Skip to main content

ในสมัยก่อนคนพื้นถิ่นแถบแม่น้ำของ หรือที่คนทั่วไปรู้จักกันว่าน้ำโขง มีการใช้เรือในแม่น้ำของเพื่อการคมนาคมและขนส่งสินค้า ซึ่งสินค้าของคนพื้นถิ่นแถบอำเภอเชียงของและเวียงแก่นก็จะมีทั้ง เกลือ ข้าว และสินค้าอื่นๆ เพื่อค้าขายและเปลี่ยนกับฝั่งลาวและคนต่างถิ่น การค้าทางน้ำในแม่น้ำของนั้นมีมานานหลายชั่วคน


นอกจากประโยชน์ในการบรรทุกสินค้าแล้ว คนท้องถิ่นยังใช้เรือในการหาปลา ซึ่งก่อนที่คนหาปลาจะหันมาใช้เรืออย่างทุกวันนี้ คนหาปลารุ่น ๗๐ ปีขึ้นไปที่หาปลาในแม่น้ำของในอดีตใช้แพไม้ไผ่เพื่อหาปลา

พ่ออุ้ยผุย บุปผา อายุ ๗๖ ปี ชาวบ้านปากอิงใต้เล่าว่า “แต่ก่อนตอนพ่อเป็นหนุ่ม เคยล่องแพไปแอ่วถึงหลวงพระบางโน่น ไป-กลับก็ ๒ เดือนขึ้น แต่ก่อนหาปลาในน้ำของนี่เรือไม่มีหรอก เรือมาทีหลัง ส่วนมากก็จะต่อแพหาปลา”


ปัจจุบันในช่วงต้นหน้าฝนในน้ำของก็ยังคงมีการล่องแพไม้ไผ่ให้เห็น แต่แพไม้ไผ่ที่ล่องมานั้นส่วนมากจะล่องเอาไม้ไผ่มาขาย มิใช่เพื่อใช้หาปลาดังแต่ก่อน


เมื่อเลิกใช้แพแล้ว เรือก็ได้เข้ามาแทนที่ แรกๆ นั้นเป็นเรือขุดหรือเรือโกน ซึ่งทำขึ้นเพื่อใช้ในการหาปลาโดยเฉพาะ ไม่ได้ใช้เป็นเรือโดยสาร ส่วนเรือพายที่เคยใช้เพื่อการโดยสารก็เปลี่ยนมาเป็นเรือยนต์แทน

คนหาปลาในแม่น้ำไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำสายใดในโลกล้วนต้องพึ่งพาเรือแทบจะทุกคน แต่คนหาปลาในแม่น้ำของที่อำเภอเชียงของและเวียงแก่น นอกจากจะใช้เรือเป็นเครื่องมือช่วยในการหาปลาแล้ว คนหาปลายังได้ใช้เรือเป็นเครื่องมือหาปลาอีกด้วย


คนหาปลาในแม่น้ำของมีพิธีกรรมและความเชื่อต่อเรือของตัวเองอย่างเหนียวแน่น ก่อนจะนำเรือออกหาปลาในแต่ละครั้ง คนหาปลาทุกคนจะบนบานบอกกล่าวกับเรือของตัวเองด้วยปากเปล่าเสียก่อนเพื่อให้ “หมาน” เช่น บนว่าวันนี้ขอให้ได้ปลาเยอะๆ เมื่อได้ปลาเยอะดังที่บนบานไว้ก็จะเลี้ยงเรือ แต่ถ้าหาปลาไม่ได้ก็ไม่เลี้ยง การบนบานเรือนั้นคนหาปลามีความเชื่อว่าเรือของตัวเองมีสิ่งที่เคารพนับถือคอยคุ้มครองอยู่ คนหาปลาจึงเคารพยำเกรง ไม่ว่ากล่าวลบหลู่ดูหมิ่นหรือทำกิริยาที่ไม่สมควรเด็ดขาด ไม่ว่าจะ ถ่มน้ำลาย หรือเอาไม้พายเรือกระทุ้งตรงกลางลำเรือ เพราะมีความเชื่อว่าจะทำให้หาปลาไม่หมาน อีกสิ่งคนหาปลายึดถือมาตลอดคือ ถ้ามีคนที่มีคาถาอาคมบางชนิดขึ้นนั่งบนเรือไปหาปลาด้วยก็จะทำให้หาปลาไม่หมานด้วยเช่นกัน


การเลือกเรือเพื่อใช้หาปลานั้น คนหาปลาที่มีฝีมือและเป็นช่างไม้จะตัดไม้มาทำเอง ส่วนคนหาปลาที่ไม่ใช่ช่างและทำเรือไม่เป็นก็จะซื้อหรือให้ช่างทำเรือให้ โดยเจ้าของเรือจะเลือกไม้ทำเรือด้วยตัวเอง


