คนไทยกับคนอิตาลี มีลักษณะร่วมกันหลายอย่าง คือ เกิด เติบโต และอาศัยอยู่ในดินแดนที่อากาศดี อาหารอร่อย มีทรัพยากรให้ใช้สอยมากมาย ทั้งเกษตร และท่องเที่ยว เรียกว่าไม่ต้องออกไปนอกประเทศเลยก็มีความสุขได้ แต่ก็กลายเป็นดาบสองคมเพราะมันคือสังคมที่คนอาจคิดไปว่า “เราคือศูนย์กลางจักรวาล”
ทักษะที่จำเป็นในการเอาตัวรอดของมนุษย์เกิดจากสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย วันนี้จะตื่นกี่โมง จะอาบน้ำไหม ต้องแต่งตัวอย่างไร สัปดาห์นี้ควรออกไปซื้อของตุนไว้ไหม ดูพยากรณ์อากาศไม่ใช่แค่องศา แต่ว่าความชื้น ความเร็วลม ผสมกับเวลาอาทิตย์ขึ้นหรือตก แทบจะต้องพกอุปกรณ์สื่อสารไว้อัตเดตสถานการณ์ตลอดเวลา คือ กิจวัตรประจำวันของคนในเมืองหนาวเหน็บ หรือสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงรวดเร็วรุนแรง
อิตาลี ผู้สูงส่ง ศูนย์กลางแห่งอารยธรรมตะวันตก
แต่ประเทศอิตาลีที่มี อากาศหนาวถึงอบอุ่น คุ้นชินกับวิถีชีวิตสบายๆแบบ ชาวยุโรปใต้แถบคาบสมุทรเมดิเตอร์เรเนียน ที่แทบตลอดทั้งปีมีอากาศเย็นสบายไม่ถึงหนาวตาย หรือร้อนจัดขนาดต้องหลบอยู่ในห้องแอร์ทั้งวันทั้งคืน ทำให้วางแผนปรับตัวกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วไม่ดี
สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนสำหรับฟุตบอลโลกครั้งล่าสุด คือ การปรับตัวกับ ความร้อนชื้นแถบเส้นศูนย์สูตร ไม่ถนัด แม้จะมีการเตรียมการโดยร้องขอให้มีพัก Cooling Break จนฟีฟ่ามีนโยบายออกมา แต่ว่าทีมอิตาลีก็ไม่ได้ใช้ในเกมส์ที่ต้องเล่นตอนบ่ายโมง ท่ามกลางแสงแดดแรงจัด จนนักเตะหลายคนออกอาการเปลี้ยอย่างเห็นได้ชัด และเร่งไม่ขึ้นในช่วงท้ายเกมส์ทั้งที่ต้องโหมบุกเพื่อตีเสมอ
แต่ละคน แทบจะล้มคว่ำลงไปเมื่อเสียงนกหวีดหมดเวลาดังขึ้น ...เกือบตาย!!!
ทีมยุโรปอื่นที่รอดตายมีไหม?
สองทีมที่เห็นได้ชัดว่า ไม่แสดงความอ่อนล้า แม้ว่าจะต้องเจอแดดแผดเผา และยังเร่งจังหวะเกมส์ให้รวดเร็วได้ทุกนัด เห็นจะเป็น เยอรมนี และฮอลแลนด์ ซึ่งข่าวออกมาจากสองแคมป์ว่า วางแผนล่วงหน้ามานับปี และมีการตระเตรียมวิทยาการ และแผนต่างๆมาพร้อมรับมือ ฟุตบอลโลกในบราซิลครั้งนี้
เยอรมนี คือ จ้าวแห่งเทคโนโลยี วิทยาการด้านสุขภาพและกีฬา
ฮอลแลนด์ คือ พ่อค้านักผจญภัยผู้เคยท่องไปทุกคาบสมุทร
ความเก่งกาจและบุคลิกของสองชาติ ปราศจากข้อสงสัย เมื่อต้องเผชิญกับภัยที่มาจากธรรมชาติ เพราะสามารถวางแผนปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และแสดงผลออกมาเป็นชัยชนะ
การไม่คุ้นชินกับการเดินทางไกลไปใช้ชีวิตต่างถิ่น ไม่มีแผนฉุกเฉิน เมื่ออะไรๆไม่เป็นไปตามที่วางหมากไว้ จึงกลายเป็น “จุดอ่อน” ของอิตาลี ผู้เป็นแชมป์เก่า 4 สมัยในดินแดนยุโรปเท่านั้น!!!
