Skip to main content
 
การนิรโทษกรรมประชาชนตามกรอบร่างพรบ.ฉบับวรชัยฯ ไม่ขัดหลักเสมอภาค
 
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
 
กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ บางท่าน ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนว่า ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ฉบับนายวรชัยฯ ที่นิรโทษกรรมให้เฉพาะผู้ชุมนุมทางการเมืองหรือผู้กระทำผิดโดยมีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองเท่านั้น ย่อมขัดหลักความเสมอภาคของบุคคล ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๓๐ แต่จะต้องนิรโทษกรรมผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกระบวนการยุติธรรมที่จัดตั้งโดยคณะรัฐประหาร (หมายถึง ทักษิณ ชินวัตร) ด้วยจึงจะไม่ขัดรัฐธรรมนูญฯ [๑]
 
การสำคัญผิดอย่างร้ายแรงต่อหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ
 
ผมเห็นว่าการกล่าวอ้างของกรรมาธิการฯ เช่นนี้ เป็นการบิดเบือนและสร้างความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรงในหลักความเสมอภาคของบุคคล ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๓๐ และผมเห็นสมควรจะต้องอธิบายทำความเข้าใจให้กระจ่างว่า กรรมาธิการฯ ไม่อาจอ้างหลักความเสมอภาค เพื่อแก้ไขร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ให้เกินไปกว่า "กรอบของหลักการ" ที่สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติรับหลักการไว้ โดยผมจะอธิบายด้วยเหตุผล ดังต่อไปนี้
 
หลักการไม่เลือกปฏิบัติ หรือ "การไม่เลือกที่รักมักที่ชัง" (หลักความเสมอภาค) ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๓๐ นั้น "ไม่ได้หมายความว่า" การบัญญัติกฎหมายโดยการให้สิทธิแก่บุคคลเป็น "ประเภท" (เช่น กฎหมายเพื่อเกษตรกร, กฎหมายเพื่อกรรมกร, กฎหมายเพื่อผู้ชุมนุมทางการเมือง, กฎหมายเพื่อผู้ถูกลงโทษโดยกระบวนการของคณะรัฐประหาร, กฎหมายเพื่อคณะสงฆ์ เป็นต้น) จะเป็นการออกกฎหมายโดยเลือกปฏิบัติแต่อย่างใดเลยครับ
 
เพราะแม้จะเป็นการให้ประโยชน์แก่บุคคลเป็น "ประเภท" แต่ก็ให้ประโยชน์ "เป็นการทั่วไป" (ไม่เลือกหน้าบุคคล) กล่าวคือ ใครเข้าหลักเกณฑ์ก็ได้ประโยชน์จากกฎหมายนี้ทั้งสิ้น ไม่ถือว่าเป็นการ "เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม" ครับ เช่น การประกันรายได้เกษตรกร เช่นนี้ ก็เป็นบุคคลเป็น "ประเภท" ไม่ใช่การเลือกปฏิบัติ, กฎหมายว่าด้วยทนายความ ก็เป็นบุคคลเป็น "ประเภท" ไม่ใช่การจำกัดสิทธิเสรีภาพโดย "เลือกปฏิบัติ"
 
สำหรับการให้พ้นโทษ ที่จำกัดบุคคลเป็น "ประเภท" ก็มีให้เห็นตามพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ (ที่ออกโดยประจำทุกปี) ก็จะยกเว้นการ "อภัยโทษ" แก่ "นักโทษในคดียาเสพติดที่มีโทษสูง"[๒] (หมายความว่า นักโทษคดียาเสพติดที่มีโทษสูง จะไม่ได้รับการอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ) เช่นนี้ก็เป็นการตัดสิทธิพ้นความรับผิดตามบุคคลเป็น "ประเภท" ไม่ใช่การเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด
 
กรณีร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมก็เช่นกัน ก็นิรโทษกรรมบุคคล "เป็นประเภท" ให้นิรโทษกรรมเฉพาะ "ผู้ชุมนุมทางการเมืองหรือผู้กระทำผิดเพราะมูลเหตุจูงใจทางการเมือง" (คืออาจจะไม่อยู่ในการชุมนุมแต่กระทำเพราะมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง เช่น เผาสถานที่ราชการ เป็นต้น) ให้ได้รับนิรโทษกรรม เช่นนี้ "ผู้ชุมนุม/ผู้กระทำผิดเพราะมูลเหตุจูงใจการทางการเมือง" ก็คือ "ประเภท" ของบุคคลที่ได้รับนิรโทษกรรม ครับ แม้จะไม่รวมถึงกรณีบุคคลเป็น "ประเภทอื่นๆ" ก็มิใช่การ "เลือกปฏิบัติ" แต่อย่างใดครับ เช่นเดียวกับกรณีการ "จัดประเภท" ของบุคคลในความคุ้มครองของกฎหมายในกรณีอื่นๆ
 
