Skip to main content

1. คำนำ


ก่อนจะเริ่มต้นเนื้อหา เรามาดูรูปการ์ตูนสนุก ๆ แต่บาดใจและอาจจะบาดตากันก่อนครับ



ความหมายในภาพนี้ ไม่มีอะไรมาก นอกจากบอกว่านี่ไงหลักฐานที่พิสูจน์ว่าโลกเราร้อนขึ้นจริง



สำหรับภาพนี้บอกว่า ผลการศึกษาพบว่าอุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรสูงขึ้น นักวิชาการ (และนักการเมือง) กำลังระดมกันแก้ปัญหาอย่างขยันขันแข็ง ขอขอบคุณเจ้าของภาพทั้งสองด้วย


คราวนี้มาเข้าเรื่องกันครับ


ขณะที่โลกของเรากำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ครั้งสำคัญ 4 ด้านพร้อม ๆ กัน คือ (1) วิกฤติภาวะโลกร้อน (2) วิกฤติพลังงานที่ทั้งขาดแคลน ราคาแพง ผูกขาดและก่อวิกฤติด้านอื่น ๆ (3) วิกฤติการเงินที่เพิ่งจะเกิดขึ้นหยก ๆ และกำลังลามไปทั่วโลก และ (4) วิกฤติความอ่อนแอของชุมชนในชนบทโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก


ถ้าเปรียบวิกฤติแต่ละด้านเป็นรถยนต์ ขณะนี้รถยนต์เหล่านี้กำลังแล่นตรงมาถึงสี่แยกเดียวกันและในเวลาเดียวกัน แล้วอะไรจะเกิดขึ้นเราคงนึกภาพเองได้ ผมเข้าใจว่าเหตุการณ์นี้กำลังท้าทายภูมิปัญญาของมนุษยชาติอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน


สำหรับสาเหตุของวิกฤติทั้งสี่นี้มาจากการใช้พลังงานของมนุษย์ จึงจำเป็นต้องขอกล่าวถึงประเภทของพลังงานเป็นความรู้พื้นฐานกันก่อน


2. พลังงานหมุนเวียนกับพลังงานฟอสซิล


การตั้งชื่อประเภทของพลังงานสำหรับประเทศไทยเรายังเป็นปัญหามาก เพราะทางราชการเองได้สร้างความสับสนให้กับผู้รับสื่ออยู่ไม่น้อย เช่น กล่าวว่า “ก๊าซธรรมชาติเป็นพลังงานสะอาด” หรือ “ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นพลังงานทดแทนน้ำมัน” “ไบโอดีเซลเป็นพลังงานทดแทน” เป็นต้น ทั้ง ๆ ที่ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติต่างก็เป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันซึ่งไม่สะอาดทั้งคู่ ขณะเดียวกันคำว่า “พลังงานทดแทน” ก็มีความหมายคลาดเคลื่อนไปจากความหมายที่แท้จริงที่สากลเขาใช้กันอยู่อยู่ระดับหนึ่ง


วงการวิชาการได้จำแนกพลังงานออกเป็น 2 ประเภทคือ พลังงานฟอสซิล (Fossil energy) ซึ่งได้แก่พลังงาน 3 ชนิดคือ น้ำมัน ก๊าซ และถ่านหิน พลังงานประเภทนี้ต้องใช้เวลาเป็นล้าน ๆ ปีกว่าจะสร้างขึ้นมาได้ เมื่อใช้หมดแล้วก็หมดเลย จะสร้างใหม่ขึ้นมาก็ไม่ได้


พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy- ทางราชการแปลว่าเป็นพลังงานทดแทน) ซึ่งเป็นพลังงานที่ใช้แล้วไม่มีวันหมดหรือหมดแล้วก็เกิดขึ้นใหม่ได้เองตามธรรมชาติ พลังงานหมุนเวียนแบ่งออกได้เป็น 5 ชนิดสำคัญ คือ (1) พลังงานลม (2) แสงอาทิตย์ (3) ชีวมวล (ซึ่งมาจากต้นไม้ ของเสียจากครัวเรือนหรือโรงงาน ปศุสัตว์-ขี้หมู ขี้วัว เป็นต้น) (3) พลังงานความร้อนใต้พิภพ และ (5) พลังงานน้ำ (จากเขื่อน) ขนาดเล็ก