ในการทำเรือนั้น การดู “ตาเรือ” หรือวงรอบของไม้ซึ่งอยู่ภายในตัวเนื้อไม้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับคนหาปลาที่คิดจะทำเรือ ตาเรือที่ดี ที่ทำให้หมาน ได้แก่ “ตาห้อยเงิบ” คือ ตาที่อยู่บริเวณกาบเรือที่คนหาปลาใช้ห้อยปลา “ตาสามเส้า” คือ มีตาสามตาอยู่บนพื้นเรือเหมือนก้อนเส้า “ตาซะน้ำ” คือ ตาที่อยู่ระหว่างเครื่องเรือกับคนนั่ง “ตาปลดปลา” คือตาที่อยู่ข้างเรือที่คนหาปลาปลดปลาออกจากมอง คนหาปลาเชื่อว่า ตาเรือที่ทำให้หมานต้องเป็นตาที่อยู่ด้านหัวเรือ


ตาเรือที่ทำให้ไม่หมาน ได้แก่ “ตาจี้ง่อน” คือมีตาอยู่ข้างหลังบนพื้นเรือ เรือแบบนี้จะทำให้เจ้าของต้องเจ็บป่วยหรือหาปลาได้ไม่หมานอยู่ตลอด “ตาปั่นพื้น” ซึ่งอยู่ตรงกลางเรือก็จะทำให้เรือจะล่มได้บ่อย


คนหาปลาบ้านห้วยลึก เล่าว่า “บางคนเลื่อยไม้มาแล้วแต่มีตาหมานอยู่ทางโคนไม้ก็จะแก้เคล็ด เอาทางโคนไม้มาเป็นหัวเรือเพราะมีตาหมานอยู่ แต่ส่วนมากเวลาทำเรือจะไม่ค่อยเอาทางโคนไม้มาไว้ทางหัวเรือหรอก เรื่องดูตาเรือนี่ คนเฒ่าคนแก่สอนมาแต่พ่อแต่แม่ บ่ะเดี่ยวนี้บ่ค่อยมีไผรู้แล้ว”


การทำเรือนั้น ไม้ที่นำมาทำเรือก็มีความสำคัญมากเช่นกัน โดยนิยมเอามาทำเรือ ได้แก่ ไม้แหย่เงา และไม้ขอนต้าว หรือไม้โค่นงุ่น


ไม้แหย่เงา” คือ ไม้ที่ขึ้นอยู่ริมห้วยระหว่างห้วยสองสายที่ไหลมาบรรจบกัน ต้นไม้ที่ทอดเงาลงในน้ำนั้นเรียกว่า ไม้แหย่เงา


คนหาปลาจากบ้านห้วยลึกเล่าให้ฟังว่า “ถ้าเดินไปแล้วเห็นเงาต้นไม้อยู่ในน้ำ ก็ตัดต้นไม้นั้นลงมา ถ้าให้ดีต้องเป็นไม้ตะเคียน เพราะไม้ตะเคียนเป็นไม้ที่หนักกว่าไม้อื่น เวลาเอาลงน้ำแล้วจะลอยน้ำดี ทนแดดทนฝน และมีผีเรือที่คนหาปลาสามารถพึ่งพาอาศัยเป็นเครื่องช่วยให้หาปลาได้หมานด้วย แต่ว่าเรือลำที่ได้มาคนหาปลาต้องทำการเลี้ยงเรือให้ดี ถ้าไม่มีไม้ตะเคียนก็ใช้ ไม้แคน ไม้ซ้อ ไม้แดงน้ำ เพราะไม้พวกนี้ผีประจำต้นไม้เป็นเจ้าของอยู่ ก่อนตัดไม้ก็เซ่นไหว้ผีเจ้าที่เสียก่อน ขออนุญาตตัดไม้ ถ้าไม้ต้นไหนใหญ่ ทำเรือได้ ๓ ลำ ถ้าลำไหนเอาลงน้ำก่อนก็จะหาปลาได้เยอะกว่าหมู่”


ไม้โค่นงุ่น” หมายถึง ไม้ที่โค่นลงมาเอง โดยต้องเป็นไม้ตะเคียน ไม้แคน ไม้ซ้อ ไม้แดงน้ำ เท่านั้น คนหาปลาเชื่อว่าหากใช้ไม้เหล่านี้จะทำให้ได้ปลาใหญ่ แต่หากไม่มีจริงๆ คนหาปลาก็สามารถใช้ไม้อื่นได้


