1. คำนำ
เมื่อกลางเดือนธันวาคม ปี 2552 ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุม “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” ในงานนี้ได้มีโอกาสฟังปาฐกถาจากประธานศูนย์ศึกษาประเทศภูฎาน คือท่าน Dasho Karma Ura
ท่านบรรยายพร้อมนำเสนอด้วยเพาเวอร์พอยต์จำนวนกว่าร้อยแผ่น แต่ท่านมีเวลาพูดน้อยมากเมื่อเทียบกับเนื้อหาที่มีทั้งความลึกซึ้งและทั้งกว้างขวางหลายมิติ ในระหว่างการบรรยาย ถึงแม้ว่าจะมีล่ามแปลเป็นภาษาไทย แต่ผมเรียนตามตรงว่า “ผมตามไม่ทันครับ” ไหนจะภาษาอังกฤษของผมซึ่งไม่แข็งแรงพอ ไหนจะความยากของเนื้อหา รวมทั้งประเพณีและวัฒนธรรม
บัดนี้เวลาได้ล่วงเลยมาพอสมควรแล้ว ผมก็ยังไม่เห็นสื่อกระแสหลักสำนักใดได้นำเรื่องที่น่าสนใจอย่างมากนี้มาเล่าใช้สาธารณะทราบเลย รวมทั้งยังไม่เห็นเอกสารสรุปเนื้อหาของผู้จัดประชุม
หัวข้อที่ท่านบรรยายคือ “ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับความสุขมวลรวมประชาชาติ (Introduction to Gross National Happiness-GNH)”
หลังจากที่ผมได้ค้นคว้าหาเอกสารของท่านรวมทั้งเอกสารอื่น ๆ ผมจึงขออาสานำมาเล่าให้ท่านผู้อ่านทราบเป็นการเบื้องต้น อย่างน้อยก็เพื่อให้บางท่านได้มีโอกาสทราบ แล้วช่วยกันค้นหาเพิ่มเติมมาสู่สังคมไทยในวงกว้าง หากผมเข้าใจอะไรผิดพลาดก็ต้องอภัยดัวยครับ
แต่ก่อนที่ผมจะลงไปในเนื้อหา ผมขอเสนอสไลด์ของท่านผู้บรรยายมาให้ชมกันก่อนสักรูป ซึ่งผมเพิ่งทราบความหมายเมื่อสักครู่นี้เองจาก youtube จากท่าน ว.วชิรเมธีที่ได้ไปเยือนประเทศภูฎานมานานครึ่งเดือน (ท่าน ว. ยืนยันว่าคนในประเทศเขาออกเสียงเรียกประเทศว่า ภู-ถาน ไม่ใช่ ภู-ทาน ตามราชบัณฑิตไทย) ชมภาพก่อนครับ
ภาพนี้เป็นปริศนาธรรม เป็นนิทานพื้นบ้านที่เกือบจะเป็นนิทานประจำชาติ เรื่อง “4 สหายสมานฉันท์” คือ ช้าง ลิง กระต่าย และ นก ต่างก็อยากจะกินผลไม้รสดีที่อยู่บนที่สูงมาก ลำพังสัตว์แต่ละตัวไม่สามารถเก็บมากินได้ ต่อให้เป็นช้าง หรือนกก็เถอะ ทางเดียวที่จะทำได้คือต้องต่อตัวกันดังในรูป
เรื่องนี้อาจเป็นคติเตือนใจสำหรับบ้านเราในปัจจุบันนี้ได้ เขียนมาถึงนี้ทำให้นึกถึงนิทานการเมืองเรื่อง “ลิงกับเต่า” ที่ผมได้เล่าไว้เมื่อหลายปีแล้ว (ค้นได้จาก google.com)
2. ทำไม จีดีพีจึงใช้วัดความสุขไม่ได้?