คน/นักฟุตบอลอิตาลี เมื่อเผชิญกับโลกาภิวัฒน์
ชั่วโมงบินของนักเตะทีมชาติอิตาลีมี้น้อยมาก เนื่องจากทีมชาติชุดนี้ประกอบไปด้วยนักเตะในประเทศและมีดาวรุ่งที่เจอเกมส์ทัวร์นาเม้นต์ใหญ่เป้นครั้งแรกหลายคน ส่วนคนที่เล่นในลีกนอกประเทศแทบไม่มี
หลังจากนัดแรกที่ไล่ต้อน ประคองเกมส์เอาชนะอังกฤษที่สุดแสนจะเดาง่ายไปได้ ก็อาจทำให้เกิดความชะล่าใจว่า “โลกทั้งใบมาอยู่ในมือ”
เมื่อเจอลีลาที่แปลกประหลาดของ คอสตาริกา หรือ อุรุกวัย เข้าไปก็ลนลาน บวกกับสภาพความฟิตความพร้อม ความคุ้นชินสิ่งแวดล้อมของคู่ต่อสู้จากทวีปอเมริกาทั้งสองเข้าไป ก็ออกอาการเหลวเป๋ว ไปไม่เป็น ลูกจ่ายจังหวะเดียว หรือจ่ายทะลุช่อง หรือความสามารถเฉพาะตัว ถูกอ่านถูกศึกษาจากคู่แข่งที่รู้แล้วว่า “ปิร์โล่ คือ ราชา” ก็ทำให้เกมส์รุกอิตาลีเจาะไม่เข้าอย่างสิ้นเชิง
แต่ที่ทำลายขวัญกำลังใจ และสมาธิในเกมส์ไปมาก ก็เพราะเจอปากและฟันของ ซัวเรส เข้าไป เจอทริกสกปรกยิ่งกว่าตัวเองเข้าไป จิตใจหลุดลอย เจอสอยด้วยลูกโหม่งในจังหวะถัดมา ก็พังเลย เพราะตัวเองสติแตก นึกย้อนไปถึงชัยชนะเหนือฝรั่งเศสในปี 2006 ที่ มาเตรัซซี่ยียวนจนซีดานระเบิดพลังหัวเข้าใส่หน้าอก จนโดนใบแดงไล่ออกไป ยิ่งเข้าใจ ว่า ....เอ่อ เคยแต่ทำเขาใช่ไหม พอโดนเข้าไปปรับสติไม่ทัน!
แล้วลีกในประเทศไม่ช่วยนักเตะอิตาลีให้มีตบะแก่กล้าเลยหรือ?