ความแตกต่างที่สำคัญของพลังงานทั้งสองประเภทนี้สามารถกล่าวได้โดยย่อ ๆ ได้ดังนี้ คือ

พลังงานฟอสซิลเป็นธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ ใช้ทุนจำนวนมาก จึงกลายเป็นธุรกิจที่รวมศูนย์และผูกขาดโดยพ่อค้านายทุนระดับโลกจำนวนน้อยราย ในทางตรงกันข้ามพลังงานหมุนเวียนเป็นพลังงานที่กระจายตัวอยู่ทั่วไป การผูกขาดจึงเป็นไปได้ค่อนข้างยาก อย่างน้อยก็ยากกว่าพลังงานฟอสซิล


ในด้านผลกระทบต่อสภาวะโลกร้อน นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าก๊าซเรือนกระจกที่มีผลทำให้โลกร้อนนั้นร้อยละ 72% มาจากก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ซึ่งก็มาจากการเผาไหม้ของพลังงานฟอสซิลที่มนุษย์เป็นผู้ลงมือกระทำขึ้นมานั่นเอง กระบวนการของธรรมชาติมีทั้งการสร้างและการดูดซับกลับไปใช้ใหม่จนเกือบจะสมดุล แต่มนุษย์เป็นผู้ผลิตหรือผู้สร้างก๊าซชนิดนี้ขึ้นมาอย่างเดียวโดยไม่มีการดูดกลับไปใช้ใหม่เลย


กล่าวเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา รายงานที่อ้างถึงแล้วในรูปนี้ระบุว่า เฉพาะการเผาไหม้ปิโตรเลียม ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติในปี 2549 ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกถึง 82% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของประเทศ



การใช้ถ่านหินเพื่อผลิตไฟฟ้า นอกจากจะก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อนแล้ว ยังก่อให้เกิดผลกระทบกับชุมชนรอบ ๆ โรงไฟฟ้า อีกด้วย เช่น กรณีเหมืองแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ที่มีผู้เสียชีวิตจากโรคทางเดินหายใจกว่า 300 ชีวิตแล้ว นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดความขัดแย้งในชุมชนระหว่างผู้สนับสนุนและผู้คัดค้านโรงไฟฟ้า กรณีบ่อนอก บ้านกรูด หรือ กรณีท่อส่งและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นต้น





สองภาพบน เป็นการประท้วงให้หยุดใช้ถ่านหิน ที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เมื่อปี 2549 ชายในภาพขวามือเป็นผู้ป่วยจากมลพิษ(เสียชีวิต กรกฎาคม 2551) (้ผูกขาดได้) าวเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลม (ซึ่งเป็นพลังงานหมุนเวียน) ภาพล่างเป็นข่าว “สถาบันพระปกเกล้าเปิดโปงความตายจากถ่านหิน” จากเว็บไซต์ http://www.newspnn.com


3. วิกฤติโลกในปัจจุบัน


Dr. Anil Kane
ประธานสมาคมพลังงานลมโลกได้กล่าวในเอกสารประชาสัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์ของสมาคมฯ (http://www.wwindea.org) เมื่อปลายเดือนตุลาคมนี้ (2551) ว่า พลังงานหมุนเวียนคือกุญแจสำคัญที่จะไขออกจาก 3 วิกฤติของโลกในปัจจุบัน วิกฤติทั้งสามอย่างนี้คือ


1.
วิกฤติพลังงาน ตามที่ได้กล่าวแล้วในหัวข้อที่ 2 ว่า พลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานที่ถูกผูกขาดโดยพ่อค้าระดับโลกเพียงไม่กี่ราย แต่พลังงานหมุนเวียนเป็นพลังงานที่อยู่ใกล้บ้านใกล้ชุมชนทั่วไปทุกหมู่บ้าน


2.
วิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลกซึ่งได้กล่าวถึงแล้วเช่นกัน วิกฤตินี้รุนแรงแค่ไหน มีผู้ศึกษาพบว่า ปัจจุบันจำนวนผู้เสียชีวิตจากภัยธรรมชาติมีมากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากสงครามและการจราจรรวมกันถึงสี่เท่าตัว ทำเอาบริษัทประกันภัยแย่ไปตาม ๆ กัน


