Skip to main content

 

หลังจากรัฐประหารเกิดขึ้น มีรายงานข่าวเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษามากขึ้น ผมเห็นด้วยตรงที่ว่าการศึกษาในประเทศไทยซึ่งนับวันก็ยิ่งลดคุณภาพนั้นต้องได้รับการปฏิรูป แต่ในใจก็อดความเสียใจไม่ได้ว่า ประเด็นที่พูดกันนั้นดูเหมือนว่าแค่เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างผิวพื้น มิหนำซ้ำ มีน้อยคนนักที่จะกล่าวถึงปัญหาการอ่าน ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญอันนำไปสู่การยกระดับคุณภาพการศึกษา เพราะสังคมไหนก็ตามที่มีประชาชนที่ไม่ชอบอ่านหนังสือ คุณภาพการศึกษาก็คงจะอยู่กับระดับเท่าเดิม (หรือต่ำกว่า) เท่านั้น

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศบ้านเกิดของผม (ญี่ปุ่น) ผมเห็นว่า ประชาชนไทยยังขาดโอกาสเพียงพอที่จะเข้าถึงหนังสืออย่างสะดวกสบาย (accessibility) ดังนั้น เพื่ออธิบายถึงการเข้าถึงหนังสือในประเทศญี่ปุ่น ผมขอยกสองประเด็นเพื่อบทความนี้ ได้แก่ ๑. ห้อง/หอสมุด ๒. ราคาของหนังสือ (เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอันไม่เอื้อต่อการอ่าน กรุณาดู “เราปิดหูไม่ได้ - สิ่งแวดล้อมการอ่านหนังสือของระบบขนส่งมวลชน” บล็อกที่ลงในประชาไท ในลิงค์: http://www.blogazine.in.th/blogs/shintaro/post/4972#sthash.HiucShg7.dpuf)


๑. หอสมุด/ห้องสมุด

หนึ่งในสถานที่ที่ผมชอบไปเล่นเมื่อสมัยเด็กคือหอสมุดประชาชนของเขตซูกีนามิในกรุงโตเกียว (東京都杉並区) สมัยอนุบาลหรือประถม พ่อแม่ของผมก็พาผมกับน้องสาวไปที่ห้องสมุดประชาชน ซึ่งมีมุมหนังสือเด็ก มุมหนังสือเด็กนั้นก็มีเนื้อที่กว้างมาก (เท่ากับห้องเรียนหนึ่งห้องในโรงเรียน) และมีหนังสือที่มีภาพประกอบมากมาย ผมจำไม่ได้ว่า พ่อแม่ทำอะไรในเมื่อผมสนุกกับหนังสือเหล่านี้ (คงจะหาหนังสือที่พวกเขาอยากจะอ่าน) เพราะในมุมหนังสือเด็กมีเจ้าหน้าที่พิเศษที่ใจดีและให้คำแนะนำพร้อมกับการดูแลต่อเด็กๆ ที่นั่งอ่านหนังสือ ผมไม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือเหล่านี้ให้จบที่หอสมุด เพราะเด็กๆ ก็มีสิทธิที่จะเป็นสมาชิกโดยไม่จำเป็นต้องเสียค่าใดๆ และสามารถยืมหนังสือไม่เกินห้าเล่มภายในเวลาสองสัปดาห์ (ตอนนี้ฝ่ายเขตยายบริการถึงคนละ 15 เล่ม) ดังนั้น แม้ว่าครอบครัวของผมอยู่ในภาวะการเงินไม่ค่อยดีเท่าไร ผมก็รู้สึกว่า ไม่เคยเสียเปรียบเรื่องการอ่านหนังสือ ผมใช้บริการของหอสมุดในเขตตลอดช่วงอยู่ที่บ้านเกิด ถ้าหากว่า ในหอสมุดที่ผมไปไม่มีหนังสือที่ผมต้องการ ฝ่ายหอสมุดจะเรียนหนังสือเล่มนั้นจากหอสมุดอื่นๆ ในเครือข่าย และยืมให้โดยไม่เก็บค่าบริการเช่นกัน ขอให้ทราบว่า ในเขตของผมซึ่งมีเนื้อที่แค่ 34.02 ตารางกิโลเมตร (แต่มีจำนวนประชากรเกือบครึ่งล้าน) 13 แห่ง ห้องสมุด (ขนาดย่อ) มีสามแห่ง โดยหนังสือทั้งหมด 220,000 กว่าเล่ม (ประชาชนคนละมากกว่า 4 เล่ม)

