Skip to main content

ผมว่างเว้นจากการเขียนบทความมานานกว่าสองเดือนแล้ว จนอันดับบทความของผมที่เรียงตามเวลาที่เขียนในเว็บไซต์ “ประชาไท” ตกไปอยู่เกือบสุดท้ายของตารางแล้ว สาเหตุที่ไม่ได้เขียนเพราะผมป่วยเป็นโรคที่ทันสมัยคือ “โรคคอมพิวเตอร์กัด” ครับ มันมีอาการปวดแสบปวดร้อนไปทั่วทั้งหลัง พอฝืนทนเข้าไปทำงานอีกไม่เกินห้านาทีก็ถูก “กัด” ซ้ำอีก ราวกับมันมีชีวิตแน่ะ

ที่นำเรื่องนี้มาเล่าก่อนในที่นี้ไม่ใช่อยากจะเล่าเรื่องส่วนตัว แต่อยากนำประสบการณ์ที่ผิดๆ ของผมมาเตือนท่านผู้อ่านโดยเฉพาะคนที่อยู่ในวัยหนุ่มสาว ท่านผู้อ่านที่สนใจจะเก็บเรื่องของผมไปเป็นบทเรียน โปรดอ่านที่หมายเหตุในตอนท้ายบทความนี้ก็แล้วกันครับ

เมื่อเริ่มกลับมาเขียนใหม่ จะเขียนเรื่องพลังงานตามที่สนใจก็ขาดข้อมูล เพราะไม่ได้ติดตามมานาน จึงขอนำเรื่องใกล้ๆตัวมาเล่าสู่กันฟังก็แล้วกันครับ คือเรื่องงานปัจฉิมนิเทศนักศึกษาของภาควิชาทีผมทำงานอยู่ คือภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

ปีนี้เรามีว่าที่บัณฑิตประมาณ 90 คน แต่เข้าร่วมงานได้จริงเพียง 75 คน บางคนติดสอบเรียนต่อ บางคนญาติเสียชีวิต บางคนเบี้ยวเอาดื้อๆ สิ่งที่ผมจะนำมาเล่าเป็นเพียงบางส่วนของงาน ไม่ใช่ทั้งหมด

ในช่วงเช้าภาควิชาฯได้เชิญอาจารย์สถาพร ศรีสัจจัง ซึ่งเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ มาบรรยายเรื่อง “เติมเต็มประสบการณ์ชีวิต จากศิลปินแห่งชาติ ถึง บัณฑิตวิทยาศาสตร์”

ความจริงแล้วอาจารย์สถาพร พักอาศัยอยู่ในวิทยาเขตเดียวกับว่าที่บัณฑิตมาร่วม 30 ปีแล้ว แต่ทั้งอาจารย์และนักศึกษาเกือบทั้งหมดของภาควิชาไม่มีใครรู้จักอาจารย์สถาพรมาก่อน ทั้งๆ ที่เป็นคนดังระดับชาติ

ex1

ex2

อาจารย์สถาพรเริ่มต้นด้วยความคาดหวังว่านักคณิตศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์จะต้องสามารถนำวิชาการที่ร่ำเรียนมาไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศได้ พร้อมเล่าว่าตนในฐานะที่เล่าเรียนมาทางสังคมศาสตร์แต่มีความประทับใจนักคณิตศาสตร์อยู่ 3 ท่าน

ท่านแรกคือ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ อาจารย์สถาพรได้บอกว่าท่านประทับใจประโยคที่ว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” แล้วอาจารย์ก็เชื่อมโยงไปถึงความแตกต่างระหว่างงานเขียนทางวิทยาศาสตร์กับงานวรรณกรรม 

งานเขียนทางวิทยาศาสตร์เป็นงานเขียนที่เกี่ยวกับความจริงและความคิดสร้างสรรค์ แต่งานทางวรรณกรรมนั้นนอกจากต้องมีความจริงและความคิดสร้างสรรค์แล้วต้องมีอารมณ์ด้วย (ผมไม่แน่ใจว่าฟังมาถูกหรือไม่) ท่านเขียนเป็นสมการว่า


Scientific writing = Fact + Creation

Literary writing = Fact + Creation + Emotion


นักวิทยาศาสตร์ท่านที่สองคือ ฟริตจ๊อฟ คาปร้า ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “เต๋าแห่งฟิสิกส์” ที่สามารถนำหลักการทางวิทยาศาสตร์มาเปรียบเทียบกับหลักการทางศาสนาพุทธนิกายเซน

