คำนำ
เมื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประสบปัญหาขายไม่ได้เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจของโลก นักการเมืองรวมทั้งว่าที่รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องก็ได้เสนอมาตรการลดหย่อนภาษีค่าโอนบ้าน โดยจะเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นไป
ผมขออนุญาตไม่แสดงความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าวข้างต้น แต่ขอใช้หลักคิดเดียวกันนี้เพื่อตั้งคำถามว่า ทำไมรัฐบาลจึงไม่ใช้มาตรการทางภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการพืชน้ำมันซึ่งได้แก่ ไบโอดีเซล และแก๊สโซฮอล์ ซึ่งโยงใยเกี่ยวเนื่องกันตั้งแต่เจ้าของโรงงานจนถึงเกษตรกรผู้ปลูกพืชน้ำมัน ( ปาล์มน้ำมัน อ้อย ฯลฯ ) เหล่านี้บ้างเล่า?
จะพูดว่าเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการพืชน้ำมันดังกล่าวเพียงอย่างเดียวก็ออกจะเป็นการคิดที่ตื้นเขินเกินไป แต่จริง ๆ แล้ว การส่งเสริมให้ผู้ใช้น้ำมันธรรมดาหรือน้ำมันจากฟอสซิลหันมาใช้น้ำมันไบโอดีเซลและแก็สโซฮอล์จะเป็นการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เรียกว่า “ภาวะโลกร้อน” ที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้นทุกปี
นักวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์แล้วว่า สาเหตุของภาวะโลกร้อน 80% มาจากก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้พลังงานซึ่งได้แก่ ถ่านหิน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ในภาคการผลิตอุตสาหกรรม ภาคการขนส่ง และภาคไฟฟ้า
ในประเทศไทยเราเอง ภาคการขนส่งมีส่วนร่วมใช้พลังงานถึงประมาณ 36-37% ของพลังงานทั้งหมด ถ้าคิดเป็นตัวเงินก็ประมาณ 6 แสนล้านบาทต่อปี
ถ้าเปรียบเทียบความยาวนานของ “วิกฤติเศรษฐกิจ” กับ “วิกฤติภาวะโลกร้อน” เราพบว่าวิกฤติอย่างแรกเป็นปรากฏการณ์ชั่วคราวแต่อาจจะยาวนานนับปีหรือนานกว่านั้นก็ได้ ส่วนวิกฤติอย่างหลังเป็นปรากฏการณ์ที่ยาวนานมากและดูเหมือนจะไม่มีทางออกใดๆ นอกจากมนุษย์ทั้งโลกจะพร้อมใจกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์อย่างมีนัยสำคัญ และต้องกระทำในทันทีด้วยเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ การส่งเสริมให้คนทั้งโลกและคนไทยรีบหันมาใช้น้ำมันไบโอดีเซลและแก็สโซฮอล์จึงเป็นภารกิจเร่งด่วนของเราทุกคน ขอย้ำครับว่า “เป็นภารกิจเร่งด่วนของเราทุกคน” รวมถึงท่านผู้อ่านและผมเองด้วย
ที่กล่าวมาแล้ว เป็นหลักคิดเชิงนิเวศหรือเชิงสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว ถ้าจะคิดในเชิงเศรษฐศาสตร์ เราพบว่า พลังงานน้ำมันจากฟอสซิลเป็นพลังงานที่ถูกผูกขาดและรวมศูนย์โดยพ่อค้าพลังงานเพียงไม่กี่ตระกูลในโลกนี้เท่านั้น แต่พลังงานจากพืชน้ำมันเป็นพลังงานที่มีอิสระกว่าและกระจายตัวอยู่ในชนบทเป็นส่วนใหญ่
