คำว่าประกันสังคม เมื่อได้ยินแล้วน่าจะมีความหมายว่า การประกันให้คนมีสวัสดิการทางสังคมทุกคนอย่างทั่วถึง เช่น ประกันว่าได้รับการศึกษาแน่นอน ประกันว่าได้รับการรักษาแน่นอนเมื่อป่วย ประกันว่ามีที่อยู่อาศัยแน่นอน ประกันว่ามีค่าใช้จ่ายเพื่อยังชีพกรณีไม่มีงานทำ หรือมีงานทำแต่รายได้น้อย รวมถึงประกันว่าได้รับการช่วยเหลือในการเลี้ยงดูบุตรกรณีมีรายได้ต่ำหรือต้องเลี้ยงดูบุตรเพียงลำพังโดยไม่ได้รับค่าเลี้ยงดูจากพ่อหรือแม่ที่หย่าร้างกัน ทั้งนี้โดยตั้งอยู่บนฐานว่า “รัฐ” คือผู้จัดการให้เกิดระบบประกันสังคมสำหรับประชาชนทุกคน
สำหรับประเทศไทย ไม่ได้เป็นเช่นนั้น คำว่า “ประกันสังคม” มีความหมายเพียงสำหรับคนกลุ่มเดียวเท่านั้นคือ ลูกจ้างที่ทำงานโดยมีนายจ้างชัดเจน ไม่ได้หมายความว่าเป็นระบบประกันสังคมสำหรับทุกคน ดังนั้น จึงมีคนที่อยู่ในประกันสังคมเพียง 10 ล้านคน มีเพียงคนจำนวนนี้ที่ได้รับการประกันทางสังคม 7 ประการคือ 1) การได้รับการรักษาเมื่อเจ็บป่วย 2) การได้รับค่าคลอดบุตร 3) การได้รับเงินช่วยเหลือบุตรรายเดือนสำหรับบุตรจำนวนไม่เกินสองคนได้รับคนละ 350 บาทตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ขวบ 4) การได้รับเงินช่วยเหลือเมื่อทุพพลภาพ 5) การได้รับเงินบางส่วนกรณีว่างงาน 6) การได้รับเบี้ยชราภาพเมื่อจ่ายเงินครบเงื่อนไขและอายุเกิน 55 ปี 7) การได้รับค่าทำศพและเงินสมทบกรณีเสียชีวิต ทั้งนี้ ลูกจ้างต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนจำนวนร้อยละ 5 ของเงินเดือนทุกเดือน ร่วมกับนายจ้างต้องจ่ายเท่ากับที่ลูกจ้างจ่าย และส่วนที่สามรัฐร่วมจ่ายให้ลูกจ้างด้วย ระบบประกันสังคมนี้จึงเป็นระบบที่คนมีรายได้ประจำ มีเงินเดือนประจำ ร่วมจ่ายเข้ากองทุนแล้วได้รับการประกันทางสังคมประเภทต่างๆ ดังได้กล่าวมา
สังคมไทยเข้าใจว่า ประกันสังคม จึงเป็นระบบเฉพาะสำหรับบางคนบางกลุ่มเท่านั้น ประกอบกับการออกกฎหมายประกันสังคม พ.ศ.2533 จึงทำให้มีการใช้ชื่อประกันสังคมอย่างกว้างขวางตลอดมา จนทำให้กลบความหมายของประกันสังคมโดยรวมไป บางครั้งทำให้เกิดความสับสนด้วยว่า ประกันสังคม ต้องเป็นระบบที่ประชาชนต้องร่วมจ่ายด้วยเท่านั้น อันเป็นแนวทางให้สังคมเชื่อว่า รัฐ ไม่อาจจัดระบบประกันสังคมให้กับประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันได้ เพราะรัฐไม่มีเงินมากพอ และไม่ใช่หน้าที่ของรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว
อย่างไรก็ตาม ในรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ได้ระบุชัดเจนว่า สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนคือสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณภาพ มีที่อยู่อาศัย มีที่ทำกิน มีการศึกษา มีการคุ้มครองเมื่อเป็นเด็ก เยาวชน ผู้หญิง ผู้พิการ และคนชรา มีการรักษาเมื่อเจ็บป่วย โดยระบุชัดเจนว่าเป็นแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ที่รัฐ ต้องมีหน้าที่ดำเนินการให้เกิดขึ้น แต่ไม่มีบทกำหนดโทษหากรัฐไม่ทำตาม