3.
วิกฤติการเงิน ขณะนี้ทั่วโลกกำลังประสบภัยชนิดนี้กันทั่วโลก คล้าย ๆ กับที่เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อปี 2540 ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้เริ่มต้น แต่คราวนี้เริ่มต้นที่สหรัฐอเมริกาซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าประเทศไทยมหาศาล

เนื่องจากการลงทุนด้านพลังงานเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ทั้งจำนวนเงินและระยะเวลาในการก่อสร้างที่นาน ต้องมีการวางแผนล่วงหน้าหลายปี ถ้าเป็นโรงไฟฟ้าธรรมดาก็ประมาณ 7- 8 ปี ถ้าเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็นานถึง 12 ปี เมื่อสถานการณ์เป็นอย่างนี้จึงเกิดความเสี่ยงต่อการลงทุน เพราะไม่มีความแน่นอนในเรื่องความต้องการใช้พลังงานในอนาคต


ประเทศไทยเองเคยมีบทเรียนที่เจ็บปวดมาแล้วคือ เมื่อปี 2545 ...ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ออกมา ยอมรับว่า “ขณะนี้เราสร้างโรงไฟฟ้ามากเกินไป คิดเป็นมูลค่าเฉพาะที่เกินความจำเป็นสูงถึง 4 แสนล้านบาท”

ในวันนี้เราก็ยังมีโรงไฟฟ้าสำรองถึง 30% ซึ่งสูงกว่าค่าที่ควรจะเป็นถึงสองเท่า (สากลยอมรับว่าควรมีโรงไฟฟ้าสำรองไม่เกิน 15%)


ในทางตรงกันข้าม โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเป็นการลงทุนขนาดเล็ก ทันทีที่ตัดสินใจแล้วจะใช้เวลาประมาณหนึ่งปีก็สามารถใช้การได้แล้ว ทำให้การลงทุนสอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริง ไม่เสี่ยงกับการลงทุนเกินตัว


4.
วิกฤติความอ่อนแอของชุมชนในชนบทโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก


ประเด็นนี้เป็นความเห็นของผมเอง ไม่เกี่ยวกับประธานสมาคมโลก ผมมีข้อเท็จจริงพร้อมกับความเห็นดังนี้คือ

ชนบทไทยมีปัญหาการว่างงานทั่วทุกภาคของประเทศ สินค้าการเกษตรมีปัญหา ไม่แห้งแล้ง น้ำท่วม ก็เพราะราคาตกต่ำ แต่ถ้าชาวชนบทสามารถผลิตไฟฟ้าขายให้กับคนในเมืองได้จะเกิดอะไรขึ้น ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ไม่มีทางล้นตลาดเพราะผลิตตามความจำเป็นเท่านั้น ไม่มีเหลือ ไม่ต้องกลัวภัยแล้งหรือน้ำท่วม


แต่ทำไมนักการเมืองจึงไม่สนับสนุนให้ชาวบ้านผลิตไฟฟ้าเพื่อขายบ้าง คำตอบส่วนหนึ่งก็เพราะนักการเมืองมักจะคิดถึงโครงการลงทุนขนาดใหญ่ โครงการพลังงานฟอสซิลจะเป็นหนึ่งในนั้นซึ่งเอื้อต่อการคอร์รัปชันได้ง่าย พวกพ่อค้าพลังงานเองก็ชอบที่จะเข้าหานักการเมือง ตรงกันข้ามโครงการพลังงานหมุนเวียนเป็นโครงการขนาดเล็กที่ไม่เป็นที่สนใจของนักลงทุนมากนัก ขณะเดียวกันชาวบ้านตลอดจนองค์กรปกครองท้องถิ่นก็สามารถเข้ามาลงทุนได้ง่าย เป็นการกระจายรายได้และสร้างงานในชุมชน


ถ้าชาวบ้านสามารถขายไฟฟ้าได้เอง แต่ละคนในบางหมู่บ้านที่มีลมแรงพอจะมีรายได้เดือนละประมาณ 3 พันบาท สามารถลดปัญหาความยากจนและปัญหาการว่างงานลงได้เยอะเลยครับ