นักคณิตศาสตร์ท่านที่สามที่อาจารย์สถาพรประทับใจมาก คือ อาจารย์ธีรยุทธ บุญมี แล้วท่านก็เล่าประวัติอาจารย์ธีรยุทธให้นักศึกษาฟังว่า เป็นคนที่สอบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ได้ที่หนึ่งของประเทศไทยรุ่นเดียวกับท่านและรุ่นเดียวกับผมด้วย อาจารย์ธีรยุทธ จบปริญญาตรีทางวิศวกรรม เป็นคนที่ชอบคณิตศาสตร์มาก ทุกวันนี้แม้จะเป็นนักมานุษยวิทยาแต่ก็ยังสนใจอ่านตำราคณิตศาสตร์อยู่เป็นประจำ

ตอนที่อาจารย์ธีรยุทธมาประชุมเตรียมงานรำลึก 25 ปี 14 ตุลา หลังการประชุมเครียดๆ อาจารย์ธีรยุทธจะขอคลายเครียดด้วยการคุยเรื่องเบาๆ เช่น เรื่องคณิตศาสตร์ ผมเองถูกอาจารย์สถาพรแนะนำให้คุยกับอาจารย์ธีรยุทธ ปรากฏว่าเรื่องที่อาจารย์ธีรยุทธสนใจคือ Differential geometry ผมเองไม่รู้เรื่องเลยครับ

อาจารย์สถาพรเล่าว่า อาจารย์ธีรยุทธเคยบอกว่า “สถาพร นายมีหน้าตาคล้ายกับนักคณิตศาสตร์คนหนึ่ง แต่นึกชื่อไม่ออกวะ”
ในวันนั้น โดยบังเอิญผมพกหนังสือคณิตศาสตร์อยู่เล่มหนึ่ง(ซึ่งผมกำลังแปลให้มูลนิธิเด็ก) ผมก็รีบคว้าออกมาแล้วฉายภาพให้ดูทันที ดังในภาพข้างล่างนี้

ex3

เหมือนไหมครับ?

นักคณิตศาสตร์คนนี้เป็นชาวกรีกชื่อ Thales of Miletos (เกิด 624 ปีก่อนคริสต์ศักราช – ก่อนพีทากอรัสที่คิดเรื่องสามเหลี่ยมมุมฉากเกือบร้อยปี) เขาเป็นผู้นำเรขาคณิตของชาวอียิปต์มาอธิบายปรากฏการณ์ของธรรมชาติ (ตามที่อาจารย์สถาพรคาดหวัง)

เล่ามาถึงตอนนี้ก็นึกขึ้นมาได้ว่า อาจารย์ธีรยุทธเป็นจิตกรวาดรูปสีน้ำฝีมือดีด้วย และต้องขอชื่นชมอาจารย์ธีรยุทธว่านอกนอกจะเป็นคนที่ดื่มด่ำกับคณิตศาสตร์แล้วยังเป็นคนช่างสังเกตมากทีเดียว

ในฐานะนักเขียนและสอนวิชาที่เกี่ยวกับการเขียน อาจารย์สถาพรได้บอกหลักการเกี่ยวกับการเขียนหนังสือว่า “เขียนตามแนวของหนังสือที่เราชอบที่สุด แต่ต้องเขียนให้ดีกว่า และถ้าไม่รู้จะเขียนอะไรก็ให้เขียนเกี่ยวกับตัวเอง”

ในตอนท้ายท่านได้ร่ายบทกวีที่เขียนเกี่ยวกับตัวเองให้ที่ประชุมฟัง แม้จะเป็นเรื่องของตัวเองแต่ก็อยู่ในประเด็นที่ท่านนำเสนอ หลังจากจบการบรรยายแล้วมีอาจารย์ผู้หญิง 3 คนมาเล่าให้ผมฟังอย่างสั้นๆ ว่า “เมื่อกี้หนูน้ำตาซึมเลยคะ”

ก่อนจะร่ายบทกวีดังกล่าว อาจารย์สถาพรได้เล่าเหตุการณ์ประกอบว่า วันนั้นเป็นวันเกิดครบ 3 ขวบของลูกชาย ตนได้สัญญากับลูกชายว่าจะพาลูกไปกินไอศครีม แต่เนื่องจากวันนั้นมีเพื่อนมาหา (คือหงา คาราวาน) กว่าจะนึกว่ามีนัดกับลูกชายก็ปาเข้าไป 3 ทุ่มแล้ว มาถึงบ้านก็เกือบ 4 ทุ่ม ลูกชายเพิ่งเข้าไปนอน