นอกจากบริการหอสมุดประชาชนที่บริหารโดยเขต สำหรับเด็กนักเรียนยังมีห้องสมุดของโรงเรียน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นห้องติดแอร์และมีเจ้าหน้าที่พิเศษ (ต้องจบบรรณารักษ์ศาสตร์) ในห้องสมุดของโรงเรียนแต่ละระดับก็มีหนังสือที่สมกับการพัฒนาความรู้ของเด็ก แต่ไม่มีหนังสือคู่มือการเรียนแม้แต่สักเล่ม ตรงกันข้าม มีหนังสือหลายเล่มที่อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนโดยตรง แต่หนังสือที่กระตุ้นความคิดของเด็ก มีหนังสือเกี่ยวกับอวกาศ เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ สุขภาพ อาหาร ครอบครัว วรรณคดี และอีกมากมาย ตัวอย่างเช่น ผมทราบถึงปัญหามลพิษที่เกิดจากอุตสาหกรรมในประเทศญี่ปุ่นผ่านหนังสือที่อยู่ในหอสมุดของโรงเรียนประถม ไม่ใช่จากการเรียนการสอนในห้องเรียน (แต่น่าเสียดายที่มีหนังสือการ์ตูนน้อยมาก)

ตั้งแต่ระดับประถมถึงระดับมัธยม ผมได้เรียนในโรงเรียนของรัฐ (จากประถมถึงมัธยมตอนต้น ไม่มีค่าเทอม ส่วนมัธยมปลาย ซึ่งไม่ใช่การศึกษาภาคบังคับ มีค่าเทอมแต่ไม่กี่ร้อยบาทต่อเดือน) แต่ผมก็รู้สึกว่า ฝ่ายโรงเรียนก็จัดบริหารหอสมุดอย่างดี มีหนังสือจำนวนหลายพันเล่ม ดังนั้น ห้องสมุดเหล่านี้เป็นบริการอีกประเภทหนึ่งที่เด็กนักเรียนสามารถใช้ได้นอกจากบริการของหอสมุดประชาชน  

โดยสรุป ตลอดช่วงสมัยเรียน (จนถึงมหาวิทยาลัย) ผมแทบจะไม่รู้สึกความไม่สะดวกในการหาหนังสือ เพราะสามารถใช้บริการของหอสมุดประชาชนและห้องสมุดในโรงเรียน

๒.  ราคาของหนังสือ

ผมสังเกตว่า ราคาหนังสือในประเทศไทยแพงมากเมื่อเทียบกับรายได้หรือค่าจ้าง ซึ่งทำให้ประชาชน โดยเฉพาะวัยรุ่นที่ต้องการจะซื้อหนังสือประสบความยากลำบาก ส่วนในประเทศญี่ปุ่น หนังสือเป็นสินค้าที่มีราคาที่เป็นมิตรต่อผู้บริโภค

ในสมัยเด็ก ร้านที่ผมชอบไปมากที่สุดคือร้านหนังสือมือสองแถวบ้านเพื่อซื้อหนังสือการ์ตูนซึ่งไม่มีในหอสมุดประชาชนหรือมีน้อยมากในห้องสมุดของโรงเรียน ลุงผมที่เปิดร้านอาหารซูซิ ให้เงินกระเป๋าสัปดาห์ละ 100 เยน (ประมาณ ประมาณ 30 บาท) กับผม ราคาหนังสือการ์ตูนมือสองในช่วงนั้นก็มีหลากหลาย ถูกที่สุดประมาณ 50 เยน แต่บางเล่มราคาเกิน 100 เยน แต่ผมก็พยายามจะเก็บเงินสองสามสัปดาห์กว่าจะได้ซื้อหนังสือ ในสุดท้าย ในช่วงหนึ่งผมมีหนังสือการ์ตูนถึงเกือบ 500 เล่ม ส่วนใหญ่ซื่อจากร้านหนังสือมือสอง  

สมัยเรียนในโรงเรียนมัธยม วันใดที่คุณแม่ไม่มีเวลาที่จะเตรียมอาหารกลางวัน แก่ก็ให้ตังค์วันละ 500 เยน ให้ผมซื้อน้ำและของกิน แต่ในเมื่อมีหนังสือที่ผมต้องการซื้อ ผมก็กินขนมปังชินเดียว และเก็บเงินจำนวนที่เหลือสองสามวัน หลังจากนั้นก็ไปหาหนังสือเล่มนั้นที่ร้านหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นร้านหนังสือมือสองหรือร้านหนังสือใหม่

