Skip to main content

หลังจากวันแรกจนถึงวันนี้ ผมลองนับเดือน นับปีดูแล้ว ผมมาอยู่เมืองชายแดนริมแม่น้ำแห่งนี้ ล่วงเข้าไป ๕ ปีแล้ว ใน ๕ ปีของการใช้ชีวิต แน่ล่ะย่อมแตกต่างจาก ๗๖ ปีของชายชราอย่างสิ้นเชิง แต่สิ่งที่ผมได้เห็นไม่ต่างกับชายชราเลยแม้แต่น้อย

แม้จะนานกี่ชั่วอายุคน ผู้คนริมฝั่งน้ำยังคงพึ่งพาแม่น้ำสายนี้ในด้านต่างๆ อยู่เช่นเดิม คนหาปลายังคงหาปลา แม้ว่าจะได้ปลาน้อยลงก็ตามที คนขับเรือรับจ้างก็ยังคงขับเรืออยู่เช่นเดิม แม้ว่าจะมีข่าวการเกิดขึ้นของสะพานข้ามแม่น้ำก็ตามที คนแบกของตรงท่าเรือก็ยังคงทำหน้าที่แข็งขันกว่าเดิม แม้จะแบกของได้น้อยลง ชีวิตหลายชีวิตยังคงเป็นอยู่เหมือนเคยเป็นมาตราบเท่านาฬิกาชีวิตของแต่ละคนยังก้าวเดิน

ยามเช้าของบางเช้า ผู้คนยังคงเดินทางไปสู่จุดเริ่มต้นของชีวิตแตกต่างกันออกไป ผมก็เช่นกัน เช้านี้มีนัดกับชายชราอีกครั้ง หลังจากไม่ได้พบกันหลายวัน บางทีมันอาจไม่ใช่เป็นวัน มันเป็นเดือนเสียด้วยซ้ำที่เราไม่ได้เจอกัน ถึงแม้ว่าเราจะไม่ค่อยได้เจอกัน แต่ทุกครั้งหากมีใครพูดถึงชายชรา ผมจะนึกถึงรอยยิ้มอันแจ่มใส และเรื่องเล่าต่างๆ ของชายชราอยู่เสมอ แต่ก็มีบ้างบางทีที่ผมได้เห็นอารมณ์อย่างอื่นปรากฏบนใบหน้าของชายชรา

ในเย็นวันหนึ่ง ขณะผมเดินทางไปหาชายชราถึงกระท่อม เมื่อไปถึงผมถามถึงปลา คำตอบที่ได้รับกลับมาก็ไม่ต่างจากเมื่อ ๒ วันก่อนเช่นกัน เมื่อพูดถึงเรื่องการหาปลาไม่ได้ครั้งใด อารมณ์ผิดหวังก็จะปรากฏขึ้นมา และคำพูดต่างๆ นานาก็จะพรั่งพรูออกมา คำพูดเหล่านั้นล้วนเป็นการบ่นด่าถึงเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำแทบทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอารมณ์ผิดหวังจะมีอยู่บ้าง แต่ชายชราก็ไม่ค่อยแสดงให้ใครได้เห็นเท่าใด บางครั้งการได้อยู่กับบางสิ่งเนิ่นนานซ้ำแล้วซ้ำเล่าคงทำให้มนุษย์ปรับตัวเข้ากับมันได้ดี หรือบางทีการปล่อยวางกับเรื่องราวบางสิ่งตามแนวทางของศาสนาคงทำให้ชายชรายิ้มแย้มอยู่เสมอในวันที่หาปลาไม่ได้

เช้าวันนี้ ลมหนาวยังคงยะเยือกอย่างเคยเป็นมา หลังขึ้นควบมอเตอร์ไซด์คู่ชีพ มันก็พาผมวิ่งไปตามถนนคดเคี้ยวของดอยหลวง ถนนสายนี้เป็นถนนเลียบแม่น้ำ ขณะถนนไต่ขึ้นภูเขา เราจึงเห็นแม่น้ำอยู่ข้างล่าง

ความขาวทึบของสายหมอกทำให้ต้องเปิดไฟหน้ารถ แม้รถจะวิ่งช้า แต่ความหวาดกลัวก็เกิดขึ้นกับหัวใจได้ไม่ใช่น้อย เพราะรถที่วิ่งสวนทางมาบางคันวิ่งมาด้วยความเร็ว ไฟตัดหมอกของรถบางคันทำให้ผมต้องหลับตาหลบแสง ปีนี้เองผมรู้ว่าดวงตาไม่สามารถจะสู้แสงสว่างจ้าได้เหมือนเคย หากเปรียบกับชายชราแล้ว เราช่างแตกต่างกันเหลือเกิน ชายชราร่างกายสมบูรณ์ทุกอย่าง สายตายังดี ขับเรือฝ่าความมืดก็เคยทำมาแล้ว ออกไปหาปลาในวันที่สายหมอกหนาเหมือนสายฝนก็ทำมาแล้ว ชายชราไม่เคยมีปัญหาเรื่องสายตา แต่สำหรับผมอายุยังไม่เท่าไหร่สายตาก็เกเรเสียแล้ว

ขณะอยู่หลังเบาะอาน ผมคิดถึงคำพูดของชายชราที่บอกว่า ตอนเอาเรือออกไปหาปลาแรกๆ ก็กลัวน้ำอยู่เหมือนกัน แต่พอนานเข้าก็ไม่กลัวแล้ว ความกลัวมีอย่างเดียวในตอนนี้คือ กลัวว่าจะไม่ได้ปลาเท่านั้น หากพูดถึงความกลัวแล้ว อันความกลัวนั้นมันวิ่งมาจู่โจมหัวใจของทุกๆ คนอยู่เสมอ แต่เราจะจัดการกับความกลัวอย่างไรต่างหากเป็นเรื่องสำคัญกว่า และเมื่อเราจัดการกับความกลัวไม่ได้ ในรอยทางบางรอยของบางชีวิต ความกลัวจึงเป็นฆาตกรทำร้ายผู้หวาดกลัวซ้ำแล้วซ้ำเล่า...