เมื่อได้เรือมาใหม่ ต้องมีการเลี้ยงเรือก่อนนำเรือลงน้ำ คนหาปลาบ้านปากอิงใต้บอกว่า

เลี้ยงเรือนี่ก็แล้วแต่ความเชื่อของแต่ละคน บางคนก็ให้ผู้หญิงเดินเข้าไปเหยียบพื้นเรือจนสุด เวลาเหยียบก็ให้ผู้หญิงพูดไปด้วยว่า เรือลำนี้ทำไมไม้มันอ่อนจัง พูดให้ปราบนางเรือ เวลาลงเรือแล้วออกไปอีกทางเลย อย่างถ้าลงทางท้ายต้องไปออกทางหัวเรือ หรือถ้าเข้าทางหัวต้องออกทางท้ายเรือ แต่บางคนก็ทำพิธีปราบนางเรือเอง ไม่ให้ผู้หญิงทำ”


ถ้าเอาเรือลงน้ำครั้งแรก ได้ปลามาคนหาปลาจะเลี้ยงเรือ เลี้ยงเสร็จแล้วก็เรียกคนอื่นๆ ในหมู่บ้านมากินด้วย เครื่องเซ่นก็มีเหล้า มีไก่”


งานวิจัยจาวบ้านที่ทำการศึกษาโดยชาวบ้านในอำเภอเชียงของและเวียงแก่น พบว่า เรือที่ใช้ในการหาปลาในอดีตจนถึงปัจจุบันส่วนมากจะเป็นเรือจิบหรือเรือโก๋น และเรือกาบ ในสมัยก่อนคนหาปลาจะใช้เรือจิบซึ่งมีขนาดเล็กหาปลาตามลำห้วยหรือลำน้ำสาขาของแม่น้ำของ แต่ปัจจุบันเรือจิบหรือเรือโก๋นนั้นมีคนใช้น้อยมาก เพราะคนหาปลานิยมใช้เรือกาบที่ติดเครื่องยนต์ที่สะดวกกว่าเรือพาย


แม้ว่าปัจจุบันเรือยนต์จะเป็นที่นิยม แต่คนหาปลาก็ยังคงให้ความเคารพและมีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องเรืออยู่เช่นเดิม


พิธีกรรมและความเชื่อต่อเรือจับปลาบึก


นอกจากความเชื่อเรื่องการเลือกเรือแล้ว คนหาปลาบางคนยังมีพิธีกรรมและความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการหาปลาด้วยเช่นกัน อาทิ คนจับปลาบึกที่บ้านหาดไคร้ อำเภอเชียงของ ก็จะมีประเพณีที่สืบต่อกันมายาวนานคือ พิธีการบวงสรวงก่อนจับปลาบึก ซึ่งจะทำในช่วงเดือน เมษายน-พฤษภาคม ฤดูกาลจับปลาบึกเริ่มขึ้นเมื่อคนหาปลาเห็นนกนางนวลตัวแรกโผบินขึ้นมาตามลำน้ำของ ด้วยความเชื่อที่ว่าปลาบึกเป็นปลาที่มีเจ้าของ มีภูตผีคุ้มครอง การจับปลาที่มีเจ้าของคนจับปลาต้องทำพิธีเลี้ยงบอกกล่าวก่อน รวมถึงต้องบวงสรวงเรือ เครื่องมือหาปลา และบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทางช่วยดูแลคนที่ลงเรือจับปลาบึกทุกคนให้จับปลาได้อย่างปลอดภัย ไม่มีอันตราย


ก่อนที่จะออกเรือจับปลาบึก คนหาปลาต้องหาฤกษ์ยาม ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับคนหาปลา เมื่อได้วันเวลาตามฤกษ์ยามก็จะออกไปหาปลาบึก หลังจากจับปลาบึกได้แล้วคนหาปลาก็จะเลี้ยงผีทั้งหมด ๓ ที่ คือ เลี้ยงแม่ย่านางเรือ เลี้ยงผีโพ้ง และเลี้ยงผีเจ้าที่


การเลี้ยงผีแม่ย่านางเรือ


คนหาปลาเชื่อว่าเรือหนึ่งลำมีแม่ย่านางเรืออยู่สามที่ คือ นางผมหอมอยู่หัวเรือ นางคำฟูอยู่กลางลำเรือ และนางแก้วอยู่ท้ายเรือ นางทั้ง ๓ นี้จะทำหน้าที่รักษาเรือ และช่วยในการจับปลาให้ได้ดียิ่งขึ้น

