ประเทศไทยมีระบบสวัสดิการพื้นฐานด้านสุขภาพสำหรับประชาชนทุกคนมาเป็นเวลา ๗ ปีแล้ว บัตรทอง รักษาโดยไม่ต้องจ่าย ณ จุดบริการ สามารถครอบคลุมคนกว่า ๔๗ ล้านคน เมื่อนับรวมกับสวัสดิการข้าราชการ ๖ ล้านคน ประกันสังคม ๑๐ ล้านคน จนถึงวันนี้มีคนไทยอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้รับสวัสดิการรักษาใดใด ซึ่งคือคนไทยที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ชนพื้นเมือง คนไทยพลัดถิ่น คนไม่ได้แจ้งเกิด ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง เป็นคนเร่ร่อนที่ไม่มีใครรับรองสถานภาพได้ เป็นเรื่องที่รัฐบาลไม่สามารถจัดการได้
ทั้งนี้ เนื่องจากอคติต่อคนเหล่านี้ การวิตกกังวลเกินกว่าเหตุว่าคนเหล่านี้ไม่ใช่คนไทย ที่รัฐไทยไม่ควรใส่ใจให้ความช่วยเหลือจัดสรรงบประมาณให้ ขณะที่ในทางปฏิบัติในโรงพยาบาลแนวตะเข็บชายแดน โรงพยาบาลที่ต้องดูแลคนเร่ร่อน คนไร้หลักแหล่ง ก็ต้องให้บริการรักษาคนเหล่านี้เมื่อเจ็บป่วยมารับการรักษา โดยต้องแบ่งปันงบประมาณมาจากค่าใช้จ่ายรายหัวในระบบหลักประกันสุขภาพที่มีจำกัด แต่ผู้รับบริการเหล่านี้ก็ได้รับแรงกดดันอย่างมาก โดยโรงพยาบาลจะเรียกเก็บเงินก่อน หากไม่มีให้จริงๆ ก็ให้ทำสัญญาเป็นหนี้ หรือปฏิเสธการรักษาไว้ก่อน จนกว่าจะมีการเจรจาต่อรองจากคนไข้ หากคนไข้คนใดกลัว ไม่กล้าต่อรองก็จะเสี่ยงต่อการไม่ได้รับการรักษา หรือเป็นหนี้การรักษาทั้งทางตรงกับโรงพยาบาล หรือการไปกู้ยืมมาจ่ายค่ารักษา นับว่าเป็นความไม่ก้าวหน้าของระบบหลักประกันสุขภาพในประเทศไทย ที่ยังจัดการดูแลคนเหล่านี้ไม่ได้
ส่วนความก้าวหน้าของระบบบัตรทองที่เกิดขึ้น คือการเพิ่มค่าใช้จ่ายรายหัวขึ้นในแต่ละปี โดยเฉพาะสองปีล่าสุด ที่รัฐบาลอนุมัติเพิ่มขณะที่ลดงบประมาณหรือจำกัดในส่วนงานอื่นๆ มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์สำคัญคือ การรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง จากเดิมที่ไม่คุ้มครองต้องจ่ายเงินเอง โดยเริ่มเมื่อ ๑ มกราคม ๒๕๕๑ ที่ผู้ป่วยไตวายทุกรายที่พร้อมจะรักษาด้วยการล้างไตด้วยตนเองทางช่องท้องทั้งผู้ป่วยเดิมและใหม่ จะได้รับการรักษาฟรีทุกราย ผู้ป่วยรายใหม่หากต้องการใช้เครื่องฟอกไตต้องจ่ายเงินเอง ยกเว้นคนที่แพทย์ระบุว่าล้างทางช่องท้องไม่ได้ ต้องใช้เครื่องจะได้รับการรักษาฟรีด้วย ส่วนผู้ป่วยรายเดิมก่อนวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๑ ที่ล้างไตด้วยเครื่องฟอกไตอยู่แล้ว และต้องใช้ระบบนี้ต่อไป หรือไม่ประสงค์มาใช้วิธีล้างทางช่องท้อง ระบบหลักประกันสุขภาพ ช่วยค่าใช้จ่ายในการฟอกครั้งละ ๑,๐๐๐ บาท ( ๑ ใน ๓) ส่วนผู้ป่วยจ่ายเอง ๕๐๐ บาทต่อครั้ง
ทั้งนี้ ทางระบบหลักประกันสุขภาพ พยายามเจรจาขอซื้อบริการจากโรงพยาบาลในราคาครั้งละ ๑,๕๐๐ บาท ซึ่งในช่วงแรกได้รับแรงต้านจากกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่ยอมเข้าร่วมให้บริการ ด้วยเหตุผลว่าทำให้เสียราคาที่เคยเก็บได้ถึง ๒,๐๐๐ บาทจากข้าราชการ และประกันสังคม อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านมา ๖ เดือนเริ่มมีโรงพยาบาล คลินิก เอกชนเข้ามาร่วมบริการมากขึ้น ในราคา ๑,๕๐๐ บาท แต่ก็ยังไม่มากพอ มีผู้ป่วยไตวายอีกจำนวนมากที่ต้องร่วมจ่ายมากกว่า ๕๐๐ บาทต่อครั้ง เพราะทางโรงพยาบาลเรียกเก็บมากกว่า ๑,๕๐๐ แต่ระบบหลักประกันสุขภาพจ่ายให้ได้ ๑,๐๐๐ บาท ส่วนเกินทั้งหมดประชาชนผู้ป่วยไตต้องรับภาระเอง สถานการณ์นี้อยู่ในระหว่างสร้างแรงจูงใจและประสานให้โรงพยาบาล คลินิกต่างๆ ยอมให้บริการมากขึ้น เป็นความก้าวหน้าแบบจำกัด ต้องติดตามต่อไป
สิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่อาจไม่เป็นที่รับรู้ในวงกว้างแต่เป็นส่วนสำคัญสำหรับคนที่ประสบปัญหา เช่น กรณีข่มขืน ผู้หญิงต้องได้รับยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน (ในเวลา ๗๒ ชั่วโมงหรือ ๓ วัน) และยาต้านไวรัสเอชไอวีต่อเนื่อง ๑ เดือนเพื่อป้องกันการรับเชื้อเอชไอวีทันทีทุกราย มียาเหล่านี้อยู่ในโรงพยาบาลแต่ผู้ปฏิบัติมักไม่ใส่ใจและผลักภาระให้ผู้เสียหายดำเนินการซื้อหามาเอง เรื่องนี้ประชาชนต้องช่วยกันบอกต่อและขอใช้สิทธินี้ทันที เพราะเรื่องเหล่านี้ช้าไม่ได้ ผู้ถูกข่มขืนเพศอื่นๆ ต้องได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวีทันทีเหมือนกัน
ในส่วนการป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้พยายามสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วยการร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพในพื้นที่ โดยเป็นการร่วมจ่ายเงินเข้ากองทุนระหว่าง กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และงบประมาณจากท้องถิ่นตามจำนวนรายหัวประชากรในพื้นที่นั้นๆ เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หนึ่งมีประชากร ๑๕,๐๐๐ คน เป็น อบต.ขนาดกลาง กองทุนหลักประกันสุขภาพจ่ายเข้ากองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต.จำนวน ๓๗.๕๐ บาทต่อหัว รวมเป็น ๕๖๒,๐๐๐ บาท ทาง อบต. สมทบ ร้อยละ ๒๐ ของงบจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เท่ากับ ๑๑๒,๕๐๐ บาท จะทำให้ในปีนั้น กองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลนี้มีจำนวนรวม ๖๗๕,๐๐๐ บาท สำหรับใช้ในการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกัน ส่งเสริม สนับสนุนดูแลสุขภาพของตนในระดับชุมชน
การดำเนินงานเริ่มมาได้ ๓ ปีแล้ว มีทั้งกองทุนที่ดำเนินกิจกรรมหลากหลาย กองทุนที่ยังไม่ได้ทำอะไรเท่าไร อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ขาดไปคือการรับรู้ของประชาชน ชาวบ้านในตำบล และการเข้ามีส่วนร่วมกำหนดทิศทางการส่งเสริมป้องกันโรคที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของชุมชนยังไม่เป็นจริง เรื่องเหล่านี้ยังขาดการสร้างการรับรู้ให้ประชาชน และยังขัดแย้งกันว่างานนี้ควรเป็นงานของใครระหว่างหน่วยงานสาธารณสุข หรือให้ประชาชนทำกันเอง นับเป็นความท้าทายของระบบหลักประกันสุขภาพ ที่มีวิสัยทัศน์ว่า ประชาชนเป็นเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๕
ประเทศไทยอยู่ระหว่างการสร้างหลักประกันให้กับประชาชนด้วยระบบรัฐสวัสดิการ ทั้งสวัสดิการรักษาพยาบาล สวัสดิการชราภาพ และสวัสดิการเรียนฟรี ซึ่งยังต้องพิสูจน์ความสามารถในการจัดระบบการเงินการคลังที่ยุติธรรม รวมถึงการจัดการบริหารอย่างโปร่งใส ที่ชุมชนประชาชนต้องตรวจสอบสุขภาพของตนเองอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะได้รัฐบาลไหนมาบริหารประเทศ นี่คือสวัสดิภาพระยะยาวที่สมควรทำอย่างยิ่ง