เมื่อรถวิ่งมาเกินครึ่งทาง ผมค่อยๆ ผ่อนเบาเครื่องยนต์ และหักรถเข้าข้างทาง หลังรถจอดนิ่ง ผมก็ยกนาฬิกาขึ้นมาดู เข็มสั้นเข็มยาวของนาฬิกาบอกเวลาว่าใกล้สิบโมงเช้า แม้ว่าจะสายเต็มที แต่สายหมอกยังไม่จางหาย อารณ์นั้นผมคิดถึงเป้าหมายในการเดินทางขึ้นมาฉับพลัน เป้าหมายข้างหน้ายังอยู่อีกไกล หากเมื่อไปถึงปลายทางแล้วเป้าหมายเราเปลี่ยนแปลงไป จิตใจของผมจะเป็นเช่นไร คงไม่ต่างอะไรกับสายหมอกที่เจอมา เพราะความทึมเทาอันบดบังความกระจ่างไว้คงหม่นเศร้าเกินกว่าจะเล่าให้คนอื่นฟังได้

ขณะรถใกล้ถึงเป้าหมาย ผมก็ชะลอความเร็วของรถลงอย่างช้าๆ แดดเช้าของวันเข้ามาแทนที่สายหมอกแล้ว หลังจอดรถผมก็เข็นมันเข้าไปซุกไว้ในป่าข้างทาง คงเป็นโชคดีของผมที่ไม่ต้องห่วงว่ารถจะหาย เพราะจากถนนลงไปยังกระท่อมมีไร่ข้าวโพดกำลังขึ้นมาพองามบดบังทิวทัศน์ทั้งสองข้างทางเอาไว้

ตรงทางลงไปสู่กระท่อมหาปลาของชายชราเป็นทางเดินเล็กๆ ผ่านไร่ข้าวโพดสูงซัดลดหลั่นกันไปตามก้อนหินที่ถูกนำมาเรียงแทนบันได ถ้าก้าวพลาดโอกาสจะได้ลงไปข้างล่างเร็วขึ้นมีอยู่สูงเช่นกัน เมื่อพ้นไร่ข้าวโพดมา ผมก็มาถึงกระท่อมของชายชรา

เมื่อลงไปถึงกระท่อมผม ไอ้แดงสุนัขพันทางที่ชายชราเก็บมาเลี้ยงก็ส่งเสียงเห่าขึ้นมา ผมตวาดให้มันเงียบ เมื่อมันได้ยินเสียง มันก็เงียบและเดินเข้ามาหา เดินวนเวียนอยู่รอบตัว ผมส่งเสียงหายใจดังฟืดฟาดออกมา ก่อนจะเดินจากไป หลังไอ้แดงจากไปแล้ว ผมก็มองหาเจ้าของกระท่อมอยู่นาน แต่ก็ไร้วี่แววผู้เป็นเจ้าของกระท่อม

หลังเฝ้ามองหาอยู่นาน ผมก็ถือวิสาสะเดินขึ้นไปบนกระท่อม ตรงระเบียงด้านนอกของกระท่อมกองไฟยังไม่มอดดับดีนัก บนหิ้งเหนือกองไฟกระติ๊บข้าวถูกเก็บไว้เรียบร้อย หลังมองเห็นกระติ๊บ ผมก็ลุกขึ้นเดินไปเปิดกระติ๊บ ข้าวในกระติ๊บยังไม่มีร่องรอยที่บ่งบอกได้ว่ามีคนมากินข้าว เมื่อเก็บกระติ๊บไว้ที่เดิม ผมก็รู้ได้ว่า ตอนนี้ชายชราออกไปหาปลา และอีกนานกว่าที่ชายชราจะกลับมา เมื่อคิดดังนั้นผมก็ล้มตัวลงนอนคิดเรื่องราวเรื่อยเปื่อย และในที่สุดก็เผลอหลับไป ผมไม่รู้ว่าหลับไปนานแค่ไหน แต่ผมก็สะดุ้งตื่นขึ้นมา เมื่อได้ยินเสียงคุ้นเคยดังอยู่ใกล้ตัวผม

“นอนหลับสบายเลย มานานหรือยัง มาคนเดียวหรือ”
“ครับมาคนเดียว พ่อเฒ่าได้ปลาไหม”
“พอได้อยู่ แต่ไม่ได้ปลาตัวใหญ่ ได้สัก ๒ กิโลนี่แหละ”
“กินข้าวมาหรือยัง”
“กินมาแล้วครับ”
“นึกว่ายังไม่ได้กินมา ถ้ายังไม่ได้กินก็ไปเอาปลามาปิ้งกินได้”
“แล้วพ่อเฒ่ากินข้าวหรือยัง”
“กินแล้ว กินตั้งแต่เช้า กินเสร็จก็ออกไปเก็บกู้เบ็ด”