ในขณะที่ประเทศไทยนิยมวัดความก้าวหน้าในการพัฒนาประเทศโดยใช้จีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ-Gross National Products- หรือรายได้ประชาชาติตามนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักของโลก) ท่านกรรมา อุระ (Karma Ura - คำว่า Dasho เป็นตำแหน่งอะไรสักอย่างซึ่งประธานที่ประชุมบอกแล้วแต่ผมฟังไม่ทัน) เห็นว่า จีดีพีไม่สามารถวัดสิ่งที่เป็นเชิงคุณภาพ เช่น ความสุขและความมีสวัสดิภาพที่ดี (well-being) ได้ นอกจากนี้ยังไม่สามารถวัดคุณค่าของการใช้ “เวลาว่าง” เช่น การชื่นชมงานศิลป์ เป็นต้น
สิ่งที่น่าคิดก็คือ จีดีพี ไม่นับรวมการทำงานทั้งหลายที่ไม่ได้รับเงิน เช่น งานแม่บ้าน ทำกับข้าว ล้างจาน ดูแลเด็ก-คนแก่ ในครัวเรือนด้วย
เล่ามาถึงตรงนี้ ผมขอขยายความด้วยความคิดของ โจเซฟ สติกลิตซ์ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ซึ่งได้ยกตัวอย่างให้เราเห็นความล้มเหลวของการยึดจีดีพีเป็นหลักว่า ถ้ามีการสลับแม่บ้านกันทำงานพร้อมกับจ่ายค่าจ้างให้กันและกัน จะทำให้จีดีพีของประเทศนั้นเพิ่มขึ้นเยอะเลย
ในประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างความสุขกับจำนวนชั่วโมงที่ใช้ในการทำงาน และรายได้ที่รับของคนในแต่ละวัย (ตั้งแต่น้อยกว่า 15 ปีจนถึงมากกว่า 75 ปี) ท่านกรรมา อุระ ได้นำเสนอให้เราต้องประหลาดใจว่า ในช่วงที่คนเรามีรายได้สูงสุดในชีวิตกลับเป็นช่วงที่คนมีความสุขน้อยที่สุด ดังแสดงในกราฟข้างล่างนี้
จากกราฟเราจะเห็นว่า ในช่วงที่คนเรามีรายได้สูงสุดและมีชั่วโมงทำงานมากที่สุด (คือช่วงอายุ 36 ถึง 45 ปี) นั้น เป็นช่วงที่ความสุขของคนเราน้อยที่สุด
เรื่องนี้ก็คล้าย ๆ กับประโยคที่คนค่อนไปทางวัยชราพูดกันบ่อย ๆ ว่า “ตอนที่ผมอยากกิน ผมไม่มีเงินพอจะซื้อ แต่พอถึงตอนที่ผมมีเงินซื้อ หมอบอกว่ากินไม่ได้”
3. องค์ประกอบหลัก 9 ด้านของจีเอ็นเอช (GNH)
เท่าที่ผมค้นเจอพบว่า แนวคิดเกี่ยวกับความสุขมวลรวมประชาชาติของประเทศภูฎาน (ประเทศเล็ก ๆ ที่มีประชากรประมาณ 6 แสนคน อยู่ทางเหนือประเทศอินเดียแต่อยู่ใต้ประเทศจีน) ได้ริเริ่มมาประมาณ 37 ปีมาแล้ว เพื่อที่จะพยายามให้ความหมายเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตของชาวภูฎาน แต่เพิ่งมาประกาศใช้เป็นดัชนีชีวัดอย่างเป็นทางการเมื่อปลายปี 2551 ในสมัยพระมหากษัตริย์หนุ่มที่คนไทยเราให้ชื่นชมในพระราชจริยวัติ (สมัยที่ยังเป็นมกุฎราชกุมารภูฎาน) เป็นอย่างมาก (His Majesty Jigme Khesar Namgyel Wangchuck)
ย้อนไปเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว นักคิดนักเคลื่อนไหวในสังคมไทย (รวมทั้งองค์การอนามัยโลกด้วย) ได้ริเริ่มนำคำว่า “สุขภาวะ” ซึ่งหมายถึง สภาวะที่เป็นสุข 4 ด้าน คือ สุขกาย สุขใจ สุขทางสังคม และสุขทางปัญญา ซึ่งถือเป็นแนวคิดที่กว้างขวางกว่าแนวคิดเรื่องจีดีพีมาก อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้ถือว่ายังไม่ชัดเจนพอเมื่อเทียบกับแนวคิดของประเทศภูฎานซึ่งจะกล่าวถึงต่อไปนี้
