Skip to main content

กระบวนการสร้างมโนทัศน์ต่อความผิดฐานหมิ่นกษัตริย์ ว่าด้วยเหตุยกเว้นความผิด

พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล

๑. ข้อพิจารณาเบื้องต้น

     โดยทั่วไปเรามักเข้าใจว่า คำพิพากษาของศาลฎีกา ส่งผลกระทบต่อการใช้และการตีความของศาลในข้อเท็จจริงใกล้เคียงกันหรือเหมือนกันเป็นบรรทัดฐานให้ศาลลำดับล่างลงไป ตลอดจนศาลฎีกาด้วยกันเองใช้เป็น "แนวการตีความกฎหมาย" ให้เป็นเอกภาพกัน (กล่าวคือ ไม่ใช่ตัดสินศาลจังหวัดนี้ ผิด, ศาลอีกจังหวัดนึงบอกไม่ผิด : เช่นนี้จึงต้องมีการคุมแนวคำพิพากษาผ่านหน่วยงานที่ตีพิมพ์เผยแพร่คำพิพากษา ศาลฎีกาที่เปลี่ยนแนวหรือวางแนวคำพิพากษา ในทุก ๆ ปี)    

     ในขั้นนี้เอง ที่เราจะพบว่า การตีพิมพ์และเผยแพร่คำพิพากษาศาลฎีกานั้น นอกจากจะพิมพ์ "คำพิพากษาฉบับเต็ม" แล้ว ยังจะต้องมี "คำพิพากษาฉบับย่อ" ด้วย นอกจากนี้ ยังจัดหมวดหมู่ของ "กฎหมาย - มาตรา" เพื่อสะดวกในการค้นคว้าคำพิพากษาไปใช้อ้างอิงในการประกอบวิชาชีพ กล่าวคือ ท่านจะดู "แนวคำพิพากษา" มาตราไหน ท่านก็เปิดสารบัญดูมาตรา ว่าอยู่เล่มไหน (คำพิพากษาแต่ละปีจะซอยเล่มย่อยหนาๆ สิบกว่าเล่มหรือกว่านั้น) และเมื่อท่านพบเล่มและหน้าแล้ว ท่านก็ต้องดู "คำพิพากษาย่อ" เพื่อจะดูว่า "ตรงกับเรื่องที่เราจะใช้" หรือไม่ เพราะถ้าจะไล่อ่านคำพิพากษาฉบับเต็มทั้งหมดในมาตรานั้นๆ ก็คงไม่ทันกิน และซื่อเอาการ    

    คนที่ทำหน้าที่ "ย่อคำพิพากษาฉบับเต็ม" และ "จัดหมวดหมู่ของคำพิพากษา" ก็คือ บรรณาธิการ ที่ได้รับมอบหมายให้ย่อคำพิพากษาในช่วงเวลานั้นๆ บรรณาธิการเล่มจะมีบทบาทสำคัญในการเข้า "ให้ข้อสังเกตหรือความเห็น" แนบท้ายคำพิพากษาศาลฎีกาในบางคำพิพากษาประกอบ ตลอดจนสกัด "บรรทัดฐานที่ศาลวางไว้" ให้ปรากฏใน "หมายเหตุท้ายฎีกา" (คำพิพากษาในบางฉบับจะมี หมายเหตุท้ายฎีกา) หรือ ในส่วนที่เป็น "ย่อคำพิพากษา" (คำพิพากษาที่ได้รับการตีพิมพ์ทุกฉบับจะมีย่อคำพิพากษา) ตลอดจนเลือกประเด็นขึ้นมาจับเข้าใส่ตามหมวดหมู่ให้สอดรับกับ "ย่อคำพิพากษา" ที่ตนทำเอาไว้ด้วย

     บรรดาบุคคลากรในสถานศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลากรในสำนักอบรมกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ตลอดจนคนที่จะสอบเป็นหรือเป็น ผู้พิพากษาศาลยุติธรรม หรือพนักงานอัยการ และผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย จะต้องอาศัยคำพิพากษาที่ตีพิมพ์เหล่านี้เป็นสรณะในการทำงานของตน หรือใช้อ้างอิงในการสู้คดีหรือพิพากษาคดีในชั้นศาล ตลอดจนประกอบการแต่งตำรา    

    อารัมภบทมายืดยาวเพื่อให้ท่านทั้งหลายเห็น "กระบวนการทำงานของความรู้" ในวงการกฎหมาย และส่งผลโดยตรงต่อ "ทางปฏิบัติจริง" แทรกซึมสู่ความเห็นโดยปลูกฝังความคิดการใช้การตีความของนักกฎหมาย มีน้ำหนักยิ่งกว่า "ตำราวิชาการของผู้พิพากษาที่มีชื่อเสียง หรือของอาจารย์ในมหาวิทยาลัย"

     ท่านจะเห็นได้ว่า หากบรรณาธิการ "ย่อคำพิพากษา" คลาดเคลื่อน หรือ "จัดคำพิพากษาผิดหมวดหมู่" เสียแล้ว ผลกระทบก็จะก่อความเข้าใจผิดถ่ายทอดกันเป็นลูกระนาด เพราะแม้แต่เวลาเขียนตำรากฎหมายเอง บ่อยครั้งเราจะเห็นผู้แต่งตำราอ้างคำพิพากษามากมายเป็นสิบ ๆ ฎีกาในแต่ละเรื่อง แต่ผู้แต่งตำราเหล่านั้น น้อยคนที่จะอ่านคำพิพากษาฉบับเต็มได้ทั้งหมดที่เขาอ้าง เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงส่งอิทธิพลต่อการเขียนตำราวิชาการและการเรียนการสอนในห้องบรรยายต่อไป เป็นสิบ ๆ ปี บทบาทของบรรณาธิการจึงสำคัญมาก

๒.บทบาทของ "บรรณาธิการ" จัดหมวดหมู่คำพิพากษา สู่การทำความเข้าใจคำพิพากษาศาลฎีกาคลาดเคลื่อนไป

     สำหรับมาตรา ๑๑๒ นี้เอง การใช้และการตีความกฎหมาย ก็ถูกวางบรรทัดฐานบางเรื่อง ผ่าน "บรรณาธิการตีพิมพ์คำพิพากษาศาลฎีกา" กล่าวคือ เป็นการย่อคำพิพากษาศาลฎีกา โดยแสดงเหตุผลของคำพิพากษาตรงตามคำพิพากษาฉบับเต็ม แต่เป็นคำพิพากษาที่วางแนวการตีความ ของมาตราหนึ่ง แต่บรรณาธิการได้จัดคำพิพากษาฉบับนั้นให้เป็น "แนวคำพิพากษา/แนวการตีความ" ของอีกมาตราหนึ่ง เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๑/๒๕๐๓ เรื่องหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ อันเป็นคำพิพากษาที่ตำรากฎหมายไทยและคำบรรยายกฎหมายไทยถือว่าเป็นการวางหลัก เรื่อง "ไม่นำบทยกเว้นความผิด และบทยกเว้นโทษมาใช้แก่มาตรา ๑๑๒ ประมวลกฎหมายอาญา) ซึ่งศาลตีความคำว่า "ที่ประชุม" อันเป็นองค์ประกอบหนึ่งของ "เงื่อนไขส่วนเหตุ" ในการยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาท (มาตรา ๓๒๙ (๔)) กล่าวคือ

     ในคดีนี้ (ฎีกาที่ ๕๑/๒๕๐๓) จำเลยตั้งประเด็นสู้คดีอยู่ประเด็นหนึ่งว่า

     "การพูดของจำเลยเป็นการพูดแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๙ (๔)" (มาตรา ๓๒๙ (๔) เป็นบทบัญญัติยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาท)

