๑.คำนำ
เมื่อ ๗ ปีก่อน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้คิดวิชาใหม่ขึ้นมาหนึ่งรายวิชา หากคำนึงถึงแนวคิด เนื้อหาและกระบวนการเรียนการสอนแล้ว อาจถือว่าได้วิชานี้เป็นวิชาแรกในประเทศไทยก็น่าจะได้ ผมจึงอยากจะเล่าให้ท่านผู้อ่านที่เป็นผู้จ่ายภาษีมาตลอดได้รับทราบครับ
ด้วยขั้นตอนตามระเบียบของมหาวิทยาลัย เราได้เริ่มลงมือเปิดสอนจริงเมื่อ ๓ ปีมาแล้ว รายวิชานี้ชื่อว่า “วิทยาเขตสีเขียว (Greening the Campus)” เป็นวิชาบังคับสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่สามทุกคน
เรื่องที่จะนำมาเล่าอย่างสั้นๆ นี้ ได้แก่ แนวคิด เนื้อหา กระบวนการเรียนการสอน สิ่งที่นักศึกษาค้นพบและร่วมผลักดันขยายผล รวมทั้งความรู้สึกของนักศึกษาบางคน
๒. แนวคิดและกระบวนการเรียนการสอน
ก่อนอื่นต้องขอเรียนให้ทราบกันก่อนว่า หน้าที่หลัก ๒ ใน ๔ ข้อของมหาวิทยาลัย คือ การเรียนการสอนและการวิจัย ในยุคที่มหาวิทยาลัยกำลัง “ออกนอกระบบราชการ” บางสถาบันก็ดึงเอางานวิจัยมาให้ความสำคัญเหนือการเรียนการสอน แต่ไม่ว่าจะสลับอันดับความสำคัญกันอย่างไร ทั้งสองหน้าที่หลักนี้ก็มีปัญหาครับ
เมื่อพูดถึงงานวิจัย มันเป็นเรื่องแปลกที่ว่า เขามักจะสนใจแต่เรื่องไกลตัว แต่ไม่ค่อยสนใจศึกษาวิจัยเพื่อแก้ปัญหาภายในมหาวิทยาลัยของตนเอง นอกจากผลงานวิจัยจะไม่ค่อยได้นำมาใช้ประโยชน์กับคนไทยโดยตรงแล้ว กลับปล่อยให้สถาบันของตนเองเป็นแหล่งสะสมปัญหาอีกต่างหาก
อาจารย์นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์ เคยตั้งข้อสังเกตว่า ผลงานดังๆในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็น เครือข่ายขายตรง แชร์แม่ชะม้อย ชีวจิต หรือโครงการหลักประกันสุขภาพที่เรียกกันติดปากกว่า ๓๐ บาทรักษาทุกโรค หรือน้ำมันไบโอดีเซล ก็ล้วนแต่ไม่ใช่ผลงานและไม่ใช่ความคิดริเริ่มของชาวมหาวิทยาลัยใดในประเทศไทยเลย
เมื่อพูดถึงการเรียนการสอน คุณวิจักขณ์ พานิช วิศวกรหนุ่มที่หันมาสนใจเรื่องชีวิตและจิตใจ ได้ให้ทัศนะ(ในเว็บไซต์ประชาไท) ว่า การศึกษาของคนเราควรจะเน้นการฝึกฝนตนเองให้ครบทั้ง ๓ ด้าน คือ (๑) ด้านวิชาชีพซึ่งเป็นด้านที่เราเรียนๆ สอนๆ กันอยู่ (๒) ด้านการยอมรับสิทธิและภูมิปัญญาของผู้อื่น และ (๓) ด้านที่เกี่ยวกับการจัดการกับความทุกข์ ความเจ็บปวดที่เราได้รับ ถ้าขยายความให้ถึงที่สุดก็คือการรู้จักเผชิญหน้ากับความตายของตัวเรานั่นเอง
การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ได้ละเลยเรื่องของสองด้านหลังนี้มาตลอด นักศึกษาบางคนเพียงแค่สอบตกหนึ่งรายวิชาก็ฆ่าตัวตายแล้ว คนไทยจำนวนมากไม่รู้จักฟังผู้อื่น แม้พิธีกรรายการทีวีบางคนก็แย่งคนอื่นพูด ฟังคนอื่นไม่เป็นโดยไม่รู้ตัว กรณีฆ่าหมู่ ๘ ศพที่หาดใหญ่ เป็นตัวอย่างที่ฟ้องให้เห็นปัญหาการละเมิดสิทธิและความไม่รู้จักการอดทนอดกลั้นได้ต่อปัญหาต่างๆได้เป็นอย่างดี
วิชา “วิทยาเขตสีเขียว” จึงถูกออกแบบมาเพื่ออุดช่องโหว่สองประการที่ว่ามาแล้ว คือ (๑) ให้นักศึกษาฝึกหัดทำวิจัยเรื่องใกล้ตัวที่อยู่ในวิทยาเขตของตนเอง โดยใช้วิทยาเขตเป็น “ห้องปฏิบัติการ” และ (๒) ให้นักศึกษาฝึกการทำงานเป็นทีม รู้จักรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น การเขียนรายงานและการนำเสนอและเผยแพร่ผลงานวิจัยของตน
สำหรับปัญหาในวิทยาเขต ได้แก่ปัญหาความเป็นอยู่ในหอพัก ความสะอาดของอาหาร ห้องส้วม ปัญหาความเครียดจากการเรียน ปัญหาตารางสอนที่บางคนต้องเรียน ๔-๕ ชั่วโมงติดกัน รวมทั้งปัญหาที่เป็นส่วนรวมมากขึ้น เช่น การประหยัดพลังงาน น้ำดื่ม การจราจร การประหยัดกระดาษ เป็นต้น
ในช่วงต้นของการเรียน นักศึกษาจะช่วยกันระดมปัญหาที่ตนกำลังประสบอยู่ แล้วหาสาเหตุและแนวทางแก้ไขตามกระบวนการวิจัยทั้งทางวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ ผลงานที่น่าสนใจก็จะถูกนำมาขยายผลเพื่อเสนอต่อสังคมและผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อไป
นอกจากนี้เรายังเชิญบุคคลภายนอกที่มีผลงานเป็นที่น่าสนใจมาบรรยายให้นักศึกษาฟัง ทั้งที่เป็นนักวิจัย (ศ.ดร.เวคิน นพนิตย์) นักกิจกรรมสังคม (อาจารย์ขวัญสรวง อติโพธิ, คุณธารา บัวคำศรี ผู้ประสานงานกรีนพีช) เกษตรกรปลอดสารพิษ (อาจารย์ภานุ พิทักษ์เผ่า) รวมทั้งนักพัฒนาจากองค์กรเอกชน (คุณบรรจง นะแส) เป็นต้น
๓. สิ่งที่นักศึกษาค้นพบและร่วมผลักดันขยายผล
นับตั้งแต่เปิดสอนมาได้ ๓ ปีการศึกษา รวม ๖ ภาคการศึกษา นักศึกษาได้เรียนวิชานี้แล้วประมาณ ๑, ๕๐๐ คน มีงานวิจัยรวมกันเกือบ ๒๐๐ ชิ้น
ถ้าถามว่า ผลงานเหล่านี้มีคุณภาพดีพอที่จะเผยแพร่ให้สาธารณะได้ไหม ก็ต้องยอมรับการตามตรงแหละครับว่า ผลการศึกษาจำนวนมากยังมีปัญหาเรื่องคุณภาพของการศึกษาเอง ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการใช้เหตุผล การสรุปผลและการเขียน ที่คณาจารย์ที่ร่วมสอนจำนวน ๑๔ ท่านไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง นี่อาจจะเป็นข้อแก้ตัวที่ตื้นเกินไปของผู้สอน อย่างไรก็ตามนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ทุกคนจะต้องลงเรียนวิชาโครงงานในชั้นปีที่ ๔ ตามความถนัดในภาควิชาของตนเองอีกครั้งหนึ่ง
