Skip to main content

1. ความในใจ

ผมขอพักเรื่องนโยบายสาธารณะด้านพลังงานซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมากๆ สำหรับประเทศไทยและชาวโลกไว้ชั่วคราวครับ  ในบทความนี้ผมขอนำเรื่องภายในมหาวิทยาลัยที่ผมทำงานอยู่มาเล่าสู่กันฟัง

มันไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับผู้อ่าน  แต่มันสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในระบบราชการไทยที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงแม้ว่าสถานการณ์ได้เปลี่ยนไปมากแล้ว  นอกจากนี้ผมมีเรื่องวิชาใหม่ที่คาดว่าเป็นวิชาแรกในประเทศไทยคือวิชา “ชุมชนมหาวิทยาลัยสีเขียว (Greening the campus)” ที่มีวัตถุประสงค์ในการสร้างจิตสำนึกให้กับนักศึกษาโดยยกเอาปัญหาสิ่งแวดล้อมในวิทยาเขตมาศึกษากันมาเล่าให้ฟังด้วย

ประเด็นที่เป็นปัญหาก็คือเรื่องการจัดตารางสอน คาบละ 50 นาที แล้วพักระหว่างคาบ 10 นาที กำลังเป็นปัญหาเพราะเมื่อวิทยาเขตมีอาคารใหม่มากขึ้น นักศึกษาไม่สามารถเดินทางระหว่างอาคารที่อยู่ห่างกันนับเป็นกว่าพันเมตรได้ทัน  ผมจึงเสนอใหม่ให้จัดคาบละ 90 นาทีแล้วพักระหว่างคาบ 30 นาที

ผมคิดว่า ผมเกริ่นนำเพียงแค่นี้ ท่านผู้อ่านภายนอกมหาวิทยาลัยก็คงจะมองภาพออก  ต่อไปนี้ลองมาดูซิครับว่าเกิดอะไรขึ้นในกระบวนการเพื่อการเปลี่ยนแปลงในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง

ท่านที่ไม่คุ้นชินกับระบบราชการกรุณาอ่านเพิ่มเติมจากบทความเรื่อง “ทศวิบัติของการจัดการความรู้ในหน่วยราชการ” (โดย ศ. นพ. วิจารณ์ พานิช) ได้ที่ http://advisor.anamai.moph.go.th/conference/KM49/10failureKM.doc

ผมขออนุญาตเริ่มเลยนะครับ

ต้นเหตุที่ทำให้ผมต้องเสนอแนวคิดเรื่องการจัดตารางสอนแบบใหม่นี้ มาจากการพูดคุยกับนักศึกษาที่ลงเรียนวิชา “ชุมชนมหาวิทยาลัยสีเขียว” ซึ่งเป็นวิชาใหม่และคาดว่ามีที่เดียวในประเทศไทย แต่ในมหาวิทยาลัยดังๆ ในต่างประเทศมีสอนกันมาร่วม 10 ปีแล้ว

วัตถุประสงค์ของวิชานี้ก็คือ การสร้างจิตสำนึกของนักศึกษาในด้านสิ่งแวดล้อม โดยใช้ปัญหาในวิทยาเขตเป็นโจทย์ให้ทำการศึกษาอย่างเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์  พูดง่ายๆ ก็คือใช้วิทยาเขตเป็นห้องทดลองนั่นเอง  ไม่ใช่การท่องจำมาสอบ

ตลอด 5 ภาคการศึกษาที่ผ่านมา นักศึกษาได้ศึกษาปัญหาต่างๆไว้มากมาย เช่น การประหยัดน้ำด้วยการเปลี่ยนโถส้วม  การประหยัดไฟฟ้า  การลดการตัดหญ้า    การประหยัดกระดาษ  การจราจร เป็นต้น   เท่าที่ข้อมูลมีอยู่และหากได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย วิทยาเขตของเราสามารถประหยัดรายจ่ายลงได้ไม่ต่ำกว่าปีละ  20 ล้านบาทอย่างสบายๆ เลย

