Skip to main content
 

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2552 กระทรวงพลังงานในฐานะผู้รับผิดชอบหรือจะเรียกว่าผู้จัดทำแผนผลิตไฟฟ้าเองได้จัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อปรับปรุง "แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า" ในช่วงปี 2551 ถึง 2564 ซึ่งเป็นแผนที่ได้จัดทำไว้ก่อนปี 2551 ในการรับฟังครั้งนี้ก็เพื่อจะได้ปรับปรุงเป็นครั้งที่ 2 สาเหตุที่ต้องปรับปรุงก็เพราะปัญหาเศรษฐกิจถดถอยทั้งในระดับโลกและในระดับประเทศไทยด้วย


นักวิชาการอิสระด้านพลังงานที่ไม่ใช่ข้าราชการของกระทรวงพลังงานก็ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นที่น่าสนใจหลายอย่าง ขณะเดียวกันกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าก็ได้ตั้งคำถามพร้อมแผ่นผ้าด้วยข้อความสั้น ๆ แต่เข้าใจง่ายว่า "นโยบายพลังงานผิดพลาด "ใครรับผิดชอบ"" (ภาพจากประชาไท) ผมจึงขอนำข้อความในแผ่นผ้านี้มาเป็นชื่อบทความเสียเลย


 

ถ้าจะแบ่งคู่ความขัดแย้งทางความคิดนี้ออกเป็นสองฝ่ายก็ได้แก่ ฝ่ายกระทรวงพลังงานที่มีปลัดกระทรวงเป็นหัวหน้า กับอีกฝ่ายหนึ่งคือกลุ่มชาวบ้านและนักวิชาการอิสระ ข่าวไม่ได้บอกว่ามีกลุ่มผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการจ่ายค่าไฟฟ้าเป็นประจำได้เข้าร่วมหรือไม่ เพราะแผนหรือนโยบายพลังงานไฟฟ้าต้องมีผลกระทบต่อการกำหนดค่าไฟฟ้าอย่างแน่นอน


ในสภาพปัจจุบันของประเทศไทย เจ้าของโรงไฟฟ้าไม่ต้องกังวลใจใดๆเลยว่า ไฟฟ้าที่ตนผลิตได้จะ "ล้นตลาด" เหมือนสินค้าเกษตรหรือไม่ เพราะในสัญญาการก่อสร้างจะเป็นแบบไม่ซื้อก็ต้องจ่ายทั้งนั้น กล่าวคือ แม้ความต้องการไฟฟ้าจะลดลง แต่เอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าจะต้องผลิตเท่าเดิม ผู้ที่จะต้องลดการผลิตลงก็คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตซึ่งเป็นองค์กรของรัฐ เมื่อรัฐได้ลงทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าไปแล้ว แต่ไม่ได้ผลิตไฟฟ้า ความสูญเสียที่เกิดขึ้นจึงตกกับเจ้าของรัฐซึ่งก็คือประชาชนนั่นเอง


อนึ่ง กลุ่มนักวิชาการอิสระดังกล่าว ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ปลัดกระทรวงพลังงาน (ดร.พรชัย รุจิประภา) คนเดียวมี 3 ตำแหน่ง คือ(หนึ่ง)ปลัดกระทรวงซึ่งมีหน้าที่ดูแลแผนพลังงานทั้งหมดของประเทศ (สอง)ประธานคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ(สาม) ตำแหน่งประธานคณะกรรมการ บริษัทผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ กฟผ. ด้วย


เมื่อมือข้างหนึ่งเป็นผู้จัดทำแผน แต่มืออีกข้างหนึ่งก็รับแผนมาผลิตให้ได้ตามแผน โดยที่สองมือนี้เป็นของคนคนเดียวกัน ปัญหาก็เกิดขึ้นกับแผนพลังงานของประเทศโดยไม่ต้องสงสัย


ประเด็นนี้เป็นหลักการสำคัญและใหญ่โตมากที่จะต้องแก้ไขและประชาชนผู้บริโภคเองก็ต้องรีบทำความเข้าใจ ในแต่ละปี คนที่อาศัยอยู่ในประเทศต้องเสียค่าไฟฟ้ารวมกันประมาณ 4 แสนล้านบาท ดังนั้น หากเกิดความผิดพลาดในแผนไปสัก 10-20 % ความเสียหายก้อนโตก็เกิดขึ้นกับผู้บริโภค


