Skip to main content

ข้อโต้แย้งการตราพระราชกำหนดว่าด้วยคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง

พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล

ขณะนี้ มีข้อเสนอของ TDRI[๑] และนักกฎหมายบางคน[๒] เสนอให้รัฐบาลตราพระราชกำหนดจัดตั้งองค์กรปฏิรูปการเมืองก่อนจัดให้มีการเลือกตั้ง ผมจะรอดูว่า "รัฐบาลซึ่งถอยทะลุซอยมาแล้วนั้น จะถอยอีกหรือไม่" และถ้ามีการ "ถ อ ย" อีกในคราวนี้ ต่อไปพวกคุณจะทำบ้าทำบออะไรอีกก็เชิญเลย!

การเสนอให้ตราพระราชกำหนดนั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ[๓] ลักษณะของการตราพระราชกำหนดนั้น จะต้องเป็นกรณีที่เกิดภยันตรายขึ้นแล้วและไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายในระบบกฎหมายขณะนั้นที่จะใช้ระงับภยันตรายเช่นว่านั้นได้ กล่าวคือ เป็นภยันตรายในลักษณะที่ออกกฎหมายบังคับใช้ก่อนมิได้หรือไม่ทันการ นั่นเอง และพระราชกำหนดที่ตราขึ้นนั้นต้องตราขึ้นเพื่อให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐในอันที่จะมีเครื่องไม้เครื่องมือในการระงับภยันตรายที่เกิดขึ้น นั่นเอง มิใช่ว่า เกิดภยันตรายอะไรขึ้น ก็จะตราพระราชกำหนดอะไรขึ้นก็ได้

ขณะนี้ เกิดกบฏสุเทพ เทือกสุบรรณขึ้น ระบบกฎหมายนั้น "มีมาตรการ" กำจัดภยันตรายของกบฏอยู่เพียงพอแล้ว "ภยันตราย" กับ "มาตรการที่ใช้" ต้อง adequate กัน จะเห็นได้ว่า การตราพระราชกำหนดจัดตั้งองค์กรปฏิรูปการเมือง(หรือทำนองเดียวกัน) ไม่ใช่เป็นไปเพื่อให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐในการระงับการก่อกบฏสุเทพ เทือกสุบรรณ และไม่ใช่มาตรการที่เป็นประโยชน์ให้บรรลุเจตนารมณ์ในการระงับภัยเช่นว่านั้น กล่าวคือ นอกจากรัฐจะมีมาตรการทางกฎหมายอย่างเพียงพอในการกำจัดกบฏสุเทพ เทือกสุบรรณแล้ว การตั้งสภาปฏิรูปฯ ก็ไม่ใช่มาตรการที่ทำให้การชุมนุมของกบฏสุเทพ เทือกสุบรรณ ระงับสิ้นลงด้วย

หลักการดังกล่าวยังปรากฏในรัฐธรรมนูญฯ ซึ่งกำหนดเงื่อนไขและแบบพิธีในการตราพระราชกำหนดไว้ ๓ ประการ ดังนี้

ประการที่ ๑. การตราพระราชกำหนดจะกระทำได้ก็แต่เฉพาะเพื่อรักษาความปลอดภัยประเทศ หรือความปลอดภัยสาธารณะ หรือความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือปัดป้องภัยพิบัติสาธารณะ

คำว่า "เพื่อรักษาความปลอดภัยประเทศ" หมายถึง ประเทศตกอยู่ในภาวะสงคราม และพระราชกำหนดที่ฝ่ายบริหารตราขึ้นบังคับใช้นั้นมีเจตนารมณ์เพื่อให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐในอันที่จะทำการขับไล่ศัตรูหรือระงับปราบปรามในสงคราม

คำว่า "เพื่อรักษาความปลอดภัยสาธารณะ" หมายถึง ได้มีภยันตรายต่อความสงบเรียบร้อยขึ้น เช่น เกิดการกบฏ หรือจลาจล และพระราชกำหนดที่ฝ่ายบริหารตราขึ้นบังคับใช้นั้นมีเจตนารมณ์เพื่อให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐในอันที่จะปราบปรามคณะผู้ก่อการกบฏหรือการจลาจล

คำว่า "เพื่อรักษาความมั่นคงในเศรษฐกิจของประเทศ" หมายถึง ภยันตรายคุกคามประเทศในทางเศรษฐกิจ เช่น ฐานะเศรษฐกิจของประเทศตกต่ำ และพระราชกำหนดที่ฝ่ายบริหารตราขึ้นบังคับใช้นั้นมีเจตนารมณ์ในอันที่พยุงฐานะในทางเศรษฐกิจของประเทศ