ถ้ามีการจัดการดี ๆ พลังงานจากพืชน้ำมันสามารถเป็นพลังของชุมชน เพื่อความมั่นคงของท้องถิ่น ทำให้คนชนบทมีงานทำ ทำให้เกิดความสมดุลระหว่างเมืองกับชนบทในหลายมิติ เช่น ลดการย้ายถิ่นเข้าเมืองของคนชนบท ลดปัญหาสลัมของเมือง เป็นต้น
ที่กล่าวมาแล้วเป็นเพียงแนวคิดของการส่งเสริมเท่านั้น แต่จะทำสำเร็จได้หรือไม่ เราจำเป็นต้องมาดูตัวอย่างของต่างประเทศ ว่าเขาส่งเสริมกันอย่างไร ขนาดไหน และส่งเสริมแล้วเกิดสัมฤทธิ์ผลขนาดไหน
แนวคิดของภาษีเชิงนิเวศ (Ecological taxes reform, ETR)
ตามประวัติที่ค้นได้จากอินเทอร์เนตพบว่า แนวคิดนี้เกิดจากพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยและพรรคกรีนของประเทศเยอรมนีเมื่อครั้งที่เป็นรัฐบาลผสมเมื่อปี 2542 (หรือ ปี ค.ศ. 1999)
แนวคิด ETR ต้องการเก็บภาษีกับสินค้าที่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือ สิ้นค้าที่มีต้นทุนภายนอก ( external cost ) แต่พ่อค้าไม่ได้นำมารวมเป็นต้นทุนของตน ปล่อยไว้ให้เป็นต้นทุนของสังคมแทน น้ำมันที่ผลิตจากฟอสซิลหรือซากพืชซากสัตว์ที่ทับถมกันนับล้านปี คือสินค้าที่มีต้นทุนภายนอกสูงมาก เพราะการเผาไหม้ของน้ำมันจะก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกที่กำลังก่อปัญหาใหญ่หลวงให้กับคนทั้งโลก ดังที่กล่าวแล้ว
วิธีการก็คือ ต้องเก็บภาษีเชิงนิเวศกับน้ำมันลิตรละเท่าใดก็แล้วแต่จะกำหนด แล้วให้รัฐบาลนำเงินรายได้จากเงินก้อนนี้ไปลดภาษีบางอย่างที่เก็บอยู่แล้ว (existing tax) ในจำนวนที่เท่ากันให้กับประชาชน ภาษีที่ว่านี้อาจจะเป็นภาษีรายได้ของบุคคลธรรมดารวมทั้งของนิติบุคคลด้วย
ด้วยวิธีการเช่นนี้ จะไม่ทำให้ภาคธุรกิจหรือภาคครัวเรือนเกิดความเกรงกลัวว่าตนเองหรือธุรกิจของตนเองจะต้องแบกรับภารภาษีเพิ่มขึ้นจนหลังอาน
แม้ราคาน้ำมันดิบเกือบจะเท่ากันทั่วโลก แต่ราคาขายปลีกของแต่ละประเทศกลับแตกต่างกันอย่างมาก บางประเทศ เช่น ราคาในประเทศอังกฤษสูงเป็นสองเท่าของราคาในประเทศสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้คนอเมริกันใช้น้ำมันอย่างฟุ่มเฟือย
จะเก็บภาษีเชิงนิเวศเท่าใดดี?
อัตราการเก็บภาษีจะต้องมีมากพอที่จะดึงดูดให้กิจการพลังงานจากพืชน้ำมันสามารถเติบโตได้ตามศักยภาพที่ควรจะเป็น และทำให้ผู้ใช้รถยนต์เห็นความแตกต่างของราคาน้ำมันทั้งสองชนิดด้วย
ปัจจุบันประเทศไทยเราก็มีการส่งเสริมน้ำมันไบโอดีเซลอยู่บ้างแล้ว แต่ยังไม่มีแรงดึงดูดเพียงพอ ทั้งต่อผู้ผลิตไบโอดีเซลที่ต้อง “กอดคอกันตาย” ภายใต้ “การส่งเสริม” ของภาครัฐเมื่อราคาน้ำมันดิบจากฟอสซิลลดลงจาก 147 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ไม่ถึง 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
ขณะเดียวกันราคาหน้าปั๊มน้ำมันก็ไม่ดึงดูดพอต่อผู้ใช้รถยนต์ โครงการโบโอดีเซลตามแนวพระราชดำริของในหลวงที่เริ่มต้นมานานหลายสิบปีและเป็นโครงการที่ดีมากก็ไปไม่ถึงไหน
เพื่อให้เห็นตัวเลขราคาน้ำมัน ผมขอยกราคาน้ำมันดีเซลธรรมดากับไบโอดีเซลมานำเสนอเพียง 2 วัน โดยเลือกเอาทั้งในช่วงที่ราคาน้ำมันดิบแพงและถูก ดังนี้