ประเด็นที่มีการโต้เถียงกันระหว่างคู่ขัดแย้งก็คือ

เดิมทีเดียว(จากการปรับปรุงแผนครั้งที่ 1) กระทรวงพลังงานมีแผนจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมในช่วงปี 2551-2564 จำนวน 30,390 เมกกะวัตต์ โดยใช้งบประมาณการก่อสร้าง 1.6 ล้านล้านบาท แต่เมื่อเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ (ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ระดับรางวัลโนเบลคนล่าสุดได้บอกว่า "ปัญหาได้ลุกลามจนเหนือการควบคุมไปแล้ว") ทางกระทรวงพลังงานก็ขอเสนอปรับแผน หรือลดการลงทุนลง 6,000 เมกกะวัตต์


ทางนักวิชาการอิสระเสนอว่า ควรจะลดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าลงจำนวน 10,520 เมกกะวัตต์ ไม่ใช่แค่หกพันเท่านั้น


ถ้าเราเชื่อตามข้อเสนอของกระทรวงพลังงาน เราก็สามารถลดการลงทุนที่ไม่จำเป็นลงประมาณ 3.1 แสนล้านบาท แต่ถ้าเราเชื่อตามนักวิชาการอิสระ เราจะประหยัดเงินลงไปได้ 5.5 แสนล้านบาท


ต่างกันถึง 2.4 แสนล้านบาทเชียวนะ ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ เงินก้อนนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะปล่อยไปง่าย ๆ ขอเรียนอีกครั้งว่า ผู้บริโภคไฟฟ้าควรจะต้องสนใจอย่างจริงจัง จะนั่งรอให้สหพันธ์ผู้บริโภค (กลุ่มของ ส.ว. รจนา โตสิตระกูล) หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งทำงานอย่างโดดเดี่ยวไม่ได้อีกต่อไปแล้ว


คำถามที่กลุ่มชาวบ้านตั้งขึ้นอย่างซื่อ ๆ ว่า นโยบายพลังงานผิดพลาด "ใครรับผิดชอบ" ยังไม่ใครตอบได้ ยังไม่มีใครรู้ว่าใครถูกใครผิดเพราะเป็นเรื่องของอนาคตที่ยังมาไม่ถึง


เขียนมาถึงตรงนี้ก็นึกถึงวาทะเด็ดของ Niels Bohr นักฟิสิกส์รางวัลโนเบล(ปี 1922) ที่เป็นนักวิทยาศาสตร์อีกคนหนึ่งที่มีความเข้าใจทางสังคมอย่างลึกซึ้งว่า "มันเป็นการยากมากที่จะทำการพยากรณ์ได้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันเป็นเรื่องของอนาคต(It is very difficult to make an accurate prediction, especially about the future.)"


ถ้านึกถึงเรื่องโจ๊กหรือเรื่องล้อกันในวงการนักวิชาการว่า "เราสามารถแบ่งนักเศรษฐศาสตร์ได้ออกเป็นสองจำพวก คือพวกที่ทำนายอนาคตไม่ถูกกับพวกที่ไม่รู้ตัวเองว่าตนทำนายไม่ถูก"


อย่างไรก็ตาม เราในฐานะผู้บริโภค เราสามารถย้อนกลับไปดูในอดีตก็พบว่า กระทรวงพลังงานหรือในนามของ "คณะอนุกรรมการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้า" ได้พยากรณ์เกินความจริงมาตลอด กล่าวเฉพาะเดือนมีนาคม 2551 ซึ่งภัยเศรษฐกิจยังลามมาไม่ถึง การพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดได้สูงเกินจริงไปแล้วถึง 1,400 เมกกะวัตต์ คิดเป็นตัวเงินก็มากโขอยู่


ไม่ว่าจะเป็นคำพูดของนักฟิสิกส์รางวัลโนเบลหรือเรื่องโจ๊กของนักเศรษฐศาสตร์นั้น ต่างตั้งอยู่บนสมมุติฐานของความบริสุทธิ์ใจในการพยากรณ์ แล้วผลการพยากรณ์ก็เป็นเรื่อง "ยากมาก" ที่จะถูกต้อง แต่ถ้าการพยากรณ์นั้นตั้งอยู่บนสิ่งอื่นที่ไม่ตรงไปตรงมาด้วยแล้วยิ่งไปกันใหญ่


ผู้อ่านหลายท่านอาจจะรู้สึกเห็นใจผู้ทำการพยากรณ์ ว่า "ผิดพลาดบ้าง" เป็นเรื่องธรรมดา แต่ข้อมูลในอดีตมันไม่ใช่แค่ "บ้าง" แต่มันเกินจริงทุกครั้ง และมีขนาดเป็นตัวเงินมากเสียด้วย