คำว่า "เพื่อปัดป้องภัยพิบัติสาธารณะ" หมายถึง ได้มีภัยพิบัติสาธารณะเกิดขึ้นแล้ว และพระราชกำหนดที่ฝ่ายบริหารตราขึ้นบังคับใช้นั้นมีเจตนารมณ์เพื่อให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในอันที่จะขจัดภัยพิบัตินั้นให้หมดสิ้นไป

ประการที่ ๒. พระราชกำหนดที่ฝ่ายบริหารตราขึ้นใช้บังคับนั้นจะต้องกำหนดมาตรการที่เป็นประโยชน์แก่การให้บรรลุเจตนารมณ์หรือความมุ่งหมายในประการที่ ๑. ถ้ามาตรการที่พระราชกำหนดนั้นได้กำหนดไว้ไม่เป็นประโยชน์แก่การดำเนินการให้บรรลุเจตนารมณ์เช่นว่านี้เลย พระราชกำหนดฉบับนั้นก็ "ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๑๘๔ วรรคหนึ่ง" (ขัดรัฐธรรมนูญฯ นั่นเอง)

"ในกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะ..." แสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่า มาตรการในพระราชกำหนดต้องเป็นมาตรการที่ประจักษ์แก่วิญญูชนว่าสามารถดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ เช่น ภยันตรายที่เกิดขึ้นคือ กบฏสุเทพ เทือกสุบรรณ มาตรการที่พระราชกำหนดนั้นใช้คือ การตั้งสภาปฏิรูปการเมือง (เพื่อตรวจสอบรัฐบาล และเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจรัฐ) ย่อมไม่ใช่มาตรการที่จะทำให้การกบฏนั้นหมดสิ้นลงในสายตาวิญญูชน

"การตราพระราชกำหนด...ให้กระทำได้เฉพาะ...เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้" แสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่า การตราพระราชกำหนดนั้นเพ่งไปยัง "ภยันตราย" ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น หาใช่เพ่งไปยังมาตรการหรือความมุ่งหมายที่จะ "ก่อตั้งมาตรการ" ขึ้นตามอำเภอใจ โดยอาศัยเหตุ "ภยันตราย" เป็นเพียงข้ออ้างไม่

การปฏิรูปการเมืองนั้น ไม่ใช่มาตรการที่จะใช้สำหรับภยันตรายที่เป็น "กรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้" แต่อย่างใด

ประการที่ ๓. การตราพระราชกำหนดนั้นเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรีก็จริงอยู่ แต่รัฐธรรมนูญฯ กำหนดโดยชัดแจ้งว่า ต้องมี "สภาผู้แทนราษฎร" และ "วุฒิสภา" ให้ความเห็นชอบหรืออนุมัติพระราชกำหนด "โดยไม่ชักช้า" หากอยู่นอกสมัยประชุมสภา คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการเรียกประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญโดยไม่ชักช้า

ขณะนี้อยู่ในระหว่าง "ยุบสภาผู้แทนราษฎร" เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ ขณะนี้ไม่มี "สภาผู้แทนราษฎร"

จากประการที่ ๑-๓ ที่อธิบายจะเห็นได้ว่า การตราพระราชกำหนดปฏิการเมืองนั้น (หรือทำนองเดียวกัน) ไม่เข้าเงื่อนไขการตราพระราชกำหนด และเป็นโมฆะ จะหยิบยกขึ้นกล่าวอ้างความเป็นโมฆะขึ้นเมื่อใดก็ได้

นอกจากการตราพระราชกำหนดนั้นขัดรัฐธรรมนูญฯแล้ว จุดมุ่งหมายของการปฏิรูปนั้น ไม่มี consensus ว่าจะปฏิรูปอะไร และนำไปสู่เป้าหมายคืออะไร และ consensus ของใคร? ต่างฝ่ายต่างมี "มโนทัศน์" เป็นของตนเอง เช่น กปปส. ต้องการปฏิรูปการเลือกตั้งให้ ๑ คน มีสิทธิเลือกตั้งไม่เท่ากันหรือก่อตั้งสภาของสุเทพ เพื่อชี้นำอำนาจทั้งปวงในรัฐ เป็นต้น แต่ไม่ยอมให้ "ประชาชนแสดงเจตจำนง" เลือก ว่าจะปฏิรูปในกรอบเพียงใด ซึ่งหนทางที่ดีที่สุดคือ การเลือกตั้ง และประชาชนจะเลือกตามนโยบายพรรคการเมือง