วันที่ 29 กรกฎาคม 2551 (ช่วงที่ราคาน้ำมันดิบสูงที่สุดประมาณ $147 US/barrel) น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (H-deisel) สำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นลิตรละ 33.1996 บาท แต่เมื่อรวมภาษีและกองทุนต่าง ๆ แล้ว ราคาหน้าปั๊มลิตรละ 37.94 บาท
น้ำมันไบโอดีเซลหมุนเร็ว (B5) สำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นลิตรละ 33.4856 บาท แต่ราคาหน้าปั๊มลิตรละ 37.44 บาท โดยที่ราคาน้ำมันไบโอดีเซลบริสุทธิ์(B100) อ้างอิงที่ 42.54 บาทต่อลิตร
เมื่อดูรายละเอียดของภาษี พบว่า รัฐบาลเกือบจะไม่ได้เก็บภาษีน้ำมันดีเซลเลย (ความจริงเก็บภาษีสรรพามิตรในอัตรา 55 สตางค์ต่อหนึ่งร้อยลิตร แถมยังได้นำเงินกองทุนน้ำมันมาช่วยพยุงราคาอีกลิตรละ 30 สตางค์) แต่เก็บภาษีไบโอดีเซลประมาณ 10 บาทต่อหนึ่งร้อยลิตรและนำเงินกองทุนน้ำมันมาพยุงราคาลิตรละ 1.50 บาท
ในวันที่ 30 ธันวาคม 2551 ราคาหน้าปั๊มของน้ำมันไบโอดีเซลราคาลิตรละ 17.24 บาท ถูกกว่าดีเซลลิตรละ 1.50 บาท ในขณะที่ราคาน้ำมันไบโอดีเซลบริสุทธิ์(B100) อ้างอิงอยู่ที่ 22.45 บาท
เราจะเห็นว่า ไม่ว่าราคาน้ำมันดิบจะถูกหรือแพง ราคาน้ำมันไบโอดีเซลมีราคาถูกกว่าเพียงลิตรละ 50 สตางค์ถึง 1.50 บาทเท่านั้น ซึ่งก็ถือว่ายังไม่ดึงดูดราคาให้คนหันมาเติมอยู่ดี ขณะเดียวกันราคาน้ำมันไบโอดีเซลที่สามารถหาได้ในท้องถิ่นก็ดันขึ้นต่อกับราคาน้ำมันดิบเสียด้วย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะราคาปุ๋ย ราคาค่าขนส่ง และราคาพลังงานเป็นองค์ประกอบหลัก
ก่อนที่จะตอบคำถามว่า เราควรจะเก็บภาษีเชิงนิเวศสักเท่าไหร่ดี เรามาดูข้อมูลของประเทศเยอรมนีต้นฉบับความคิดนี้กันก่อน ผมคัดลอกกราฟมาให้ดูกันเลยครับ เป็นข้อมูลตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2547 (2004) จนถึงเดือนมิถุนายน 2548
เส้นสีแดง (อยู่ส่วนบน) เป็นราคาน้ำมันดีเซลที่รวมภาษีทุกชนิด(รวมทั้งภาษี ETRด้วย) แล้ว ส่วนสีเขียว (เส้นล่าง) เป็นราคาน้ำมันไบโอดีเซล เราพบว่าราคาน้ำมันไบโอดีเซลถูกกว่าตั้งแต่ลิตรละ 7 ถึง 22 เซ็นต์ (หรือประมาณ 3.50 ถึง 11 บาท) หรือราคาไบโอดีเซลอยู่ที่ประมาณ 70-80% ของราคาดีเซลเท่านั้น ไม่ใช่ 97-99% อย่างกรณีของประเทศไทย
เมื่อส่วนต่างของราคามีมากถึงขนาดนี้ ก็เกิดแรงจูงใจให้คนหันมาเติมไบโอดีเซลที่ไม่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน
ถ้าเราอยากจะทราบว่า ด้วยนโยบายการส่งเสริมกันแบบนี้ ทำให้ชาวเยอรมันที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมหันมาใช้น้ำมันไบโอดีเซลกันมากน้อยแค่ไหน ผมมีข้อมูลมาให้ดูอีกครับ
ภายใต้นโยบาย “ภาษีเชิงนิเวศ” ที่เริ่มตราเป็นกฎหมายเมื่อปี 1999 ทำให้ปริมาณการจำหน่ายไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นจาก 144,000 ตัน (ประมาณ 144 ล้านลิตร) ในปี 2001 จนกระโดดไปสู่ 520,000 ตันหรือ 520 ล้านลิตรในปี 2548 (ปี 2548 ประเทศไทยใช้นำมันดีเซลประมาณ 19,594 ล้านลิตร)