5. ความคืบหน้าของการใช้พลังงานหมุนเวียนในระดับโลก


เพื่อไม่ให้เนื้อหาซ้ำซ้อนกับบทความอื่นๆ ในที่นี้ผมขอกล่าวถึงเฉพาะกังหันลมผลิตไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว

ขณะนี้ทั่วโลกมีการใช้กังหันลมในเชิงพาณิชย์กันแล้วถึง 74 ประเทศ แต่ประเทศไทยยังไม่ถูกนับรวมอยู่ในกลุ่มนี้

เลขาธิการของสมาคมพลังงานลมโลก (Stefan Gsänger) กล่าวว่า “ตลอดสิบปีมานี้อุตสาหกรรมกังหันลมเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 30% ปัจจุบันมีการติดตั้งแล้วถึง 1.1 แสนเมกะวัตต์ มีการจ้างงานถึงกว่า 4 แสนคน กำลังเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ใหญ่กว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ในปัจจุบันเสียอีก ร้อยละ 75 ของกังหันลมในปัจจุบันอยู่ใน 6 ประเทศเท่านั้นคือ เยอรมนี สหรัฐอเมริกา สเปน อินเดีย จีน และเดนมาร์ก”


ในต้นปีหน้า (26 มกราคม 2552) จะมีการลงนามในสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่มีชื่อย่อว่า “ไอรีนา (IRENA- International Renewable Energy Agency” (http://www.irena.org) ที่ประเทศเยอรมนี วัตถุประสงค์ขององค์กรนี้ก็เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศชั้นนำทั้ง 6 นี้ไปยังประเทศอื่นๆ


เราไม่อาจเลื่อนเวลาของการเริ่มต้นการพึ่งพลังงานหมุนเวียนออกไปได้อีกแล้ว” เลขาธิการคนเดิมกล่าวปิดท้าย

ข่าวว่า ในการนี้มีประเทศไทยเข้าร่วมด้วยในจำนวนสมาชิก 51 ประเทศ นับว่าเป็นข่าวดีที่นาน ๆ จะได้ยินสักครั้งในวงการพลังงานของไทย


6. สรุป


ตามที่ได้กล่าวแล้วว่า วิกฤติทั้งสี่ของโลกมีต้นเหตุมาจากการใช้พลังงานฟอสซิล คำถามที่เราทั้งหลายสงสัยว่า เมื่อไหร่โลกจะหยุดใช้พลังงานฟอสซิลแล้วหันไปใช้พลังงานหมุนเวียน อดีตรัฐมนตรีน้ำมันของประเทศซาอุดิระเบีย Sheikh Zaki Yamani กล่าวว่า “ยุคหินได้สิ้นสุดลงไม่ใช่เพราะหินหมด ดังนั้นยุคน้ำมันควรจะสิ้นสุดลงก่อนที่น้ำมันจะหมดไปจากโลก”


ในด้านพลังงานลม มีผู้สรุปไว้อย่างกระชับเกี่ยวกับอุปสรรคของกังหันลมว่า “ไม่ได้อยู่ที่ต้นทุนการผลิต ไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยีหรือแรงลม แต่ขึ้นกับแนวนโยบายของรัฐบาล”