กรณีนิรโทษกรรมบุคคลเป็น "ประเภท" ในประเภทบุคคลที่ถูกศาลพิพากษาลงโทษด้วยกระบวนการที่คณะรัฐประหารก่อตั้งขึ้น ก็เป็นบุคคล "ประเภทอื่น" ที่สามารถนิรโทษกรรมได้ แต่ต้องเสนอเป็นร่างกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นมาครับ จะมา "ยัดไส้" โดยอ้างว่า "หากไม่รวมทักษิณด้วยจะเป็นการขัดหลักความเสมอภาค" เช่นนี้ฟังไม่ขึ้น หากร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับวรชัย (นิรโทษกรรมผู้ชุมนุมทางการเมือง/กระทำผิดเพราะมูลเหตุจูงใจทางการเมือง) จะขัดหลักเสมอภาค ก็ต่อเมื่อร่างพรบ.ฉบับนี้ มีข้อความว่า "บทบัญญัติแห่งกฎหมายนี้ไม่ให้ใช้บังคับแก่ทักษิณฯ" อย่างนี้สิเรียกว่า ภายในบุคคล "ประเภทเดียวกัน" ถูกเลือกปฏิบัติต่างกันย่อมขัดหลักเสมอภาค แต่ตามข้อเท็จจริงไม่ปรากฏเลยว่า ร่างพรบ.ฉบับวรชัย จะมีข้อความที่ "เลือกปฏิบัติ" ต่อบุคคลประเภทเดียวกันแต่อย่างใดเลยครับ 
 
และในกรณีที่ "ไม่นิรโทษกรรมบุคคลประเภทเดียวกัน" (เช่น เป็นผู้ชุมนุมเหมือนกัน) แต่มีสาระสำคัญต่างกัน เช่น เป็นแกนนำหรือคนปลุกระดม จะอยู่นอกข่ายนิรโทษกรรมก็สามารถบัญญัติได้แต่ต้องระบุ "ประเภท" ให้ชัด - เช่นนี้ ไม่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมอันจะขัดรัฐธรรมนูญแต่อย่างใดครับ
 
คณะกรรมาธิการฯ อ้างรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๓๐ ย่อมเป็นการจงใจสำคัญผิดในกรอบของมติสภาผู้แทนราษฎร และมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญครับ
 
ผลจะเป็นอย่างไรหากดันทุรังจะทำใน "เรื่องผิดๆ" เช่นนี้ต่อไป?
 
ในท้ายที่สุด ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จะถูกศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญก่อนประกาศใช้ และในกรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีความชอบธรรมอย่างเต็มที่ในอันจะชี้ว่า ตอนที่สภาลงมติรับหลักการไว้อย่างหนึ่ง ซึ่งคณะกรรมาธิการของสภามีหน้าที่พิจารณาร่างภายใต้กรอบของหลักการที่สภาวางไว้ (คือ นิรโทษกรรมผู้ชุมนุมทางการเมืองหรือกระทำความผิดโดยมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง) แต่ปรากฏว่า คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาแก้ไขร่างพระราชบัญญัติ "เกินกรอบของหลักการที่สภาลงมติรับหลักการไว้" (คือ นิรโทษกรรมผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากการแต่งตั้งคณะบุคคลโดย คปค. หรือ คมช. ด้วย หมายถึง ทักษิณ ชินวัตร) ส่งผลให้ หากสภาพิจารณาผ่านร่างนี้ไปจนที่สุดแล้ว "ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้" จะเป็นร่างพระราชบัญญัติที่ออกโดยไม่ผ่านการรับหลักการในวาระที่ ๑ ของสภา (เพราะสภาไม่เคยรับหลักการเช่นว่านี้มาก่อน) การพิจารณาร่างกฎหมายดำเนินการโดยไม่ผ่านสามวาระ ย่อมขัดกระบวนการตรากฎหมายที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ครับ ส่งผลให้นักโทษการเมืองที่กำลังติดคุกอยู่นั้นจะไม่ได้รับการนิรโทษกรรมไปด้วยในที่สุด การกระทำของกรรมาธิการฯ (พรรคเพื่อไทย) เช่นนี้เป็นการนำ "ประชาชนเป็นตัวประกัน" เพื่อประโยชน์ของพวกพ้อง อย่างน่ารังเกียจที่สุด.
 
