Skip to main content
 
 
เห็นข่าวรายวันในสื่อกระแสหลักต่อเนื่องมา ๓ สัปดาห์ว่าด้วยการกดดันของชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตนในกองทุนประกันสังคมออกมาเรียกร้องให้เปิดโอกาสให้มีสิทธิเลือกรับบริการสุขภาพ บริการสาธารณสุขจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ อันเนื่องจากพบว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมที่ต้องเป็นผู้ร่วมจ่ายเพียงกลุ่มเดียว ในขณะที่ประชาชนทั่วไปและข้าราชการไม่ต้องร่วมจ่ายเพราะรัฐได้จัดให้เป็นสวัสดิการที่เสมอภาค เป็นธรรม และทั่วถึง คือใช้ระบบภาษีมาจัดการให้ ประกอบกับช่วงนี้เป็นช่วงที่กำลังแปรญัตติกฎหมายประกันสังคมในคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรว่าด้วยการเปิดช่องให้กองทุนประกันสังคมรับสมาชิกที่เป็นคู่สมรสและบุตรของผู้ประกันตนให้เข้ามาอยู่ในกองทุนประกันสังคมได้ โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ ๓ ประการคือ ๑) รักษาพยาบาล ๒) ทุพพลภาพ ๓) ฌาปนกิจ โดยจำนวนคนที่คาดว่าจะรับเข้ามากลุ่มนี้อยู่ที่ประมาณ ๔ - ๕ ล้านคน โดยไม่มีการพูดว่าผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบรายเดือนเพิ่มขึ้นด้วยหรือไม่เมื่อต้องจัดสวัสดิการเพิ่มให้ครอบครัว ๓ ประการนี้ นอกจากบอกว่ารัฐบาลต้องนำเงินที่จ่ายให้คนเหล่านี้ในบัตรทองมาให้กองทุนประกันสังคมแทน ก็ต้องพิจารณาว่าจะต้องนำเงินมาเท่าไรเพราะรัฐบาลเป็น ๑ ใน ๓ ของหุ้นส่วนจ่ายเงินสมทบในกองทุนประกันสังคมอยู่แล้ว หากมาอยู่ภายใต้ประกันสังคมก็จำเป็นต้องคำนวณแบบหาร ๓ และผู้ประกันตนต้องร่วมจ่ายให้ครอบครัวด้วย ใครมีลูกหลายคนก็ต้องจ่ายมากขึ้น

จังหวะนี้ ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน ก็ออกมาเรียกร้องเรื่องความไม่เป็นธรรมในการต้องจ่ายซ้ำซ้อนเพื่อรับสิทธิประโยชน์เดียวกันกับประชาชนทั่วไป โดยไม่ต้องร่วมจ่ายในเรื่องรักษาพยาบาลจะขอไปใช้ระบบบัตรทองแทน ส่วนเงินสมทบรายเดือนตามกฎหมายประกันสังคมจะขอจ่ายเท่าเดิมไม่ลดลงแต่ให้นำไปเพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านชราภาพ (บำนาญ) เมื่อออกจากงาน หยุดทำงาน เมื่ออายุครบ ๕๕ ปี ซึ่งจะทำให้ได้รับบำนาญรายเดือนในจำนวนเงินที่มากขึ้นกว่าเดิมเพื่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพเมื่อชรา


สิ่งเหล่านี้ทำให้มีข่าวรายวันในสื่อกระแสหลักทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยต่อข้อเรียกร้องของชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน โดยให้เหตุผลว่าการประกันสุขภาพไม่ว่าจะจัดให้โดยประกันสังคม ประกันสุขภาพ หรือข้าราชการ ต้องยืนอยู่บนหลักการ “เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข” และการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งนี้อาจมีการแปรความคลาดเคลื่อนกันไปในเรื่อง “เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข” ว่าหมายถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้นไม่ถูกต้อง ในที่นี้คือการทำระบบหลักประกันสุขภาพเป็นระบบซื้อประกัน คนที่ไม่ป่วยก็ไม่ต้องใช้เงิน คนที่ป่วยก็ได้ใช้เงิน บนความเป็นจริงที่ว่าทุกคนไม่ป่วยในเวลาเดียวกัน มีบางคนป่วยหนัก บางคนป่วยเล็กน้อย บางคนไม่ป่วยเลย กองทุนประกันสุขภาพก็เฉลี่ยค่าใช้จ่ายไป แต่มีหลักประกันว่าทุกคนเมื่อป่วยต้องได้รับการรักษา การเฉลี่ยทุกข์สุขในระบบประกันสุขภาพมีปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือเรื่อง “อายุ” ของคนในกองทุน เพราะคนที่ป่วยมากต้องรักษาในโรงพยาบาลเป็นเวลานานคือเด็กและผู้สูงอายุ ดังนั้น กองทุนประกันสุขภาพจึงต้องมีการเฉลี่ยอายุคนในกองทุนให้เหมาะสม เพื่อให้กองทุนไม่ต้องยากลำบากเกินไปในการบริหาร กองทุนสุขภาพจึงจำเป็นต้องมีสมาชิกเป็นคนที่มีอายุมากน้อยเฉลี่ยกันอย่างเหมาะสม ไม่ใช่เลือกเอาเฉพาะคนวัยแรงงานไปไว้ในกองทุนหนึ่ง เหลือคนที่มีโอกาสป่วยมากกว่าไปไว้อีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลในฐานะผู้ดูแลรับผิดชอบทั้งหมดต้องพิจารณาในเรื่องเหล่านี้อย่างลึกซึ้งและเกลี่ยให้เหมาะสมหรือจัดการรวมกองทุน 