ขณะเราพูดคุยกันพ่อเฒ่าก็สาละวนอยู่กับการเปลี่ยนเสื้อผ้า หลังจากเปลี่ยนเสื้อผ้าเสร็จ ชายชราก็เก็บกวาดตรงระเบียงกระท่อม ก่อนเที่ยงหลังจัดการภาระทุกอย่างเสร็จสิ้น ทั้งให้อาหารหมา รดน้ำผัก ชายชราก็หอบเชือก และกล่องใส่ดวงเบ็ดไปนั่งใต้ร่มข่อย เพื่อลงมือผูกขอเบ็ด ไม่นานนักเบ็ดจำนวนหลายสิบก็ถูกผูกเข้ากับเชือกเส้นใหญ่ หลังผูกเบ็ดเข้ากับเชือกเสร็จ ชายชราก็ยื่นให้ผมดู แกบอกว่ามันคือ ‘เบ็ดค่าว--เบ็ดค่าวคือ เบ็ดที่ผูกกับเชือกต่อกันยาวๆ มีเบ็ดกับสายเบ็ดหลายตัว การผูกเบ็ดแบบนี้ภาษาท้องถิ่นทางเหนือเรียกว่า ‘ผูกเบ็ดเป็นค่าว’

“เบ็ดนี้เวลาเอาไปวางจะใช้ทั้งเหยื่อและไม่ใช้เหยื่อ ถ้าเราเอาไปวางจับปลาฝาไม ไม่ต้องใช้เหยื่อ เวลาวางเบ็ดเราก็เอาเบ็ดไปผูกไว้ตากคก พอปลาฝาไมมันลอยน้ำมาเห็นเบ็ด คิดว่าเหยื่อ มันก็กินเข้าไป พอมันกินเข้าไปเบ็ดจะเข้าไปติดในคอของมัน ปลาฝาไมนี้เวลามันกินเหยื่อมันชอบกลืนเข้าไปถึงคอ พอมันรู้ว่าไม่ใช่เหยื่อ มันก็จะดิ้น พอดิ้นเบ็ดดวงอื่นๆ ก็จะมาพันกับตัว แต่ถ้าเราจะเอาปลาอย่างอื่น เราก็ไปวางเบ็ดใกล้กับแก่ง ผูกสายเบ็ดอีกด้านไว้กับแก่ง จากนั้นก็เอากุ้งใส่เป็นเหยื่อ แล้วปล่อยให้สายเบ็ดจมลงในน้ำ  กุ้งที่เอามาเป็นเหยื่อนี่อย่าให้ตาย ถ้าตายปลามันไม่กิน เวลาเอาเบ็ดเกี่ยวกับกุ้งต้องเกี่ยวตรงหลังของกุ้ง ถ้าเราไปเกี่ยวตรงหัวนี่กุ้งมันตาย”

ชายชราเล่าพลางยกมือแสดงท่าทางที่ปลาฝาไมติดเบ็ดให้ผมดูไปด้วย

ผมเคยถามหลายคนที่รู้จักชายชรา พวกเขาต่างบอกคล้ายๆ กันว่า ในวัยยังมีเรี่ยวแรง ชายชราแกเคยไปหาปลาไกลถึงเขตประเทศพม่า บางครั้งก็ไปกับลูกๆ บางครั้งก็ไปกับเพื่อนหมู่บ้านอื่น ๓-๔ คน พอได้ยินเรื่องเล่าเนรื่อนี้ผมก็เลยอดถามชายชราไม่ได้ ในขณะนั่งคุยกันอยู่ใต้ร่มข่อย ผมจึงตัดสินใจถามชรา เพื่อคลายความสงสัยในใจ

“พ่อเฒ่า เขาเล่ากันว่า พ่อเฒ่าเคยไปหาปลาถึงพม่าจริงไหม”
“จริง ก็เอาเรือหาปลาลำใหญ่กว่าเรือหาปลาลำที่อยู่ข้างล่างนี่แหละขึ้นไป”
ชายชราพูดพร้อมกับชี้มือให้ผมดูเรือหาปลาลำเล็กของแก
“แล้วได้ปลาเยอะไหม”
“บางครั้งก็ได้ปลาเต็มลำเรือเอากลับมาแทบไม่ไหว”
“ไปอยู่กี่วัน”
“๔-๕ วัน”
“แล้วเอาปลาไปขายไหน”
“บางทีก็เอาไปขายเชียงแสน แต่ถ้าวันไหนล่องเรือลงมาแล้วรู้ว่ามีคนเอาปลาเข้าไปขายที่เชียงแสนก่อนก็จะไม่เอาปลาเข้าไปขาย ก็จะเอาปลามาขายที่เชียงของแทน”

“แล้วปลามันไม่เน่าหรือ”
“บางตัวก็เน่า บางตัวก็ไม่เน่า”
“แล้วตัวที่เน่าทำยังไง”
“ก็เอาตากแห้ง ย่างไฟเอาไว้เป็นปลาย่าง”
“แล้วช่วงนั้นขายปลาได้เงินเยอะไหม”
“ก็พออยู่พอกิน พอเลี้ยงลูกได้”
“แล้วตอนขึ้นไปหาปลาเขตพม่า พ่อเฒ่าอายุกี่ปี”