เมื่อผมยังเป็นนักศึกษา ผมทำงานชั่วคราว (part time job) ในประเทศญี่ปุ่น ผมได้ค่าจ้างชั่วโมงละ 900 เยน ประมาณเท่ากับ 300 บาท (แต่ขอบอกว่า การทำงานเหนื่อยมาก) จำนวนเงินที่เราได้รับในแค่ชั่วโมงนั้นเพียงพอที่จะสามารถซื้อหนังสือเล่มหนึ่งได้ โดยเฉพาะหนังสือมือสองซึ่งส่วนใหญ่มีราคาไม่เกิน 1000 เยน หนังสือใหม่อาจจะมีราคาแพงกว่า แต่ส่วนใหญ่ก็อยู่ช่องราคาไม่เกิน 2000 เย็น ดังนั้น การทำงานสองชั่วโมงจะได้รับค่าจ้างเพียงพอที่จะซื้อหนังสือเล่มใหม่

ด้วยเหตุนี้เอง อาจสรุปได้ว่า ราคาหนังสือในประเทศญี่ปุ่นไม่เคยเป็นอุปสรรคสำหรับประชาชนที่ต้องการจะซื้อหนังสือ

สรุป

สองประเด็นที่ผมหยิบขึ้นมานี้ ผมเชื่อว่ามีความเกี่ยวสัมพันธ์กัน ในประเทศญี่ปุ่น มีหอสมุดประชาชนจำนวนมาก และทุกโรงเรียนก็มีห้องสมุดที่มีจำนวนหนังสือเป็นหลักพัน หอสมุดและห้องสมุดจำนวนมากที่มีอยู่ในประเทศ ทำหน้าที่สำคัญเป็นตลาดสำคัญสำหรับบริษัทหนังสือ ด้วยเหตุนี้เอง ฝ่ายบริษัทก็กล้าที่จะพิมพ์หนังสือที่ไม่ใช่ประเภทหนังสือยอดขาย (best seller) ในจำนวนไม่น้อย และกำหนดราคาไม่แพงมาก

ดังนั้น ผมขอแนะนำฝ่าย คสช. เพื่อปรับนโยบายเพื่อจัดตั้งหอสมุดประชาชนอันมีระบบและสามารถให้บริการยืมหนังสือ (แต่ต้องมีการศึกษาอย่างลึกซึ้งก่อนที่จะลงมือปฏิบัติ) และฝ่ายกระทรวงศึกษาธิการก็ควรสนับสนุนการจัดห้องสมุดสำหรับโรงเรียนแต่ละแห่งและทำให้ห้องสมุดเป็นสถานที่ที่น่าสนใจสำหรับเด็ก โดยมีหอสมุดประชาชนและห้องสมุดในโรงเรียน ในสุดท้ายราคาหนังสือก็อาจจะลดลง โดยมียอดขายหนังสือมากขึ้น

ขออย่าให้หนังสือเป็นสิทธิพิเศษของชนชั้นที่มีรายได้สูงอย่างเดียว

   