แนวนโยบายของรัฐบาล ที่ประชาธิปไตยใหม่ต้องร่วมกันกำหนด


บล็อกของ ประสาท มีแต้ม

ประสาท มีแต้ม
    “คดีโลกร้อน” เป็นชื่อที่ใช้เรียกคดีที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นโจทก์ฟ้องผู้บุกรุกป่า ผู้บุกรุกต้องชดใช้ค่าเสียหาย  ที่ผ่านมามีเกษตรกรถูกฟ้องดำเนินคดีไปแล้วหลายสิบรายทั่วประเทศ ในช่วงปี 2549-52 ในจังหวัดตรังและพัทลุงมีราษฎรถูกดำเนินคดีไปแล้ว 13 ราย ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว 7 ราย และอยู่ระหว่างดำเนินคดี 6 ราย กรมอุทยานฯ ได้เรียกค่าเสียหาย 20.306 ล้านบาท แต่ศาลพิพากษาให้จ่าย 14.76 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี
ประสาท มีแต้ม
    ขณะนี้รัฐบาลกำลังคิดค้นโครงการประชานิยมหลายอย่าง คาดว่าจะประกาศรายละเอียดภายในต้นปี 2554   ทั้งนี้เพื่อรองรับการเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี ทำไปทำมานโยบายประชานิยมที่เริ่มต้นอย่างประปรายตั้งแต่รัฐบาลคึกฤทธิ์ ปราโมช (2518) และเริ่มเข้มข้นมากขึ้นในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จะเป็นสิ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้เสียแล้ว บทความนี้จะกล่าวถึงนโยบายประชานิยมในเรื่องค่าไฟฟ้าสำหรับผู้อยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้ารายย่อยไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน โครงการนี้เกิดในสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช (2551) และใช้ต่อกันมาจนถึงรัฐบาลปัจจุบันและในอนาคตด้วย ผมได้มีโอกาสคุยกับผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยในชนบท…
ประสาท มีแต้ม
    คำนำ เป็นที่ทราบกันทั่วไปแล้วว่า ขณะนี้สังคมไทยเรากำลังมีความขัดแย้งรุนแรงครอบคลุมเกือบทุกพื้นที่ของประเทศ จนรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปขึ้นมาหลายชุด หนึ่งในนั้นคือ คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) โดยมีคุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการชุดนี้ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นขึ้น โดยขึ้นคำขวัญซึ่งสะท้อนแนวคิดรวบยอดของการปฏิรูปประเทศไทยว่า “ลดอำนาจรัฐ ขจัดความเหลื่อมล้ำ” ผมเองได้ติดตามชมการถ่ายทอดโทรทัศน์จากรายการนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ ได้ทราบถึงเจตนารมณ์ในการรับฟังความคิดเห็น ได้ชมวีดิทัศน์ที่บอกถึง “ความเหลื่อมล้ำ” …
ประสาท มีแต้ม
  “...ถ้าอุณหภูมิผิวน้ำทะเลสูงขึ้น 1 องศาเซียลเซียส ความถี่ที่จะเกิดพายุชนิดรุนแรงจะเพิ่มขึ้นอีก 31% ... ในปี พ.ศ. 2643 อุณหภูมิดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 2 องศา”   “ผลการวิจัยพบว่า ค่าความเสียหายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจจะมากกว่าผลผลิตทางเศรษฐกิจของคนทั้งโลก ทั้งนี้ภายในก่อนปี พ.ศ. 2608”  
ประสาท มีแต้ม
ขณะนี้ทางรัฐบาลโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (หรือ กฟผ.) กำลังเสนอให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ขนาด 700 เมกกะวัตต์  ชาวหัวไทรที่ไม่คุ้นเคยกับเรื่องนี้อาจเกิดความสงสัยหลายอย่าง เป็นต้นว่า 1.โรงไฟฟ้าขนาด 700 เมกกะวัตต์นั้น มันใหญ่เท่าใด ไฟฟ้าที่ผลิตมาได้จะใช้ได้สักกี่ครอบครัวหรือกี่จังหวัด