เช่นกรณีรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็ยังไม่มีรัฐใดทำให้ประชาชนทุกคนได้รับการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ยังไม่มีการจัดที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน ให้พอเพียงกับความต้องการ ตลอดจนการดูแลคนชรา มีเพียงหนึ่งเดียวที่ทำได้คือการจัดการรักษาฟรีให้ทุกคน ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2544 เป็นต้นมา จนปัจจุบันมีเพียงประชากรไทยที่ยังไม่ได้รับการรับรองสถานภาพ คือชนกลุ่มน้อย กลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ได้รับการรักษา เพราะรัฐ เชื่อว่าคนเหล่านี้ไม่ใช่คนไทยทั้งที่คนเหล่านี้อยู่ในผืนแผ่นดินไทยมาตลอดครั้นบรรพชน นี่คือสิ่งที่รัฐไทยยังทำไม่ได้
เมื่อรัฐไม่จำเป็นต้องรีบดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ เพราะแม้ไม่ทำก็มีข้ออ้างต่างๆ และไม่ถูกลงโทษ ดังนั้น ระบบประกันสังคมที่มีอยู่ในสังคมไทยปัจจุบันจึงไม่ได้มาด้วยการกระทำหน้าที่ของรัฐ แต่เป็นการขับเคลื่อนและผลักดันโดยภาคประชาสังคม กรณีประกันสังคมของลูกจ้าง ก็ใช้เวลาผลักดันกฎหมายกว่า 30 ปีโดยสหภาพแรงงาน นักวิชาการ ที่ผนึกกำลังต่อสู้รณรงค์กันมาอย่างยาวนาน ขณะเดียวกันกับระบบหลักประกันสุขภาพที่ได้มาด้วยการขับเคลื่อนของหมอ นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และเจตจำนงของรัฐบาล ร่วมกันทำให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วในสมัยเดียวของรัฐบาล ซึ่งพิสูจน์ว่าหากมีแรงหนุนจากประชาชน งานวิชาการที่หนักแน่น ความมุ่งมั่นของบุคคลากร ตลอดจนนโยบายของพรรคการเมือง ย่อมนำมาซึ่งระบบประกันสังคมให้กับสังคมไทยได้ และพิสูจน์ได้ว่ามีระบบประกันสังคมที่หลายรูปแบบ ทั้งการร่วมจ่ายทางตรงแบบประกันสังคมของลูกจ้าง การร่วมจ่ายผ่านระบบภาษีของประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพ การร่วมสมทบของผู้มีรายได้ หรือองค์กรชุมชน เช่นกรณีการจัดทำระบบประกันชราภาพในชุมชนก็ได้
ภาคประชาสังคม เครือข่ายประชาชนต่างๆ ควรให้ความสนใจต่อการประกันคุณภาพชีวิตของตนเอง โดยให้รัฐเป็นผู้ดำเนินการ เช่น การประกันการศึกษา ที่ประชาชนไทยทุกคนควรได้รับการศึกษาฟรีมากกว่า 12 ปี เพื่อให้สามารถยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตตนเองต่อไปได้ การมีระบบดูแลยามชราภาพที่ดี มีเบี้ยชราภาพที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ซึ่งภาคประชาสังคมต้องช่วยกันคิดว่ารูปแบบใดที่จะเหมาะสมที่สุดในการสร้างหลักประกันเมื่อชราภาพสำหรับทุกคน ทั้งคนชราที่จน และรวย ก็ควรได้รับมาตรฐานพื้นฐานเดียวกัน
ไข้ปวดข้อยุงลาย หรือ ชิคุณกุนย่า (Chikungunya) เกิดจากเชื้อไวรัส ที่มียุงลายสวนเป็นพาหะ ที่เน้นว่ายุงลายสวน เพราะจะเห็นระบาดมากในบริเวณจังหวัดภาคใต้ที่มีสวนยางจำนวนมากและวิถีชีวิตคือออกไปกรีดยางในสวนแต่เช้ามืดจึงโดนยุงกัดได้ แต่ปัจจุบันพบผู้ป่วยไปในทุกภาคของประเทศ ๕๕ จังหวัด