บล็อกของ Shintaro Hara

Shintaro Hara
เดี๋ยวนี้ผมเริ่มได้รับเชิญเป็นวิทยากรในงานเสวนาสาธารณะหรือการประชุมวิชาการ ผมก็ยินดีที่จะรับงานเหล่านี้เป็นหนึ่งในหน้าที่ของนักวิชาการ (แม้ว่าผมไม่ได้ทำงานในมหาวิทยาลัยก็ตาม) ยกเว้นในบางกร
Shintaro Hara
เมื่อวันที่ 21 ที่ผ่านมา มีการปล่อยข่าวจากสำนักข่าว Benar News
Shintaro Hara
เมื่อผมพาครอบครัวไปเที่ยวชายหาดในจังหวัดชายแดนใต้ ไม่ว่าจะเป็นหาดตะโละกะโปร์ หาดปะนาเระ หาดวาสุกรีในจังหวัดปัตตานี หรือ หาดนราทัศน์ในจังหวัดนราธิวาส  ฯลฯ ในวันหยุด เกือบทุกครั้งผมก็อดรู้สึกเสียใจไม่ได้กับสภาพของชายหาดที่เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของคนในพื้นที่ซึ่งเต็มไปด้วยขยะ ในช่วงเทศกาล เช
Shintaro Hara
ลัทธิทรงพลังมากที่สุดในสังคมไทย ณ ปัจจุบันนี้คือ ลัทธิ “พวกกูทำอะไรไม่ผิด” ลัทธิอันนี้มีธรรมชาติชองมนุษย์เป็นที่มาและพื้นฐาน ตัวอย่างเช่น บรรดาพ่อแม่มักจะประสบปัญหาในเมื่อลูกกระทำผิด และพยายามจะบอกกับคนอื่นว่า “ลูกของฉันไม่ได้ทำผิด” ถึงแม้ว่าบางกรณีมีหลักฐานมากมายที่แสดงให้เห็นว่า ลูกของเขาทำผิดจ
Shintaro Hara
แม้ว่าการ์ตูนญี่ปุ่นเป็นที่นิยมในประเทศหลาย ๆ ประเทศ และ “โดเรม่อน” ถือว่าเป็นหนึ่งในเรื่องที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียก็ตาม การ์ตูนเรื่องนี้ไม่ได้รับความสนใจจากชาวอเมริกัน เนื่องจากเรื่องมีไม่มีตัวละคนที่เป็นฮีโร่ที่มีบุคลิกภาพที่น่าชื่นชม กล้าที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาอันยิ่งใหญ่ และสา
Shintaro Hara
การบังคับให้เด็กนักเรียนใส่ชุดทหารในโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่ง โดยอ้างว่าเป็นการสร้างวินัยนั้น ก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่าง ๆ จากสังคม โดยมีทั้งคนที่ชื่นชมการบังคับดังกล่าวและคนที่กล่าวคำวิจารณ์ด้วย ปฏิกิริยาเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า ในสังคมไทยมีความเข้าใจที่แตกต่างกันเกี่ยวกับความหมายของคำว่า “วินัย”
Shintaro Hara
วันที่ ญี่ปุ่น กลายเป็น ยุ่น
Shintaro Hara
กระบวนการสันติภาพ ณ เกาะมินดาเนา ประเทศฟิลิปปินส์ ประสบอุปสรรคครั้งยิ่งใหญ่ หลังจากรัฐสภาแห่งประเทศฟิลิปปินส์ไม่ให้ผ่านร่างกฎหมายพื้นฐานบังซาโมโร (Bangsamoro Basic La
Shintaro Hara
เมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา เด็กอายุ 13 ปีถูกยิงที่บ้านที่อยู่ใน อ. ยะหา จ. ยะลาและเสียชีวิตคาที่ เหตุการณ์ครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของคนในพื้นที่ เพราะเหยื่อเป็นพลเมือง และเหตุการณ์เกิดขึ้นในสถานที่พลเมือง (บ้านของเหยื่อ) และเหยือก็ยังเป็นเด็ก
Shintaro Hara
ข้อเสนอจากราชบัณฑิตยสถานเกี่ยวกับชื่อเรียกของชาวมุสลิมจากประเทศพม่าที่รู้จักกันในนามว่า “โรฮิงญา” ให้เรียกเป็น “โรฮินจา” นั้น ได้รับความสนใ
Shintaro Hara
ช่วงนี้เป็นช่วงสอบสำหรับมหาวิทยาลัยที่ผมทำงานอยู่ พฤติกรรมของนักศึกษาในห้องสอบอยู่ในระดับที่ไม่น่าพอใจอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสียงดังโดยนักศึกษาที่ส่งข้อสอบก่อนหมดเวลาแต่รอพรรคพวกอยู่นอกห้องสอบ การที่เปิดตัวข้อสอบก่อนเวลาสอบ (ถึงแม้ว่าคณะกรรมการคุมสอบห้ามแล้วก็ตาม) การที่ไม่วางปากกาทั้งๆ ที่ห
Shintaro Hara
เมื่อคนไทยพูดถึงเรื่องปฏิรูป ฝ่ายที่เป็นเป้าหมายของการโจมตีตลอดคือนักการเมืองที่ทุจริต ผมไม่ปฏิเสธว่านักการเมืองหลายคน (ส่วนตัว ผมเชื่อว่าเกือบทุกคน) ไม่ว่าจะมาจากพรรคไหนหรือฝ่ายไหน สีเสื้ออะไรก็ตาม ติดเรื่องทุจริตทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการรับสินบน การใช้อิทธิพลทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว การ