หลังจากยุดเรืองรองก่อน สหัสวรรษ 2000 ลีกอิตาลีก็เริ่มส่อแววล่มสลาย ด้วยรายได้ และฐานะทางการเงินที่ลดถอยลงเป็นอันมาก จนฟุตบอลโลกครั้งที่ 2006 เป็นเปลวไฟวูบสุดท้ายที่ผลักดันให้ผู้เล่นและคนทั้งประเทศอิตาลี รวมใจกันจนมีชัยชนะเลิศครั้งล่าสุด เพราะต้องไม่ลืมว่าอิตาลีมาบอลโลกครั้งนั้น ด้วยคดีอื้อฉาว การล้มบอล จนทำให้ทีมอมตะนิรันดรกาลอย่าง ยูเวนตุสถูกปรับตกชั้น และยังมีอีกหลายคนที่พัวพันกับคดีล้มบอล Gianluca Pessotto ก็พยายามจะฆ่าตัวตายอีกต่างหาก
หลังจากนั้นลีกอิตาลีก็มีซุปเปอร์สตาร์ต่างด้าวน้อยลง จะมีก็แต่เพียงซูปตาร์แถวสองจากประเทศเกรดบี หรือซุปตาร์ที่ร่วงโรยจากลีกอื่นแล้ว ทำให้นักเตะไม่รู้พิษสงของดาวเตะระดับโลกมากนัก เห็นได้จากความล้มเหลวของสโมสรในระดับยุโรป ในหลายปีหลังจาก มูรินโญ่เข้ามาทำอินเตอร์เป็นแชมป์ยุโรปแล้วจากไป ก็แทบไม่เหลืออะไรเลย ยูเวนตุส เจอบาเยิร์น มิวนิคกดจนโงหัวไม่ขึ้นเมื่อปีก่อน ส่วนปีนี้ก็โดนรีลมาดริด เขี่ยตกรอบแบ่งกลุ่มไปแต่เนิ่นๆ
แม้ทีมชาติอิตาลีจะได้รองแชมป์ยุโรป 2010 แต่ก็เป็นเพียงการปรับตัวรับมือทีมชาติยุโรปอื่นๆที่คุ้นเคยกันมานาน ผสานกับแทคติคคาตานัคโช่ขั้นแอดวานซ์ แต่ยังต้านทานติกี้ตาก้าของสเปนในนัดชิงชนะเลิศไม่ไหว
ความสำเร็จในเวทียุโรปได้เหยียบซ่อนภาวะเสี่ยงของอิตาลีไว้ใต้เสียงชื่นชมต่อการแข่งขัน
และแล้วมันก็ระเบิดออกมาประจานตัวเองในเวทีโลก เมื่ออิตาลีแสดงให้เห็นว่ายังไม่ตื่นขึ้นรับความเปลี่ยนแปลงนอกยุโรป นิวซีแลนด์ที่ส่งเสียงเตือนเมื่อบอลโลกครั้งก่อน เรื่อยมาถึง คอสตาริก้า และอุรุกวัย ที่สอนให้เห็นความพ่ายแพ้อย่างเต็มตัว ความอ่อนด้อยเมื่อเจอทีมนอกยุโรปจึงกลายมหันตภัยในท้ายที่สุด
ฟุตบอลแพ้เพราะทีมนอกยุโรป แล้วสังคมอิตาลีล่ะ พร้อมรับโลกาภิวัฒน์ไหม?
วิกฤตเศรษฐกิจในอิตาลีหลังจากเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจเสรีนิยมโลกาภิวัฒน์ทั่วโลก สถานะการเงินและวินับการคลังที่ถูกกลบให้อยู่เบื้องหลังหน้าฉากที่ฟู่ฟ่ามาถึงกาลล่มสลาย ผลกระทบจากความล่มสลายของหลายบริษัทใหญ่ที่เคยใช้จ่ายเงินอุดหนุนทีมต่างๆอย่างอู้ฟู่ ด้วยภาพคุ้นตา “นายทุนตระกูลใหญ่ผู้เป็นเจ้าของทีม” เริ่มถอยห่างจากการทุ่มทุนสร้างฟุตบอล เพราะธุรกิจในครอบครองเริ่มกลับสู่ความจริง เมื่อฟองสบู่แตกโพละ
การทุ่มซื้อ ทุ่มจ้าง ไม่ดูเพดานเงิน ไร้วินัยทางการคลัง จึงจบลง การคงสถานะความยิ่งใหญ่ของหลายๆทีมจึงเป็นไปได้ยาก นักเตะซุปเปอร์สตาร์ระดับโลกจึงหายไปจาก กัลโช่เซเรียอา
สาเหตุของการตกรถไฟสายโลกาภิวัฒน์
มีคนบอกว่า พวกยุโรปใต้ โดยเฉพาะอิตาลีขี้เกียจ ถึงได้ถังแตกไม่มีเงิน แต่ชั่วโมงทำงานก็ไม่ต่างจากยุโรปชาติอื่นสักเท่าไหร่ แล้วทำไมถึงตามเขาไม่ทัน
เอ๊ะ นักฟุตบอลอิตาลีขี้เกียจด้วยหรือไม่ ?