ในขณะที่เรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ได้หมายถึง ร่วมจ่ายแต่เพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงร่วมกำหนดนโยบาย กำหนดแนวทางปฏิบัติ ร่วมปกป้องคุ้มครองระบบ และร่วมพัฒนาคุณภาพมาตรฐานบริการ ซึ่งควรมีส่วนร่วมในทุกระดับตั้งแต่ในระดับตำบล จังหวัด และระดับชาติ ทั้งนี้ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกระดับดังกล่าวมาแล้ว ส่วนการร่วมจ่ายนั้น ในระบบภาษีที่เอามาใช้กับกองทุนคือการร่วมจ่ายของประชาชนอยู่แล้ว นั่นคือประชาชนทั้งหมดจ่ายภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อม รัฐมีหน้าที่จัดสวัสดิการรักษาพยาบาลเป็นหลักประกันให้ทุกคนอย่างทั่วถึง ถ้วนหน้า และได้มาตรฐานคุณภาพเดียวกันโดยการใช้ภาษีนั้นอย่างคุ้มค่ามีประสิทธิภาพและรับประกันสิทธิด้านสุขภาพของประชาชน

การร่วมจ่ายของผู้ประกันตนในกองทุนประกันสังคมในส่วนที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลจึงเป็นการจ่ายซ้ำซ้อน ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกันตน ข้อเรียกร้องของชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตนจึงมีมูล และแสดงให้เห็นว่าช่องทางการสื่อสารไปยังกองทุนประกันสังคมผ่านตัวแทนลูกจ้างที่เข้าไปเป็นคณะกรรมการประกันสังคมไม่เป็นที่พึ่งได้

นอกจากนี้สื่อกระแสหลักยังมีข่าวของกองทุนประกันสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลให้ผู้ประกันตนเพื่อให้ทัดเทียมกับคนในระบบบัตรทองที่ได้รับมากกว่าดังข้อมูลที่มีนักวิชาการได้ออกมานำเสนอเปรียบเทียบชุดสิทธิประโยชน์ระหว่างประกันสังคมกับประกันสุขภาพ ในอีกด้านหนึ่งก็แสดงให้เห็นว่าการเรียกร้องของชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน ส่งผลให้กองทุนประกันสังคมขยับตัวลุกขึ้นมาเพิ่มสิทธิประโยชน์ หลังจากทำตัวเป็นผู้ปกป้องกองทุนแบบไม่ลืมหูลืมตาไม่ยอมเพิ่มสิทธิประโยชน์ใดใดรวมถึงการจำกัดสิทธิประโยชน์ด้วย เช่น กรณีการตั้งครรภ์การคลอด ที่ต้องรอให้ส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมไม่ต่ำกว่า ๗ เดือน การจำกัดการรักษาไตวายเรื้อรัง สำหรับคนที่เป็นก่อนเข้ามาสู่ระบบประกันสังคม การจำกัดค่าใช้จ่ายดูแลเรื่องฟัน สายตา มาตลอด เป็นต้น