อาจารย์สถาพรรู้สึกผิดมาก จึงหยิบกระดาษขึ้นมาเขียนบทกวี ท่ามกลางแสงจันทร์นอกบ้าน เพื่อบอกเล่าเรื่องราวต่างๆให้ลูกชายทราบ ผมนึกในใจว่าคงจะเขียนขอโทษมั่ง แต่แล้วมันเป็นมากกว่านั้น ตั้งแต่ความหมายและที่มาของชื่อลูกชายที่คนมักเรียกว่า “เมา” รวมถึงสภาพสังคมที่ค่อนข้างมืดมิดในยามนั้น (ปี 2528)

บทกวีนี้ค่อนข้างยาวครับ ผมจำไม่ได้ ถ้าจะไม่กล่าวถึงก็รู้สึกเสียดาย จึงพยายามค้นหาจากเว็บไซต์ ในที่สุดก็พบจนได้ จึงขอลอกมาใส่ไว้ที่นี่ หากผิดพลาดประการใด ขออภัยด้วย บทกวีนี้ชื่อ “ตำนานดาว” ครับ

“ตำนานดาว”

หนึ่ง
พ่อนั่งดูดาวเมื่อดื่นดึก
พ่อหวนย้อนนึกถึงคืนหนาว
ครั้งกระโน้นนานแล้ว - ตำนานดาว
ก่อสานเรื่องราวขึ้นมา ฯ

สอง
สันดอยภูเหนือเมื่อครั้งนั้น
หวนถึงคืนวันยังคงค่า
ภาพเพื่อนพ่อ - ลุงเจ้า, ยังแจ่มตา
ยัังแต้มติดทาในหัวใจ

ลุงเจ้าดั่งดาวคืนเดือนดับ
พรายแสงวับวับให้ฟ้าใส
ส่องพื้นทึมทึบสู่ทางไท
สาดชี้ทางชัย - ประชาชน

นานนัก - นานเนิ่น, เมื่อครั้งนั้น
ช่วงแห่งคืนวันแผ่นดินหม่น
ลุงเจ้ากับพ่อ - เพียงสองคน
ทอดเท้าดั้นด้นบนป่าภู

เป็นฤดูเต็งรังปลิดใบร่วง
ลมเหนือทิ้งช่วงอยู่หวิวหวู
ฟ้าดำเดือนดับ - ไม่น่าดู
พ่อกับลุงเจ้าอยู่ที่หน้าปาง

ลุงเจ้าก่อไฟไล่ลมหนาว
พ่อนั่งดื่มเหล้าอยู่ข้างข้าง
ไม้เกี๊ยะเชื้อไฟที่สุมวาง
โชนแสงสว่างขึ้นวาววาว

เหมยหนาหมอกหนักที่ภูเหนือ
บาดริ้วผิวเนื้อจนเหน็บหนาว
หัวดึกค่ำนี้ - ไม่มีดาว
ทั่วแดนแผ่นด้าวจึงด่างดำ

บัดดลเกิดดาว - ที่ราวฟ้า
ดวงเดียว, แต้มตา - แต้มฟ้าค่ำ
ลุงเจ้าเพ่งมองแล้วพึมพำ
ขณะพ่องึมงำ - ท่องบ่นเพลง

เป็นเพลงชาวเขา - เผ่ายางขาว
พ่อร้องเศร้าเศร้า - ไม่เร้าเร่ง
ลุงว่าพ่อเสียงกร้านยานโตงเตง
เลยร้องเสียเองให้พ่อฟัง

ว่า "ฌาโป ดาวน้อยนั่นลอยฟ้า
ไยมิร่วงลงมาแผ่นดินมั่ง
ให้คนจนคนทุกข์ได้ประทัง
อิ่มแววสุกปลั่งอันเปล่งทอ"

ลุงเจ้าร้องจบแล้วจิบเหล้า
ทอทอดตาวาวมาที่พ่อ
บอก "หากมีเวลาเนิ่นยาวพอ
มีลูกชายจะขอ ให้ชื่อฌา