     การพิพากษาคดีของศาลผูกพันกับข้อต่อสู้ของโจทก์จำเลย และศาลเป็นผู้หยิบประเด็นข้อต่อสู้ของโจทก์จำเลยในคดีมาวินิจฉัยและหักล้าง เป็นลำดับทีละประเด็น

     ศาลฎีกาได้หักล้างข้อต่อสู้ประเด็นนี้ของจำเลย โดยศาลฎีกาอธิบายในคำพิพากษาฉบับเต็มว่า "จำเลยอ้างว่า จำเลยได้พูดในที่ประชุมสาธารณ ซึ่งทางการอนุญาต ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยเข้าใจบทกฎหมายนี้ผิดไป เพราะกฎหมายบทนี้บัญญัติถึงกรณีที่ว่าได้มีการดำเนินการอันเปิดเผยในศาล หรือในการประชุมแล้ว ได้มีการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมในเรื่องนั้น ๆ แต่การกระทำของจำเลยในคดีนี้ เป็นการที่จำเลยไปพูดกล่าวถ้อยคำอันเป็นการหมิ่นประมาทในที่ประชุมสาธารณ จึงหาเข้าตามตัวบทกฎหมายที่จะเลยยกขึ้นมากล่าวอ้างนี้ไม่ ฎีกาจำเลยข้อนี้ย่อมตกไป"[๑]

     ท่านผู้อ่านคงจะเห็นได้ว่า ศาลฎีกา นำเอาบทบัญญัติมาตรา ๓๒๙ (๔) มาพิจารณา "เหตุยกเว้นความผิด" ให้แก่จำเลยว่าเข้าองค์ประกอบของมาตรา ๓๒๙ (๔) หรือไม่ (เป็นการตีความในประเด็น จำเลยเป็น “ผู้กล่าว” มิใช่ “ผู้แจ้งข่าว”) บัญญัติว่า “ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม” ถ้ากรณีเข้าองค์ประกอบตามมาตรา ๓๒๙ (๔) จะเป็นเหตุยกเว้นความผิดให้จำเลย

     หลักของมาตรา ๓๒๙ (๔) “การแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในการประชุม” นั้น จะต้องเป็นการนำข้อความที่หมิ่นประมาทในที่ประชุมอันเปิดเผยนั้น ไปเผยแพร่ต่ออีกถ่ายหนึ่งโดยสุจริต จึงจะเข้าตามเหตุยกเว้นความผิด มาตรา ๓๒๙ (๔) จะเห็นได้ว่าบทบัญญัติมาตรานี้คุ้มครองผู้แจ้งข่าว มิใช่คุ้มครองผู้กล่าว การประชุมและมีการหมิ่นประมาทกันในที่ประชุม บุคคลซึ่งเป็นผู้กล่าวข้อความหมิ่นประมาทไม่อยู่ในฐานะผู้แจ้งข่าว ผู้กล่าวข้อความหมิ่นประมาทในที่ประชุมจึงไม่เป็นบุคคลที่จะได้รับเหตุยกเว้นความผิดตามมาตรานี้

     คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๑/๒๕๐๓ เห็นว่า จำเลยไปกล่าวถ้อยคำหมิ่นประมาทในที่ประชุมสาธารณะ จึงเป็นผู้กล่าว มิใช่ผู้แจ้งข่าว เมื่อจำเลยมิได้นำเอาข้อความที่หมิ่นประมาทกันในที่ประชุมอันเปิดเผยไปแจ้งข่าว แต่จำเลยหมิ่นประมาทโดยตรงในที่ประชุมอันเปิดเผย ฉะนั้น จำเลยจึงมิใช่บุคคลที่จะได้รับเหตุยกเว้นความผิดตามมาตรา ๓๒๙ (๔) ประมวลกฎหมายอาญา