ในเรื่องนี้อยากเสนอให้ประชาชน และคนงานที่เป็นผู้ประกันตนพิจารณากันให้ดี เรื่องนี้มีกฎหมาย ๒ ฉบับรับรองและบังคับใช้ คือกฎหมายประกันสังคม และกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กฎหมายประกันสังคมบังคับใช้ก่อนในสมัยที่ไม่มีระบบประกันสุขภาพใดใด แต่กฎหมายหลักประกันสุขภาพบังคับใช้ภายหลังแต่มุ่งเน้นชัดเจนเรื่องเดียวคือการรักษาพยาบาล การส่งเสริมและป้องกันโรค จึงควรพิจารณาว่าคนงานผู้ประกันตนสมควรมาใช้กองทุนประกันสุขภาพนี้หรือไม่ ส่วนกองทุนประกันสังคม ควรประกันในเรื่องอื่นๆ และใช้หลักการร่วมจ่าย ๓ ฝ่าย เหมือนเดิม นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการบางส่วนก็เสนอว่าน่าจะแยกเรื่อง บำนาญชราภาพ ออกมาจากกองทุนประกันสังคมไปด้วยเลย เนื่องจากรัฐไม่ได้ร่วมจ่ายเข้าในส่วนนี้อยู่แล้ว เมื่อเวลาเปลี่ยนไป บทบาทหน้าที่ของรัฐได้รับการดำเนินการมากขึ้น สิทธิประโยชน์ของประชาชนมีความซ้ำซ้อนกัน ก็เป็นเหตุที่ประชาชนและรัฐจะทบทวนได้ว่าจะจัดระบบอย่างไรให้มีประสิทธิภาพที่สุด และคุ้มครองสิทธิภายใต้รัฐธรรมนูญได้รอบด้านอย่างแท้จริง



เรื่องโรงพยาบาลเอกชนที่ผู้ประกันตนบางส่วนรู้สึกว่าจะไม่ได้ไปใช้บริการหากย้ายมาอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพนั้น ก็ต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริงคือโรงพยาบาลเอกชนอยู่ได้ด้วยเงินจากการซื้อประกันสุขภาพของกองทุนประกันสังคม และกองทุนประกันสุขภาพ ขึ้นอยู่กับว่ากองทุนจะต่อรองกับโรงพยาบาลเอกชนได้เพียงใดในฐานะผู้ซื้อบริการ ไม่ใช่ให้โรงพยาบาลเอกชนผู้ขายบริการมาต่อรองว่าจะขายบริการให้ใคร ราคาเท่าไร เพราะโรงพยาบาลเหล่านี้เป็นธุรกิจเต็มตัว บริหารเพื่อให้มีผลกำไรต่อผู้ถือหุ้น อย่างไรต้องพร้อมจะเจรจากับกองทุนประกันสุขภาพทุกกองทุนอยู่แล้ว โดยเฉพาะกองทุนขนาดใหญ่ ขอให้ประชาชนได้แสดงความเห็นว่าจะขอรับประโยชน์ด้านสุขภาพแบบใดกันออกมาให้มากๆ ด้วย โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ในระบบบัตรทองควรต้องตระหนักว่าจะให้คนในครอบครัวที่เป็นผู้ประกันตนได้รับสิทธิอย่างไร ต้องร่วมจ่ายหรือไม่ อย่างไรน่าจะมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันด้วยในบรรยากาศเช่นนี้
 
 
 

 