ในที่นี้ ผมขอนำผลการศึกษาในวิชาวิทยาเขตสีเขียวมาเล่าให้ท่านฟังอย่างย่อๆ สัก ๒ -๓ ชิ้น วัตถุประสงค์ของวิชานี้ ไม่ได้หยุดอยู่ที่รายงานเป็นเล่มที่นักศึกษานำส่งเพียงอย่างเดียว แต่เราจะพยายามนำมาขยายผลเพื่อให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้นำไปใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงพัฒนามหาวิทยาลัยต่อไป
เรื่องแรกเป็นเรื่องการจัดตารางสอนครับ เริ่มต้นจากเสียงบ่นของนักศึกษาบางคนว่า ระยะเวลาที่พักระหว่างคาบๆละ ๑๐ นาทีนั้น ไม่เพียงพอที่จะให้นักศึกษาเดินจากอาคารหนึ่งไปอีกอาคารหนึ่งได้ทันเวลา นักศึกษาบางคนประชดว่า “ต่อให้เหาะไปก็ยังไม่ทันเลยคะ”
หลังจากได้วิเคราะห์ข้อมูลในภาพรวมที่เกี่ยวข้องก็พบว่า มีความเป็นไปได้ที่จะให้ช่วงพักระหว่างคาบเพิ่มเป็น ๓๐ นาที และจากที่เคยเรียนคาบละ ๕๐ นาที ก็เพิ่มเป็นคาบละ ๙๐ นาที หากสามารถกระทำดังนี้ได้ ก็สามารถลดการเดินทางหรือการจราจรลงได้ถึงประมาณ ๓๐%
ผมเองได้เขียนบทความเพื่อเสนอแนวคิดนี้ต่อชาววิทยาเขตทั้งหมดมานานเป็นปีแล้ว ในที่สุดทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยก็ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาคิดเรื่องนี้ชุดหนึ่งโดยมีผมเองร่วมอยู่ด้วย
ขณะนี้คณะทำงานชุดนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน แต่ผู้บริหารท่านหนึ่งได้กล่าวว่า “ผู้บริหารเชื่อแล้วว่ามีปัญหา (convinced) แต่ขอให้คณะทำงานศึกษาในรายละเอียดต่อไป”
นอกจากนี้ จากข้อมูลที่มีอยู่ ทำให้ผมค้นพบว่า ในวิทยาเขตหาดใหญ่ เราใช้ห้องเรียนตั้งแต่ช่วง ๘.๐๐ ถึง ๑๗.๐๐ น. เพียงร้อยละ ๕๕ ของทั้งหมดเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นการใช้งานที่ค่อนข้างน้อย ในขณะเดียวกันเราก็ของบประมาณของประชาชนมาสร้างอาคารเรียนเพิ่มเอาๆจนแทบจะไม่มีที่จะให้คนเดินอยู่แล้ว
นี่คือปัญหาที่เกิดจาก “มหาวิทยาลัยไม่วิจัยเรื่องตัวเอง แต่ชอบวิจัยเรื่องไกลตัว”
เรื่องที่สอง เป็นเรื่องการประหยัดไฟฟ้า ในแต่ละปีทั้งวิทยาเขต(ซึ่งมีโรงพยาบาลรวมอยู่ด้วย)ได้ใช้ไฟฟ้าคิดเป็นเงินปีละประมาณ ๑๕๐ ล้านบาท ทางมหาวิทยาลัยก็ได้พยายามรณรงค์ให้คนช่วยกันลดการใช้ไฟฟ้า โดยส่วนหนึ่งบอกว่า “ปิดไฟดวงที่ไม่ได้ใช้” แต่จะปิดได้อย่างไร ในเมื่อเปิด-ปิดสวิทซ์หนึ่งตัว แต่ไฟฟ้าสว่างไป ๑๐-๒๐ หลอด