ในช่วงเศรษฐกิจปี 2540 เราพบว่าในปี 2544 เรามีโรงไฟฟ้าสำรองมากเกินจริงถึง 4 แสนล้านบาท การใช้ไฟฟ้าในช่วงนั้นได้ลดลงอย่างต่อเนื่องติดต่อกันถึง 32 เดือน (กรกฎาคม 2540 ถึง กุมภาพันธ์ 2543)


คราวนี้ ผมได้เข้าไปดูข้อมูลของกระทรวงพลังงาน ล่าสุดพบว่าการใช้ไฟฟ้าในประเทศไทยได้เริ่มลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนตั้งแต่เดือนกันยายน 2551 โดยมีอัตราการลดลง 0.1% แต่พอมาถึงเดือนธันวาคม กลับลดลงถึง 10.3% ไม่มีใครทราบได้ว่ามันจะลากยาวไปสั้นกว่าหรือนานกว่า 32 เดือน ในกรณีโรคต้มยำกุ้ง


สิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญยิ่งในการพยากรณ์ของบ้านเราก็คือ การคิดถึงความต้องการในอนาคตบนพื้นฐานร้อยละของปัจจุบัน เมื่อปัจจุบันมันลดลง การพยากรณ์ในอนาคตยิ่งผิดพลาดมากขึ้น กล่าวให้ชัดเชิงตัวเลขก็คือ ถ้าเราเชื่อว่าอัตราการเติมโตปีละ 5% ถ้าฐานเดิมลดลงจาก 1,000 หน่วยมาอยู่ที่ 900 หน่วย อีก 15 ปีผ่านไป ความแตกต่างจะสูง 208 หน่วย


ปัจจุบันเรามีโรงไฟฟ้าอยู่เกือบ 3 หมื่นเมกกะวัตต์ ดังนั้นความแตกต่างของผลการพยากรณ์กับความเป็นจริงจะสูงมาก

นี่คือปัญหาใหญ่

แล้วเราควรจะพยากรณ์อย่างไรดี?

การตั้งคำถามนี้อาจจะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงทั้งหมด


ความจริงทั้งหมดก็คือ ยังมีโรงไฟฟ้าอีกประเภทหนึ่งที่ไม่จำเป็นต้องวางแผนระยะยาว แต่รัฐบาลและกระทรวงพลังงานไม่สนใจ นั่นคือโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น โรงไฟฟ้าจากกังหันลม โรงไฟฟ้าชีวมวล (จากขี้หมู ของเสียจากโรงงาน) เป็นต้น


โรงไฟฟ้าประเภทดังกล่าวใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 1 ปีเท่านั้น โดยไม่ต้องเสี่ยงกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ในขณะที่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ เช่น โรงไฟฟ้าจากถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ ต้องใช้เวลานานถึง 5-7 ปีในการก่อสร้างและการสร้างการยอมรับจากชุมชน หรือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อาจใช้เวลานานถึง 12 ปีซึ่งเสี่ยงมากที่จะเกิดการผันผวน


ระยะเวลาในอนาคต 5-12 ปีเป็นเรื่องยากที่จะพยากรณ์ได้ถูกต้อง แต่ถ้าสั้นลงมาเพียง 1 ปีก็เป็นเรื่องไม่ยากที่จะพยากรณ์และวางแผน


ท่านผู้อ่านที่รับข้อมูลด้านเดียวจากกระทรวงพลังงานและจากกลุ่มพ่อค้าพลังงานมาตลอด อาจจะคิดว่า "เมืองไทยไม่มีลมแรงพอจะผลิตไฟฟ้า ไม่เหมือนประเทศในยุโรป ต้นทุนกังหันยังแพงมาก" ต่างๆ นานา

แต่ผลการศึกษาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ตลอดจนของกระทรวงพลังงานเองก็สรุปว่ามีความเป็นไปได้ แต่ผลการศึกษานี้ก็ถูกเผยแพร่ในวงจำกัด ไม่เป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณะ


ผมอยากจะจบบทความนี้ด้วยข้อสรุปของนักเคลื่อนไหวด้านพลังงานหมุนเวียนว่า

"ความเป็นไปได้ของพลังงานลม ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเร็วลม ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยี และไม่ได้ขึ้นอยู่กับต้นทุนการผลิต แต่ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลเท่านั้น"


เมื่อผู้วางนโยบายตลอดจนผู้วางแผนพลังงาน ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบใดๆ เมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้น ภาระที่ไม่จำเป็นก็ตกเป็นของประชาชนอยู่ร่ำไป


"ได้ยินบ่ พี่น้อง ได้ยินบ่" เสียงเพลงของน้าหงา คาราวาน ผ่านเข้ามาในสมองของผมโดยไม่ได้ตั้งใจครับ.