ฌา คือนิมิตรดาวแห่งชาวบ้าน
ที่มือหนาตีนด้านทุกย่านท่า"
นานนักพ้นผ่านเนิ่นนานมา
คำลุงเจ้า, คุณค่า - หรือยังคง

ยังคงคุณค่าแห่งความหวัง
ที่เปี่ยมด้วยพลังอันสูงส่ง
และเมื่อลุงเจ้าอุทิศชีวิตลง
หรือสิ้นเจตจำนง แต่เพียงนั้น ฯ

สาม
พ่อนั่งดูดาวในคืนนี้
วูบคิดทุกทีแล้วหวั่นหวั่น
กับความคาดหวังไปวันวัน
จักได้ใดกันกลับคืนมา

ลุงเจ้านั้นกล้าจนดูกร้าน
ใจซื่อทุกด้าน - ใครรู้ค่า
ตาจริงลุงเจ้ายังติดตา
พ่อของเจ้ามา - จนบัดนี้

ฌาโป - โตเติบจะเต็มร่าง
สามขวบผ่านย่างเข้าสู่สี่
พ่อทำใดได้ - ยังไม่มี
ให้แผ่นดินที่เจ้าเติบโต

ประชาสามัญยังรันทด
คนโกงคนคดยังอ่าโอ่
และเข็มแห่งนาฬิกายังเฉโก
ยังอดโซเวลานาที

ดอกไม้ยังมิได้บานดอกกว้าง
ดินดอนยังด่างยังร้างสี
มันสมองหัวใจ - ยังขายดี
แพร่พันธุ์อึ้งมี่ทั้งแผ่นดิน

พ่อนั่งดูดาวในคืนนี้
เห็นแววหม่นมีไม่รู้สิ้น
หรือคนต้องราดน้ำตาริน
ลงรดแผ่นดินอีกเนิ่นยาว ฯ

สี่
พ่อนั่งดูดาวเมื่อดื่นดึก
ใครบ้างหนอนึกถึงคืนหนาว
ใครหนอจักสาน - ตำนานดาว
พ่อหวัง, เพียงเจ้า - ได้รู้จำ

รำลึก นิสิต จิระโสภณ - ในวันครบ ๓ ปีของลูกชาย
"ฌาโป"
๒๕๒๘
จากหนังสือ "ทะเล ป่าภู และเพิงพัก"
โดย พนม นันทพฤกษ์


ในตอนท้ายของการบรรยาย อาจารย์สถาพรได้มอบคาถา 2 ข้อให้นักศึกษา คือ
(1) อย่าเอาเรื่องเล็กมาบดบังเรื่องหลักการ พร้อมยกตัวอย่างประกอบที่เข้าใจง่ายและเห็นภาพชัดเจน
(2) จงเข็มงวดต่อตนเอง แต่ผ่อนปรนต่อผู้อื่น
หลังการบรรยายอาจารย์หลายท่านบอกผมว่า “เราน่าจะเชิญอาจารย์มาปฐมนิเทศด้วยนะ”

ในภาคบ่ายและภาคกลางคืน งานปัจฉิมนิเทศได้ย้ายไปจัดที่เกาะแห่งหนึ่งในทะสาบสงขลา ผมเองได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรด้วย ในหัวข้อเรื่อง “เล่าคร่าวๆให้เจ้าฟัง” ผมเตรียมไป 3 เรื่อง คือ (1) ปัญหาในทะเลสาบสงขลาและโครงการธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลา (ที่ผมเขียนเป็นหนังสือแล้ว) (2) ประสบการณ์ในช่วง 4 ปีแรกของการก่อตั้งมหาวิทยาลัย และ (3) บุคคลที่น่าสนใจ อาจารย์ที่จุดประกายให้ผมเป็นคนชอบคิด นอกจากนี้ผมยังเล่าถึงคนร่วมสมัย เช่น คุณมด (วนิดา) และรวมถึงคุณวิจักษณ์ พานิช คอลัมนิสต์ประชาไทด้วย

แต่ละเรื่อง ผมเล่าคร่าวๆ ด้วยหวังว่าจะให้นักศึกษาถามแล้วได้ขยายความ ปรากฏว่านักศึกษาไม่ถามเลยครับ นักศึกษาระดับเกียรตินิยมอันดับหนึ่งคนหนึ่ง กล่าวกับผมในตอนดึกว่า “ความรู้ทั่วไปของหนูมีน้อยมาก หนูไม่ได้อ่านหนังสืออื่นเลยนอกจากตำราเรียน”