____________________________
เชิงอรรถ
[๑] ดู ข่าวสดออนไลน์ http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROd01ERXdOREl5TVRBMU5nPT0%3D&sectionid=TURNd01RPT0%3D&day=TWpBeE15MHhNQzB5TWc9PQ%3D%3D
[๒] เช่น พระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ พ.ศ. ๒๕๕๕ (ดู http://web.krisdika.go.th/data/law/law4/%bb05/%bb05-2a-2555-a0001.pdf ) และฉบับปีถัดๆไปย้อนหลังทุกฉบับ.

บล็อกของ พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล

พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
กระบวนการสร้างมโนทัศน์ต่อความผิดฐานหมิ่นกษัตริย์ ว่าด้วยเหตุยกเว้นความผิดพุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล๑. ข้อพิจารณาเบื้องต้น
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ปัญหาบางประการเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของ(ร่าง)หลักเกณฑ์การประมูลดิจิตอลทีวี : กรณีให้เปิดเผยผู้ถือหุ้นตั้งแต่ลำดับที่ ๓ ขึ้นไปและทุกทอดตลอดสายนายพุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
วิพากษ์สุรพล นิติไกรพจน์ (ภาค ๒)๑ พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล คำอภิปรายในงานรำลึกครูกฎหมาย (อาจารย์ไพโรจน์ ชัยนาม) โดย สุรพล นิติไกรพจน์ วันนี้๒  ถ้าอย่างในคัมภีร์ก็คงได้เพียงอุทาน "โมฆะบุรุษหนอ" หรือแปลเป็นภาษาลูกทุ่ง ก็คือ "อ้ายชิบหาย" ครับ
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ข้อน่าพิจารณาบางประการ : กรณีศาลฎีกายกฟ้อง"คดีถาวร เสนเนียม ฟ้องอดีต กกต."(๒๕๔๙) พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล มูลเหตุของคดีนี้เริ่มต้นเพื่อ "สนับสนุนให้รัฐประหาร ๑๙ ก.ย.๒๕๔๙" (เพื่อไม่ให้มีการเลือกตั้ง โจมตีการเลือกตั้ง) และเป็นชนวนในการสร้างสุญญากาศทางการเมือง  คดีนี้เริ่มต้น จะเห็นภาพพจน์ "ชัดแจ้งยิ่งขึ้น" เมื่อพิจารณาลำดับเหตุการณ์ก่อนพิเคราะห์รายละเอียดที่สำคัญของคดี เราจะเห็นได้ว่า "เหตุการณ์ ๒๕๔๙" นั้นเกิดขึ้นเป็นลูกระนาดเลย คร่าว ๆ ดังนี้[๑]
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ถึงสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล : เรื่องบันทึกการขออภัยโทษคดีสวรรคต พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
จอมพล ป. ในตำแหน่ง"ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และนายกรัฐมนตรี"โดยการทำรัฐประหาร พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
โต้บวรศักดิ์ อุวรรณโณ : การนิรโทษกรรมของคณะราษฎร (๒๖ มิ.ย.๒๔๗๕) พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
อุปสรรคในการร่าง"ประมวลกฎหมายแบบตะวันตก"ฉบับแรกของสยาม พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
การใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญครั้งแรกของไทยเมื่อ ๒๔๗๖ พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ชวนอ่าน "เรื่องเล่า" โดย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ (๒๕๑๑) หมายเหตุ : บังเอิญผมได้อ่าน ข้อเขียนของ "ราชินี" (ดังที่จะคัดให้อ่านด้านล่าง) ในคราวเสด็จเยือนประเทศออสเตรเลียกับในหลวง พบว่าน่าสนใจ จึงคัดมาให้ท่านทั้งหลายได้อ่านกัน - ข้อความด้านล่างนี้เป็นข้อเขียนของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๑ -------------------------------------------------------
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
บริบทของพระราชดำรัสสดวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๘(อนุญาตให้วิจารณ์กษัตริย์?) พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล หลายท่านที่คัดค้านการบังคับใช้ "ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา๑๑๒" มักอ้างอิง (โดยขาดบริบท) พระราชดำรัส ๔ ธันวาคม ๒๕๔๘ ซึ่งในโอกาสนั้น "ในหลวง" ตรัสเกี่ยวกับ (ทรง)อนุญาตให้ประชาชนวิจารณ์พระองค์ได้ ขอให้สังเกตพระราชดำรัสดังกล่าวในความว่า :
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ดีเบตกรณีสวรรคต ร.๘ ระหว่าง จิตติ ติงศภัทิย์ vs หยุด แสงอุทัย พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๕๔๔/๒๔๙๗ (คดีสวรรคต ร.๘) กรณีนายเฉลียว จำเลย นั้น ศาลฟังข้อเท็จจริงว่า "ได้ช่วยปกปิดไม่เอาความนั้นไปร้องเรียนขึ้นจนมีเหตุบังเกิดการประทุษร้ายแด่พระองค์"