บนเส้นทางชีวิต ที่ร่วมเดินกับหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์

 

หลังจากนัดคุยกันระหว่างตัวแทนองค์กรเอกชนในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพเมื่อวันศุกร์ที่ 18 ม.ค.51 เราต่างแยกย้ายกันราวๆ บ่ายสามโมงกว่า ขณะที่แต่ละคนกำลังเดินทางยังไม่ถึงที่หมายต่างก็ได้รับแจ้งเรื่องการจากไปอย่างสงบของคุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คนแรกของประเทศไทย

คุณหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ หรือคุณหมอใจดีในสายตาภาคประชาชนที่ขับเคลื่อนเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานในการได้รับบริการสาธารณสุขเพราะหมอสละเวลาบ่อยมากที่จะรับฟังความทุกข์ ความคับข้องใจ และความสูญเสียที่ประชาชนได้รับจากความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพของไทย ตลอดจนหมอคือคนที่รับปากเริ่มต้นว่าจะดำเนินการทุกวิถีทางที่จะทำให้คนไทยได้ใช้ยารักษาโรคต่างๆ ในราคาที่ถูกลง ทำให้ทุกคนสามารถได้รับการรักษาได้โดยไม่ต้องพะวงว่าไม่มีเงินเพียงพอรักษา นั่นคือรับปากว่าจะหาทางทำให้การทำซีแอล* เป็นจริงในประเทศไทย

ดิฉันหยิบหนังสือที่คุณหมอมอบให้เมื่อต้นปี 48 มาพลิกดูอีกครั้ง หนังสือ "บนเส้นทางสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" ปกหน้าด้านใน มีลายมือของหมอเขียนว่า "ขอให้กำลังใจการทำความดี เป็นเครือข่ายเป็นสายใยแห่งความงดงามในสังคมเสมอ" ดิฉันตระหนักเสมอว่าคุณหมอคือสายใยแห่งความงดงามเสมอเช่นกัน

การพบกันครั้งแรกระหว่างดิฉันกับคุณหมอ เกิดขึ้นเมื่อสักปี 42 เมื่อดิฉันต้องทำหน้าที่เชื่อมประสานเครือข่ายประชาชนให้มาช่วยกันร่างกฎหมายว่าด้วยระบบหลักประกันสุขภาพ การต้องเริ่มต้นเขียนกฎหมายทั้งที่ไม่เคยเรียนกฎหมายและไม่เคยอ่านกฎหมายอย่างเป็นจริงเป็นจังมาก่อนหน้านั้นนับเป็นเรื่องยากมาก วันนั้นคุณหมอเดินเข้ามาในห้องที่เรากำลังประชุมกันเรื่องเนื้อหากฎหมาย พร้อมด้วยเอกสารร่างกฎหมายหลักประกันสุขภาพที่คุณหมอเคยจัดทำและผลักดันให้เกิดการดำเนินการในกระทรวงสาธารณสุข แต่เนื่องจากคงเป็นเรื่องที่ก้าวหน้าเกินไปกฎหมายฉบับนั้นไปไม่ถึงฝั่งฝัน แต่คุณหมอก็ไม่ท้อถอยและหยุดการขับเคลื่อน

จากหนังสือ "บนเส้นทางสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" และหนังสืออื่นๆทั้งในงานด้านวิชาการ และการเขียนสรุปมุมมอง ความเห็น หลักการความเชื่อ ที่คุณหมอผลิตออกมาอย่างต่อเนื่องทำให้รู้ว่าคุณหมอทำงานอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นทุกขณะ ทั้งการทดลองปฏิบัติการปฏิวัติระบบสุขภาพในพื้นที่ การทำงานวิจัย การสร้างพันธมิตรทางวิชาการและกลุ่มบุคคลากรทางการสาธารณสุข การดำเนินนโยบายประกันสุขภาพในกระทรวงสาธารณสุข บัตรสุขภาพ บัตรสปร.สำหรับคนยากไร้ในการรักษาฟรี ตลอดจนการร่วมกับเครือข่ายประชาชนในการร่างกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อปี 42 เป็นต้นมา