ผมนั่งดูกิจกรรมของนักศึกษาอย่างครุ่นคิดตลอดรายการ แต่พอถึงตอนการแสดงบนเวทีของนักศึกษา ผมทนดูได้เพียงครึ่งฉากเท่านั้น เพราะเน่าพอๆกับละครทีวี
ผมพูดกับตนเองว่า “ถ้าเป็นอย่างนี้ คงต้องคิดการใหญ่ สงสัยต้องทำอะไรสักอย่างแล้วมั่ง”

หมายเหตุ : สาเหตุการป่วยของผม 
บ่อยครั้งมากที่ผมใช้คอมพิวเตอร์วันละกว่านับสิบชั่วโมง โดยแทบไม่หยุดเลยยกเว้นเวลากินข้าวและเข้าห้องน้ำ นอกจากนี้ผมยังวางแป้นพิมพ์ไม่ถูกวิธีอีกต่างหาก กล่าวคือวางเอียงไปทางซ้ายแทนที่จะตรงกลางเพราะโต๊ะทำงานผมรกมาก และวางแป้นพิมพ์สูงกว่าระดับข้อศอกแทนที่จะให้ข้อศอกสูงกว่าเล็กน้อย

แรกๆ สายตาของผมมันออกมาเตือนก่อน ด้วยอาการแสบตา น้ำตาไหล ผมก็แก้ไขด้วยการเปลี่ยนแว่น เปลี่ยนจอให้ใหญ่และชัดขึ้น ตาก็รอดไปได้สักพักหนึ่ง แต่แล้วหลังก็มารับเคราะห์กรรมแทน

หลังจากปวดหลังอย่างชนิดที่มิอาจทนทานต่อไปได้แล้ว ลูกศิษย์ลูกหาที่เป็นแพทย์ก็สั่งให้ผมไปโรงพยาบาล ตรวจไปตรวจมาหลังจากต้องเข้าอุโมงค์เพื่อทำ MRI แล้วก็พบโรคใหม่ คือหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท อาการสำคัญของโรคนี้คือมีอาการชาที่ปลายมือข้างซ้าย (ข้างที่ทับ) สิ่งที่หมอกังวลก็คืออาการอ่อนแรงซึ่งขณะนี้ยังไม่มีครับ

ผมเข้าใจว่าสาเหตุมาจากการที่ผมชอบทำอะไรเอียงไปทางซ้ายเป็นเวลายาวนานมากแล้ว ตอนนี้หมอสั่งให้ทำกายภาพบำบัดด้วยการดึงคอและทำกายบริหารทุกวัน ถ้าอาการไม่ดีขึ้นก็อาจจะต้องผ่าตัด ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่น่ากลัว เพราะคอเป็นที่รวมของเส้นประสาท แต่ทราบว่าในปัจจุบันนี้เขามีเทคโนโลยีใหม่ที่ผ่าตัดผ่านกล้องที่ทำให้เกิดแผลขนาดเล็กเท่าด้ามดินสอ ไม่ต้องเปิดแผลใหญ่เหมือนแต่ก่อน ปลอดภัยกว่า อยู่โรงพยาบาลแค่คืนเดียว

อีกครั้งครับ ที่เล่ามาทั้งหมดก็เพราะไม่อยากให้คนหนุ่มคนสาวต้องผิดพลาดซ้ำรอยผม ขอได้โปรดให้ความสำคัญกับการป้องกันไว้ก่อนด้วยการอย่าหักโหมเกินไป รู้จักพักทุกชั่วโมง รู้จักการออกกำลังกายและกายบริหารเหมือนกับตอนที่เราเคยเรียนในชั้นประถม ร่างกายของเราสมดุลอยู่ได้ ด้วยกระดูก กล้ามเนื้อและเอ็น ถ้าสามอย่างนี้หนุนช่วยกัน โอกาสที่จะเป็นเหมือนผมก็น้อยลงครับ