แนวคิด NGH มีองค์ประกอบทั้ง 9 ด้าน (หรือ 9 โดเมน-domain) พร้อมระดับความสำคัญที่วัดเป็นร้อยละที่ส่งผลต่อความสุข (เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย) ได้แสดงไว้ในตาราง
องค์ประกอบ |
ร้อยละ |
1. การใช้เวลา (Time-use) ทั้งการทำงานที่ได้เงินและไม่ได้เงิน การนอน |
13 |
2. ธรรมาภิบาล (Good governance) ความเชื่อมั่นในองค์กรรัฐ การคอร์รัปชัน |
12 |
3. สุขภาพ (Health) |
12 |
4. วัฒนธรรม (Culture) |
12 |
5. ความเข้มแข็งของชุมชน (Community vitality) |
12 |
6. มาตรฐานการดำเนินชีวิต (Living standards) |
11 |
7. ความรู้สึกมีสวัสดิภาพ (Psychological wellbeing) |
11 |
8. นิเวศวิทยา (Ecology) |
10 |
9. การศึกษา (Education) |
7 |
รวม |
100 |
จากตารางเราพบว่า การใช้เวลาเป็นปัจจัยที่มีผลต่อความสุขของคนเรามากที่สุด มากกว่าการศึกษา (ซึ่งน้อยที่สุด) ถึงเกือบเท่าตัว
ผมพยายามค้นหารายละเอียดในแต่ละด้านพบว่า ในแต่ละด้านมีความลึกซึ้งมากครับ ผมเองนอกจากจะไม่มีความสามารถในภาษาอังกฤษที่ดีพอแล้ว ผมยังไม่มีความลึกซึ้งในวิชาการที่เกี่ยวข้องมากพอครับ ผมทราบจากประธานที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติว่า ขณะนี้มีกลุ่มคนไทยกลุ่มหนึ่งกำลังศึกษาเรื่องนี้อยู่ ผมอยากเห็นผลงานเร็ว ๆ ครับ เช่น
ในด้านการศึกษา เขามุ่งไปที่การสอนให้เด็ก มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ความมีหัวใจที่เปิดกว้าง ความขยัน ความลึกซึ้งภายใน และความอดทน
ผมพบคำพูดของคนบางคนที่วิจารณ์การศึกษาในกระแสหลักว่า “จุดสนใจของการศึกษาในกระแสหลัก มุ่งเน้นไปที่ การเปลี่ยนเด็กให้เป็นหน่วยที่มีประสิทธิภาพ แทนที่จะสอนให้เป็นผู้ใหญ่ที่มีความกระตือรือร้นและความมีจิตใจเปิดกว้าง”
ในด้านวัฒนธรรม เขามีตัวชี้วัดตัวหนึ่ง(มีหลายตัว)ว่า คนเราแต่ละคน “สามารถบอกชื่อทวดของตนเองได้ครบทั้ง 4 คนหรือไม่” (ผมเองบอกได้แค่ 3 คนเองครับ)
ในด้านธรรมาภิบาล เขาจะถามถึงความเชื่อมั่นต่อศาล ตำรวจ ฯลฯ พบว่าคนภูฎานมีความเชื่อมั่นต่ออาชีพตำรวจสูงที่สุด (เหมือนคนอังกฤษเลย)
ในด้านนิเวศวิทยา เขาถามถึงการรู้จักชื่อพืช-สัตว์มากน้อยแค่ไหน เป็นต้น
ตัวชี้วัดทั้งหมดมี 72 ตัวครับ จากนั้นนำตัวชี้วัดวัดเหล่านี้มาคำนวณด้วยวิธีการทางคณิตศาสตร์ (ซึ่งผมเองยังไม่เข้าใจครับ ทั้ง ๆ ที่เป็นนักคณิตศาสตร์)
4. สรุป
สุดท้าย ผมเข้าใจแล้วครับว่า ทำไมนักข่าวกระแสหลักจึงไม่ทำรายงานเรื่องนี้มาให้สาธารณะได้อ่านกัน เพราะมันเข้าใจยากนี้นี่เอง!
ผมจะพยายามต่อไปครับ เพราะรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ดีและมีความสุขที่ได้อ่านเรื่องแบบนี้ครับ