ก่อนที่จะจับปลาบึก คนหาปลาจะต้องทำพิธีเซ่นสรวงแม่ย่านาง ต้องเสี่ยงทายว่า แม่ย่านางจะรับเครื่องเซ่นชนิดใด ซึ่งมี ๓ ชนิด คือ หัวหมู ไก่แดง และไก่ขาว โดยเสี่ยงหยิบเมล็ดข้าวเปลือก ๓ ครั้งสำหรับเครื่องเซ่นหนึ่งอย่าง นับทีละคู่ หากมีเศษก็ถือว่าแม่ย่านางไม่รับ แต่หากหยิบ ๓ ครั้งแล้วนับเป็นคู่ ถือว่าแม่ย่านางจะรับเครื่องเซ่นนั้น หากเรือลำใดที่เสี่ยงทายได้ไก่ขาว ถือว่าเรือลำนั้นมีแม่ย่านางที่มีอำนาจมาก ต้องเลี้ยงด้วยเครื่องเซ่น ๑๒ โดยเครื่องเซ่นสำหรับเลี้ยงผีแม่ย่านางมี ๒ แบบ คือ เครื่อง ๔ และ เครื่อง ๑๒


เครื่อง ๔ ประกอบด้วย เทียน ๒ เล่ม ดอกไม้แดง หมากและใบพลูผูกติดกันด้วยฝ้าย รวมเป็น ๑ ชุด โดยเซ่น ๓ ชุด ที่หัวเรือ กลางเรือ และท้ายเรือ ตามจำนวนของแม่ย่านาง

ส่วนเครื่อง ๑๒ มีเครื่องเซ่นเหมือนกับเครื่อง ๔ แต่เพิ่มเป็น ๑๒ ชุด โดยเซ่นแก่แม่ย่านางตนละ ๓ ชุด รวมทั้งหมด ๓๖ ชุด


เมื่อไหว้แม่ย่านางแล้วนำไก่เป็นๆ ฟาดที่หัวเรือเรือจนไก่ตาย ทาเรือด้วยเลือดไก่ตั้งแต่หัวเรือถึงท้ายเรือ หากเป็นหมูก็นำเลือดหัวหมูทาเช่นกัน แล้วกล่าวบนบานแม่ย่านางให้โชคดีในการจับปลาบึกในปีนี้ ถ้าหากจับได้ก็จะเลี้ยงแก้บน แล้วจึงเริ่มจับปลาบึก


คนหาปลาเชื่อว่าการเลี้ยงผีจับปลาบึกห้ามทำในวันพระ เพราะผีจะไม่รับ และทำให้จับปลาไม่ได้ด้วย คนหาปลาที่ต้องการบนหรือแก้บนจึงต้องไม่ทำในวันพระ


เมื่อจับปลาบึกได้ เครื่องเซ่นที่ใช้เลี้ยงผีแม่ย่างนางเรือ คือ ดอกซมพอสีแดง (ดอกหางนกยูง) ไก่ ๒ ตัว (ยังไม่ตาย) เหล้า ๑ ขวด น้ำหวาน น้ำดื่มสีแดง พวงมาลัยสีแดง สรวยเทียน ดอกไม้ ธูป เทียน ๖ คู่ ผลไม้ ขนม เสื้อแดง ซิ่นแดง สร้อย แหวน เงิน ทอง แว่น หวี แป้ง เครื่องตกแต่งนางเรือ ด้ายมัดเรือ


เมื่อเตรียมของพร้อมแล้ว คนหาปลาก็จะก่อไฟตั้งน้ำต้มไก่ นำมอง (ตาข่าย) ที่ใช้จับปลาบึก และเรือ มาจอดริมฝั่งบริเวณที่จะทำพิธี นำไก่ ๒ ตัวที่ยังไม่ตายมาฟาดตัวเรือตั้งแต่หัวจนถึงท้ายเรือ โดยให้เลือดไก่ติดอยู่กับเรือเพื่อให้แม่ย่านางเรือได้ดื่มเลือดไก่ นำไก่ตายไปถอนขน ต้มให้สุกแล้วนำมารวมกับเครื่องเซ่นที่เตรียมไว้ จากนั้นจึงนำเครื่องเซ่นทั้งหมดวางไว้กลางลำเรือ ยกเว้นเครื่องตกแต่ง เสื้อผ้า แว่น หวี วางไว้ที่หัวเรือ


เจ้าของเรือที่จับปลาบึกได้ก็จะบอกกล่าวแม่ย่านางว่า วันนี้มาเลี้ยงแม่ย่านางเรือที่ทำให้จับปลาบึกได้ ขอให้แม่ย่านางมากินของบวงสรวงที่ได้นำมาถวายเลี้ยงตอบแทนในครั้งนี้ และขอขวัญเรือกลับคืนมาอยู่กับเรือ เพราะเรือได้สะดุ้งตกใจจากการออกไปจับปลาใหญ่ที่มีเจ้าของ ให้ขวัญเรือกลับคืนมาเหมือนเดิม เจ้าของเรือจะเอาข้าวเหนียวปั้นพอคำแล้วฉีกเนื้อไก่ต้มวางติดกันเพื่อป้อนข้าว และเหล้ายา รวมถึงอาหารคาวหวานอื่นๆ เพื่อเป็นการบอกกล่าวขอบคุณและบนบานต่อเพื่อขอให้จับปลาบึกได้ตัวที่สองตัวที่สามต่อไป


