอะไร เราดูกายดูจิต เหมือนเราชำเลืองมองคนที่เราชอบ เห็นเขา แต่อย่าให้เขารู้ว่าเขาเห็นเรา ถ้าเขารู้ว่าเรามองเขาอยู่เขาจะไม่แสดงอาการอะไรให้เรารู้มากนัก ต้องค่อยๆ ชำเรืองดู ทีละนิด


เมื่อเราเห็นสภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้น ในกายและในจิตได้แล้ว ในระดับต่อมา ก็ขอรู้ไปโดยอัตโนมัติ คือ เดี๋ยวเราก็รู้ที่กาย เดี๋ยวเราก็รู้ที่จิต สลับกันไปมาในแต่ละขณะๆ ส่วนการภาวนานั้นอาจมีทั้งแบบใช้สมาธินำปัญญา หรือ ปัญญานำสมาธิ หรือแม้แต่การทำทั้งสองอย่างไปพร้อมๆ กัน ก็แล้วแต่ “กำลัง” ของจิตของแต่ละคน


วันนี้ที่เขียนเรื่อง “การวางใจ” ก็เพราะมองเห็นว่าตัวเองเิ่พิ่งจะรู้ว่า การภาวนาที่จะเห็นผลได้ชัด เห็นผลได้เร็ว คือ เราควรวางใจให้เป็น ให้เหมาะกับจริตของตัวเอง และเมื่อภาวนาแล้ว เราจะรู้สึกสบาย ไม่เครียด ไม่ตึง ไม่หย่อนจนเกินไป ยิ่งทำแล้วมีความสุขที่ได้เห็นความจริงที่ปรากฎ


เมื่อวางใจให้เป็นแล้ว เราก็จะเห็นสภาวะจิต สภาวะธรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น และดับลง ที่แปรเปลี่ยนไปในขณะต่างๆ ซึ่งเราไม่ต้องไปคิดว่าแบบนี้เรียกสภาวะอะไร แบบนี้มีชื่อว่าอะไร เพราะยิ่งจะเป็นการติดในสมมุติบัญญัติไปอีก เราทำเรื่องนี้ได้ง่ายเพียงรู้ไปเรื่อยๆ เมื่อรู้แล้วก็รู้ เอาแบบ “รู้” ตัวเดียวเลยครับ ยิ่งทำให้เกิดเหตุ และผลจะนำไปสู่สภาวะรู้ ตื่นและเบิกบาน ณ ปัจจุบัน อยู่ต่อหน้าต่อตาตัวเราเองเลยครับ...

 

 

 