     ในคำพิพากษาฎีกาฉบับนี้ "บรรณาธิการย่อคำพิพากษาศาลฎีกา" ในขณะนั้น ของสำนักอบรมกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา คือ นายยล ธีรกุล ย่อคำพิพากษาว่า "จำเลยพูดกล่าวถ้อยคำอันเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในที่ประชุมสาธารณ จำเลยจะยกประมวลประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๙ (๔) มาแก้ตัวให้พ้นผิดไม่ได้"

     โดย "เนื้อหาของประเด็นตามย่อฎีกา" เป็นเรื่องของมาตรา ๓๒๙ (๔) แต่นายยล ธีรกุล ได้จัดกลุ่มอยู่ในส่วนความผิดอาญา มาตรา ๑๑๒ ซึ่งเป็นการนำเอา "ประเด็นของเรื่อง" ที่เป็นของมาตราหนึ่ง แต่จับกลุ่มของประเด็นนั้น ไว้เป็น "แนวคำพิพากษาบรรทัดฐาน" ของอีกมาตราหนึ่ง

     กลายเป็นว่า การไม่นำบทยกเว้นความผิด มาตรา ๓๒๙ (๔) มาใช้แก่ข้อเท็จจริงในการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ มาเป็น "แนวคำพิพากษาศาลฎีกา" ของมาตรา ๑๑๒ ไป

     ท่านที่อ่านมาถึงจุดนี้อาจครหาผมว่า "หมอนี่ "คิดฟุ้งซ่าน" ไปหรือไม่ เพราะคดีนี้ก็เป็นคดีมาตรา ๑๑๒ จริงๆ มิใช่หรือ? และก็เป็นความผิดสำคัญก็ควรยกเว้นไปจัดกลุ่มเฉพาะสิ" ผมขอเรียนตอบอย่างนี้ครับว่า ผมไม่ได้คิดฟุ้นซ่านไป แต่เรื่องนี้ "มีแนวปฏิบัติ" ในเรื่องเดียวกันให้เห็นอยู่ก็คือ แม้จะเป็นคำพิพากษาในความผิดฐานหนึ่ง แต่เป็นการมุ่งต่อประเด็นเหตุผลคำพิพากษาในอีกมาตราหนึ่ง ก็จะจัดกลุ่มไปอยู่ในมาตราที่มุ่งไปยังประเด็นเหตุผลนั้น

     ยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมก็คือ ในปีเดียวกันนั้นเอง ได้มีคำพิพากษาศาลฎีกา พิพากษาความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และพระราชินี อีกหนึ่งคดี (ปี ๒๕๐๓ มีคำพิพากษาลงโทษความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ฐานหมิ่นฯ นี้จำนวน ๒ คดีด้วยกัน) คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๖๔๓/๒๕๐๓ (คดีสุวัฒน์ วรดิลก จำเลยที่ ๑ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี จำเลยที่ ๒) นายยลฯ ซึ่งเป็นบรรณาธิการ ก็ไม่ได้จัดคำพิพากษาฎีกาฉบับนี้ (ตั้งชื่อให้สุนัข) ซึ่งศาลพิพากษาในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และพระราชินี เอาไปจัดไว้ในกลุ่มฎีกาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด หากแต่นายยลฯ จัดกลุ่มฎีกาฉบับนี้ ไว้ในกลุ่มฎีกาวิธีพิจารณาความอาญา เรื่องฎีกา แก้ไขเล็กน้อย (ซึ่งต้องห้ามฎีกาในประเด็นข้อเท็จจริง) ไปเสีย แม้ว่าศาลฎีกาจะลงโทษในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และพระราชินีก็ตาม