เมื่อพิธีการเสร็จสิ้น เจ้าของเรือก็จะนำด้ายมาผูกไว้รอบลำเรือทั้งหมดสามจุด คือ กลางลำเรือ หัวเรือ และท้ายเรือ ตามจำนวนแม่ย่านาง


เรือผีหลอกความอุดมแห่งสายน้ำของในอดีต


เรือนอกจากเป็นเครื่องมือช่วยหาปลา แล้วยังเป็นเครื่องมือหาปลาโดยตรงอีกด้วย ดังเช่น “เรือผีหลอก” คนหาปลาในสมัยก่อนจะทาเรือด้วยสีขาว หรือใช้สังกะสีโอบรอบข้างเรือเพื่อให้มีสีขาวสะท้อนแสง แล้วนำเรือออกหาปลาในคืนวันเพ็ญ เมื่อแสงจันทร์ส่องตัวเรือ เรือจะเรืองแสงเป็นสีขาว เมื่อคนหาปลาพายเรือไป ปลาที่เห็นแสงสะท้อนก็จะกระโดดเข้ามาในเรือ


ที่บ้านปากอิงใต้ในอดีตยังหาปลาด้วยเรือผีหลอก ดังที่คนหาปลาเล่าว่า

ถ้าใช้เรือผีหลอกต้องข้ามไปที่ร่องน้ำลึกแถวบ้านดอนไข่นก ทางฝั่งลาวโน่น แต่ก่อนปลาเยอะ ปลาเห็นแสงมาบๆ ก็กระโดดใส่เรือ พายไปเรื่อยๆ ก็ได้ปลา เดี๋ยวนี้ปลามันน้อย ใช้ไม่ได้แล้ว”


เรือผีหลอกนี้เคยมีใช้เช่นเดียวกันที่แม่น้ำสงคราม น้ำสาขาของแม่น้ำของ บริเวณบ้านปากยาม อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม โดยคนหาปลาจะใช้แผ่นสังกะสีผูกไว้ระหว่างเรือพาย ๒ ลำ และพายไปเรื่อยๆ เมื่อปลาเห็นสงสะท้อนก็กระโดดเข้าเรือ แต่ในปัจจุบันนี้ไม่มีแล้วเช่นกัน เนื่องจากปลาลดลง


เรือและความสัมพันธ์ของชุมชนสองฝั่งของ


นอกจากเป็นเครื่องมือหาปลาสำหรับคนหาปลาแล้ว เรือยังเข้ามาเกี่ยวข้องในพิธีกรรมความเชื่อร่วมกันของชุมชนอีกด้วย เช่น ชุมชนบ้านห้วยลึก อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ซึ่งอยู่ใกล้กับฝั่งลาว ในช่วงออกพรรษา ชาวบ้านในชุมชนทั้ง ๒ ฝั่งน้ำจะไหลเรือไฟร่วมกัน เพื่อเป็นพุทธบูชา หากปีใดวันออกพรรษาไม่ตรงกัน ก็จะจัดงานคนละวัน แต่ชาวบ้านก็ข้ามน้ำของไปร่วมงานบุญของอีกฝั่งด้วย


ในงาน นอกจากการไหลเรือไฟแล้ว เรือหาปลาบางลำยังได้มาสร้างความสนุกสนานให้กับชุมชนด้วย เช่น การแข่งเรือในแม่น้ำของ ซึ่งมีทั้งแข่งเรือยาว และแข่งเรือหาปลา ซึ่งหลายชุมชนจัดขึ้นร่วมกัน


เมื่อเรือใหญ่มา เรือเล็กถึงคราต้องล่าถอย


ในห้วงระยะ ๒ ปีที่ผ่านมาเรือเล็กของคนหาปลาในแม่น้ำของบางคนก็ต้องจอดเรือทิ้งไว้เฉยๆ โดยเฉพาะในแถบอำเภอเชียงแสน เพราะแม่น้ำของอันอุดมสมบูรณ์ที่หลายชีวิตเคยพึ่งพาได้กลายเป็นเพียงเส้นทางขนส่งสินค้าจากจีน เมืองเชียงแสนอันเก่าแก่กลายเป็นท่าเรือสินค้า รองรับเรือจีนขนาดใหญ่ บรรทุกน้ำหนักระวางไม่ต่ำกว่า ๑๕๐ ตัน และปัจจุบันเรือจีนขนาดบรรทุกระวาง ๓๐๐ ตันจากเมืองท่าทางตอนบนของแม่น้ำของได้มาเยือนเชียงแสนแล้ว


เมื่อเรือใหญ่มา คนหาปลาก็ต้องรีบพายเรือลำน้อยเข้าฝั่งหลบคลื่นใหญ่ หากไม่หลบเรือก็จะโดนคลื่นน้ำจากเรือใหญ่ซัดให้ล่มได้ คนหาปลาจึงเลือกที่จะจอดเรือทิ้งไว้ริมฝั่งมากกว่าที่จะเอาเรือออกไปเสี่ยงภัย

คนหาปลาอาวุโสจากเชียงแสน เล่าว่า “เรือล่มไปสองครั้งแล้ว เรือจีนมา คลื่นใหญ่พัดเรือเฮาล่ม ตอนนี้บ่จับปลาแล้ว เรือใหญ่เยอะ จับได้น้อย บ่คุ้มค่าน้ำมัน”


แม้ว่าปัจจุบันเรือจีนขนาดใหญ่จะล่องน้ำของลงได้มาถึงเพียงเชียงแสน แต่เรือใหญ่เหล่านี้ ก็ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักกับคนที่หาปลาตามลำน้ำของ ดังกรณีของ อุ้ยเสาร์ ระวังศรี นักวิจัยจาวบ้านประเด็นปลาและเครื่องมือหาปลา จากอำเภอเชียงของ อุ้ยเสาร์เล่าว่า “แต่ก่อนอุ้ยเคยเอาเรือขนาดสิบกว่าศอกขึ้นไปหาปลาไกลถึงเขตพม่า อุ้ยมีเพื่อนที่เป็นพ่อหลวงบ้านอยู่ทางพม่า ไปหาปลาทางพม่าล่องลงมาอาทิตย์หนึ่งได้ปลาเกือบเต็มลำเรือ แต่ตอนนี้บ่กล้าเอาเรือขึ้นไปหาปลาด้านบนแล้ว แค่เขตเชียงแสนก็บ่ไป กลัวคลื่นเรือใหญ่ของจีนมันซัดเรือเฮาล่ม”


เรือหาปลาพื้นบ้านหลายลำปัจจุบันจึงกลายเป็นเพียงตำนานบทเล็กๆ ของคนหาปลาที่กำลังจะเลือนหายไป ไม่มีใครบอกได้ว่าในอนาคต ความเชื่อที่คนหาปลามีต่อเรือของตัวเองจะยังมีอยู่หรือไม่ พิธีกรรมต่างๆ ของคนหาปลาก็อาจสูญหายไปในไม่ช้านี้เช่นกัน


ตราบใดที่การพัฒนายังให้ความสำคัญแก่ความเจริญทางวัตถุและเศรษฐกิจ มากกว่าคุณค่าของความเชื่อในชุมชนที่มิอาจประเมินค่าทางเศรษฐกิจได้ ชุมชนหาปลาที่พึ่งพาแม่น้ำและธรรมชาติด้วยความเคารพก็คงต้องล่มสลายไป เรือที่เคยออกหาปลาก็อาจกลายเป็นกระถางปลูกต้นหอม กระเทียม เรือที่มีตาหมานที่เคยเลี้ยงชีวิตคนหาปลาตลอดมาก็อาจกลายเป็นเชื้อไฟมอดไหม้เป็นเพียงเถ้าถ่านในที่สุด


พ่อเฒ่าคำจ้อย ธรรมวงค์ หนึ่งในนักวิจัยจาวบ้านกล่าวว่า “ถ้าไม่มีคนหาปลาสืบทอดความรู้เหล่านี้แล้ว พอพ่ออุ้ยที่มีความรู้ตายไปหนึ่งคนก็เท่ากับว่าความรู้ที่มีอยู่กับพ่ออุ้ยคนนั้นก็ตายจากไปด้วย ก็เหมือนเรือหาปลานั้นแหละ พอเก่าแล้วเขาก็ทิ้งให้ตากแดด ตากฝนไปจนผุพังไม่มีคนสนใจ”


บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
วารสารวรรณศิลป์บนแผ่นดินลาว ลมหนาวและความร้อนแล้งโชยผ่านยอดขุนเขาด้านทิศตะวันตกแห่งเมืองหลวงของราชอาณาจักรล้านนามาแผ่วๆ แล้วฤดูกาลแห่งความเหน็บหนาวก็เดินทางมาอีกครั้งพร้อมกับลมสายลมนั้น
สุมาตร ภูลายยาว
สี่พันดอน: บ้านของคนและปลา เมื่อเอ่ยถึงสี่พันดอนเชื่อว่าหลายคนที่เคยไปเยือนคงจินตนาการถึงได้ แต่สำหรับคนที่ไม่เคยไปเยือนคงงุนงงไม่น้อยว่าหมายถึงอะไร คำว่า ‘สี่พันดอน’ เป็นชื่อเรียกเกาะ ดอนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแม่น้ำโขงในเขตเมืองโขง แขวงจำปาสัก ภาคใต้ของประเทศลาว ดินแดนแห่งนี้ได้ถูกเรียกขานว่า สี่พันดอน เพราะเต็มไปด้วยเกาะน้อยใหญ่ที่มีจำนวนมากมายเรียงรายอยู่ในแม่น้ำโขงที่มีความกว้างกว่า ๑๔ กิโลเมตร เกาะต่างๆ เริ่มขึ้นที่เมืองโขงและยาวลงไปจนถึงชายแดนลาว-กัมพูชาที่บ้านเวินคามกับเมืองสตรึงเตร็ง ในจำนวนเกาะที่มีอยู่มากมาย เกาะใหญ่ที่สุดชื่อ ‘ดอนโขง’ คำว่า ‘ดอน’…
สุมาตร ภูลายยาว
เจ้าม้าศึกสีเทา ๒,๒๐๐ ซีซี ทะยานไปตามทางลูกรังสีแดงเบื้องหลังฝุ่นคลุ้งตลบ หากมีรถวิ่งตามมาคงบอกได้คำเดียวว่า ‘ขอโทษ’ ก่อนจะถึงทางแยกเสียงโทรศัพท์ของผู้ไปถึงก่อนก็บอกให้ตรงมาตามทางอย่าได้เลี้ยวซ้ายเป็นอันขาด เพราะนั่นหมายถึงการหลงทางจะเกิดขึ้น
สุมาตร ภูลายยาว
การเดินทางเที่ยวนี้มีผู้หญิงนำ เช้านี้เป็นอีกวันที่ตื่นเช้ากว่าวันอื่น แต่หากว่าเมื่อเทียบกับชาวบ้านทั่วไปแล้ว ถือว่ายังสาย โดยเฉพาะกับพ่อค้าแม่ค้าการตื่นนอนตอน ๖ โมงเช้านั้นถือว่าสายมากแล้ว เช้านี้กว่าจะเปิดเปลือกตาตื่นช่างหนักหนาสาหัส ราวกับว่าเปือกตาทั้งสองข้างถูกปิดทับไว้ด้วยเทปกาวชั้นดี หลังล้างหน้าแปรงฟันเสร็จ สมองยังคงงุนงง อาจเป็นเพราะช่วงนี้พักผ่อนไม่ค่อยพอ รวมทั้งมีเรื่องหลายเรื่องให้ได้คิด แต่เพราะงานที่ทำจึงต้องบังคับตัวเองให้ลุกจากที่นอน
สุมาตร ภูลายยาว
จะแกคนเลี้ยงวัวผู้ไม่เคยขุ่นมัวในหัวใจ ผมจำได้ว่าพบชายคนนี้ครั้งแรกเมื่อเข้าไปบ้านสองพี่น้อง เขาดูแปลกกว่าคนอื่นในหมู่บ้าน เพราะเขาเป็นผู้ชายคนเดียวในหมู่บ้านที่ไว้ผมยาว เค้าโครงใบหน้าของเขาราวกับถอดแบบออกมาจากหัวหน้าชนเผ่าของอินเดียนแดง
สุมาตร ภูลายยาว
การงานของชีวิตที่ตกค้าง ฝนเทลงมาอีกวันแล้ว...เสียงสังกะสีดังราวกับมีก้อนหินนับล้านร่วงลงมาใส่ เย็นวันนี้มีเรื่องราวให้ขบคิดมากมาย กลับมาจากการประชุมที่เคร่งเครียด อันนับว่าเป็นการงานส่วนหนึ่งของชีวิต เล่นเอาเหนื่อยสายตัวแทบขาด แล้วยังมีงานอะไรที่ยังไม่ได้ทำอีกไหมนี่
สุมาตร ภูลายยาว
บันทึกในค่ำคืนที่เปลี่ยนผ่านกับนิทรรศการที่ไม่ได้จัด สายฝนของเดือนกันยายนโปรยสายลงมาทั้งวัน เราออกเดินทางจากเชียงของมาแต่ตอนเช้าด้วยรถคันเล็ก บนกระบะทางตอนท้ายบรรทุกเอกสารต่างๆ รวมทั้งนิทรรศการมาเต็ม รถต้องจดหลายครั้ง เพื่อห่มผ้ายางกันฝนให้ของบนกระบะรถ เราผ่านมากว่าครึ่งทาง ฝนยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดตก ซ้ำร้ายยังตกลงมาหนักกว่าเดิม รถวิ่งทำความเร็วได้ไม่มากนัก ทั้งที่ความเป็นจริงแม้ฝนจะไม่ตก มันก็ไม่เคยวิ่งได้เร็วกว่าที่วิ่งอยู่เท่าใดนัก
สุมาตร ภูลายยาว
เมฆสีดำเหนือฟ้าด้านตะวันออกส่งสายฝนลงมาตั้งแต่เช้าจนล่วงบ่าย แม่น้ำเป็นสีชานมเย็น เศษขยะ ขอนไม้ ท่อนไม้ และต้นไม้ลอยมากับสายน้ำ และไหลไปตามแรงเฉื่อยของกระแสน้ำ
สุมาตร ภูลายยาว
เช้านี้เหมือนกับทุกเช้าในช่วงนี้พ่อท่อน ยาแก้วเดินทอดน่องในสวนบนดอนทรายริมฝั่งแม่น้ำโขงเพื่อดูแปลงมะเขือราว ๔ ไร่ ในใจพ่อท่อนเองไม่อยากเก็บมะเขือในตอนนี้แม้ว่าจะถึงช่วงเวลาในการเก็บแล้ว สาเหตุที่ทำให้พ่อท่อนไม่อยากเก็บมะเขือในตอนนี้ เพราะราคามะเขือต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ปีนี้มะเขือหนึ่งหมื่น (๑๒ กิโลกรัม) ขายส่งจากสวนได้เงิน ๑๒ บาท
สุมาตร ภูลายยาว

รถตู้วิ่งไปบนถนนลาดยางมะตอยที่บางช่วงเป็นหลุมเป็นบ่อ ถนนสายนี้เป็นเส้นทางจากจังหวัดกระแจะไปอำเภอสามบอ เพราะถนนไม่ค่อยดีนัก ระยะทาง ๓๕ กิโลเมตรต้องใช้เวลาเกือบ ๑ ชั่วโมงจึงถึงจุดหมาย เมื่อรถตู้ทั้ง ๓ คันจอดสงบนิ่งลงตรงประตูหน้าวัด ผู้โดยสารในรถตู้ก็พากันทยอยลงจากรถ เบื้องล่างของถนนเป็นแม่น้ำสายใหญ่ คนท้องถิ่นเรียกแม่น้ำสายนี้ว่า ‘โตนเลของ-แม่น้ำของ-โขง’ แม้ยังไม่สายมากนัก แต่แสงแดดก็ส่องประกายร้อนแรงเหนือสายน้ำ ฟ้ากว้างเปล่าแปนเป็นสีฟ้าไกลสุดสายตาหยั่งถึง บนสายน้ำเรือหลายลำจอดลอยลำอยู่ ใกล้กับเรือตรงโคนต้นจามจุรีมีเด็ก ๓-๔ คนนั่งอยู่ ถัดจากโคนต้นจามจุรีไปมีเรือลำหนึ่งลอยลำอยู่…
สุมาตร ภูลายยาว
จากพื้นที่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำที่แม่น้ำโขงไหลผ่าน ผู้คนสองฝั่งได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำที่มีความยาว ๔,๙๐๔ กิโลเมตรสายนี้ไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ล้าน ลักษณะการใช้ประโยชน์ก็แตกต่างกันออกไปตามแต่สภาพของพื้นที่ ในช่วงที่ไหลผ่านประเทศไทยตั้งแต่จังหวัดเชียงรายจนถึงจังหวัดอุบลราชธานี ก็มีผู้คนไม่จำนวนไม่น้อยได้ใช้ประโยชน์ในด้านแตกต่างกันออกไป ผู้ใหญ่ใช้หาปลา และใช้พื้นที่ตามหาดทรายที่โผล่พ้นน้ำ และริมฝั่งทำการเกษตร เด็กๆ ใช้เป็นห้องเรียนสำหรับฝึกหาปลา และว่ายน้ำ
สุมาตร ภูลายยาว
  ผาชันเป็นหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ริมแม่น้ำโขงอยู่ในเขตอำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี หมู่บ้านแห่งนี้มีเรื่องราวน่าสนใจหลายอย่าง เริ่มแรกเดิมทีก่อนเดินทางไปถึง ผมจินตนาการถึงหมู่บ้านแห่งนี้ในรูปแบบต่างๆ และพอเดินทางไปถึงบ้านผาชันเป็นครั้งแรก ซึ่งอยู่ในหน้าฝน ผมก็พบว่า ในฤดูฝนหมู่บ้านแห่งนี้กลายเป็นเกาะขนาดย่อมๆ ชาวบ้านบอกว่า "ในฤดูฝน น้ำจากห้วยจะไหลจนท่วมสะพาน และถนนที่เข้าสู่หมู่บ้าน การเดินทางเข้าหมู่บ้านต้องใช้เรือข้ามลำห้วยแล้วไปต่อรถ" ร่องรอยของคำพูดปรากฏให้เห็นเมื่อผมเดินทางเข้าสู่หมู่บ้าน รถข้ามสะพานที่น้ำในลำห้วยเริ่มปริ่มอยู่ใต้สะพาน…