ทั้ง ๆ ที่ประเทศเรากำลังประสบกับวิกฤติหลายด้าน ทั้งความขัดแย้งทางการเมือง วิกฤติเศรษฐกิจ และการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เป็นต้น แต่สื่อกระแสหลักก็ให้ความสำคัญกับข่าวความขัดแย้งในการแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงซ้ำแล้วซ้ำเล่า รวมทั้งความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาลโดยไม่มีอะไรใหม่สร้างสรรค์ให้กับสังคม
จริงอยู่ เรื่องความขัดแย้งดังกล่าวก็เป็นสิ่งสำคัญ แต่ประเด็นอื่น ๆ ก็สำคัญที่สื่อต้อง “ทำความจริงให้ปรากฏ” ต่อสังคมนี้ด้วย มิเช่นนั้นสื่อก็จะถูกทำให้หลงลืมประเด็นอื่น ๆ ที่สำคัญของประเทศไปด้วย เช่น
การที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตระบายน้ำจากเขื่อนเดียวเพื่อทดแทนกำลังการผลิตจากก๊าซธรรมชาติที่อ้างว่ามีปัญหาประมาณ ๑ ใน ๓ ของกำลังการผลิตทั้งประเทศนั้นเป็นไปได้จริงหรือ และถ้าเป็นไปได้จริงแล้ว ทำไมเราต้องมีเขื่อนผลิตไฟฟ้ามากมายหลายสิบเขื่อน
นอกจากนี้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วม หน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตหรือพ่อค้าก๊าซ (ปตท.หรือบริษัทขุดเจาะ) รวมทั้งเรื่องที่ถ้าเราใช้ก๊าซไม่ครบตามสัญญาที่ได้ทำไว้ เราก็ต้องเสียค่า “ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย” แล้วในคราวนี้เป็นกรณีนี้ผู้ขุดเจาะก๊าซในทะเลจะต้องจ่ายค่า “ส่งไม่ได้ตามสัญญา” หรือไม่
ใครทราบบ้างครับ
ผมไม่เข้าใจจริง ๆ ว่า ทำไมสื่อกระแสหลักจึงคิดคำถามเหล่านี้ไม่ออกกันเลย
ในเรื่องค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ผมเองได้เขียนบทความและบรรยายหลายครั้ง (สื่อหลายสำนักก็ฟังอยู่) ว่า ในช่วง ๑๕ ปีมานี้ (๒๕๓๖ ถึง ๒๕๕๑) ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากประมาณร้อยละ ๑๐ เป็นร้อยละ ๒๐ ของจีดีพี ถ้าไม่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายการพัฒนาประเทศกันเลยแล้ว ในอีก ๑๕ ปีข้างหน้าค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าใด เราจะเอาเงินที่ไหนไปใช้จ่ายด้านการศึกษา การพัฒนาอื่น ๆ
ทำไมสื่อกระแสหลักจึงไม่ให้ให้ข้อมูลกับสังคมและสร้างกระแสสังคมให้มาร่วมกันขบคิดเพื่อปรับเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาประเทศ
หรือในประเด็นที่ทางกรรมาธิการต้านการคอร์รัปชันและเสริมสร้างธรรมาภิบาลของวุฒิสภา ได้ตั้งข้อสงสัยในเรื่องการประเมินราคาท่อก๊าซที่ไม่ชอบมาพากล รวมทั้งการกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปสูงกว่าประเทศสิงคโปร์ เป็นต้น
โปรดอย่าคิดว่าเป็นเรื่องเล็กเพราะส่วนต่างไม่กี่สตางค์ต่อลิตร แต่พี่ไทยเราบริโภคน้ำมันปีละกว่าสี่หมื่นล้านลิตรนะครับ แค่ค่าขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปจากสิงคโปร์ (แต่ไม่ได้มีการขนส่งจริง เพราะน้ำมันดิบส่วนหนึ่งขุดได้ในบ้านเราเอง) ก็ปาเข้าไปปีละเกือบ ๓ พันล้านบาทแล้ว
ท่านผู้อ่านอาจคิดว่า เรื่องที่ผมเล่ามาแล้ว ไม่เห็นจะตรงกับชื่อบทความที่ตั้งไว้เลย
ก็เป็นความจริงครับ แต่ก็เพราะสื่อกระแสหลักไม่ได้สนใจเรื่องที่ผมได้กล่าวมาแล้ว เรื่องสำคัญ ๆ ที่เป็นทางออกจากวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศเราจึงไม่ปรากฏต่อสาธารณะด้วย
เพื่อให้เราได้เห็นภาพของการสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นทางออกจากวิกฤติพลังงานของเพื่อนร่วมโลก (และเป็นทางออกของประเทศไทยด้วย) ผมขอนำเรื่องราวเกี่ยวกับโครงการสร้างกังหันลมในทะเลของประเทศเยอรมนีมานำเสนอบ้าง