ทั้งสภาวิชาชีพก็ปรากฏให้เห็นในสภาพัฒน์ฯ ซึ่งมีผลงานที่ประสบความล้มเหลวเพียงใดเป็นที่ประจักษ์กันอยู่แล้ว

ข้อพิจารณา การปฏิรูปการเมืองนั้น ย่อมมีวัตถุประสงค์ในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจรัฐ ซึ่งกฎเกณฑ์ในทางกฎหมายที่จะ "เปลี่ยนโครงสร้างอำนาจรัฐ" ต้องกระทำในระดับ รัฐธรรมนูญ โดยตราเป็นรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หากมี "ใคร" เสนอให้ตรากฎหมายศักดิ์ต่ำกว่า "รัฐธรรมนูญ" เช่น ตราเป็นพระราชกำหนด ก็ดี นั่นคือ การใช้ให้รัฐบาลกระทำรัฐประหารตนเอง แล้วผสมโรงกับศาลรัฐธรรมนูญที่จะชี้ว่าพระราชกำหนดที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจรัฐ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เช่นนี้เข้าสูตรรัฐประหารสำเร็จ และเป็นการทำให้ "มีผลบังคับ" ของประกาศคณะรัฐประหารในรูป "พระราชกำหนด" ด้วยการยืนยันความสมบูรณ์โดยศาลรัฐธรรมนูญ

ข้อเสนอของ TDRI อาจกระทำได้ในรูปของ "คณะกรรมการธรรมดา" ซึ่งมีรัฐบาลเป็นเจ้าภาพ โดยไม่ตรากฎหมายรองรับ ที่สุดคือ เท่านี้ครับ

บทส่งท้าย

รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ทำความผิดพลาดครั้งมหันต์มาหลายครั้งแล้วในการ "ละเมิดหลักการ" และ "ขัดรัฐธรรมนูญ" นับแต่คราว พรบ.เหมาเข่ง, การถอนร่างรัฐธรรมนูญฯ คืนมาจากกษัตริย์ ซี่งจะทำลายบูรณภาพของอำนาจตามรัฐธรรมนูญในภายหน้าซึ่งจะได้เห็นอีกไม่ช้านานนี้ --- ในคราวนี้ รัฐบาลพรรคเพื่อไทย จะทำ "ละเมิดหลักการ" และ "ขัดรัฐธรรมนูญ" โดยเลื่อนวันเลือกตั้ง หรือตั้งสภาหรือคณะกรรมการปฏิรูป/คนกลาง ก่อนการเลือกตั้ง ซ้ำรอยเดิมอีกหรือไม่ และการยินยอมเกี้ยเซี้ยคราวนี้อีก ก็จะเป็นอนันตริยกรรมของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่ไม่รักษาการเลือกตั้งไว้ และการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปฯ โดยมีคนกลางต่างๆ ประกอบด้วยวิชาชีพใดๆ นั้น ในท้ายที่สุดจะแปลงร่างไปเป็นอะไรอีกก็สุดจะหยั่งถึง นับวันรัฐบาลก็ถอยออกจากหลักการไปเรื่อย ๆ หากปล่อยให้ "กบฏ" หรือ "ความคิดของฝ่ายกบฏ" มาชี้นำหรือโค่นการเลือกตั้ง ย่อมเป็นการขุดหลุมฝังรัฐบาลเอง และให้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญเข้ามาจราจรในระบบรัฐธรรมนูญเยี่ยงการรัฐประหารอีกครั้ง และหากไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น คนที่ "ก่อความผิดร้ายแรงที่สุด" ก็คือ รัฐบาลพรรคเพื่อไทย.
_________________

เชิงอรรถ

[๑] สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์: ข้อเสนอต่อกระบวนการปฏิรูปประเทศไทย http://www.prachatai.com/journal/2013/12/50633

[๒] Siripan Nogsuan Sawasdee
http://www.facebook.com/siripan.nogsuansawasdee/posts/764618386889483

[๓] รัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๑๘๔ บัญญัติว่า "ในกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกําหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติก็ได้

การตราพระราชกําหนดตามวรรคหนึ่ง ให้กระทําได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจําเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้"