ขอบคุณครับที่อ่านมาถึงตรงนี้

บล็อกของ ประสาท มีแต้ม

ประสาท มีแต้ม
    “คดีโลกร้อน” เป็นชื่อที่ใช้เรียกคดีที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นโจทก์ฟ้องผู้บุกรุกป่า ผู้บุกรุกต้องชดใช้ค่าเสียหาย  ที่ผ่านมามีเกษตรกรถูกฟ้องดำเนินคดีไปแล้วหลายสิบรายทั่วประเทศ ในช่วงปี 2549-52 ในจังหวัดตรังและพัทลุงมีราษฎรถูกดำเนินคดีไปแล้ว 13 ราย ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว 7 ราย และอยู่ระหว่างดำเนินคดี 6 ราย กรมอุทยานฯ ได้เรียกค่าเสียหาย 20.306 ล้านบาท แต่ศาลพิพากษาให้จ่าย 14.76 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี
ประสาท มีแต้ม
    ขณะนี้รัฐบาลกำลังคิดค้นโครงการประชานิยมหลายอย่าง คาดว่าจะประกาศรายละเอียดภายในต้นปี 2554   ทั้งนี้เพื่อรองรับการเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี ทำไปทำมานโยบายประชานิยมที่เริ่มต้นอย่างประปรายตั้งแต่รัฐบาลคึกฤทธิ์ ปราโมช (2518) และเริ่มเข้มข้นมากขึ้นในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จะเป็นสิ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้เสียแล้ว บทความนี้จะกล่าวถึงนโยบายประชานิยมในเรื่องค่าไฟฟ้าสำหรับผู้อยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้ารายย่อยไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน โครงการนี้เกิดในสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช (2551) และใช้ต่อกันมาจนถึงรัฐบาลปัจจุบันและในอนาคตด้วย ผมได้มีโอกาสคุยกับผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยในชนบท…
ประสาท มีแต้ม
    คำนำ เป็นที่ทราบกันทั่วไปแล้วว่า ขณะนี้สังคมไทยเรากำลังมีความขัดแย้งรุนแรงครอบคลุมเกือบทุกพื้นที่ของประเทศ จนรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปขึ้นมาหลายชุด หนึ่งในนั้นคือ คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) โดยมีคุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน เมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการชุดนี้ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นขึ้น โดยขึ้นคำขวัญซึ่งสะท้อนแนวคิดรวบยอดของการปฏิรูปประเทศไทยว่า “ลดอำนาจรัฐ ขจัดความเหลื่อมล้ำ” ผมเองได้ติดตามชมการถ่ายทอดโทรทัศน์จากรายการนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ ได้ทราบถึงเจตนารมณ์ในการรับฟังความคิดเห็น ได้ชมวีดิทัศน์ที่บอกถึง “ความเหลื่อมล้ำ” …
ประสาท มีแต้ม
  “...ถ้าอุณหภูมิผิวน้ำทะเลสูงขึ้น 1 องศาเซียลเซียส ความถี่ที่จะเกิดพายุชนิดรุนแรงจะเพิ่มขึ้นอีก 31% ... ในปี พ.ศ. 2643 อุณหภูมิดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 2 องศา”   “ผลการวิจัยพบว่า ค่าความเสียหายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจจะมากกว่าผลผลิตทางเศรษฐกิจของคนทั้งโลก ทั้งนี้ภายในก่อนปี พ.ศ. 2608”  
ประสาท มีแต้ม
ขณะนี้ทางรัฐบาลโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (หรือ กฟผ.) กำลังเสนอให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ขนาด 700 เมกกะวัตต์  ชาวหัวไทรที่ไม่คุ้นเคยกับเรื่องนี้อาจเกิดความสงสัยหลายอย่าง เป็นต้นว่า 1.โรงไฟฟ้าขนาด 700 เมกกะวัตต์นั้น มันใหญ่เท่าใด ไฟฟ้าที่ผลิตมาได้จะใช้ได้สักกี่ครอบครัวหรือกี่จังหวัด