๓. การถ่ายทอดความบกพร่อง สู่ ความคลาดเคลื่อนหรือบิดเบือน

     เราจะเห็นได้ว่า การจัดกลุ่มของกลุ่มคดี โดยจัดกลุ่มตามประเด็นของคดีเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง และผลส่งกระทบต่อความรับรู้และความเข้าใจในทางปฏิบัติโดยตรง นั้นจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏขึ้นในตำราที่ถือกันในวงการนิติศาสตร์ไทยว่า เป็นตำรากฎหมายชั้นครู คือ "คำอธิบายประมวลกฎหมายอาญา ภาค ๒ ตอน ๑" แต่งโดย จิตติ ติงศภัทิย์ (อดีตองคมนตรี ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) เรามาอ่านตำรานี้ฉบับตีพิมพ์ในปี ๒๕๑๐ (ซึ่งตีพิมพ์เป็นครั้งแรกๆ) นายจิตติ ติงศภัทิย์ อธิบายเกี่ยวกับมาตรา ๑๑๒ โดยนำเอาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๑/๒๕๐๓ คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ซึ่งศาลฎีกานำเอาบทบัญญัติยกเว้นความผิดมาใช้แก่ความผิดตามมาตรา ๑๑๒ โดยเห็นว่า ยังไม่เข้าองค์ประกอบของเหตุยกเว้นความผิด ตามมาตรา ๓๒๙ (๔) นั้น โดย นายจิตติ ติงศภัทิย์ กลับไปอธิบายในมาตรา ๑๑๒ ว่า

     "เมื่อมีการกระทำก็เป็นหมิ่นประมาทขึ้นแล้ว จะอ้างข้อแก้ตัวตามมาตราต่าง ๆ ในความผิดฐานหมิ่นประมาท เช่นการแจ้งข่าวตามมาตรา ๓๒๙ (๔) หาได้ไม่ (ฎีกาที่ ๕๑/๒๕๐๓ ๒๕๐๓ ฎ.๗๓) เพราะพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่พึงเคารพสักการะอยู่ในฐานะที่จะละเมิดมิได้"[๒]

     คำอธิบายดังกล่าวของนายจิตติ ติงศภัทิย์ ได้ถ่ายทอดสู่ตำราคำอธิบายประมวลกฎหมายอาญา ส่งอิทธิพลต่อนักกฎหมายไทยร่วมสมัยนั้นสืบเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันอย่างแพร่ หลาย กลายเป็นว่า คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๑/๒๕๐๓ อันเป็นผลพวงมาจาก "การจัดหมวดคำพิพากษาศาลฎีกา" โดยนายยล ธีรกุล ได้ผนึกร่วมกัน "สร้างความหมายใหม่ของคำพิพากษา" จนกระทั่งบุคคลากรในวงการกฎหมายไทยเข้าใจไปเสียเองว่า ศาลฎีกาเคยวางบรรทัดฐานไว้ว่า ในคดีมาตรา ๑๑๒ ห้ามมิให้นำบทยกเว้นความผิดและบทยกเว้นโทษมาบังคับใช้แก่จำเลย อันเป็นความเข้าใจที่ก่อตัวขึ้นตั้งแต่ขั้นของ "การเผยแพร่คำพิพากษาผ่านการจัดหมวดหมู่" โดยบรรณาธิการ และส่งต่อภารกิจมายัง "ผู้เขียนตำราคำอธิบายกฎหมาย" สู่รุ่นต่อรุ่นจนกระทั่งกลายเป็นความเชื่อว่า "เป็นบรรทัดฐานคำพิพากษาศาลฎีกา" จริง ๆ ไปเสียโดยทึกทักเอาเอง แม้บุคคลากรในสมัยปัจจุบันจะลงไปเปิดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับเต็ม พวกเขาหรือเธอก็จะไพล่นึกไปเสียว่า สติปัญญาของตนยังอ่านจับใจความของเหตุผลในฎีกาได้ไม่แตกฉานทัดเทียมอาจารย์ จิตติ ติงศภัทิย์ ฉะนั้น จึงขอดำเนินตามคำอธิบายทางตำราของอาจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ ต่อไปเรื่อย ๆ กลายเป็นการสั่งสมความเชื่อที่ก่อตัวจากคำอธิบายที่บิดเบือน อันเป็นกระบวนการสร้างมโนทัศน์ผ่านการศึกษาและการสอบอย่างเป็นกระบวนการและทรงพลัง.