ที่จริงแล้วการประหยัดเงิน ประหยัดทรัพยากรดังกล่าวมีความสำคัญเป็นอันดับสามและอันดับสองครับ อันดับหนึ่งที่สำคัญที่สุดคือการที่มหาวิทยาลัยของเราเป็นชุมชนวิชาการ ชุมชนปัญญาชน และได้ชูคำขวัญว่า “ชี้นำสังคม”  มานานปีแล้ว  เราน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีในด้านจิตสำนึกเพื่อโลก เพื่อผู้อื่น ให้กับสังคมทั้งระดับภาคและระดับประเทศได้เห็นกัน

หลักการสำคัญของ “กระบวนการสีเขียว” ทั่วโลก นอกจากเริ่มต้นที่การรับรู้ เข้าใจ เปลี่ยนแปลงตนเองเพื่อร่วมกันแก้ไขวิกฤติแล้ว เท่านั้นยังไม่พอครับ แต่ต้องพยายามผลักดันเข้าสู่ระดับนโยบายขององค์กรด้วย

ถ้าเทียบกันแล้ว เรื่องการจัดตารางสอนแบบใหม่ที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่นี้ น่าจะเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ง่ายกว่าเรื่องอื่นๆ ที่ผมกล่าวมาแล้ว เพราะไม่มีผลประโยชน์ส่วนตนเข้ามาเกี่ยวข้อง  ไม่ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมที่ฝังลึกในเชิงวัฒนธรรมของบุคคล (ที่แก้ไขยาก)   

ดังนั้น ถ้าเรื่องการจัดตารางสอนแบบใหม่นี้ต้องตกไป ทั้งๆที่ยังไม่ได้มีการถกเถียง อภิปราย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเยี่ยงนักวิชาการปัญญาชนแล้ว ก็อย่าหวังเลยครับว่า ม.อ.เราจะสามารถประหยัดทรัพยากรและเป็นผู้นำท่ามกลางวิกฤติอันใหญ่หลวงของโลกในศตวรรษที่ 21 ได้

ในตอนท้าย ผมมีนิทานดีๆ ที่เล่าโดยนักเขียนระดับโลก (รหัสอภิมนุษย์) และแปลโดยอดีตอาจารย์ ม.อ. ของเราเองมานำเสนอครับ บางทีนิทานเรื่องนี้อาจจะทำให้ใครบางคนต้องคิดแล้วคิดอีก และอาจจะเปลี่ยนใจมาช่วยให้เรื่องนี้เป็นจริงก็ได้

2. ปัญหาของตารางสอนแบบเดิม

ผมขอกล่าวเพียงสั้นๆ ดังนี้ครับ
หนึ่ง การพักระหว่างคาบเพียง 10 นาที ไม่เพียงพอสำหรับการเดินทางจากอาคารหนึ่งไปอีกอาคารหนึ่ง การพักเพียงแค่ 10 นาทีนั้น เคยใช้ได้ผลดีเมื่อตอนที่วิทยาเขตของเรามีเพียง 2 อาคาร (ในนิทานเรียกว่ายุคโนอาห์) ตอนนี้สภาพการมันได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว แต่เราไม่ยอมเปลี่ยนตามโลก  ปัญหานี้เกิดขึ้นชัดเจนมากเมื่อคณะศิลปะศาสตร์ได้ย้ายออกไปจากอาคาร “ภาษาต่างประเทศ” ที่เคยอยู่ในคณะวิทยาศาสตร์เมื่อ 2-3 ปีก่อน   นักศึกษาหญิงคนหนึ่งบอกผมว่า “เหาะไปก็ยังไม่ทันเลย”

นี่ยังไม่นับกรณีที่บางครั้งอาจารย์เลิกบรรยายช้าด้วยความไม่ตั้งใจอีกต่างหาก

เราคิดว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาหรือไม่  ถ้าเราคิดว่าเป็นปัญหาก็ต้องแก้ไข  ถ้าคิดว่าไม่เป็นปัญหาก็ลองไปเดินดูซิครับ ใครเดินได้และสามารถนั่งเรียนอย่างมีสมาธิได้ ผมจะสละเงินเดือนครึ่งหนึ่งให้เป็นรางวัล ขออภัยครับหากทำให้บางคนรู้สึกว่าเป็นการท้าทาย แต่ผมกล่าวด้วยความมั่นใจโดยไม่ต้องวิจัยให้เสียเวลา