ประสาท มีแต้ม
    คำว่า “ไฟต์บังคับ” เป็นภาษาในวงการมวย  หมายความว่าเมื่อนักมวยคนหนึ่ง(มักจะเป็นแชมป์) ถูกกำหนดโดยองค์กรที่เกี่ยวข้องว่า ครั้งต่อไปนักมวยคนนี้จะต้องชกกับใคร จะเลี่ยงไปเลือกชกกับคนอื่นที่ตนคิดว่าได้เปรียบกว่าไม่ได้
ประสาท มีแต้ม
  ๑.  คำนำ บทความนี้ประกอบด้วย 6 หัวข้อย่อย ท่านสามารถอ่านหัวข้อที่ 6 ก่อนก็ได้เลย เพราะเป็นนิทานที่สะท้อนปัญหาระบบการศึกษาได้ดี เรื่อง “โรงเรียนสัตว์”   ถ้าท่านรู้สึกสนุกและเห็นคุณค่าของนิทานดังกล่าว (ซึ่งทั้งแสบ ทั้งคัน) จึงค่อยกลับมาอ่านหัวข้อที่ 2  จนจบ หากท่านไม่เกิดความรู้สึกดังกล่าว  ก็โปรดโยนทิ้งไปได้เลย ๒. ปัญหาของการศึกษากระแสหลักคืออะไร
ประสาท มีแต้ม
1. คำนำ ชื่อบทความนี้อาจจะทำให้บางท่านรู้สึกว่าเป็นการทอนพลังของการปฏิรูป ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ แต่ผมขอเรียนว่า ไม่ใช่การทอนพลังครับ แต่เป็นการทำให้การปฏิรูปมีประเด็นที่เป็นรูปธรรม สัมผัสได้ชัดเจน สามารถปฏิบัติได้ง่าย รวดเร็ว  เมื่อเทียบกับการปฏิรูปมหาวิทยาลัย ปฏิรูปการศึกษาที่ต้องใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล ผมได้ตรวจสอบประเด็นของการปฏิรูปของคณะกรรมการชุดที่คุณหมอประเวศ วะสี เป็นประธานแล้วพบว่า ไม่มีประเด็นเรื่องนโยบายพลังงานเลย บทความนี้จะนำเสนอให้เห็นว่า (1) ทำไมจะต้องปฏิรูปนโยบายพลังงานในทันที  (2) จะปฏิรูปไปสู่อะไร และ (3) ทำอย่างไร เริ่มต้นที่ไหนก่อน  …
ประสาท มีแต้ม
“ในการเดินทาง เรามักใช้ยานพาหนะช่วย   แต่ในการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical) เราใช้อะไรเป็นเครื่องมือหรือเป็นพาหนะ”
ประสาท มีแต้ม
“คุณรู้ไหม คนเราสามารถคิดได้เร็วกว่าที่อาจารย์พูดถึงสี่เท่าตัว ดังนั้น เราสามารถฟังและจดโน้ตดี ๆ ได้”   1.    คำนำ ในแต่ละปีผมพบว่า นักศึกษาชั้นปีที่หนึ่ง (ซึ่งยังสด ๆ และมองชีวิตในมหาวิทยาลัยแบบสดใสอยู่) จำนวนมากใช้วิธีจดเลคเชอร์ของแต่ละวิชาลงในสมุดเล่มเดียวกัน  เมื่อสอบถามได้ความว่า ค่อยไปลอกและทั้งปรับปรุงแก้ไขลงในสมุดของแต่ละวิชาในภายหลัง  
ประสาท มีแต้ม
1.    คำนำ เราคงยอมรับร่วมกันแล้วว่า ขณะนี้สังคมไทยกำลังมีความขัดแย้งอย่างรุนแรงทั้งในระดับความคิด ความเชื่อทางการเมือง และวัฒนธรรมซึ่งนักสังคมศาสตร์จัดว่าเป็นโครงสร้างส่วนบน และความขัดแย้งทางเศรษฐกิจที่รวมศูนย์ การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติและการทำลายสิ่งแวดล้อมซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานของสังคม  ความขัดแย้งเชิงโครงสร้างทั้งสองระดับนี้กำลังวิกฤติสุด ๆ จนอาจพลิกผันนำสังคมไทยไปสู่หายนะได้ในอนาคตอันใกล้นี้
ประสาท มีแต้ม
1. คำนำ ภาพที่ท่านเห็นอยู่นี้เป็นปกหน้าและหลังของเอกสารขนาดกระดาษ A4 ที่หนาเพียง 16 หน้า แม้ว่าหลายท่านอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับศัพท์แสงที่ปรากฏ แต่ผมเชื่อว่าแววตาและท่าทางของเจ้าหนูน้อยในภาพคงทำให้ท่านรู้สึกได้ว่าเธอทึ่งและมีความหวัง บรรณาธิการกรุณาอย่าทำให้ภาพเล็กลงเพื่อประหยัดเนื้อที่ เพราะจะทำให้เราเห็นแววตาของเธอไม่สดใสเท่าที่ควร เอกสารนี้จัดทำโดย “สภาเพื่ออนาคตโลก” หรือ World Future Council (WFC) ค้นหาได้จาก www.worldfuturecouncil.org