มีเสียงบ่นเข้ามาหนาหู จากเหล่าครูบาอาจารย์ และนักวิจัยในมหาวิทยาลัย ที่ควรเป็นชนชั้นนำทางปัญญา ใช้สติปัญญาและเวลามาแก้ปัญหาสังคม ว่า เขากำลังอยู่ในภาวะเตี้ยอุ้มค่อม หากต้องออกมาช่วยเหลือสังคมหรือเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะการจ้างงานของตนในมหาวิทยาลัย เข้าสู่ยุคมหาวิทยาลัยนอกระบบที่จะต้องเร่งผลิตผลงานและต้องได้รับการประเมินแบบปีต่อปี และมีผู้บริหารที่เป็นเครือข่ายอำมาตย์มาพิจารณา ผลงานแต่ละปี เรื่อยไปถึงการพิจารณาผลงานวิชาการเพื่อขยับเลื่อนตำแหน่งทางวิชาการเป็น ผศ. รศ. หรือ ศาสตราจารย์ จนขยับไม่ออก
แต่สถานการณ์ที่เลวร้ายกว่า คือ บรรดานักวิจัย หรือเจ้าหน้าที่ต่างๆ ซึ่งถูกจ้างแบบชั่วคราว หรือที่พอทราบแล้วบ้างว่า ทุกวันนี้มีคนจำนวนมากอยู่ในสถานะ “ลูกจ้างชั่วคราว” ที่ไม่ได้รับบรรจุเป็นข้าราชาการ พนักงานประจำ หรือที่ร้ายแรงที่สุด คือ ถูกเปลี่ยนจากการ “จ้างแรงงาน” เป็น “จ้างทำของ” เฉพาะสิ่ง เหมือนบรรดา แรงงานเหมาช่วง หรือเกษตรกร ทั้งหลายที่รับจ้างเลี้ยงหรือปลูกให้บริษัทอีกต่อ ปัญหาของแรงงานเหล่านี้ คือ อาจไม่อยู่ในระบบประกันสังคม และอาจถูกเลิกจ้าง หรือยุติการจ่ายงานได้ง่ายมาก
เทคนิคการจ้างงานเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ ศาสตร์บริหารธุรกิจ หรือ นักเศรษฐศาสตร์ จำนวนไม่น้อย สดุดีว่าเป็นวิธีการ ลดต้นทุน หรือ ผลักภาระในการบริหารงานบุคคลให้พ้นไปจากบริษัท ทำให้กำไรเพิ่มพูน และลดปัญหาที่จะต้องมาดูแลคนงาน ใช่มันคือความสำเร็จของนายทุนจำนวนหนึ่ง บนความสั่นไหวและเสี่ยงของแรงงานจำนวนมาก
แต่ตอนนี้สถานการณ์ได้เข้าขั้นวิกฤตหนัก เพราะหน่วยงานของรัฐ ในกำกับของรัฐ หรือองค์การมหาชนทั้งหลาย ได้เอาวิธีการบริหารงานบุคคลข้างต้นกับองค์กรรัฐ สิ่งที่ปรากฏชัด คือ การเปลี่ยนจ้างแรงงานเหมา มาเป็น “การจัดซื้อพัสดุ” อย่าเพิ่งงงกัน มันคือ “การเปลี่ยนคนให้เป็นวัตถุ” เปลี่ยน “มนุษย์ให้เป็นเครื่องจักร” โดยผลของสัญญาที่ออกแบบมาเพื่อหลีกเลี่ยงข้อผูกพันทางกฎหมายทั้งหลายที่นายจ้างไม่ต้องการ
รูปแบบของการจ้างแรงงานแบบ “พัสดุ” นี้ได้ลดภาระของฝ่ายจ้างงาน กล่าวคือ ไม่ต้องจ่ายสมทบในกองทุนประกันสังคมหรือกองทุนต่างๆ รวมถึงไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายแรงงานหรือกฎเกี่ยวกับจ้างงานขององค์กรนั้นๆ เพราะ คนเหล่านั้นไม่ใช่ “ลูกจ้าง” มิใช่แรงงาน เป็นเพียง “วัตถุ” ที่ใช้แล้วหมดไปตามระยะเวลาที่สัญญากำหนด
รูปแบบสัญญานี้เป็นความสำเร็จสูงสุดของนายจ้างในการผลักภาระความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับองค์กรอีกเช่นกัน เพราะไม่ต้องมารับผลที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ความเจ็บป่วยไข้ของคนทำงาน หรือการมีบุตรมีครอบครัว เพราะผู้จ้างกับคนทำงาน ผูกพันกันด้วยวัตถุประสงค์ของ “ผลงาน” แต่ไม่มีหน้าที่-สิทธิ ต่อกันในฐานะ “ลูกจ้าง-นายจ้าง” อีกต่อไป