บล็อกของ สุรีรัตน์ ตรีมรรคา

สุรีรัตน์ ตรีมรรคา
   
สุรีรัตน์ ตรีมรรคา
ไข้ปวดข้อยุงลาย หรือ ชิคุณกุนย่า (Chikungunya) เกิดจากเชื้อไวรัส ที่มียุงลายสวนเป็นพาหะ ที่เน้นว่ายุงลายสวน เพราะจะเห็นระบาดมากในบริเวณจังหวัดภาคใต้ที่มีสวนยางจำนวนมากและวิถีชีวิตคือออกไปกรีดยางในสวนแต่เช้ามืดจึงโดนยุงกัดได้ แต่ปัจจุบันพบผู้ป่วยไปในทุกภาคของประเทศ ๕๕ จังหวัด
สุรีรัตน์ ตรีมรรคา
การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ปัญหาเศรษฐกิจ ภาวะว่างงาน ตกงาน การไม่ได้รับการประกันรายได้ที่แน่นอนจากรัฐ ทำให้คนจน คนไม่มีงานทำ คนรับงานไปทำที่บ้าน คนไม่มีนายจ้าง และอยู่นอกระบบประกันสังคม คือคนกลุ่มใหญ่ของประเทศที่เป็นเหยื่อของภาวะปัญหาที่รุมเร้า หรือคนเหล่านี้ต้องโทษที่เกิดมาจน และถูกทำโทษต่อไปอีกว่าหากอยากมีบำนาญชราภาพ ก็ต้องมาจากการ ออมเงิน ด้วยตนเอง โดยรัฐจะร่วมจ่ายสมทบในอัตราจำกัด โดยอ้างตลอดเวลาว่าไม่มีเงินเพียงพอ ทั้งที่ยังไม่ได้พยายามอย่างเต็มที่ในการปฏิรูประบบภาษีที่ก้าวหน้าและเป็นธรรม  การดำเนินการจัดสวัสดิการให้ประชาชนเพื่อลดช่องว่างทางรายได้…
สุรีรัตน์ ตรีมรรคา
เมื่อราวกลางเดือนมกราคม ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา หลังจากเกิดเหตุไฟไหม้สถานบันเทิง “ซานติกาผับ” ได้สองสัปดาห์ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้มีวาระพิจารณาพิเศษว่าด้วยการจ่ายเงินช่วยค่ารักษาพยาบาลผู้ได้รับบาดเจ็บที่มีสิทธิบัตรทอง (ไม่ใช่ข้าราชการ ไม่ใช่ประกันสังคม) จำนวน ๓๑ คนจากผู้บาดเจ็บทั้งหมด ๑๙๖ คน (ข้อมูลเมื่อวันที่ ๙ ม.ค.๕๒) เป็นจำนวนเงินประมาณ ๓.๔ ล้านบาท
สุรีรัตน์ ตรีมรรคา
ประเทศไทยมีระบบสวัสดิการพื้นฐานด้านสุขภาพสำหรับประชาชนทุกคนมาเป็นเวลา ๗ ปีแล้ว บัตรทอง รักษาโดยไม่ต้องจ่าย ณ จุดบริการ สามารถครอบคลุมคนกว่า ๔๗ ล้านคน เมื่อนับรวมกับสวัสดิการข้าราชการ ๖ ล้านคน ประกันสังคม ๑๐ ล้านคน จนถึงวันนี้มีคนไทยอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้รับสวัสดิการรักษาใดใด ซึ่งคือคนไทยที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ชนพื้นเมือง คนไทยพลัดถิ่น คนไม่ได้แจ้งเกิด ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง เป็นคนเร่ร่อนที่ไม่มีใครรับรองสถานภาพได้ เป็นเรื่องที่รัฐบาลไม่สามารถจัดการได้
สุรีรัตน์ ตรีมรรคา
อวัยวะที่แสดงเพศหญิงและส่งผลต่อความสามารถสืบทอดเผ่าพันธุ์คืออวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการเจริญพันธุ์  ทำให้ต้องมีการพูดถึงการอนามัย [1] เจริญพันธุ์ คือการไม่มีโรค มีสุขภาพดีของอวัยวะสืบพันธุ์  