บล็อกของ ประสาท มีแต้ม

ประสาท มีแต้ม
    “คดีโลกร้อน” เป็นชื่อที่ใช้เรียกคดีที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นโจทก์ฟ้องผู้บุกรุกป่า ผู้บุกรุกต้องชดใช้ค่าเสียหาย  ที่ผ่านมามีเกษตรกรถูกฟ้องดำเนินคดีไปแล้วหลายสิบรายทั่วประเทศ ในช่วงปี 2549-52 ในจังหวัดตรังและพัทลุงมีราษฎรถูกดำเนินคดีไปแล้ว 13 ราย ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว 7 ราย และอยู่ระหว่างดำเนินคดี 6 ราย กรมอุทยานฯ ได้เรียกค่าเสียหาย 20.306 ล้านบาท แต่ศาลพิพากษาให้จ่าย 14.76 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี
ประสาท มีแต้ม
    ขณะนี้รัฐบาลกำลังคิดค้นโครงการประชานิยมหลายอย่าง คาดว่าจะประกาศรายละเอียดภายในต้นปี 2554   ทั้งนี้เพื่อรองรับการเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี ทำไปทำมานโยบายประชานิยมที่เริ่มต้นอย่างประปรายตั้งแต่รัฐบาลคึกฤทธิ์ ปราโมช (2518) และเริ่มเข้มข้นมากขึ้นในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จะเป็นสิ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้เสียแล้ว บทความนี้จะกล่าวถึงนโยบายประชานิยมในเรื่องค่าไฟฟ้าสำหรับผู้อยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้ารายย่อยไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน โครงการนี้เกิดในสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช (2551) และใช้ต่อกันมาจนถึงรัฐบาลปัจจุบันและในอนาคตด้วย ผมได้มีโอกาสคุยกับผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยในชนบท…
ประสาท มีแต้ม
    คำนำ เป็นที่ทราบกันทั่วไปแล้วว่า ขณะนี้สังคมไทยเรากำลังมีความขัดแย้งรุนแรงครอบคลุมเกือบทุกพื้นที่ของประเทศ จนรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปขึ้นมาหลายชุด หนึ่งในนั้นคือ คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) โดยมีคุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการชุดนี้ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นขึ้น โดยขึ้นคำขวัญซึ่งสะท้อนแนวคิดรวบยอดของการปฏิรูปประเทศไทยว่า “ลดอำนาจรัฐ ขจัดความเหลื่อมล้ำ” ผมเองได้ติดตามชมการถ่ายทอดโทรทัศน์จากรายการนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ ได้ทราบถึงเจตนารมณ์ในการรับฟังความคิดเห็น ได้ชมวีดิทัศน์ที่บอกถึง “ความเหลื่อมล้ำ” …
ประสาท มีแต้ม
  “...ถ้าอุณหภูมิผิวน้ำทะเลสูงขึ้น 1 องศาเซียลเซียส ความถี่ที่จะเกิดพายุชนิดรุนแรงจะเพิ่มขึ้นอีก 31% ... ในปี พ.ศ. 2643 อุณหภูมิดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 2 องศา”   “ผลการวิจัยพบว่า ค่าความเสียหายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจจะมากกว่าผลผลิตทางเศรษฐกิจของคนทั้งโลก ทั้งนี้ภายในก่อนปี พ.ศ. 2608”  
ประสาท มีแต้ม
ขณะนี้ทางรัฐบาลโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (หรือ กฟผ.) กำลังเสนอให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ขนาด 700 เมกกะวัตต์  ชาวหัวไทรที่ไม่คุ้นเคยกับเรื่องนี้อาจเกิดความสงสัยหลายอย่าง เป็นต้นว่า 1.โรงไฟฟ้าขนาด 700 เมกกะวัตต์นั้น มันใหญ่เท่าใด ไฟฟ้าที่ผลิตมาได้จะใช้ได้สักกี่ครอบครัวหรือกี่จังหวัด