“ประมาณ ๓๐ กว่า ตอนอายุ ๓๐ กว่า ลาวยังไม่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พม่ามันก็ไม่รบกันมากเหมือนเดี๋ยวนี้ สมัยนั้นประเทศไหนมันก็สงบ คนก็เป็นญาติพี่น้องกัน ไปไหนก็ไม้ต้องกลัวอด อย่างเราไปพม่า เราก็ไม่กลัว เราไม่ได้ไปทำร้ายใคร เราไปดี ถ้าเราไปเจอทหารหรือเจอคนตามหมู่บ้านริมน้ำ เขามาขอปลาเราก็แบ่งให้เขา แต่ช่วงที่เขายิงกันหนักๆ ช่วงนั้นจำได้ว่าก่อนลาวแตก ทั้งฝั่งพม่าก็ยิงกัน ฝั่งลาวก็ยิงกัน เราไปเราอยู่ตรงกลางพอดี หาปลาไปก็สะดุ้งไป บางทีไม่กล้านอนตามหาด ต้องอาศัยนอนตามบ้านคน เคยมีอยู่ครั้งหนึ่งระเบิดตกลงมาใกล้ที่เรานอน โชคดีไม่มีใครเป็นอะไร”

“แล้วตอนพ่อเฒ่าไปหาปลาเขตพม่าพ่อเฒ่าไปนอนที่ไหน”
“บางครั้งก็ไปนอนตามแก่งบ้าง บางครั้งก็นอนริมหาด บางครั้งก็ไปนอนบ้านเพื่อนคนพม่าที่รู้จักกัน”
“แล้วไปนอนริมฝั่งน้ำพ่อเฒ่าไปนอนยังไง”
“ก็ไปถางป่าตรงริมฝั่งปลูกกระท่อมเล็กๆ นอน แต่ไปหลายครั้งก็ไม่เคยได้นอนที่เดิมหรอก ย้ายที่นอนไปเรื่อยๆ”
“แล้วตอนนั้นมีทหารตามชายแดนหรือยัง”
“มีแล้ว แต่ถ้าขึ้นไปหาปลา บางครั้งทหารเขาก็ไม่รู้หรอกว่าใครเป็นใคร แต่ถ้าเขารู้เขาก็มาขอปลาไปกินแค่นั้น ถ้าเขามาขอเราก็แบ่งให้เขาไปกิน แบ่งกันอยู่สู่กันกิน ปลามันหาได้เยอะหวงไว้กินคนเดียวไม่ได้หรอก บางทีกินไม่ทัน มันก็เน่าก็เสีย พอเสียก็ไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรเอาให้คนไปกินยังได้ประโยชน์กว่า”    

“ช่วงนั้นสนุกไหม”
“สนุก เพราะช่วงนั้นปลามันเยอะไปหาปลาไม่นานก็ได้ปลามากินแล้ว วันไหนได้ปลาเยอะ เราก็ไม่อยากหยุด แต่บางครั้งขึ้นไปหาปลามันก็เสี่ยงอยู่ แต่เสี่ยงก็ต้องทำ เพราะปลามันได้เยอะ ได้ทีก็คุ้มค่า”
“แล้วชพ่อเฒ่าขึ้นไปหาปลาแถวไหน”
“แถวตั้งสลัม ตั้งอ้อ ท่าล้อ ท่าอี่กุ้ย บ้านด่าน”
“แล้วทำไมขึ้นไปหาปลาแถวนั้น”
“ตรงนั้นน้ำมันเชี่ยว มีหินมีแก่งเยอะ ปลาก็เยอะ ปลามันก็อาศัยอยู่ตามแก่งหิน พอแก่งหินมันเยอะปลาก็เยอะ”
“พ่อเฒ่าตอนนี้แก่งต้นอ้อ ตั้งสลัมไม่มีแล้ว เขาจีนระเบิดทิ้งหมดแล้ว”

“เขาระเบิดได้ยังไง”
ชายชราถามพร้อมมองหน้าผม ดาวในดวงตาแกไม่ส่องแสงเมื่อได้ยินข่าวนี้
“ถ้าเอาแก่งในน้ำออก ปลามันก็ไม่มี มีแก่งก็มีปลา ไม่มีแก่งก็ไม่มีปลา เพราะปลามันอาศัยกินไคร้น้ำตามแก่งหิน”

“ถ้าให้ขึ้นไปหาปลาพม่าอีกพ่อเฒ่าจะไปไหม”
“คงไม่ไปแล้ว ถึงขึ้นไปก็คงไปไม่ถึง เพราะเรือใหญ่จากจีนล่องลงมามันอันตราย ฟองน้ำจากเรือใหญ่มันแรง มันพัดเรือเล็กล่มได้ มันไม่คุ้ม แล้วตอนนี้ทางราชการพม่า-ลาว-ไทย ก็ไม่เหมือนเมื่อก่อน ถ้าขึ้นไปหาปลาตอนนี้ก็กลัวจะโดนจับ ช่วงที่ลาวแตกใหม่ๆ นี่คือไปอยู่หลายครั้ง มีครั้งหนึ่งใกล้จะไปไม่อยู่แล้ว แต่เราก็คิดว่า ยังไงก็จะไม่ไปแล้ว ฤดูฝนหน้าขอเป็นช่วงสุดท้ายแล้วกัน

ช่วงนั้นเจอเหตุการณ์หลายอย่าง ที่จำได้ก็ช่วงที่ไปนอนแถวตั้งอ้อ ตอนนั้นนอนกันทางฝั่งลาว ช่วงนั้นลาวแตกใหม่ๆ เสียงปืนยังดังอยู่เป็นระยะ ถ้าบอกว่าไม่กลัวก็ไม่ได้ แต่กลัวก็กลัว ไม่รู้จะทำยังไง เพราะเราได้ไปแล้วจะกลับบ้านก็ยังไม่ได้ปลาพอขาย ก็ต้องอยู่กันต่อ พอไปถึงใกล้กับตั้งอ้อก็เอาเรือเข้าฝั่งกะว่ายังไงเสียคืนนี้ก็ต้องนอนตรงหาด พอเอาของลงเรือเสร็จ ยังไม่ได้หุงข้าวด้วยซ้ำ ทหารใส่ชุดเต็มยศเลยเดินมาหาเรา พวกเรา ๓-๔ คนแต่ละคนไม่เคยเจอ กลัวก็กลัว แต่ไม่รู้จะทำยังไง