ในเพศหญิงมีมากกว่าหนึ่งอวัยวะ นั่นคือตั้งแต่ปากช่องคลอด ช่องคลอด ปากมดลูก มดลูก รังไข่ ปีกรังไข่ เต้านม  รวมถึงการหลั่งฮอร์โมนเพศ การมีประจำเดือน การเจริญพันธุ์จะเกิดได้ก็เมื่อมีเพศสัมพันธ์ แต่เพศสัมพันธ์ไม่ได้มีไว้เพื่อการเจริญพันธุ์ล้วนๆ  มีเพศสัมพันธุ์เพื่อความรัก เพื่อครอบครัว เพื่อความรื่นรมย์ เพื่อเศรษฐกิจ เพื่อแสดงอำนาจ เพื่อการควบคุม และอื่นๆ …
สุรีรัตน์ ตรีมรรคา
เมื่อวันที่ 22 ม.ค.51 ที่ผ่านมา คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้มีมติอนุมัติงบประมาณร้อยล้านบาทกว่า เพื่อจัดหาวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สำหรับประชากรสูงอายุจำนวนกว่าสามแสนเก้าหมื่นคน ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปและมีโรคเรื้อรัง (อายุ 65 ปีขึ้นไปและป่วยด้วยโรคเช่น หอบหืด ปอดอุดกลั้นเรื้อรัง ไตวาย หัวใจ เบาหวาน หลอดเลือดสมอง และผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด) เนื่องจากคนกลุ่มนี้มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เสี่ยงต่อการป่วยและเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่และภาวะแทรกซ้อน และเพื่อลดอัตราเสี่ยงการระบาดของไข้หวัดใหญ่ที่เชื่อมโยงกับไข้หวัดนกที่ยังพบการระบาดอยู่ในประเทศไทย …
สุรีรัตน์ ตรีมรรคา
คำว่าประกันสังคม เมื่อได้ยินแล้วน่าจะมีความหมายว่า การประกันให้คนมีสวัสดิการทางสังคมทุกคนอย่างทั่วถึง เช่น ประกันว่าได้รับการศึกษาแน่นอน ประกันว่าได้รับการรักษาแน่นอนเมื่อป่วย  ประกันว่ามีที่อยู่อาศัยแน่นอน  ประกันว่ามีค่าใช้จ่ายเพื่อยังชีพกรณีไม่มีงานทำ หรือมีงานทำแต่รายได้น้อย รวมถึงประกันว่าได้รับการช่วยเหลือในการเลี้ยงดูบุตรกรณีมีรายได้ต่ำหรือต้องเลี้ยงดูบุตรเพียงลำพังโดยไม่ได้รับค่าเลี้ยงดูจากพ่อหรือแม่ที่หย่าร้างกัน ทั้งนี้โดยตั้งอยู่บนฐานว่า “รัฐ” คือผู้จัดการให้เกิดระบบประกันสังคมสำหรับประชาชนทุกคนสำหรับประเทศไทย ไม่ได้เป็นเช่นนั้น คำว่า  “ประกันสังคม” …
สุรีรัตน์ ตรีมรรคา
  หลังจากนัดคุยกันระหว่างตัวแทนองค์กรเอกชนในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพเมื่อวันศุกร์ที่ 18 ม.ค.51 เราต่างแยกย้ายกันราวๆ บ่ายสามโมงกว่า ขณะที่แต่ละคนกำลังเดินทางยังไม่ถึงที่หมายต่างก็ได้รับแจ้งเรื่องการจากไปอย่างสงบของคุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คนแรกของประเทศไทย คุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ หรือคุณหมอใจดีในสายตาภาคประชาชนที่ขับเคลื่อนเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานในการได้รับบริการสาธารณสุขเพราะหมอสละเวลาบ่อยมากที่จะรับฟังความทุกข์ ความคับข้องใจ และความสูญเสียที่ประชาชนได้รับจากความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพของไทย…
สุรีรัตน์ ตรีมรรคา
เรากำลังอยู่ในห้วงเวลาของการเข้าสู่การเลือกตั้งครั้งแรกหลังรัฐประหารเมื่อ 19 ก.ย.49 หลายคนไม่ไปเลือกตั้งแน่นอนเพราะเป็นการเลือกตั้งที่เป็นผลพวงของการรัฐประหาร อย่างไรก็ตาม เราหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะได้ยินเสียงประกาศนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ที่ตั้งใจหาเสียงกันอย่างเข้มข้น โดยนโยบายที่มาแรงสุดๆ เป็นนโยบายเกี่ยวข้องกับสวัสดิการของประชาชน ซึ่งมักจะถูกมองว่าเป็นนโยบายประชานิยม โดยมีน้ำเสียงดูแคลนและปรามาสว่าทำไม่ได้แน่นอนเพราะจำต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล โดยยกตัวอย่างว่านโยบายประชานิยมที่รัฐบาลชุดก่อนนำมาใช้และต้องใส่เงินลงไปจำนวนมากเช่น กองทุนหมู่บ้านที่ใช้งบไปมากกว่าเจ็ดหมื่นล้านบาท…
สุรีรัตน์ ตรีมรรคา
บรรยากาศเทศกาลลอยกระทงที่ผ่านมาปลายเดือนพฤศจิกายนปี 50 นี้ ดิฉันอยู่ท่ามกลางการโฆษณาชวนเชื่อว่างานลอยกระทงที่ไหนยิ่งใหญ่กว่ากัน ขณะเดียวกันก็ได้ยินการรณรงค์อยู่สองเรื่องใหญ่ๆ ที่เกี่ยวกับการลอยกระทง นั่นคือสปอตวิทยุเรื่องอย่ามีเพศสัมพันธ์กันในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง มีการสัมภาษณ์ตำรวจว่าจะไปตั้งด่านสกัดคู่วัยรุ่นที่จะไปใช้บริการโรงแรมม่านรูดอย่างไร นี่เป็นการสื่อสารเรื่องหนึ่งที่กำลังจะกลายเป็นประเพณีคู่ไปกับวันลอยกระทง รวมวันอื่นๆ ด้วย อาทิ วันวาเลนไทน์ วันสงกรานต์ …