_____________________________

เชิงอรรถ

[๑] คำพิพากษาฎีกา ประจำพุทธศักราช ๒๕๐๓, ยล ธีรกุล บรรณาธิการ, เนติบัณฑิตยสภา, หน้า ๗๓-๗๘.

[๒] จิตติ ติงศภัทิย์, คำอธิบายประมวลกฎหมายอาญา ภาค ๒ ตอน ๑, สำนักอบรมกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, ๒๕๑๐, หน้า ๘๙๒. 

บล็อกของ พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล

พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
โต้ จิตติ ติงศภัทิย์ เรื่อง "ยิ่งจริงยิ่งหมิ่นประมาท" ตามกฎหมายอาญา พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล อ.จิตติ ติงศภัทิย์ เป็นปรมาจารย์ทางกฎหมายอาญาของไทย และเป็นนักนิติศาสตร์ผู้หนึ่งซึ่งสนับสนุน  "คำพิพากษาประหารจำเลย(แพะ)ในคดีสวรรคตรัชกาลที่ ๘" [ดู หมายเหตุท้ายคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๕๔๔/๒๔๙๗]  ภายหลังท่านดำรงตำแหน่งเป็นองคมนตรี ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ถาม-ตอบ ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสถานะของกฎหมายมณเฑียรบาล 
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ลำดับชั้นในทางกฎหมายของ "กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์" พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
กษัตริย์และคณะรัฐประหารของไทยผ่านคำอธิบายเรื่องพระราชนิยมของวิษณุ เครืองาม พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล [บันทึกความจำ] หมายเหตุ : ขอให้ท่านใคร่ครวญค่อย ๆ อ่านดี ๆ นะครับ คำอธิบายของ "วิษณุ เครืองาม" เช่นนี้ เป็นผลดีต่อกษัตริย์หรือไม่ อย่างไร
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวฯ : ว่าด้วยการจัดการองค์กรของรัฐสู่"ระบอบใหม่" พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
คำว่า"ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด" ในทรรศนะนายอุดม เฟื่องฟุ้ง ผู้บรรยายกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาและอดีตกรรมการ คตส. (ตามประกาศ คปค.ฉบับที่ ๓๐) : พร้อมข้อสังเกต พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
คดีคณะโต้อภิวัฒน์ (๒๔๗๘) ขับไล่รัชกาลที่ ๘-สังหารผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แล้วจะอัญเชิญรัชกาลที่ ๗ ครองราชย์อีกครั้ง
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
โต้ธงทองฯ กรณีเทียบเคียงมาตรา ๑๑๒ กับกรณีหมิ่นประมุขต่างประเทศ, เจ้าพนักงานและศาล* พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ตุลาการที่ใช้อำนาจโดยมิชอบ :คติกฎหมายไทยโบราณ พร้อมบทวิจารณ์ปรีดี พนมยงค์โดยสังเขป พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล "เมื่อใดกษัตริย์ใช้อำนาจนั้นโดยมิชอบก็มีสิทธิ์เป็นเปรตได้เช่นกันตามคติของอัคคัญสูตรและพระธรรมสาสตร"
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ร.๕ "ประกาศเลิกทาส" ภายหลังจากระบบไพร่ทาสได้พังพินาศไปเรียบร้อยแล้วในทางข้อเท็จจริง
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
รัชกาลที่๕ ตั้ง"เคาน์ซิลออฟสเตด"เพื่อกำจัดศัตรูทางการเมือง มิใช่จะตั้งศาลปกครอง/กฤษฎีกาแต่อย่างใด พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล 
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
อำนาจบาทใหญ่ของคณะเจ้ารัชกาลที่ ๗ ช่วงก่อน ๒๔๗๕ : เจ้าทะเลาะกับราษฎร (กรณีนายจงใจภักดิ์) พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล, ค้นคว้า-เรียบเรียง