พอทหารกลุ่มนั้นเดินมาถึง ก็ถามว่ามาจากไหน เราก็บอกว่าเป็นคนไทย มาหาปลา เขาก็ไม่ได้แปลกใจอะไร เพราะช่วงนั้นเรื่องพรมแดนนี่มันไม่ได้เป็นเหมือนอย่างนี้ พอเขารู้ว่าเรามาทำอะไร เขาก็บอกอยากได้ปลาไปเป็นอาหาร เราก็มองหน้ากัน แต่ก็ให้เขาไป ๒๐ กว่าตัว ปลาตัวใหญ่ทั้งนั้น เสียดายก็เสียดาย แต่ถ้าเทียบกับชีวิตแล้ว ปลาพวกนี้ไม่นานเราก็หาใหม่ได้ แต่ถ้าเราเป็นอะไรไปคนทางบ้านไม่รู้จะเป็นยังไง พอเขาได้ปลาแล้วเขาก็ไป ไม่ใช่เขามาปล้นนะ แต่เขามาขอแบ่งเราไปกิน เราก็เข้าใจเขา ช่วงนั้นเขากำลังเปลี่ยนแปลงใหม่ ข้าวปลาอาหารก็หายาก เพราะกำลังยิงกัน เขามาขอเราก็แบ่งให้เขาไปกิน”

หลายครั้งชายชราขึ้นไปหาปลาไม่ได้ไปคนเดียว การไปหาปลากับเพื่อนหลายคนทำให้เกิดพรมแดนแห่งการเรียนรู้ของคนร่วมลุ่มน้ำเดียวกัน ใช่ว่าจะมีเฉพาะคนหาปลาคนไทยที่ชายชราสนิทชิดเชื้อ ในช่วงเดินทางรอนแรมขึ้นเหนือ เพื่อไปหาปลา ช่วงนั้นชายชราได้รู้จักกับคนพม่าแล้วก็เป็นเสี่ยวกันมาจนถึงปัจจุบัน ชายชราบอกว่าถึงตอนนี้ไม่ได้ขึ้นไปหาปลาแล้ว แต่ก็ยังจดจำเพื่อนที่เคยพึ่งพาอาศัยกันได้ดี แม้ว่าเวลาจะผ่านมานานแล้วก็ตามที

เส้นพรมแดนสำหรับชายชรามันอาจะเป็นเพียงเรื่องราวสมมติที่ถูกเขียนขึ้นมา เส้นพรมแดนสมมตินี้ไม่สามารถจะขีดแบ่งความรู้สึกผูกพัน คุ้นเคยของผู้คนทั้งสองฝั่งน้ำลงไปได้ เส้นพรมแดนสมมติตามสถานะของชายชราแล้วมันจึงเป็นเพียงเส้นแบ่งบางๆ ระหว่างความจริงกับความลวง

ช่วงเวลาแห่งความทรงจำของคนเรานั้นแม้ว่ามันจะเป็นความทรงจำที่ดีและไม่ดี มนุษย์ย่อมจดจำได้เสมอ แต่การจดจำนั้นก็อยู่กับว่า ใครจะจดจำเรื่องราวต่างๆ ได้เนิ่นนานกว่ากันเท่านั้นเอง...

ถ้าถามว่าแล้วเหตุผลกลใดคนหาปลาเช่นชายชราต้องขึ้นไปหาปลาไกลถึงขนาดนั้น คำตอบที่ได้จากชายชราคือ เพราะข้างบนมันมีปลาเยอะกลับมาถึงเชียงของครั้งหนึ่งก็ได้ปลาเต็มลำเรือ

และหากถามถึงแรงจูงใจที่ทำให้ชายชรามายึดอาชีพหาปลานั้น คำตอบคือ สมัยก่อนก็รับจ้างทั่วไปบ้าง ตัดไม้เผ่าถ่านขายบ้าง แต่พอเจ้านายเขาไม่ให้ตัดไม้ เราก็ไม่รู้จะไปทำอะไรกินก็เริ่มลองหาปลา อีกอย่างรับจ้างมันก็เบื่อ ตัดไม้เผ่าถ่านขายมันก็เบื่อ เพราะเราต้องหลบซ่อนไม่ให้เจ้านายเขาเห็น เพราะถ้าเขาเห็นเขาจะจับ

“เดี๋ยวนี้พ่อเฒ่าหาปลามากี่ปีแล้ว”
“เริ่มหาปลาตอนอายุ ๒๔ ตอนนี้ก็อายุ ๗๖”
“ถ้านับตอนนี้ด้วยก็ ๕๐ กว่าปีแล้วใช่ไหมพ่อเฒ่า แล้วอีกกี่ปีถึงจะเลิกหาปลา”
“คงไม่เลิกหรอก ถ้าแรงยังมีก็คงต้องทำกันต่อ เพราะไม่รู้ว่าจะไปทำมาหากินอะไร อีกอย่างเราก็แก่แล้วไปทำอย่างอื่นก็ไม่ได้ หาปลานี่แหละพอได้อยู่ได้กิน”