บล็อกของ พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล

พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
กระบวนการสร้างมโนทัศน์ต่อความผิดฐานหมิ่นกษัตริย์ ว่าด้วยเหตุยกเว้นความผิดพุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล๑. ข้อพิจารณาเบื้องต้น
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ปัญหาบางประการเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของ(ร่าง)หลักเกณฑ์การประมูลดิจิตอลทีวี : กรณีให้เปิดเผยผู้ถือหุ้นตั้งแต่ลำดับที่ ๓ ขึ้นไปและทุกทอดตลอดสายนายพุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
วิพากษ์สุรพล นิติไกรพจน์ (ภาค ๒)๑ พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล คำอภิปรายในงานรำลึกครูกฎหมาย (อาจารย์ไพโรจน์ ชัยนาม) โดย สุรพล นิติไกรพจน์ วันนี้๒  ถ้าอย่างในคัมภีร์ก็คงได้เพียงอุทาน "โมฆะบุรุษหนอ" หรือแปลเป็นภาษาลูกทุ่ง ก็คือ "อ้ายชิบหาย" ครับ
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ข้อน่าพิจารณาบางประการ : กรณีศาลฎีกายกฟ้อง"คดีถาวร เสนเนียม ฟ้องอดีต กกต."(๒๕๔๙) พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล มูลเหตุของคดีนี้เริ่มต้นเพื่อ "สนับสนุนให้รัฐประหาร ๑๙ ก.ย.๒๕๔๙" (เพื่อไม่ให้มีการเลือกตั้ง โจมตีการเลือกตั้ง) และเป็นชนวนในการสร้างสุญญากาศทางการเมือง  คดีนี้เริ่มต้น จะเห็นภาพพจน์ "ชัดแจ้งยิ่งขึ้น" เมื่อพิจารณาลำดับเหตุการณ์ก่อนพิเคราะห์รายละเอียดที่สำคัญของคดี เราจะเห็นได้ว่า "เหตุการณ์ ๒๕๔๙" นั้นเกิดขึ้นเป็นลูกระนาดเลย คร่าว ๆ ดังนี้[๑]
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ถึงสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล : เรื่องบันทึกการขออภัยโทษคดีสวรรคต พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
จอมพล ป. ในตำแหน่ง"ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และนายกรัฐมนตรี"โดยการทำรัฐประหาร พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
โต้บวรศักดิ์ อุวรรณโณ : การนิรโทษกรรมของคณะราษฎร (๒๖ มิ.ย.๒๔๗๕) พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
อุปสรรคในการร่าง"ประมวลกฎหมายแบบตะวันตก"ฉบับแรกของสยาม พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
การใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญครั้งแรกของไทยเมื่อ ๒๔๗๖ พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ชวนอ่าน "เรื่องเล่า" โดย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ (๒๕๑๑) หมายเหตุ : บังเอิญผมได้อ่าน ข้อเขียนของ "ราชินี" (ดังที่จะคัดให้อ่านด้านล่าง) ในคราวเสด็จเยือนประเทศออสเตรเลียกับในหลวง พบว่าน่าสนใจ จึงคัดมาให้ท่านทั้งหลายได้อ่านกัน - ข้อความด้านล่างนี้เป็นข้อเขียนของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๑ -------------------------------------------------------
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
บริบทของพระราชดำรัสสดวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๘(อนุญาตให้วิจารณ์กษัตริย์?) พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล หลายท่านที่คัดค้านการบังคับใช้ "ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา๑๑๒" มักอ้างอิง (โดยขาดบริบท) พระราชดำรัส ๔ ธันวาคม ๒๕๔๘ ซึ่งในโอกาสนั้น "ในหลวง" ตรัสเกี่ยวกับ (ทรง)อนุญาตให้ประชาชนวิจารณ์พระองค์ได้ ขอให้สังเกตพระราชดำรัสดังกล่าวในความว่า :
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ดีเบตกรณีสวรรคต ร.๘ ระหว่าง จิตติ ติงศภัทิย์ vs หยุด แสงอุทัย พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๕๔๔/๒๔๙๗ (คดีสวรรคต ร.๘) กรณีนายเฉลียว จำเลย นั้น ศาลฟังข้อเท็จจริงว่า "ได้ช่วยปกปิดไม่เอาความนั้นไปร้องเรียนขึ้นจนมีเหตุบังเกิดการประทุษร้ายแด่พระองค์"