ก็ไม่ใช่ เพราะดูจากระเบียบวินัย และการทำตามแผนแท็คติกของโค้ช และสมาธิในเกมส์รับ แสดงให้เห็นว่าทุกคนช่วยกระชับพื้นที่ และวิ่งด้วยกำลังเต็มที่กันแทบทุกคน
อ๋อ...ความช้า ของอิตาลีสินะ
ความช้า ความชิล ของฟุตบอลอิตาลี และการใช้ชีวิตของคนอิตาลี ที่ต้องเล่น/อยู่ภายใต้อากาศร้อน ก็ไม่ต่างอะไรจากคนลาตินในยุโรป และลาตินอเมริกาสักเท่าไหร่
การเล่นด้วยจังหวะที่ช้ามากใช่ปัญหาจริงหรือ การเคาะบอลกันไปมา อารมณ์เย็น ก็เป็นวิถีแห่งนักรบโรมันที่ตั้งมั่นอยู่ในฐาน การจัดป้อมค่าย และการเคลื่อนทัพพลหอกและโล่เป็นขบวนอย่างพร้อมเพรียงกัน เป็นการแสดงความเหนือชั้นต่างจาก พวกคนป่าที่เล่นสนุก หรือบ้าคลั่งไม่มีรูปแบบ
การเล่นช้า เล่นเอื่อย ถ้าไม่ตกเป็นรองคงไม่เป็นอะไร เพราะไม่พลาด ก็จะได้ผลงานที่เนี้ยบ และแน่นอนสูง
เช่นเดียวกับการบริหารธุรกิจ และการปกครองประเทศ ความช้าแต่แน่นอน นำมาซึ่งความมั่นคง หาจุดอ่อนและการรั่วไหลได้ยาก แต่หากเลยเถิดเป็นการยิบย่อยในรายละเอียดแบบจับผิดล่ะจะเกิดอะไรขึ้น
อิตาลีผู้ที่แพ้ภัยตัวเอง
การติดนิสัยเจ้าระเบียบและเจ้าเล่ห์ บวกกับความฉลาดและระแวงระวังภัยเสมอ มักนำไปสู่การคิดแล้วคิดอีก ติดนิสัยป้องกันไว้ก่อน ตรวจแล้วตรวจอีกแบบถี่ยิบ จนกลายเป็นทัศนคติ “จ้องจับผิด ระวังตัวเกินไป” ของระบบราชการและการบริหารงานทุกอย่างที่เน้นการตรวจเอกสาร สัญญา หรือแม้แต่ขั้นตอนทั้งหลาย ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการเร่งความเร็วของธุรกิจ และหน่วงเหนี่ยวคนจำนวนมากไม่ให้คิดสร้างสรรค์อะไรใหม่ เพราะ “คิดไปก็ต้องมารอใบอนุญาตอีกนาน” นานไปก็ไม่อยากคิดอะไรอยู่เฉยๆมันไปซะดีกว่า
บุคลิกเดียวกันนี้ที่มีผลต่อการเล่นฟุตบอลเกมส์รับ เพราะสาระสำคัญอยู่ที่ การจับตามาร์คตัว มาร์คพื้นที่ให้ดี แม้จะทำให้สู้ได้สูสีกับทีมใหญ่ทุกทีม แต่ก็กลายเป็นทีมที่มีความเฉื่อย (Passive) ต้องปรับตัวตามการเล่นของคู่ต่อสู้ แล้วจึงหาจุดอ่อนจู่โจม
เมื่อเจาะช่องว่าง สร้างประตูให้กับทีมนำไม่ได้ ก็กลายเป็นต้องตั้งรับไปเรื่อยๆ ซึ่งทำให้เหนื่อยมากกว่าการเล่นเกมส์รุก ยิ่งเสียประตูก่อนแล้วต้องไล่ตาม ก็เข้ายามยากเลยทันที่ เพราะไม่มีความกระตือลือร้นในการสร้างสรรค์เกมส์ขึ้นทำด้วยตัวเอง (Active) เพราะสมาธิจิตใจและแรงกายได้ถวายให้เกมส์รับไปแทบหมดสิ้นแล้ว เมื่อต้องรุกในช่วงท้ายเกมส์ก็จบกัน