ประสาท มีแต้ม
    คำว่า “ไฟต์บังคับ” เป็นภาษาในวงการมวย  หมายความว่าเมื่อนักมวยคนหนึ่ง(มักจะเป็นแชมป์) ถูกกำหนดโดยองค์กรที่เกี่ยวข้องว่า ครั้งต่อไปนักมวยคนนี้จะต้องชกกับใคร จะเลี่ยงไปเลือกชกกับคนอื่นที่ตนคิดว่าได้เปรียบกว่าไม่ได้
ประสาท มีแต้ม
  ๑.  คำนำ บทความนี้ประกอบด้วย 6 หัวข้อย่อย ท่านสามารถอ่านหัวข้อที่ 6 ก่อนก็ได้เลย เพราะเป็นนิทานที่สะท้อนปัญหาระบบการศึกษาได้ดี เรื่อง “โรงเรียนสัตว์”   ถ้าท่านรู้สึกสนุกและเห็นคุณค่าของนิทานดังกล่าว (ซึ่งทั้งแสบ ทั้งคัน) จึงค่อยกลับมาอ่านหัวข้อที่ 2  จนจบ หากท่านไม่เกิดความรู้สึกดังกล่าว  ก็โปรดโยนทิ้งไปได้เลย ๒. ปัญหาของการศึกษากระแสหลักคืออะไร
ประสาท มีแต้ม
1. คำนำ ชื่อบทความนี้อาจจะทำให้บางท่านรู้สึกว่าเป็นการทอนพลังของการปฏิรูป ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ แต่ผมขอเรียนว่า ไม่ใช่การทอนพลังครับ แต่เป็นการทำให้การปฏิรูปมีประเด็นที่เป็นรูปธรรม สัมผัสได้ชัดเจน สามารถปฏิบัติได้ง่าย รวดเร็ว  เมื่อเทียบกับการปฏิรูปมหาวิทยาลัย ปฏิรูปการศึกษาที่ต้องใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล ผมได้ตรวจสอบประเด็นของการปฏิรูปของคณะกรรมการชุดที่คุณหมอประเวศ วะสี เป็นประธานแล้วพบว่า ไม่มีประเด็นเรื่องนโยบายพลังงานเลย บทความนี้จะนำเสนอให้เห็นว่า (1) ทำไมจะต้องปฏิรูปนโยบายพลังงานในทันที  (2) จะปฏิรูปไปสู่อะไร และ (3) ทำอย่างไร เริ่มต้นที่ไหนก่อน  …
ประสาท มีแต้ม
“ในการเดินทาง เรามักใช้ยานพาหนะช่วย   แต่ในการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical) เราใช้อะไรเป็นเครื่องมือหรือเป็นพาหนะ”
ประสาท มีแต้ม
“คุณรู้ไหม คนเราสามารถคิดได้เร็วกว่าที่อาจารย์พูดถึงสี่เท่าตัว ดังนั้น เราสามารถฟังและจดโน้ตดี ๆ ได้”   1.    คำนำ ในแต่ละปีผมพบว่า นักศึกษาชั้นปีที่หนึ่ง (ซึ่งยังสด ๆ และมองชีวิตในมหาวิทยาลัยแบบสดใสอยู่) จำนวนมากใช้วิธีจดเลคเชอร์ของแต่ละวิชาลงในสมุดเล่มเดียวกัน  เมื่อสอบถามได้ความว่า ค่อยไปลอกและทั้งปรับปรุงแก้ไขลงในสมุดของแต่ละวิชาในภายหลัง  
ประสาท มีแต้ม
1.    คำนำ เราคงยอมรับร่วมกันแล้วว่า ขณะนี้สังคมไทยกำลังมีความขัดแย้งอย่างรุนแรงทั้งในระดับความคิด ความเชื่อทางการเมือง และวัฒนธรรมซึ่งนักสังคมศาสตร์จัดว่าเป็นโครงสร้างส่วนบน และความขัดแย้งทางเศรษฐกิจที่รวมศูนย์ การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติและการทำลายสิ่งแวดล้อมซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานของสังคม  ความขัดแย้งเชิงโครงสร้างทั้งสองระดับนี้กำลังวิกฤติสุด ๆ จนอาจพลิกผันนำสังคมไทยไปสู่หายนะได้ในอนาคตอันใกล้นี้
ประสาท มีแต้ม
1. คำนำ ภาพที่ท่านเห็นอยู่นี้เป็นปกหน้าและหลังของเอกสารขนาดกระดาษ A4 ที่หนาเพียง 16 หน้า แม้ว่าหลายท่านอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับศัพท์แสงที่ปรากฏ แต่ผมเชื่อว่าแววตาและท่าทางของเจ้าหนูน้อยในภาพคงทำให้ท่านรู้สึกได้ว่าเธอทึ่งและมีความหวัง บรรณาธิการกรุณาอย่าทำให้ภาพเล็กลงเพื่อประหยัดเนื้อที่ เพราะจะทำให้เราเห็นแววตาของเธอไม่สดใสเท่าที่ควร เอกสารนี้จัดทำโดย “สภาเพื่ออนาคตโลก” หรือ World Future Council (WFC) ค้นหาได้จาก www.worldfuturecouncil.org