ด้วยความสามารถของ ICT ข้างต้น ทำให้ประชาชนเริ่มมองเห็น และตระหนักในศักยภาพ ของการนำICT มาใช้เพื่อสะท้อนสภาพปัญหาที่แต่ละบุคคลประสบ มองหาผู้ร่วมชะตากรรมเดียวกัน และมองหาผู้อื่นที่เต็มใจให้ความช่วยเหลือ เพื่อร่วมคิด แสดงความเห็น ให้คำปรึกษา และช่วยกันหาทางบรรเทาหรือแก้ไขปัญหานั้นๆ และด้วยความช่วยเหลือของอินเตอร์เนต รวมทั้งการกระจายตัวของ ICT อื่นๆ ทำให้กิจกรรมข้างต้นสามารถเกิดขึ้น โดยไม่ถูกจำกัดด้วยท้องถิ่นที่อยู่ หรือแม้แต่ช่วงเวลาแห่งการทำกิจกรรม
ภาพที่เกิดขึ้นคือ ประชาชนสามารถรวมตัว เพื่อดำเนินกิจกรรมร่วมกัน ได้ง่ายขึ้น ถี่ขึ้น ในรูปแบบและเพื่อความต้องการที่หลากหลายขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ภาพดังกล่าว ถูกสะท้อนผ่านปรากฏการณ์ การเกิดขึ้นและขยายตัวอย่างมากมาย ของกลุ่มและสังคมต่างๆ ผ่านทางอินเตอร์เนต เพื่อร่วมกันให้ความช่วยเหลือสมาชิกในกลุ่มหรือสังคมนั้นๆ หรือเพื่อการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมหรือเคลื่อนไหวทางสังคม
โดยกิจกรรมทั้งสองประการข้างต้น มีความสำคัญตรงที่ เป็นสิ่งที่ช่วยสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อ จุดยืนทางความคิด และเป้าหมายของกลุ่มหรือสังคมนั้นๆ
นอกจากนี้ ความน่าสนใจของปรากฎการณ์ข้างต้น อยู่ที่เป้าหมายของการดำเนินกิจกรรมส่วนใหญ่ เป็นการสนองความต้องการทางสังคม ที่ไม่ได้รับการตอบสนองโดยระบบทางสังคม ที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ตัวอย่างที่สามารถสะท้อนภาพดังกล่าว ได้เป็นอย่างดี เช่น ปัจจุบัน เมื่อหน่วยงานภาครัฐเลือกปฏิบัติ หรือปล่อยปะละเลย ประชาชนบางกลุ่ม ในการดำเนินโครงการใดโครงการหนึ่ง มีความเป็นไปได้มากขึ้น ที่ประชาชนกลุ่มดังกล่าว จะประสบความสำเร็จ ในการเรียกร้องการมีส่วนร่วม รวมถึงการได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมมากขึ้น ด้วยเพราะ ICT เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ปรากฏการณ์การรวมตัวของประชาชน เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
จากภาพสะท้อนที่ข้าพเจ้าได้ชี้ให้เห็นเบื้องต้น ความก้าวหน้าทาง ICT ได้ผลักดันให้โลกของเรา ก้าวเข้าสู่ยุคของ "สังคมประชาชน" (Civil Society) คือสังคมที่ประชาชน มีส่วนร่วมโดยตรงกับการดำเนินการต่างๆ ทางสังคมมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาประสิทธิภาพการทำงาน ของระบบทางสังคมในปัจจุบัน ทั้งในแง่ของโครงสร้างทางภาครัฐ และระบบตลาดของภาคเอกชน ซึ่งดูเหมือนว่า ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของทุกกลุ่มได้อย่างเพียงพอและเท่าเทียม
ประโยชน์สำคัญที่สุดของ "สังคมประชาชน" คือการให้โอกาสประชาชนทุกกลุ่ม มีที่ยืนในสังคม เพื่อแสดงออกถึงความคิด ความเชื่อ และจุดยืนของตน เพื่อการมีส่วนร่วมในการปรับเปลี่ยนระบบต่างๆทางสังคม ให้รองรับความหลากหลาย และตอบสนองความต้องการของประชาชน ได้ทั่วถึงมากขึ้น
