Skip to main content

 

Robert-François Damiens พยายามลอบฆ่าหลุยส์ ๑๕ เมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๑๗๕๗ แต่ไม่สำเร็จ เขาถูกจับ

 

กระบวนพิจารณาคดีใช้การไต่สวนแบบทรมานจำเลย นำสารซัลเฟอร์หลอมจนร้อนระอุเผาที่มือข้างที่เขาใช้ถือมีดเพื่อแทงหลุยส์ ๑๕ จากนั้นก็นำเอาขี้ผึ้งร้อนและน้ำมันเดือดจี้เข้าไปที่แผล และจี้ตามแขน ขา เท้า มือ 

 

ในงานบางชิ้นระบุว่า มีหลักฐานอยู่เหมือนกันว่า หลุยส์ ๑๕ เห็นว่าไม่ต้องประหาร

 

แต่บรรดาผู้พิพากษา ขุนนางชั้นผู้ใหญ่เห็นตรงกันข้าม จำเป็นต้องจัดการเพื่อให้หลาบจำ ไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง การลอบฆ่ากษัตริย์ไม่ได้เกิดขึ้นมาหลายร้อยปี เมื่อกลับมาเกิดขึ้นอีก แล้วไม่ลงโทษให้สาสมก็จะกลายเป็นแบบอย่างต่อผู้อื่นได้

 

เมื่ออ่านคำพิพากษาประหารชีวิต Damiens ตะโกนออกมาว่า "la journée sera rude" 

 

พิธีประหารมีขึ้นในวันที่ ๒๘ มีนาคม ณ จตุรัส place de Grève (ปัจจุบัน คือ Hotel de Ville ส่วนคำว่า Grève กลายเป็นที่มาของคำว่านัดหยุดงาน) มีการขายตั๋วบริเวณนอกชานของบ้านเรือนบริเวณนั้น เพื่อชมการประหารสดๆ 

 

วิธีการประหาร คือ ใช้เชือกมัดตามแขนขา ๔ จุด แล้วใช้ม้า ๔ ตัว พร้อมคนขี่ ดึงเชือก เพื่อให้ร่างกายฉีกขาดออกจากกัน 

 

การประหารกินเวลาไป ๒ ชั่วโมงเศษ แต่  Damiens ก็ยังไม่ตาย 

 

เพชฌฆาตทนดูไม่ไหว จึงร้องขอผู้พิพากษาเพื่อขอตัดเอ็นและข้อต่อของร่าง ให้ร่างฉีกขาดได้ง่ายขึ้น

 

ผู้พิพากษาไม่อนุญาต การประหารด้วยการฉีกร่างจึงต้องดำเนินต่อไป จนตกดึก Damiens จึงถึงแก่ความตาย

 

ภาพการประหารชีวิตครั้งนี้เป็นที่น่าละอายและสะเทือนใจแก่ Charles-Henri Sanson อย่างยิ่ง ในเวลานั้น เขาอายุ ๑๘ ปี และตามไปช่วยงานลุงของเขาในการประหารชีวิต ในเวลาต่อมา Sanson ซึ่งสนับสนุนให้นำกีโยตีนมาใช้เพื่อให้การประหารชีวิตเป็นไปอย่างไม่ทรมาน ก็กลายมาเป็นผู้กดคันมีดกีโยตีนลงไปบั่นคอหลุยส์ ๑๖, Hébert, Danton, Desmoulins, Saint Just, Robespierre

 

การประหารชีวิต Damiens อย่างสยดสยองนี้ ถูกบรรดาปัญญาชนแสงสว่างวิจารณ์อย่างหนัก เช่น Beccaria ต่อมา Paine ก็นำไปเขียนถึง และยังปรากฏใน Surveiller et punir ของ Foucault ด้วย

 

นี่เป็นตัวอย่างของความโหดเหี้ยมของระบอบเก่า และนำมาสู่ระบอบใหม่ 

 

ถ้าระบอบเก่า รู้จักปรับตัว ก็ไม่มีทางได้ชื่อว่าเป็นระบอบเก่า และไม่ต้องถูกแทนที่ด้วยระบอบใหม่ 

 

ถ้าระบอบเก่า อ้วนพีอุ้ยอ้ายจนไม่มีศักยภาพในการปรับตัว ระบอบเก่าก็จะนอนอย่างสบายและมีความสุขบนความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์ร่วมชาติ

 

แต่การนอนรอเช่นว่านั้น เป็นการนอนรอวันล่มสลาย

 

บล็อกของ ปิยบุตร แสงกนกกุล

ปิยบุตร แสงกนกกุล
Philippe RAIMBAULTProfesseur de Droit publicDirecteur de Sciences Po Toulouseแปลโดย ปิยบุตร แสงกนกกุล
ปิยบุตร แสงกนกกุล
 ประเทศที่ปกครองระบอบประชาธิปไตยและเป็นนิติรัฐทั้งหลาย ล้วนแล้วแต่ต้องมีศาล และศาลต้องเป็นกลางและเป็นอิสระ
ปิยบุตร แสงกนกกุล
 ในระยะหลัง มักเชื่อกันว่าคนกรุงเทพมหานครนิยมพรรคประชาธิปัตย์มาโดยตลอด และผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ก็เป็นบทพิสูจน์อีกครั้ง แต่หากลองย้อนกลับไปดูผลการเลือกตั้งในอดีต จะพบว่าคนกรุงเทพฯไม่ได้นิยมพรรคประชาธิปัตย์ราวกับสนาม กทม เป็นของตายของพรรคประชาธิปัตย์