ประสาท มีแต้ม
    คำว่า “ไฟต์บังคับ” เป็นภาษาในวงการมวย  หมายความว่าเมื่อนักมวยคนหนึ่ง(มักจะเป็นแชมป์) ถูกกำหนดโดยองค์กรที่เกี่ยวข้องว่า ครั้งต่อไปนักมวยคนนี้จะต้องชกกับใคร จะเลี่ยงไปเลือกชกกับคนอื่นที่ตนคิดว่าได้เปรียบกว่าไม่ได้
ประสาท มีแต้ม
  ๑.  คำนำ บทความนี้ประกอบด้วย 6 หัวข้อย่อย ท่านสามารถอ่านหัวข้อที่ 6 ก่อนก็ได้เลย เพราะเป็นนิทานที่สะท้อนปัญหาระบบการศึกษาได้ดี เรื่อง “โรงเรียนสัตว์”   ถ้าท่านรู้สึกสนุกและเห็นคุณค่าของนิทานดังกล่าว (ซึ่งทั้งแสบ ทั้งคัน) จึงค่อยกลับมาอ่านหัวข้อที่ 2  จนจบ หากท่านไม่เกิดความรู้สึกดังกล่าว  ก็โปรดโยนทิ้งไปได้เลย ๒. ปัญหาของการศึกษากระแสหลักคืออะไร
ประสาท มีแต้ม
1. คำนำ ชื่อบทความนี้อาจจะทำให้บางท่านรู้สึกว่าเป็นการทอนพลังของการปฏิรูป ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ แต่ผมขอเรียนว่า ไม่ใช่การทอนพลังครับ แต่เป็นการทำให้การปฏิรูปมีประเด็นที่เป็นรูปธรรม สัมผัสได้ชัดเจน สามารถปฏิบัติได้ง่าย รวดเร็ว  เมื่อเทียบกับการปฏิรูปมหาวิทยาลัย ปฏิรูปการศึกษาที่ต้องใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล ผมได้ตรวจสอบประเด็นของการปฏิรูปของคณะกรรมการชุดที่คุณหมอประเวศ วะสี เป็นประธานแล้วพบว่า ไม่มีประเด็นเรื่องนโยบายพลังงานเลย บทความนี้จะนำเสนอให้เห็นว่า (1) ทำไมจะต้องปฏิรูปนโยบายพลังงานในทันที  (2) จะปฏิรูปไปสู่อะไร และ (3) ทำอย่างไร เริ่มต้นที่ไหนก่อน  …
ประสาท มีแต้ม
“ในการเดินทาง เรามักใช้ยานพาหนะช่วย   แต่ในการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical) เราใช้อะไรเป็นเครื่องมือหรือเป็นพาหนะ”
ประสาท มีแต้ม
“คุณรู้ไหม คนเราสามารถคิดได้เร็วกว่าที่อาจารย์พูดถึงสี่เท่าตัว ดังนั้น เราสามารถฟังและจดโน้ตดี ๆ ได้”   1.    คำนำ ในแต่ละปีผมพบว่า นักศึกษาชั้นปีที่หนึ่ง (ซึ่งยังสด ๆ และมองชีวิตในมหาวิทยาลัยแบบสดใสอยู่) จำนวนมากใช้วิธีจดเลคเชอร์ของแต่ละวิชาลงในสมุดเล่มเดียวกัน  เมื่อสอบถามได้ความว่า ค่อยไปลอกและทั้งปรับปรุงแก้ไขลงในสมุดของแต่ละวิชาในภายหลัง  
ประสาท มีแต้ม
1.    คำนำ เราคงยอมรับร่วมกันแล้วว่า ขณะนี้สังคมไทยกำลังมีความขัดแย้งอย่างรุนแรงทั้งในระดับความคิด ความเชื่อทางการเมือง และวัฒนธรรมซึ่งนักสังคมศาสตร์จัดว่าเป็นโครงสร้างส่วนบน และความขัดแย้งทางเศรษฐกิจที่รวมศูนย์ การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติและการทำลายสิ่งแวดล้อมซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานของสังคม  ความขัดแย้งเชิงโครงสร้างทั้งสองระดับนี้กำลังวิกฤติสุด ๆ จนอาจพลิกผันนำสังคมไทยไปสู่หายนะได้ในอนาคตอันใกล้นี้
ประสาท มีแต้ม
1. คำนำ ภาพที่ท่านเห็นอยู่นี้เป็นปกหน้าและหลังของเอกสารขนาดกระดาษ A4 ที่หนาเพียง 16 หน้า แม้ว่าหลายท่านอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับศัพท์แสงที่ปรากฏ แต่ผมเชื่อว่าแววตาและท่าทางของเจ้าหนูน้อยในภาพคงทำให้ท่านรู้สึกได้ว่าเธอทึ่งและมีความหวัง บรรณาธิการกรุณาอย่าทำให้ภาพเล็กลงเพื่อประหยัดเนื้อที่ เพราะจะทำให้เราเห็นแววตาของเธอไม่สดใสเท่าที่ควร เอกสารนี้จัดทำโดย “สภาเพื่ออนาคตโลก” หรือ World Future Council (WFC) ค้นหาได้จาก www.worldfuturecouncil.org