สอง  คาบละ 50 นาที มีปัญหาทางวิชาการครับ (ไม่นับเรื่องการเข้าชั้นเรียนสาย) กล่าวคือ บ่อยครั้งอาจารย์ต้องทบทวนเรื่องเดิม แล้วในตอนท้ายเวลาก็หมดไปทั้งๆที่เนื้อหายังไม่จบ (เปรียบเหมือน   ”กว่าเครื่องจะติดก็ช้าแต่พอติดแล้วกลับหมดเวลา”) เหตุการณ์เช่นนี้อาจจะไม่ค่อยเกิดกับวิชาทางสังคมศาสตร์ แต่เกิดขึ้นบ่อยมากทางสาขาที่ต้องคำนวณ เช่น คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์  เป็นต้น  เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่อง “เสียงส่วนใหญ่ เสียงส่วนน้อย”  ครับ แต่เป็นเรื่องของปัญหาส่วนรวม เป็นเรื่องของการค้นหาทางแก้ปัญหาของทั้งหมดอย่างเป็นระบบและทุกมิติ (วิชาการ จราจร ประหยัดพลังงาน รวมถึงความไม่สงบในสามจังหวัดภาคใต้-รปภ. ตรวจรถมอเตอร์ไซด์จนติดกันยาวเหยียด)

ตารางสอนที่ผมเสนอให้จัดคาบละ 90 นาที เท่าที่ผมรับฟังความเห็นมา พบว่ามีเพียงประเด็นเดียวที่เป็นปัญหา คือบางท่านสะท้อนว่า “นานเกินไปเกรงว่านักศึกษาจะไม่มีสมาธินานพอ”

เรื่องนี้ผมก็คำนึงถึงครับ  โดยเปิดโอกาสให้พักภายในคาบได้ถึง 10 นาที นั่นคือสอน 40 นาที พัก 10 นาที เวลาเรียนสั้นกว่าเดิมเสียอีก แต่ที่ได้ประโยชน์คือ (1) แก้ปัญหาการเข้าชั้นเรียนสาย (2) แก้ปัญหา “กว่าเครื่องจะติดก็ช้าแต่พอติดแล้วกลับหมดเวลา”   นอกจากประโยชน์ที่กล่าวมา 2 ข้อแล้ว ยังมีอีกครับคือ

สาม  เราจะได้เวลาสอนเพิ่มขึ้นมาอีก 1 ถึง 2  สัปดาห์ต่อภาคการศึกษา

สี่  ลดการเดินทางของนักศึกษาลงได้ 30%  เพราะเดิมเคยจัด 3 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่แบบใหม่จัดเพียง 2 ครั้ง ต่อสัปดาห์ ต่อรายวิชา

ห้า ไม่ต้องกักตัวนักศึกษาเนื่องจากตารางสอบชนกัน ข้อมูลที่ผมได้รับ เพียงวันเดียวนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ถูกกักตัว 27 คน ต้องให้นักศึกษาจ่ายเงินคนละ 200 บาทอีกด้วย มันถูกต้องแล้วหรือครับ?

3. มหาวิทยาลัยอื่นเขาจัดกันอย่างไร

ผมไม่ได้คิดเรื่องนี้เพราะต้องการจะเลียนแบบใคร  แต่คิดบนพื้นฐานการแก้ปัญหาของเราเอง  แต่ระหว่างที่สื่อสารออกไป ก็มีคนบอกว่าที่โน่นเขาก็ทำอย่างนี้  หนึ่งในจำนวนนั้นมาจากศิษย์เก่าและอาจารย์เก่าของเราคนหนึ่ง เขาว่า

“เรื่องจัดตารางสอนนี่ไม่เห็นจะใหม่อะไรเลย ที่มหาวิทยาลัยที่ผมสอนอยู่ (มจธ. บางมด) เขาสอนคาบละ 3 ชั่วโมง พักเป็นเวลา 10 นาที ทุก 1 ชั่วโมงครึ่ง  มานานเป็น 10 กว่าปีมาแล้ว สมัยที่ผมสอนอยู่มหานคร เขาก็สอนกันอย่างนี้เหมือนกัน สงสัยผู้บริหาร ม.อ. อยู่ไกลปืนเที่ยง เลยอนุรักษ์การจัดตารางสอนมาร่วมเกือบ 40 ปี น่ายกย่อง  แต่ผมว่าคาบละ สามชั่วโมงยาวไปหน่อย สักสองชั่วโมงน่าจะกำลังดี”

เพื่อนอาจารย์ท่านหนึ่งบอกว่า ที่ธรรมศาสตร์ก็จัดอย่างนี้  อาจารย์ใหม่ของภาควิชาคณิตศาสตร์เพิ่งสำเร็จการศึกษามาจากสิงคโปร์มาหมาดๆ คนหนึ่ง ประโยคแรกที่เขาขอต่อหัวหน้าภาควิชาคือ “ขอจัดตารางสอนครั้งละ 3 ชั่วโมงได้ไหม เพราะที่สิงคโปร์เขาจัดแบบนั้น ครั้งละ 50 นาที ผมสอนไม่ได้”   เรื่องนี้ยืนยันได้ว่าไม่ได้มาจากผมแน่นอนครับ

4.  มติที่ประชุมกรรมการคณะวิทย์

เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจกระบวนการทั้งหมด ผมขออนุญาตเล่าความเป็นมาสั้นๆ อีกนิดครับ คือ

(1) ผมเริ่มต้นจากปัญหาของนักศึกษา (2) ผมคุยกับรองอธิการบดีท่านหนึ่ง ท่านแนะนำให้ผมส่ง mail ไปให้ผู้บริหาร (3) ผมส่ง mail ให้ทีมบริหารมหาวิทยาลัยเกือบทุกท่าน แต่ไม่มีใครตอบสนองแม้แต่ท่านเดียว (4) ผมเสนอเข้าที่ประชุมภาควิชา หลังการอภิปรายกันพักหนึ่ง อาจารย์ 3 ใน 4 ยกมือสนับสนุน ที่เหลือแค่ลังเลในบางประเด็น  เพื่อให้คณะเสนอต่อมหาวิทยาลัยเพื่อเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นกัน ไม่ได้เสนอให้ตัดสินว่าเหมาะหรือไม่เหมาะ และเสนอในนามภาควิชา ไม่ใช่ในนามผม (5)  ที่ประชุมคณะวิทย์มีมติว่า

“ที่ประชุม มีมติเห็นชอบให้ภาควิชาที่มีความประสงค์จะใช้ตารางสอนแบบใหม่ ทดลองใช้ในบางรายวิชาที่เป็นวิชาเอกเป็นเวลาหนึ่งภาคการศึกษา โดยให้ภาควิชาที่ได้ทดลองใช้ ตารางสอนแบบใหม่แจ้งให้คณะทราบ พร้อมทั้งให้สรุปผลการประเมินความพึงพอใจในการใช้ ตารางสอนแบบใหม่ของนักศึกษาให้คณะฯทราบด้วย เพื่อที่คณะฯจะนำมาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาความเหมาะสมต่อไป และให้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประสาท มีแต้ม เสนอเรื่องให้มหาวิทยาลัย เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อไปได้”

5. ความเห็นของผม

การให้แต่ละภาควิชาจัดตารางสอนกันเอง มันมีปัญหาครับ เพราะนักศึกษาแต่ละคนต้องเรียนหลายภาควิชาและหลายคณะด้วยซ้ำ ในโลกสมัยใหม่แต่ละสาขาวิชามันคาบเกี่ยวกันมากขึ้น นักศึกษาอุตสาหกรรมการเกษตรอาจจะสนใจเรียนภาษาญี่ปุ่นก็เป็นได้  เรื่องนี้ผมว่าผู้บริหารทุกคนทราบดีอยู่แล้ว

นักศึกษาคนหนึ่งเปิดตารางสอนให้ผมดูว่า บางวิชาของคณะศิลปะศาสตร์เริ่มเรียน 13.30 น. ถึง 15.00 น. คือจัด 90 นาที (ตามที่ผมเสนอ)  แต่ถ้าเราปล่อยให้เป็นอย่างนี้จะก่อปัญหาหลายอย่าง เช่น นักศึกษาที่จะลงเรียนได้ต้องมีเวลาว่าง 2 ชั่วโมงติดกัน  ทำให้หลายคนหมดโอกาส  นักศึกษาคนเดิมบอกผมว่า “บางวิชา(ในอีกคณะหนึ่ง)  เรียน 10.30 -11.30 น. โดยไม่สนใจใยดีกับใครเลยก็มี”

ไปๆ มาๆ มหาวิทยาลัยของเราได้ “ซ่อนขยะไว้ใต้พรหม” เยอะเลยครับ   และมันได้กลายเป็นวัฒนธรรมขององค์กรไปเสียแล้ว   เราเป็นสังคมต่างคนต่างอยู่ หน้าที่ใครหน้าที่มัน แต่ปัญหามันมาเกิดเอาตรง “จุดเกรงใจ” แล้วไม่มีใครใส่ใจครับ

ผมนึกถึงเพลงหนึ่งของวงคาราบาว  เนื้อความพอสรุปได้ว่า “ขวานนั้นคมก็จริง แต่ไม่มีพลังที่จะทำอะไรได้ ต้องมีด้ามขวานด้วยจึงจะมีพลังได้”

ผมอยากจะให้ผู้บริหารเป็นผู้คิดนำเอาขวานเหล่านี้มาใส่ด้ามครับ  อยากให้ผู้บริหารคิดให้เป็นระบบว่าปัญหามีจริงไหม ถ้ามีจริงแล้วจะแก้ไขอย่างไร  สิ่งที่ผมคิดยังไม่สมบูรณ์ไปทั้งหมด แต่สามารถปรับปรุงได้ครับ  เรามีขวานคมๆ อยู่มากมายในมหาวิทยาลัยของเรา เราน่าจะนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์  ไม่ใช่ปล่อยให้เมื่อยล้าไปเองทีละคนสองคน

อย่างไรก็ตาม สำหรับผมแล้วขอยืนยันว่าจะทำหน้าที่ คิด เขียน และทำ ในสิ่งที่ตนเองเห็นว่าดีต่อไปครับ แม้บางคนจะมองผมว่าเป็น “Trouble maker” แต่ผมรู้ตัวดีว่า ผมทำอะไร เพื่ออะไร ผมจะพยายามเตือนตัวเองไม่ให้ท้อแท้ ไม่ปล่อยให้มหาวิทยาลัยและประเทศไทยต้องเป็นไปตามยถากรรมอย่างแน่นอน ถึงแม้ผมได้สรุปต่อคนหลายคนไปเมื่อไม่นานมานี้แล้วว่า “ประเทศไทยเราถ้าไม่ล่มสลาย ก็เพราะปาฏิหาริย์เท่านั้น”    นี่เป็นข้อสรุปของคนใกล้เกษียณอายุที่ติดตามการเมือง การศึกษาไทยมาตั้งแต่เด็กๆ แต่ผมก็จะพยายามครับ หลังจากใครบางคนได้อ่านนิทานข้างล่างนี้แล้ว อาจจะมีใครเพียงสักคนเดียว. . .แล้วสันติสุขจะเกิดขึ้นกับโลกของเราครับ

6. นิทานดีๆ

prasart 

นกสองตัว ตัวหนึ่งเป็นนกเขาป่าอีกตัวเป็นนกโคลเม้าส์
ทั้งสองคุยกันขณะที่เกาะอยู่บนกิ่งไม้ ดังต่อไปนี้ครับ

“บอกหน่อยได้มั๊ยว่า เกล็ดหิมะนี่หนักแค่ไหน”   นกโคลเม้าส์ถามนกเขาป่า
“ไม่หนักอะไรเลย เบากว่าปุยฝ้ายเสียอีก”   นกเขาป่าตอบ
“ถ้าเธอว่าอย่างนั้น ฉันก็จะเล่านิทานดีๆให้ฟังเรื่องหนึ่ง”  นกโคลเม้าส์บอก

“ฉันเกาะอยู่บนกิ่งสน ค่อนไปทางลำต้น  ขณะนั้นเริ่มมีหิมะตกลงมา  แต่ไม่หนักอะไร ไม่รุนแรง คล้ายกับสิ่งที่เห็นในฝันนั่นแหละ  หิมะไม่ได้สร้างความรุนแรงใดๆ ฉันอยู่ว่างๆไม่รู้จะทำอะไร ก็เลยนับจำนวนเกล็ดหิมะที่ตกลงบนกิ่งเล็กที่แตกแขนงออกไป  ฉันนับหิมะได้ถึง 3,741,952 เกล็ด และแล้วเมื่อเกล็ดหิมะที่ 3,741,953 ตกลงบนกิ่ง  เจ้าเกล็ดหิมะที่เธอว่าไร้น้ำหนักนั่นแหละ กิ่งก็หักหลุดลงไป”

เมื่อเล่าจบ นกโคลเม้าส์ก็บินจากไป

นกเขาป่าซึ่งถือว่าเป็นผู้ชำนาญในเรื่องหิมะนี้ตั้งแต่ยุคโนอาห์ [1]  คิดถึงนิทานเรื่องนี้อยู่ครู่หนึ่ง ในที่สุดก็ลำพึงกับตัวเองว่า
“บางที เราอาจต้องการความช่วยเหลือจากใครอีกเพียงคนเดียวก็ได้   ที่จะให้เกิดสันติสุขขึ้นในโลกของเรา”

คัดลอกจาก “รหัสอภิมนุษย์”   หน้า 275
เขียนโดย    โจเซฟ จาวอร์สกี  
แปลโดย  สุรพงษ์ สุวจิตตานนท์   สำนักพิมพ์คบไฟ 2545  
ประสาท มีแต้ม  คัดลอกและหารูปมาเผยแพร่

7. สรุป

ท่านที่อ่านแล้วเกิดความรู้สึกว่าอยากจะเป็นเกล็ดหิมะเกร็ดที่ 3,741,953  บ้าง ก็กรุณาโพสต์ไว้ในเว็บประชาไทได้เลยครับ

ขอบคุณครับ

 

---------
[1] โนอาห์เป็นชื่อผู้ชายคนหนึ่งในคัมภีร์ศาสนาคริสต์ เป็นมนุษย์ประมาณรุ่นที่ 10 นับจากอาดัม-อิฟ มนุษย์คู่แรกของโลก หรือ โนอาห์คือ หลาน ๆๆๆๆๆๆๆๆ(8 ครั้ง) ของอาดัม