ข่าวนี้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี้เอง ยังไม่สายกับข่าวที่ดี ๆ อย่างนี้
ฯพณฯ Sigmar Gabriel รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของสหพันธรัฐเยอรมนี (๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๒) ได้เปิดแถลงข่าวที่บริเวณก่อสร้างกังหันลม ในทะเลเหนือที่มีน้ำลึกถึง 30 เมตรโดยอยู่ห่างออกไปจากชายฝั่งเป็นระยะทางถึง ๔๕ กิโลเมตร
กังหันลมชุดนี้ประกอบด้วย ๑๒ ตัว ขณะนี้เสร็จและสามารถจ่ายกระแสไฟเข้าระบบแล้วจำนวน ๕ ตัว การก่อสร้างได้เริ่มขึ้นเมื่อกลางเดือนเมษายนปีนี้ โดยจะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคมปีนี้ แต่ละตัวมีกำลังการผลิต ๕ เมกะวัตต์ (ผมเข้าใจว่ามากที่สุดเท่าที่เคยมี) คาดว่าไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดปีละ ๒๒๐ ล้านหน่วย (ประมาณ ๐.๑๖% ของที่คนไทยใช้ทั้งประเทศ) ซึ่งจะเพียงพอสำหรับชาวเยอรมนี ๕ หมื่นครัวเรือนหรือ ๑ แสน ๕ หมื่นคน
ค่าก่อสร้างทั้งโครงการคิดเป็นเงินไทยประมาณ ๑๒,๕๐๐ ล้านบาท เส้นผ่าศูนย์กลางของใบพัดประมาณ ๑๑๖ เมตร น้ำหนักไม่รวมเสาตัวละ ๓๐๐ ตันกังหันจะเริ่มทำงานเมื่อลมมีความเร็ว ๓.๕ เมตรต่อวินาที และจะหยุดทำงานเมื่อความเร็วลมเกิน ๒๕ เมตรต่อวินาที
ข้อมูลความเร็วลมแถบชายฝั่งของประเทศไทยประมาณ ๕ เมตรต่อวินาที ซึ่งในทะเลความเร็วลมจะแรงกว่าชายฝั่ง
ข้อดีของการก่อสร้างกันหันลม คือใช้เวลาไม่นาน (๗ เดือนจากเมษายนถึงตุลาคม) ต่างจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากถ่านหินและก๊าซธรรมชาติซึ่งต้องใช้เวลานานถึง ๕-๖ ปี
ดีไม่ดี พอสร้างเสร็จเศรษฐกิจทรุด ส่งผลให้กำลังการผลิตเหลือถึง ๕๐% ในช่วงปี ๒๕๔๐ เป็นต้น
ปัจจุบันเยอรมนีผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมคิดเป็นประมาณ ๑๔% ของที่ใช้ทั้งประเทศ โดยเพิ่มขึ้นจากสองปีก่อนถึงเกือบ ๓%
ปัจจุบันพื้นที่บนบกของเยอรมนีไม่ค่อยจะเหลือให้สร้างกังหันลมได้อีกแล้ว จึงมีการส่งเสริมให้ไปสร้างในทะเล ทั้ง ๆ ที่การก่อสร้างจะแพงกว่าปกติ
แต่เขาก็สามารถทำได้โดยใช้กฎหมายฉบับหนึ่งที่เรียกว่า Feed in Law เนื้อหาสาระของกฎหมายฉบับนี้มีว่า ทุกคนที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน(ที่ไม่เป็นพิษ) ได้ หน่วยงานกลางที่จัดการไฟฟ้าต้องรับซื้อเพื่อนำเข้าสายส่งไปขายต่อให้ผู้บริโภค โดยมีสัญญารับซื้อประมาณ ๒๐ ปี ในช่วง ๕ ปีแรกให้ซื้อในราคาแพงหน่อย (เพื่อให้ได้ทุนคืนเร็ว ๆ) ทีใดที่มีการลงทุนสูง เช่น ในทะเล ก็ให้รับซื้อในราคาแพงหน่อย ที่ใดลมดีมากก็รับซื้อถูกลงหน่อย
เมื่อกลางปีที่แล้ว ได้มีการปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้ให้ดีขึ้น เช่น ฟาร์มใดใช้เทคโนโลยีไม่ทันสมัย ให้รื้อทิ้งเพื่อสร้างใหม่ แล้วจะรับซื้อไฟฟ้าในราคาที่แพงกว่าเดิม
โดยสรุปเขาออกกฎหมายเพื่อให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดสามารถแข่งขันได้กับถ่านหินที่ปล่อยมลพิษมาทำลายชุมชน ทำให้โลกร้อน
ต่างจากการบวกค่าไฟฟ้าเพิ่มเพียงอย่างเดียวในบ้านเราที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานมากเลยครับ
เรื่องแบบนี้ ถ้ามันเกิดขึ้นในบ้านเราสัก ๑๕% ของปริมาณไฟฟ้าที่คนไทยใช้จะเกิดอะไรขึ้น
คนไทยใช้ไฟฟ้าปีละ ๔ แสนล้านบาท ถ้าลดการใช้ก๊าซธรรมชาติ(ที่ผูกขาด) แล้วหันมาใช้พลังงานหมุนเวียน (เช่น ลม ชีวมวล ขี้หมู) สัก ๑๕% คิดเป็นเงินกระจายตัวปีละ ๖ หมื่นล้านบาท
สังคมนี้จะน่าอยู่ขึ้น จะมีการจ้างงานนับแสนตำแหน่ง มลพิษจะลดลงเยอะ
ทำไมสื่อกระแสหลักไม่เล่นเรื่องนี้บ้าง?