จำนวนปั๊มน้ำมันที่ให้บริการไบโอดีเซลก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน (เส้นบน สีเขียว)
จากข้อมูลที่กล่าวมาแล้ว ทำให้เราได้แลเห็นร่วมกันว่า แนวคิดที่จะปกป้องสิ่งแวดล้อมหากสามารถประสานกับนักการเมืองและมาตรการทางภาษีที่ประชาชนยอมรับก็สามารถที่จะทำให้แนวคิดเป็นจริงเป็นจังขึ้นมาได้
คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ คนไทยพร้อมจะจ่ายภาษีเชิงนิเวศกับน้ำมันหรือไม่
ถ้าอธิบายกันดี ๆ ให้ประชาชนเข้าใจ ประชาชนก็น่าจะยอมรับได้ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ผมลองนำเสนอตัวเลขพร้อมข้อมูลบางส่วนมาคิดเพิ่มเติม ดังนี้
ในปี 2550 ประเทศไทยใช้น้ำมันทุกชนิดรวมกัน (รวมทั้งก๊าซหุงต้มด้วย) จำนวน 41,030 ล้านลิตร สมมุติว่าเก็บภาษีเชิงนิเวศลิตรละ 3.50 บาท (เท่ากับขั้นต่ำสุดของประเทศเยอรมนี) เราก็จะได้เงินเข้าคลังประมาณปีละ 1.5 แสนล้านบาท
เมื่อรัฐบาลได้เงินเพิ่มขึ้นจำนวน 1.5 แสนล้านบาท ก็ไปลดภาษีเงินได้ของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลลงมา จะเป็นอัตราเท่าใดก็ไม่ทราบได้ แต่ต้องลดให้ได้เท่ากับ 1.5 แสนล้านบาท รายละเอียดตรงนี้ กระทรวงการคลังกดคอมพิวเตอร์ 2-3 ทีก็สามารถรู้เรื่องได้แล้ว
ผมคิดว่าข้อเสียของแนวคิดนี้มีอย่างเดียว ก็คือเกรงว่าจะมีการค้าน้ำมันเถื่อนเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางทะเลและชายแดนไทย-มาเลเซีย ส่วนชายแดนอื่นไม่เป็นปัญหาเพราะราคาน้ำมันในบ้านเราถูกกว่าประเทศเพื่อนบ้านอยู่แล้ว
แต่ข้อดีมีเยอะครับ นอกจากจะช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้วยังสามารถช่วยเหลือเกษตรกร ช่วยให้เกิดการจ้างงาน ช่วยเหลือผู้ลงทุนที่ต้องล้มลุกคลุกคลานจากนโยบายของรัฐที่ขาดหลักคิดอย่างเป็นระบบ
รัฐบาลที่ผ่าน ๆ มาได้ส่งเสริมให้ปลูกปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นอีก 2.5 ล้านไร่ ในปี 2551-2555 โดยปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำไปจำนวน 7 พันล้านบาท ในด้านการผลิตไบโอดีเซล ประเทศเรามีโรงงานผลิตไบโอดีเซลจำนวน 10 โรง รัฐบาลตั้งเป้าว่าจะผลิตได้ปีละ 1 พันล้านลิตร แต่ทำได้จริงก็เพียงแค่ 47% ของเป้าหมายเพราะขาดแคลนวัตถุดิบ (ข้อมูลจาก ข่าวเกษตร หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 30 ธันวาคม 2551 หมายเหตุ ข้อมูลนี้น่าจะสูงเกินจริง เพราะประเทศเยอรมนีเองที่อ้างว่าผลิตไบโอดีเซลมากที่สุดในโลกก็ผลิตได้เพียง 520 ล้านลิตรในปี 2548)
สรุป
ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา ข่าวโทรทัศน์หลายช่องรายงานตรงกันว่า ปีนี้ผู้โดยสารนิยมนำรถยนต์ส่วนตัวกลับภูมิลำเนาเดิมมากกว่าปีก่อน เพราะราคาน้ำมันถูกลง นี่เป็นหลักฐานชี้ชัดว่า การเก็บภาษีเชิงนิเวศจะทำให้คนไทยเราประหยัดพลังงานได้มากขึ้น และช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้เยอะขึ้นด้วยครับ