บล็อกของ ประสาท มีแต้ม

ประสาท มีแต้ม
    “คดีโลกร้อน” เป็นชื่อที่ใช้เรียกคดีที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นโจทก์ฟ้องผู้บุกรุกป่า ผู้บุกรุกต้องชดใช้ค่าเสียหาย  ที่ผ่านมามีเกษตรกรถูกฟ้องดำเนินคดีไปแล้วหลายสิบรายทั่วประเทศ ในช่วงปี 2549-52 ในจังหวัดตรังและพัทลุงมีราษฎรถูกดำเนินคดีไปแล้ว 13 ราย ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว 7 ราย และอยู่ระหว่างดำเนินคดี 6 ราย กรมอุทยานฯ ได้เรียกค่าเสียหาย 20.306 ล้านบาท แต่ศาลพิพากษาให้จ่าย 14.76 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี
ประสาท มีแต้ม
    ขณะนี้รัฐบาลกำลังคิดค้นโครงการประชานิยมหลายอย่าง คาดว่าจะประกาศรายละเอียดภายในต้นปี 2554   ทั้งนี้เพื่อรองรับการเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี ทำไปทำมานโยบายประชานิยมที่เริ่มต้นอย่างประปรายตั้งแต่รัฐบาลคึกฤทธิ์ ปราโมช (2518) และเริ่มเข้มข้นมากขึ้นในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จะเป็นสิ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้เสียแล้ว บทความนี้จะกล่าวถึงนโยบายประชานิยมในเรื่องค่าไฟฟ้าสำหรับผู้อยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้ารายย่อยไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน โครงการนี้เกิดในสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช (2551) และใช้ต่อกันมาจนถึงรัฐบาลปัจจุบันและในอนาคตด้วย ผมได้มีโอกาสคุยกับผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยในชนบท…
ประสาท มีแต้ม
    คำนำ เป็นที่ทราบกันทั่วไปแล้วว่า ขณะนี้สังคมไทยเรากำลังมีความขัดแย้งรุนแรงครอบคลุมเกือบทุกพื้นที่ของประเทศ จนรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปขึ้นมาหลายชุด หนึ่งในนั้นคือ คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) โดยมีคุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการชุดนี้ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นขึ้น โดยขึ้นคำขวัญซึ่งสะท้อนแนวคิดรวบยอดของการปฏิรูปประเทศไทยว่า “ลดอำนาจรัฐ ขจัดความเหลื่อมล้ำ” ผมเองได้ติดตามชมการถ่ายทอดโทรทัศน์จากรายการนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ ได้ทราบถึงเจตนารมณ์ในการรับฟังความคิดเห็น ได้ชมวีดิทัศน์ที่บอกถึง “ความเหลื่อมล้ำ” …
ประสาท มีแต้ม
  “...ถ้าอุณหภูมิผิวน้ำทะเลสูงขึ้น 1 องศาเซียลเซียส ความถี่ที่จะเกิดพายุชนิดรุนแรงจะเพิ่มขึ้นอีก 31% ... ในปี พ.ศ. 2643 อุณหภูมิดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 2 องศา”   “ผลการวิจัยพบว่า ค่าความเสียหายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจจะมากกว่าผลผลิตทางเศรษฐกิจของคนทั้งโลก ทั้งนี้ภายในก่อนปี พ.ศ. 2608”  
ประสาท มีแต้ม
ขณะนี้ทางรัฐบาลโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (หรือ กฟผ.) กำลังเสนอให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ขนาด 700 เมกกะวัตต์  ชาวหัวไทรที่ไม่คุ้นเคยกับเรื่องนี้อาจเกิดความสงสัยหลายอย่าง เป็นต้นว่า 1.โรงไฟฟ้าขนาด 700 เมกกะวัตต์นั้น มันใหญ่เท่าใด ไฟฟ้าที่ผลิตมาได้จะใช้ได้สักกี่ครอบครัวหรือกี่จังหวัด