ชีวิตบนสายน้ำของชายชราคงเป็นอย่างชายชรากล่าว หากจะให้ไปทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่หาปลา แกคงทำไม่ได้ และความสุขจากการทำงานอื่นที่ไม่ใช่การหาปลาสำหรับชายชราแล้วคงไม่มี เพราะงานหลายอย่างชายชราเคยทดลองทำมาแล้ว สุดท้ายก็มาจบลงตรงการหาปลา ๕๐ กว่าปีที่ชายชราออกเรือหาปลา ประสบการณ์ได้มาแม้จะไม่มาก แต่ก็คงไม่น้อยสำหรับคนๆ หนึ่ง

สายน้ำอันเกี่ยวเนื่องอยู่กับสายชีวิตของผู้คนได้สอนให้ชายชราเข้าใจหลายสิ่งอย่างมากขึ้น ริ้วรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้า ผมขาวโพลนบนศีรษะเหล่านี้ล้วนบ่งบอกได้เป็นอย่างดีว่า ไม่วันใดก็วันหนึ่งสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคนย่อมสูญหายไปตามเวลาอันสมควร

เมื่อเราเชื่อว่าชีวิตนี้สั้นนัก และมีที่สิ้นสุด เราก็ต้องเชื่อด้วยว่า การเดินทางของแม่น้ำจากตั้นกำเนิดครั้งแรกจนถึงวันนี้ แม่น้ำช่างยาวไกลจนสิ้นสุดได้ยากยิ่ง และวันหนึ่งแม่น้ำก็คงหยุดไหลเช่นกัน