บล็อกของ พันธกุมภา

พันธกุมภา
มีเรื่องหนึ่ง ที่อยากเตือนตัวเองมากๆ นั่นคือว่านักภาวนาหลายๆ คน พอภาวนาไปแล้ว ก็เริ่มคิดว่าเป็นนักภาวนา บางทีเราก็หลงไปสร้างภาพความเป็นคนดีขึ้นมาทันที จนลืมนึกถึงไปว่าเราภาวนาเพื่อเห็นความจริง และความจริงนี้ก็เป็นความจริงธรรมดาของกายและใจเท่านั้นเอง
พันธกุมภา
ช่วงเข้าพรรษาที่ผ่านมา ผมตั้งใจอธิษฐานในการภาวนาในรูปแบบอิริยาบถ เดิน ยืน นั่ง หรือ “เนสักชิก” ซึ่งเป็นธุดงควัตร นั้นหมายความว่าช่วงกลางคืนผมจะไม่นอนหลับ แต่จะเจริญสติอย่างต่อเนื่องตั้งแต่หัวค่ำจนถึงช่วงสว่าง และใช้ชีวิตต่ออย่างปกติ
พันธกุมภา
สำหรับเรื่องป่าเขา มีเรื่องหนึ่งที่ผมจำได้ ตอนนั้นในการเข้าร่วมคอร์สภาวนาแห่งหนึ่ง อาจารย์ผู้นำกระบวนการ ได้เชื้อเชิญให้ผู้เข้าร่วมทุกคน ได้ร่วมหาคำตอบของชีวิตโดยการเข้าไปในป่า และอยู่ตรงนั้นเพื่อหาคำตอบให้กับชีวิตของตัวเอง โดยการอยู่เงียบๆ และอยู่กับตัวเองคนเดียวให้มากที่สุด ไม่พูดไม่คุยกับใคร และรอคำตอบที่เกิดขึ้นในใจของเรา
พันธกุมภา
ชีวิตในการอยู่ท่ามกลางขุนเขา ป่าไม้ ร่มไพร ลำธาร เป็นช่วงเวลาที่ทำให้ได้มีอากาสเฝ้ามองใจของตัวเองได้อย่างลึกซึ้ง เป็นบรรยากาศที่เห็นอาการต่างๆ เกิดขึ้น แปรเปลี่ยนไป ตามการปรุงแต่งของอารมณ์และสิ่งที่เข้ามากระทบภายนอก ทั้งการดูผ่านตา ได้ยินผ่านหู ได้กลิ่นผ่านจมูก ก็ตาม
พันธกุมภา
ผมชอบเดินทางไปในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคยเพราะจะทำให้จิตใจตัวเองเกิดอารมณ์ต่างๆ มากมาย ทั้งที่ไม่ค่อยจะเกิด เช่น ความขุ่นเคืองใจในการตากแดด ความกลัวจากการเดินในป่าช้า ความเหนื่อยจากการเดินหลงทาง เป็นต้น ซึ่งการหาสิ่งใหม่ให้ใจได้รู้ได้เห็นนี้จะช่วยให้เห็นสภาวะต่างๆ เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย ถือเป็นอุบายหนึ่งในการภาวนา
พันธกุมภา
การเจริญสติในช่วงที่อยู่ที่วัดป่าสุคะโต ภายหลังจากผ่านบททดสอบแรกเรื่องการเดินจงกรมที่ผมมัวแต่ไปตั้งท่าว่าอยากรู้อยากดูสภาวะแล้ว ก็ได้เกิดความรู้สึกตัวขึ้นว่าตัวเองนั้นเผลอไปจ้องมองเสียนาน
พันธกุมภา
การเดินทางมาเจริญสติที่วัดป่าสุคะโตในช่วงก่อนเข้าพรรษานี้ แม้ว่าที่พักจะไม่เพียงพอแต่ผมก็ได้นอนด้านบนศาลา ซึ่งมีผู้คนมาจากหลายๆ ที่มาร่วมเจริญสติ และยังมีคณะผ้าป่าที่มาร่วมทอดผ้าป่าอีกด้วย ครานี้ที่วัดจึงแน่นไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตา อยู่ในวัยเด็กเล็ก ไปจนถึงผู้สูงอายุ
พันธกุมภา
วันเข้าพรรษาปีนี้ผมมีความตั้งใจกับตัวเองที่จะภาวนาให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้นโดยการเจริญสติในรูปแบบอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความอดทน พากเพียรให้กับตัวเอง ในการมีสติสัมปชัญญะมากยิ่งขึ้นกว่าชีวิตปกติที่ผ่านมา
พันธกุมภา
 สวัสดีประชาไท สวัสดี ผองน้องพี่ ประชาไทสบายดี กันไหม ให้ถามหาได้พบกัน แบ่งปันธรรม แต่นานมาขอขอบคุณ วิถีพา เราพบกัน
พันธกุมภา
  เรื่องนี้ผ่านมานานแล้ว, ปลายฝนต้นหนาว อากาศร้อนระอุไปทั่วแผ่นฟ้า ผมไม่ค่อยได้มีโอกาสมานั่งพักผ่อนอยู่นิ่งๆ คนเดียวมานานแล้ว เพราะหน้าที่การงานที่มากมาย ทำให้ฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมาของผมเป็นช่วงเวลาที่ผ่านไปอย่างไร้ค่า เพียงเพราะผมมุ่งแต่จะทำงาน แต่ไม่ได้มีโอกาสได้ดูแลคนที่ผมรักเลยแม้แต่น้อย ผมทำงานที่มูลนิธิแห่งหนึ่ง เราทำงานเพื่อสังคม มีอุดมการณ์ที่อยากเห็นคนในสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดี งานที่เราทำเป็นงานเพื่อส่วนรวม เพื่อประโยชน์ของคนอื่น ซึ่งนั่นทำให้ผมต้องมีเวลาให้กับงาน ให้กับคนอื่นมากกว่าการดูแลตัวเองและการดูแลคนที่ผมรัก
พันธกุมภา
ชีวิตเกิดมาหนนี้ สิ่งที่ต้องการสูงสุดคืออะไร? คำถามนี้ ถามแล้ว ถามอีก ใจคอยถามอยู่ตลอดเวลาว่าต้องการอะไร ปรารถนาสิ่งใด ทำไมยังไม่มุ่งไปทางนั้นให้เต็มที่ ไยจึงกลัวที่จะเลือก ที่จะตัดสินใจ แม้ว่ารู้และเห็นว่าความน่ากลัว สังเวช อนาถใจของการเวียนว่ายนี้มีมากน้อยเพียงใด แต่เหตุใด ใจจึงไม่เคยหลุดออกจากสมมุติมากมายที่เกาะกุมเราไว้
พันธกุมภา
ช่วงหลังๆ นี้ผมได้มีโอกาสสนทนาธรรมกับญาติธรรมกัลยาณมิตรหลายๆ คน ซึ่งแต่ละคนก็เจอสภาวะจิตที่แตกต่างกัน มีรูปแบบการภาวนาที่แตกต่างกัน ตามจริต ตามเหตุ ปัจจัยของแต่ละคน ทำให้แต่ละคนเจอกับสภาวะต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน และมีความรู้ ตื่น เบิกบาน ที่มากมายคละกันไป กัลยาณมิตรที่ร่วมสนทนากันนี้มีอยู่ในหลายวัย หลากอาชีพ และมีความสนใจในการภาวนาที่แตกต่างกัน บางคนมีปัญหาเรื่องความรัก ปัญหาครอบครัว ปัญหากับที่ทำงาน ปัญหากับการเรียน และก็ล้วนแต่มองเห็นว่าการภาวนาโดยการเจริญสติรู้กายรู้ใจในชีวิตประจำวันนี้จะทำให้ตัวเองได้เข้าใจความทุกข์และพ้นจากความทุกข์