ทีมชาติอิตาลีจึงพังเพราะขาดความคิดสร้างสรรค์ในเกมส์รุก ขลุกอยู่กับ ตัวหลัก 2-3 คน พอหมดหนทางก็รอหนทางแพ้ เหมือนทางแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ หากจะพลิกขึ้นมาก้าวทันโลกาภิวัฒน์ คงต้องปรับตัวให้ทันการแข่งขัน เพิ่มความหลากหลาย และปรับตัวให้สามารถรุกออกไป “ขาย” ได้มากขึ้น มิใช่แค่ตั้งรับแล้วรอคนอื่นขยับเข้ามาเปิดช่อง แล้วค่อยส่องเปรี้ยง
และต้องไม่ลืมว่านี่คือ ทีมที่มีนักเตะคนหนึ่งซึ่งถูกแฟนบอลตัวเองเหยียดหยาม ฟอร์มที่ไม่แน่นอนของความหวังแดนหน้า อย่าง บาโลเตลี่ จึงไม่มาอย่างทัวร์นาเม้นต์ก่อน ซึ่งทั้งทีมประคมประหงม น้องโอ้ เป็นอย่างดี ไม่ให้มีปัญหาทั้งในและนอกสนาม
การจัดการกับปัญหา การเหยียดผิด เหยียดเชื้อชาติ คือ งานที่อิตาลีต้องทำให้สำเร็จ เพื่อเพิ่มแนวร่วมทำงานพัฒนาชาติ และต้อนรับลูกค้าที่มาจากทุกมุมโลก
อิตาลีจะกลับสู่วิถีแห่งจ้าวโลกได้อย่างไร?
การปรับอิตาลีให้บุกมากขึ้น จ่ายบอลสั้นๆ แม่นยำในช่วงหลัง จนทำสถิติการผ่านบอลสำเร็จ 93% จึงเป็นการเรียนรู้ ติกี้ตาก้า แล้วลอกเลียนแบบมาเป็นของตน ซึ่งเป็นผลของความหมกมุ่นในการพยายามเอาชนะสเปนที่อิตาลีพ่ายในฟุตบอลยุโรป 2008, 2012 ก็สะท้อนการเป็นคนจับจ้องแล้วเลียนแบบ มากกว่า การคิดค้นสร้างสรรค์สิ่งใหม่ขึ้นมาเอง
เมื่อถึงยามคับขัน สิ่งที่พยายามจะเอามาเป็นของตน แต่ไม่ใช่ตัวตน จึงหลุดล่อนออก แล้วเผยสันดานแท้แห่ง วิถีบอลอิตาลีออกมาในคราววิกฤต
หากอิตาลีจะพัฒนาเกมส์ให้ทันกับฟุตบอลยุคหลังสมัยใหม่ (Post-Modernism) ก็ต้องคิดค้นการปรับตัว เคลื่อนที่ผสมผสานทดแทน และปรับรับกับทีมต่างๆที่มีการเล่นหลากหลายได้ด้วย การรับด้วยเกมส์รุก หรือรุกได้เมื่อจำเป็น คือ วิธีเข็นชาติอิตาลีให้หลุดพ้นจากความตกต่ำ ไม่ต่างกับเศรษฐกิจอิตาลีที่ตกต่ำมานาน อาจจะต้องปรับวิถีแห่งสังคมให้ผสมผสานสิ่งใหม่ๆ และพร้อมจะก้าวไปยึดหัวหาดในระดับโลกได้บ้าง
(เครดิตภาพจาก http://soccerlens.com/italy-world-cup-2014-preview/136893/)