นักศึกษากลุ่มหนึ่ง (โดยได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ท่านหนึ่ง) ได้ศึกษาพบว่า ควรจะนำสวิทซ์ไฟแบบกระตุกมาใช้ ดวงไหนที่ไม่ใช้ก็กระตุกให้มันดับเสีย
นักศึกษาไปค้นมาได้ว่า ถ้านำสวิทซ์กระตุก(ราคา ๓๐ บาท) มาใช้ก็จะสามารถประหยัดไฟฟ้าได้และคุ้มทุนภายในเวลา ๒ เดือนเท่านั้น ขณะนี้ทางผู้อำนวยการกองอาคารและสถานที่ได้คิดจะนำสวิทซ์กระตุกมาติดประมาณ ๑ พันตัว ผลจะเป็นอย่างไร ผมจะนำมาเล่าต่อไปครับ
เรื่องที่สามครับ เรื่องน้ำดื่มในคณะวิทยาศาสตร์ นักศึกษาค้นพบว่า (๑) เครื่องกรองน้ำหลายตัวทำให้น้ำมีสนิมมากขึ้นกว่าเดิม (คือน้ำก่อนเข้าเครื่องมีสนิมน้อยกว่าน้ำที่ออกมาจากเครื่องกรอง) เนื่องจากไม่ได้เปลี่ยนไส้กรองมานาน และ (๒) จากการสำรวจตัวอย่างพบว่าโดยเฉลี่ยนักศึกษาและบุคลากรต้องซื้อน้ำขวดดื่มวันละ ๑.๓ ขวดต่อคนหรือ ๑๐ บาทต่อคน ถ้าคิดทั้งคณะก็ประมาณ ๖ ล้านบาทต่อปี
คำถามก็คือว่า ผู้บริหารจะคิดเรื่องนี้อย่างไรกับเงินจำนวนมากและขวดพลาสติกที่ก่อปัญหามลพิษและภาวะโลกร้อน
ผมเองในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาพยายามขอร้องให้นักศึกษาทำจดหมายเสนอแนะต่อผู้บริหารทันที แต่กว่านักศึกษาจะยอมทำก็ต้องพูดกันหลายรอบ เพราะพวกเขาเกรงว่าเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบตัวเล็กๆ จะเดือดร้อน
๔. ความรู้สึกของนักศึกษาบางคน
ในแต่ละภาคการศึกษา ทางมหาวิทยาลัยบังคับให้นักศึกษาแสดงความคิดเห็นเพื่อจะได้มีการปรับปรุงวิชานี้ให้ดีขึ้น ที่ผ่านมาหากสิ่งใดมีเหตุผลเราก็ปรับปรุงแก้ไข สำหรับในภาคการศึกษาที่ผ่านมา เรามีข้อสอบให้นักศึกษาแสดงความคิดเห็น ต่อไปนี้เป็นความเห็นของนักศึกษาบางคน แม้ว่านักศึกษาไม่มีความอิสระในการแสดงความเห็น(เพราะมีคะแนนให้) แต่เนื้อหาก็คงสะท้อนอะไรได้บ้าง ดังนี้ครับ
๕. สรุป
นอกจากแนวคิดของวิชาวิทยาเขตสีเขียวจะเน้นการศึกษาเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งภายในจิตใจของผู้เรียนและเน้นการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหารอบๆตัวนักศึกษาตามคำขวัญที่ว่า “ห่วงใยโลกกว้าง สรรค์สร้างท้องถิ่น” แล้ว เรายังมีความเชื่อว่า คนกลุ่มเล็กๆก็สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ หากมีการศึกษาอย่างดีและรู้จักการสื่อสารออกสู่สังคมวงกว้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หากมีความคืบหน้าใดๆ ผมจะนำมาเล่าอีกครับ