ประสาท มีแต้ม
    คำว่า “ไฟต์บังคับ” เป็นภาษาในวงการมวย  หมายความว่าเมื่อนักมวยคนหนึ่ง(มักจะเป็นแชมป์) ถูกกำหนดโดยองค์กรที่เกี่ยวข้องว่า ครั้งต่อไปนักมวยคนนี้จะต้องชกกับใคร จะเลี่ยงไปเลือกชกกับคนอื่นที่ตนคิดว่าได้เปรียบกว่าไม่ได้
ประสาท มีแต้ม
  ๑.  คำนำ บทความนี้ประกอบด้วย 6 หัวข้อย่อย ท่านสามารถอ่านหัวข้อที่ 6 ก่อนก็ได้เลย เพราะเป็นนิทานที่สะท้อนปัญหาระบบการศึกษาได้ดี เรื่อง “โรงเรียนสัตว์”   ถ้าท่านรู้สึกสนุกและเห็นคุณค่าของนิทานดังกล่าว (ซึ่งทั้งแสบ ทั้งคัน) จึงค่อยกลับมาอ่านหัวข้อที่ 2  จนจบ หากท่านไม่เกิดความรู้สึกดังกล่าว  ก็โปรดโยนทิ้งไปได้เลย ๒. ปัญหาของการศึกษากระแสหลักคืออะไร
ประสาท มีแต้ม
1. คำนำ ชื่อบทความนี้อาจจะทำให้บางท่านรู้สึกว่าเป็นการทอนพลังของการปฏิรูป ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ แต่ผมขอเรียนว่า ไม่ใช่การทอนพลังครับ แต่เป็นการทำให้การปฏิรูปมีประเด็นที่เป็นรูปธรรม สัมผัสได้ชัดเจน สามารถปฏิบัติได้ง่าย รวดเร็ว  เมื่อเทียบกับการปฏิรูปมหาวิทยาลัย ปฏิรูปการศึกษาที่ต้องใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล ผมได้ตรวจสอบประเด็นของการปฏิรูปของคณะกรรมการชุดที่คุณหมอประเวศ วะสี เป็นประธานแล้วพบว่า ไม่มีประเด็นเรื่องนโยบายพลังงานเลย บทความนี้จะนำเสนอให้เห็นว่า (1) ทำไมจะต้องปฏิรูปนโยบายพลังงานในทันที  (2) จะปฏิรูปไปสู่อะไร และ (3) ทำอย่างไร เริ่มต้นที่ไหนก่อน  …
ประสาท มีแต้ม
“ในการเดินทาง เรามักใช้ยานพาหนะช่วย   แต่ในการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical) เราใช้อะไรเป็นเครื่องมือหรือเป็นพาหนะ”
ประสาท มีแต้ม
“คุณรู้ไหม คนเราสามารถคิดได้เร็วกว่าที่อาจารย์พูดถึงสี่เท่าตัว ดังนั้น เราสามารถฟังและจดโน้ตดี ๆ ได้”   1.    คำนำ ในแต่ละปีผมพบว่า นักศึกษาชั้นปีที่หนึ่ง (ซึ่งยังสด ๆ และมองชีวิตในมหาวิทยาลัยแบบสดใสอยู่) จำนวนมากใช้วิธีจดเลคเชอร์ของแต่ละวิชาลงในสมุดเล่มเดียวกัน  เมื่อสอบถามได้ความว่า ค่อยไปลอกและทั้งปรับปรุงแก้ไขลงในสมุดของแต่ละวิชาในภายหลัง  
ประสาท มีแต้ม
1.    คำนำ เราคงยอมรับร่วมกันแล้วว่า ขณะนี้สังคมไทยกำลังมีความขัดแย้งอย่างรุนแรงทั้งในระดับความคิด ความเชื่อทางการเมือง และวัฒนธรรมซึ่งนักสังคมศาสตร์จัดว่าเป็นโครงสร้างส่วนบน และความขัดแย้งทางเศรษฐกิจที่รวมศูนย์ การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติและการทำลายสิ่งแวดล้อมซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานของสังคม  ความขัดแย้งเชิงโครงสร้างทั้งสองระดับนี้กำลังวิกฤติสุด ๆ จนอาจพลิกผันนำสังคมไทยไปสู่หายนะได้ในอนาคตอันใกล้นี้
ประสาท มีแต้ม
1. คำนำ ภาพที่ท่านเห็นอยู่นี้เป็นปกหน้าและหลังของเอกสารขนาดกระดาษ A4 ที่หนาเพียง 16 หน้า แม้ว่าหลายท่านอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับศัพท์แสงที่ปรากฏ แต่ผมเชื่อว่าแววตาและท่าทางของเจ้าหนูน้อยในภาพคงทำให้ท่านรู้สึกได้ว่าเธอทึ่งและมีความหวัง บรรณาธิการกรุณาอย่าทำให้ภาพเล็กลงเพื่อประหยัดเนื้อที่ เพราะจะทำให้เราเห็นแววตาของเธอไม่สดใสเท่าที่ควร เอกสารนี้จัดทำโดย “สภาเพื่ออนาคตโลก” หรือ World Future Council (WFC) ค้นหาได้จาก www.worldfuturecouncil.org