ข้าพเจ้ามองว่าสิ่งนี้คือกุญแจสำคัญที่สุด ในการพัฒนาทางสังคม เพื่อให้สังคมหนึ่งๆเป็นสังคมของประชาชนทุกคน มากกว่าจะเป็นสังคมที่ถูกบงการ หรือทำให้บูดเบี้ยวโดยโครงสร้างสังคมในปัจจุบัน ที่มีความฉ้อฉล และไม่สามารถสะท้อนความต้องการของประชาชนทุกกลุ่ม อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทางสังคม ที่เกิดขึ้นในยุค "สังคมประชาชน" นี้จะมีแรงขับเคลื่อนของประชาชน เป็นส่วนประกอบสำคัญ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ถูกผลักดันในลักษณะจากล่างขึ้นบนมากขึ้น มากกว่าที่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญทางสังคม จะถูกผลักดันจากบนลงล่าง โดยโครงสร้างทางสังคมในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นการเกิดขึ้นของ "นวัตกรรมทางสังคม" (Social Innovation) อย่างแท้จริง
"นวัตกรรมทางสังคม" หมายถึง แนวความคิด กระบวนการ และการดำเนินการ ที่มีเป้าหมายเพื่อนำเสนอความเปลี่ยนแปลงสำคัญ มาสู่โครงสร้าง กลไก หรือระบบความเชื่อทางสังคม เพื่อให้ความต้องการของภาคประชาชน ซึ่งถูกเพิกเฉยโดยโครงสร้างสังคมในปัจจุบัน ได้รับการสนองตอบ
การเกิดขึ้นและขยายตัว ขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (Non-profit Organisation) องค์กรการกุศล (Charitable Organisation) หรือ บริษัทเพื่อประโยชน์ทางสังคม (Social Enterprise) อย่างกว้างขวางทั่วโลก เช่น Greenpeace และ Fairtrade Foundation ล้วนแต่เป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดีว่าทั้ง "สังคมประชาชน" และ "นวัตกรรมทางสังคม" ได้เพิ่มความสำคัญกับการปฏิวัติทางสังคม ในโลกยุคปัจจุบันมากขึ้นทุกที โดยทั้งสองเข้ามาช่วยลดความบูดเบี้ยว และความฉ้อฉลของระบบทางสังคมในปัจจุบัน ทั้งในแง่ของโครงสร้างทางภาครัฐ และระบบตลาดของภาคเอกชน
นี่ยังไม่นับถึงการเคลื่อนไหวทางสังคมต่างๆ ที่ไม่ได้อยู่ในรูปแบบขององค์กร ที่มีการจัดตั้งอย่างเป็นทางการ อีกมากมาย ซึ่งข้าพเจ้าเชื่อว่า ทุกท่านสามารถได้รับรู้หรือมีประสบการณ์ตรง ได้มากขึ้นๆทุกที
อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าขอให้ทุกท่านตระหนักว่า ทุกการเปลี่ยนแปลง นำมาซึ่งความขัดแย้งทางความคิด นำมาซึ่งการเปลี่ยนความสมดุลย์ทางอำนาจ และนำมาซึ่งความท้าทายทางความคิดและความเชื่อ ซึ่งเป็นสังคมต้องการความใจกว้าง และการคิดถึงประโยชน์ส่วนรวม ของประชาชนทุกคนในสังคมเป็นสำคัญ
"สังคมประชาชน" และ "นวัตกรรมทางสังคม" เป็นแนวความคิดและปรากฏการณ์ที่ดี ซึ่งนำความเปลี่ยนแปลงเชิงสร้างสรรค์มาสู่สมาชิกทุกคนในสังคม และต้องการเวลาในการเปลี่ยนแปลง แต่ทั้งนี้ผลลัพธ์ในการนำมาปฏิบัติ ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกและความจริงใจของสมาชิกในสังคมนั้นๆเป็นหลัก
ดังนั้นผลลัพธ์ที่แต่ละสังคมจะได้รับ จากการโอบอุ้บ"นวัตกรรมทางสังคม" และก้าวเข้าสู่ยุค "สังคมประชาชน" ย่อมมีความแตกต่างกันไป และเป็นเครื่องสะท้อนได้อย่างดีว่าสังคมนั้น มีความศิวิไลซ์อย่างไรและแค่ไหน ที่จะอดทนและทำงานร่วมกัน เพื่อผ่านช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง ที่ดูสับสนวุ่นวาย เพื่อไปสู่สังคมที่ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมมากขึ้น
ปรากฏการณ์นี้เป็นอีกเครื่องยืนยันว่า ICT เป็นเพียงแค่เครื่องมือประเภทหนึ่งเท่านั้น ผลลัพธ์ที่เกิดจากการใช้เครื่องมือนั้น อยู่ที่ความเข้าอกเข้าใจในผลกระทบและวิสัยทัศน์ของผู้นำมันไปใช้
ความก้าวหน้าของ ICT ได้นำเรามาสู่เวลาสำคัญแล้วในปัจจุบัน อยู่ที่แต่ละสังคมแล้วว่า จะเห็นช่วงเวลานี้เป็นวิกฤตที่ต้องต่อต้าน หรือเป็นโอกาสที่ต้องโอบอุ้ม