ดิฉันเองเริ่มเข้าใจระบบหลักประกันสุขภาพจากการร่วมในการร่างกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกอบกับประสบการณ์อันเลวร้ายจากประกันสังคมที่ถูกบังคับให้ร่วมจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน เมื่อดิฉันตัดสินใจยุติการทำงานในองค์กรออกมาเป็นคนทำงานรับจ้างทั่วไป ดิฉันต้องหาเงินประจำทุกเดือนให้ได้เพื่อจ่ายเป็นค่าประกันสังคมให้ตนเอง เนื่องจากวิตกว่าหากตนเองเจ็บป่วยเป็นอะไรไปจะเป็นภาระต่อญาติพี่น้องในการดูแล ซึ่งเป็นการจ่ายที่ดิฉันต้องจ่ายแทนนายจ้าง (ที่ไม่มีแล้ว) ด้วย ซึ่งนับว่าเป็นการเสียเปรียบอย่างมากของคนทำงานที่จ่ายเงินเข้ากองทุนอย่างดีมาโดยตลอด เมื่อไม่มีงานประจำทำก็แทบจะไม่ได้รับการเหลียวแลจากกองทุนประกันสังคมเลย ดังนั้นเมื่อเกิดระบบหลักประกันสุขภาพขึ้น ดิฉันจึงเลิกจ่ายเงินให้ประกันสังคมและเข้าเป็นผู้ใช้สิทธิในปีแรกๆ ของระบบหลักประกันสุขภาพที่กฎหมายมีผลดำเนินการในปลายปี 45 และมีโอกาสเป็นตัวแทนองค์กรเอกชนในการเป็นกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาตั้งแต่ต้น

นั่นคือทำให้ได้ร่วมงานและเห็นการทุ่มเทการทำงานอย่างสุดจิตสุดใจของคุณหมอสงวนมาโดยตลอด ยิ่งในช่วงแรกที่ระบบหลักประกันสุขภาพเกิดขึ้นได้เพราะอำนาจทางการเมือง การเริ่มต้นอย่างรวดเร็วและดำเนินการทั้งประเทศโดยที่บุคลากร และกระทรวงสาธารณสุขยังตั้งตัวไม่ทัน ทำให้คุณหมอถูกคาดคั้น บีบคั้น และคาดหวังจากทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มหมอที่ออกมาต่อต้านการจัดระบบหลักประกันสุขภาพ กลุ่มโรงพยาบาลที่ประท้วงเนื่องจากบอกว่าเงินไม่พอใช้ในการรักษา กลุ่มประชาชนที่ได้รับสิทธิและต้องการบริการที่มีคุณภาพ ตลอดจนอำนาจทางการเมืองในการบริหารคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพ การผลักดันให้ได้รับงบประมาณค่าใช้จ่ายรายหัวที่ต้องเพิ่มขึ้นเพื่อให้ครอบคลุม ทั่วถึง และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย รัฐบาลก่อกำเนิดระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติขึ้น ขณะเดียวกันรัฐบาลก็จำกัดงบประมาณที่จะทำให้เกิดบริการที่มีคุณภาพ แม้มีกฎหมายรองรับแต่ก็ยังไม่มั่นคงในเชิงนโยบายของการบริหาร

คุณหมอคะ การดับสิ้นในโลกนี้มิอาจทำให้การกระทำและเจตจำนงของคุณหมอดับไปด้วย ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องช่วยกันทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพเป็นระบบแห่งชาติที่มีคุณภาพ และทำให้ประชาชนทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีไม่ว่าจะเป็นคนไหน ชนชั้นใด หรือยากไร้เพียงใด มีอีกหลายเรื่องที่ดิฉันและเครือข่ายและสังคมต้องดำเนินการต่อไปนั่นคือ ระบบหลักประกันสุขภาพต้องไม่กีดกันคนที่ยังไม่มีสถานภาพบุคคล (ชาติพันธุ์ ชนกลุ่มน้อย คนยังไม่ได้บัตรประชาชน) ออกไป ต้องเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ มีมาตรฐานพื้นฐานเดียวกันของคนในสังคม ไม่แบ่งแยกว่าคนจน คนในประกันสังคม หรือคนในระบบราชการ การเชื่อมประสานกันระหว่างกฎหมายผู้ประสบภัยจากรถ กับกฎหมายหลักประกันสุขภาพ กองทุนประกันสังคมกับกองทุนหลักประกันสุขภาพและระบบรักษาข้าราชการ การคุ้มครองการเสียหายในระบบบริการ การเข้ามีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพทุกระดับ ดังที่เป็นปณิธานของคุณหมอตลอดมา

เส้นทางชีวิตร่วมกันแม้ไม่ยาวนานนัก แต่คุณหมอทำให้เกิดการเรียนรู้และเข้าใจชีวิตแห่งการเข้าใจคนอื่น การยอมรับความแตกต่างหลากหลาย การทำงานอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยท้อถอย และใส่ใจขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เพราะชีวิตหมอเป็นตัวอย่างที่ทำให้เกิดระบบหลักประกันสุขภาพขึ้นได้ในสังคมไทย

 

* ซีแอล มาจาก CL : Compulsory Licensing ; การบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตร หรือการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยรัฐ เพื่อดำเนินการในกรณีที่ยามีราคาแพง อันเนื่องจากการมีสิทธิผูกขาดในระบบสิทธิบัตร ทำให้มีผลต่อระบบสาธารณสุข ทำให้รัฐไม่มีงบเพียงพอรักษาประชาชนในประเทศ เมื่อประกาศแล้วก็สามารถให้บริษัท หน่วยงานรัฐ ผลิต หรือนำเข้าจากประเทศอื่น

ความเห็น

คนที่ทำงานเพื่อประชาชนจริงพอตายกลับไม่มีคนสนใจ
เท่ากับพวกนักสร้างภาพ ดารง ดารา

ขอยกย่องคุณสงวนจากใจจริง

ชิคุณกุนย่า ถึง ไข้หวัดใหญ่

ไข้ปวดข้อยุงลาย หรือ ชิคุณกุนย่า (Chikungunya) เกิดจากเชื้อไวรัส ที่มียุงลายสวนเป็นพาหะ ที่เน้นว่ายุงลายสวน เพราะจะเห็นระบาดมากในบริเวณจังหวัดภาคใต้ที่มีสวนยางจำนวนมากและวิถีชีวิตคือออกไปกรีดยางในสวนแต่เช้ามืดจึงโดนยุงกัดได้ แต่ปัจจุบันพบผู้ป่วยไปในทุกภาคของประเทศ ๕๕ จังหวัด

บำนาญประชาชน สิทธิของประชาชนเมื่อชราภาพ

การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ปัญหาเศรษฐกิจ ภาวะว่างงาน ตกงาน การไม่ได้รับการประกันรายได้ที่แน่นอนจากรัฐ ทำให้คนจน คนไม่มีงานทำ คนรับงานไปทำที่บ้าน คนไม่มีนายจ้าง และอยู่นอกระบบประกันสังคม คือคนกลุ่มใหญ่ของประเทศที่เป็นเหยื่อของภาวะปัญหาที่รุมเร้า หรือคนเหล่านี้ต้องโทษที่เกิดมาจน และถูกทำโทษต่อไปอีกว่าหากอยากมีบำนาญชราภาพ ก็ต้องมาจากการ ออมเงิน ด้วยตนเอง โดยรัฐจะร่วมจ่ายสมทบในอัตราจำกัด โดยอ้างตลอดเวลาว่าไม่มีเงินเพียงพอ ทั้งที่ยังไม่ได้พยายามอย่างเต็มที่ในการปฏิรูประบบภาษีที่ก้าวหน้าและเป็นธรรม  การดำเนินการจัดสวัสดิการให้ประชาชนเพื่อลดช่องว่างทางรายได้ การเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขของคนมีมากกับคนมีน้อยหรือไม่มีเลย

ซานติกาผับ กับบัตรทอง

เมื่อราวกลางเดือนมกราคม ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา หลังจากเกิดเหตุไฟไหม้สถานบันเทิง “ซานติกาผับ” ได้สองสัปดาห์ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้มีวาระพิจารณาพิเศษว่าด้วยการจ่ายเงินช่วยค่ารักษาพยาบาลผู้ได้รับบาดเจ็บที่มีสิทธิบัตรทอง (ไม่ใช่ข้าราชการ ไม่ใช่ประกันสังคม) จำนวน ๓๑ คนจากผู้บาดเจ็บทั้งหมด ๑๙๖ คน (ข้อมูลเมื่อวันที่ ๙ ม.ค.๕๒) เป็นจำนวนเงินประมาณ ๓.๔ ล้านบาท

รัฐสวัสดิการด้านสุขภาพ : ตรวจสอบระบบหลักประกันสุขภาพ

ประเทศไทยมีระบบสวัสดิการพื้นฐานด้านสุขภาพสำหรับประชาชนทุกคนมาเป็นเวลา ๗ ปีแล้ว บัตรทอง รักษาโดยไม่ต้องจ่าย ณ จุดบริการ สามารถครอบคลุมคนกว่า ๔๗ ล้านคน เมื่อนับรวมกับสวัสดิการข้าราชการ ๖ ล้านคน ประกันสังคม ๑๐ ล้านคน จนถึงวันนี้มีคนไทยอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้รับสวัสดิการรักษาใดใด ซึ่งคือคนไทยที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ชนพื้นเมือง คนไทยพลัดถิ่น คนไม่ได้แจ้งเกิด ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง เป็นคนเร่ร่อนที่ไม่มีใครรับรองสถานภาพได้ เป็นเรื่องที่รัฐบาลไม่สามารถจัดการได้