หากการบริหารงานเหล่านี้ขยายไปสู่การทำงานที่มีความอันตราย เช่น สารเคมี สารพิษ หรือเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ หรือโรคเรื้อรัง โรคติดเชื้อ ก็ย่อมเป็นผลดีกับผู้จ้างอีกเช่นกัน เพราะการทำสัญญา “พัสดุ” มิใช่ทำสัญญากับ “คน” ย่อมไม่ต้องมีการดูแลความปลอดภัยในการทำงานให้กับ “บุคคล” เหล่านั้น หากจะติดเชื้อ ได้รับอุบัติเหตุ หรือเสื่อมสมรรถภาพ พิการ ก็เป็นเพียงเครื่องจักรที่พัง เปลี่ยนเครื่องใหม่เข้ามาแทน มิใช่ แรงงานมนุษย์ที่จะต้องมีรักษากันอย่างมีมนุษยธรรมอีกต่อไป
วิธีการจ้างงานแบบนี้ได้ประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยงานเพราะไม่อยู่ในกรอบของกฎหมายใดๆ ที่จะต้องจัดสวัสดิการสังคมให้กับ “พัสดุ” เหล่านั้น เพราะมันเป็นเพียงเครื่องจักรในการผลิตผลงาน
นี่แหละ คือ สิ่งที่เรียกว่า การบริหารงานแบบรีดไขมันส่วนเกิน (Lean Management) ที่ขจัดภาระและส่วนเกินต่างๆออกไปจากองค์กรให้หมด เหลือไว้เพียงกล้ามเนื้อแดงที่เป็นส่วนสำคัญของร่างกาย แต่ลองมาดูองค์กรต่างๆที่ใช้การจ้างแบบพัสดุ คงเห็นแล้วว่ากล้ามเนื้อแดงที่รักษาไว้และปูนบำเหน็จมากมาย นั่นคือ เหล่าผู้อาวุโส และผู้ทรงบารมี หรือผู้บริหาร และอาจขยายไปยังผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่ต้องรักษาเอาไว้ถ้าหาใครมาแทนไม่ได้ หรือแทนที่ยากเท่านั้น
คนที่เสี่ยงจากการจ้างงานแบบนี้ จึงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามการขยายตัวของ เทคโนโลยีการบริหารงานแบบนี้ ซึ่งมีคนสดุดีและนำไปใช้ทั่วโลกทุนนิยม
สิ่งที่ต้องไม่ลืมคือ มีวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่า คนเสื้อแดง ก็เกิดจากสำนึกเรื่องความเสี่ยง เสี่ยงที่จะสูญเสียโอกาสหรือสวัสดิการที่ตนเคนได้รับจากรัฐ ผ่านการเลือกตั้งนั่นเอง
ดังนั้นการที่คนทำงานออฟฟิศแต่ไม่ได้จ้างประจำ หรือที่ถูกเรียกใหม่ว่า “พัสดุ” นั้น จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มชายขอบ ที่เสี่ยงมาก อีกกลุ่มหนึ่ง และรอวันประทุ ไม่ต่างอะไรกับที่เคยเกิดแล้วกับคนเสื้อแดง เพียงแต่ยังไม่ระเบิดก็เพราะอาจถูกหล่อเลี้ยงไว้ด้วย “มายา” แห่งคนทำงานออฟฟิศ ซึ่งก่อสำนึกที่ผิดพลาด ว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นกลางหรือชนชั้นนำ
ดังนั้น การเอาตัวรอดไปวันๆ หรือการพยายามเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งกับชนชั้นนำด้วยการประจบสอพลอ อาจเป็นยุทธวิธีที่ล้มเหลว การพยายามเลียผู้บริหาร คนแก่ อาจเป็นสำนึกที่ผิดพลาด เพราะอาจมีการต่ออายุราชการ/ทำงาน หรือให้มรดกแบบมีเงื่อนไข การวางยุทธศาสตร์ไว้ว่าจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับชนชั้นนำ/ผู้บริหาร จึงขัดแย้งกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในชีวิต
การรวมตัวกับแรงงานอิสระ ผู้ทำงานนอกระบบ อาจเป็นความคิดที่ถูกกว่า การพยายามสร้างเครือข่าย ก่อขบวนการที่ก้าวข้ามสถานที่ประกอบการ แต่มีประเด็นปัญหาร่วมกัน คือ ความเสี่ยงในการทำงาน หรือการดำรงชีวิต หรือแม้กระทั่งเข้าร่วมกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมกับคนกลุ่มอื่นที่มีความเสี่ยงเช่นกัน เพื่อสร้างรัฐสวัสดิการของคนทำงาน จะเป็นผลดีกว่า
เพราะจำนวนที่มากย่อมมีผลต่อนโยบายรัฐในสังคมประชาธิปไตยที่วัดกันด้วยคะแนนโหวต