บล็อกของ สุมาตร ภูลายยาว

สุมาตร ภูลายยาว
หากท่วงทำนองของสายน้ำในฤดูฝนคือท่วงทำนองของเพลงร๊อคที่โหมกระหน่ำดุเดือดด้วยเสียงกระเดื่องกลองสลับกับเสียงเบสหนักๆ ปนกับเสียงร้องอันแหลมคม และสูงปรี้ดของนักร้อง สำหรับท่วงทำนองของสายน้ำในหน้าแล้งที่อยู่ในฤดูหนาว ท่วงทำนองของสายน้ำอันปกคลุมไปด้วยหมอกหนาวคงเป็นเสียงเพลงบูลล์หม่นเศร้า และในช่วงหน้าแล้ง ท่วงทำนองของสายน้ำคงเป็นท่วงทำนองของเพลงแคนอันเศร้าสร้อยอ้อยอิ่ง ชวนให้คิดถึงบรรยากาศของท้องทุ่ง และดินแตกระแหงของผืนดินอีสาน ฤดูแต่ละฤดูที่ผ่านไป หากแม่น้ำพูดได้ น้ำคงอยากบอกอะไรกับมนุษย์ผู้ได้ชื่อว่าใช้ประโยชน์จากแม่น้ำมากที่สุด อย่างน้อยคนที่ผิดหวังพลาดหวัง…
สุมาตร ภูลายยาว
ในชีวิตผมถือว่า สองปีที่ผ่านมา ผมโชคดีไม่น้อยที่มีโอกาสได้ไปยังสถานที่ที่ตัวเองไม่คาดคิดว่าจะได้ไป สถานที่ที่ว่านั่นคือ ‘สันเขื่อน’ และจุดสำรวจที่จะมีการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงในตอนล่าง ไล่ตั้งแต่ปากแบ่ง หลวงพระบาง ไซยะบุรี ปากลาย ปากชม และบ้านกุ่ม จำนวนพื้นที่ที่กล่าวมาทั้งหมดแถบทุกพื้นที่ได้มีการสำรวจศึกษาความเป็นไปได้ของพื้นที่ในการก่อสร้างเขื่อนหมดแล้วการไปในแต่ละครั้ง บางทีก็ต้องทำตัวให้กลมกลืนกับพื้นที่โดยการปลอมตัวเป็นนักท่องเที่ยวผู้อยากรู้อยากเห็น และที่สำคัญต้องตีสนิทกับคนท้องถิ่น เพื่อจะได้เดินทางไปสู่เป้าหมายง่ายขึ้น ในจำนวนพื้นที่ที่กล่าวมาทั้งหมด หากไม่นับรวมปากชมแล้ว…
สุมาตร ภูลายยาว
-ห้องพัก ๒๐๑, เฮือนพักเพียงจัน,หลวงพระบาง- สายฝนที่โปรยสายลงมาอย่างหนักตั้งแต่ตอนกลางคืนหายไปเมื่อตอนเช้าตรู่ ฟ้ากลับมาเป็นสีฟ้าใสอีกครั้ง หลังจากผู้คนของเมืองตื่นจากหลับใหลในอ้อมกอดของบ้านพักอบอุ่น ความเคลื่อนไหวจึงปรากฏ ถนนแต่ละสายผู้คนเริ่มพลุกพล่านโดยเฉพาะส่วนที่เป็นตลาด หลายครั้งที่มาถึงเมืองนี้ในการดำรงอยู่ของเมืองยังคงมีเรื่องราวให้น่าค้นหาในมุมมองอันหลากหลายมากขึ้น การมาถึงเมืองนี้ในแต่ละช่วงเวลาที่แตกต่างกันย่อมมีเรื่องเล่าแตกต่างกันออกไปด้วย การมาหลวงพระบางในครั้งนี้ก็เช่นกัน เรามาถึงในตอนเกือบ ๓ ทุ่ม สายฝนยังตกลงมา…
สุมาตร ภูลายยาว
ลมหนาวพัดข้ามยอดเขามา ตอซังข้าวลู่ลงแนบพื้นดิน น้ำในแม่น้ำหมันแห้งขอดลงตามฤดูกาล ถัดจากแม่น้ำขึ้นไปเป็นภูเขา แม่น้ำหมันมีต้นกำเนิดจากภูโลมโลอันเป็นเทือกเขาของเทืือกเขาเพชรบูรณ์ สายน้ำเล็กๆ ที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ของคนอำเภอด่านซ้ายไหลเอื่อยช้าคล้ายคนเพิ่งหายจากการป่วยไข้ แม่น้ำหมันช่วงที่ไหลผ่านอำเภอด่านซ้ายไปจนถึงบ้านปากหมัน ตรงที่แม่น้ำหมันเดินทางไปบรรจบกับแม่น้ำเหืองมีความยาวทั้งสิ้น ๖๖ กิโลเมตร ตลอดริมสองฝั่งแม่น้ำจะมีต้นไผ่จำนวนมากขึ้นอยู่เป็นระยะ ต้นไผ่-แม่น้ำหมัน-คนริมฝั่งน้ำมีความสำคัญต่อกันจนแยกขาดจากกันไม่ได้
สุมาตร ภูลายยาว
หลังได้รับมอบหมายให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินภาพวาดของเด็กๆ ที่ประกอบไปด้วยเด็กจากช่วงชั้นต่างๆ ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ของโรงเรียนบ้านคกเว้า ตำบลหาดคำภีร์ อำเภอปากชม จังหวัดเลย ข้าพเจ้าเองแบ่งรับแบ่งสู้ในตอนแรก เพราะโดยส่วนตัวแล้วการเป็นกรรมการประเภทนี้มีเงื่อนไขหลายอย่าง สำคัญกรรมการควรมีความรู้ทางศิลปะมาบ้าง เพื่อให้ผลการตัดสินออกมาดูน่าเชื่อถือ แต่สวนทางกันอย่างสิ้นเชิง ข้าพเจ้าไม่มีความรู้ทางศิลปะเอาเสียเลย อย่างมากก็พอรู้ว่ารูปไหนสวยไม่สวย ซ้ำร้ายเรื่องของทฤษฏีสีแล้ว ข้าพเจ้าไม่รู้เอาเสียเลย แม้จะเคยลองวาดรูปอยู่บ้าง แต่ก็งูๆ ปลาๆ…
สุมาตร ภูลายยาว
โศกนาฏกรรมสองฝั่งน้ำ มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับสายน้ำเรื่องหนึ่งที่ผู้เฒ่าปกากะญอ มักเล่าให้ลูกหลานฟังอยู่เสมอ เรื่องเล่าเรื่องนี้มีอยู่ว่า ‘นานมาแล้วมีเจ้าเมืององค์หนึ่งจะตึกแค-กั้นน้ำ เพื่อจับปลาในแม่น้ำสาละวิน ให้ลูกที่อยากกิน ปลาตัวนี้ใหญ่มาก ส่วนหัวของปลาอยู่โจโหละกุย-วังน้ำใหญ่อยู่ในเขตสาละวินตอนกลาง ลำตัวของปลายาวลงไปตามลำน้ำ ส่วนหางอยู่ที่แจแปนทีลอซู แต่ก็มีเรื่องที่ทำให้ชาวบ้านชาวเมืองตกอกตกใจ เพราะหากว่าเลือดหรือน้ำมันจากปลาตัวนี้ไหลลงพื้นดินเมื่อใด แผ่นดินก็จะลุกเป็นไฟ เมื่อชาวบ้านทราบข่าวก็เกิดความกังวลว่า เมื่อน้ำท่วมบ้านแล้วไม่รู้ว่าจะหนีไปอยู่ที่ไหน…
สุมาตร ภูลายยาว
การพัฒนาบนคราบน้ำตาคนชายขอบ ในอดีตอันยาวไกลของแม่น้ำสายนี้เคยไหลอย่างอิสระมาตลอด แต่แม่น้ำนานาชาติสายสำคัญแห่งนี้อาจมิได้ไหลอย่างอิสระต่อไปอีกแล้ว เพราะปัจจุบันแม่น้ำสายนี้ได้ถูกผลักดันให้เข้าไปอยู่ในแผนพัฒนาต่างๆ แผนพัฒนาที่สำคัญ คือแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้า โดยเฉพาะกับประเทศไทย แม่น้ำสาละวินกลายเป็นแม่น้ำยุทธศาสตร์สำคัญสายหนึ่งที่น้ำในแม่น้ำจะถูกนำมาแปรเป็นกระแสไฟฟ้า ภายใต้วาทะกรรมของนักพัฒนาที่ว่า ‘พื้นที่ชายขอบของประเทศมีคนอยู่น้อย และผู้ที่ได้รับผลกระทบย่อมมีส่วนน้อยเช่นกัน’
สุมาตร ภูลายยาว
ผู้คนแห่งสาละวิน  สาละวิน ถือเป็นสายน้ำแห่งกลุ่มชาติพันธุ์อย่างแท้จริง เพราะสองฟากฝั่งลุ่มน้ำสาละวิน ตั้งแต่เทือกเขาหิมาลัยลงมาจนถึงอ่าวเมาะตะมะ ในเขตหุบเขาอันไกลโพ้นในประเทศจีนก็มีกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่ไม่น้อยกว่า ๑๔ กลุ่ม โดยส่วนใหญ่เป็นชาวนู ลีซู และตู๋หลง เมื่อล่องตามน้ำลงมาจนถึงพรมแดนพม่า-จีน พม่า-ไทยก็มีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อาศัยอยู่มากมายไม่ต่ำกว่า ๑๖ กลุ่ม เช่น นู ลีซู ไทยใหญ่ กะยา กะยัน กะเหรี่ยง และมอญ กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ล้วนมีภาษา ตัวอักษร วรรณคดี ศิลปวัฒนธรรม และประเพณีของตนเอง ในบรรดากลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอยู่หลากหลายบนลุ่มน้ำแห่งนี้ กลุ่มยินตาเล…
สุมาตร ภูลายยาว
สาละวินบนนิยามของความหลากหลาย สาละวิน บนเส้นทางงานวิจัยชาวบ้าน งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำสาละวิน ตลอดแนวพรมแดนไทย-พม่า โดยได้มีการศึกษาข้อมูลพื้นฐานในประเด็นพันธุ์ปลา เครื่องมือหาปลาพื้นบ้าน การทำเกษตร พรรณพืชในป่า และสังคมวัฒนธรรมของชาวปกาะกญอ เพื่อนำมาอธิบายความสลับซับซ้อนของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพในลุ่มน้ำสาละวิน และวิถีชีวิต เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรมของชุมชนที่ตั้งอยู่บนฐานของระบบนิเวศดังกล่าว ตลอดจนพิธีกรรม และความเชื่อของชุมชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ผลการศึกษาพบว่า แม่น้ำสาละวิน ตลอดพรมแดนไทย-พม่า มีระบบนิเวศที่สลับซับซ้อน อาทิ แก่ง วังน้ำ หาดทราย…
สุมาตร ภูลายยาว
ระบบนิเวศลุ่มน้ำสาละวิน ระบบนิเวศลุ่มน้ำสาละวิน ถือว่า มีความสำคัญต่อภูมิภาคนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากแม่น้ำสาละวินเป็นแม่น้ำนานาชาติสายสุดท้ายในภูมิภาคนี้ที่ยังไม่ได้ถูกล่ามโซ่ด้วยเขื่อน นักนิเวศวิทยาได้จัดให้แม่น้ำสาละวินเป็นศูนย์กลางของการกระจายพันธุ์ไม้สักของโลก พื้นที่ลุ่มน้ำสาละวิน เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีระบบนิเวศสลับซับซ้อนเนื่องจากเป็นพื้นที่ต่อเนื่องระหว่างเขตชีวภูมิศาสตร์ย่อยอินโดจีนกับพื้นที่ต่อเนื่องจากชีวภูมิศาสตร์สิโนหิมาลายันหรือเขตชีวภูมิศาสตร์ย่อยอินเดีย แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่า เกือบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา การศึกษาระบบนิเวศวิทยาของแม่น้ำสาละวิน มีอยู่น้อยมาก…
สุมาตร ภูลายยาว
หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สหราชอาณาจักรได้คืนอิสรภาพให้กับพม่า ภายหลังพม่าได้รับอิสรภาพ ในปี ๒๔๙๐ นายพลอู่อองซาน ผู้นำพม่าในขณะนั้นก็ถูกสังหารเสียชีวิต การล้มเหลวลงอย่างสิ้นเชิงของสัญญาปางโหลง จึงเกิดขึ้น เมื่อคำมั่นในสัญญาปางโหลงไม่เป็นผล ชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ จึงได้จับอาวุธลุกขึ้นสู้กับรัฐบาลทหารพม่า เพื่อแยกตัวเป็นรัฐอิสระและปกครองตนเอง ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน จึงเกิดกองกำลังปลดปล่อยขึ้นหลายกลุ่ม เขตรอยต่อพรมแดนไทย-พม่าริมฝั่งแม่น้ำสาละวิน ด้านตะวันตก เป็นดินแดนที่กล่าวได้ว่า กฎหมายอาจไม่มีความสำคัญ ทุกชีวิตที่ยังมีลมหายใจ จึงอยู่ภายใต้กฎของปืน และความเหลื่อมล้ำในการดำเนินชีวิต…
สุมาตร ภูลายยาว
พ่อตู้เริญได้เล่านิทานเรื่องนี้ให้ผมฟังขณะเรานั่งหย่อนอารมณ์ในบ้านของแก เพื่อรอฝนหายจากฟ้า เดือนตุลาคมแล้ว ฝนยังมิจากจางเลย ลมหนาวมิมีทีท่าว่าจะพัดมา สายฝนเทลงมาจั่กๆ พ่อตู้เริญต้องเล่านิทานเรื่องนี้ด้วยเสียงดัง เพื่อจะให้ผมได้ยินถนัด ผมกดเครื่องบันทึกเสียงเพื่อบันทึกเสียงการเล่านิทานของพ่อตู้เอาไว้ เพราะคิดว่าจะเก็บเอามาเล่าต่อให้คนอื่นได้ฟังด้วย พ่อตู้เริญเล่าว่า... นานมาแล้ว ยุคสมัยก่อนการเกิดขึ้นของพุทธศาสนา องค์อินทร์ผู้เป็นนายของทุกสิ่ง และทรงสร้างทุกสิ่งในจักรวาลได้นั่งตรวจยามสามตา เพื่อตรวจดูทุกสรรพสัตว์ใตอานัติของตนเอง แล้วในญาณนั้นก็ปรากฏการเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนา…