เมื่อราวกลางเดือนมกราคม ๒๕๕๒ ที่ผ่านมา หลังจากเกิดเหตุไฟไหม้สถานบันเทิง “ซานติกาผับ” ได้สองสัปดาห์ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้มีวาระพิจารณาพิเศษว่าด้วยการจ่ายเงินช่วยค่ารักษาพยาบาลผู้ได้รับบาดเจ็บที่มีสิทธิบัตรทอง (ไม่ใช่ข้าราชการ ไม่ใช่ประกันสังคม) จำนวน ๓๑ คนจากผู้บาดเจ็บทั้งหมด ๑๙๖ คน (ข้อมูลเมื่อวันที่ ๙ ม.ค.๕๒) เป็นจำนวนเงินประมาณ ๓.๔ ล้านบาท
ทั้งนี้ เนื่องจากทั้ง ๓๑ คนมีสิทธิบัตรทอง และเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉิน สามารถเข้ารับการรักษาที่ไหนก็ได้ ขณะเดียวกันมีระเบียบบังคับไว้ว่าควรเป็นสถานบริการที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพด้วย ปรากฎว่ามีเพียง ๖ รายที่ได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนในระบบหลักประกันสุขภาพ อีก ๒๕ คนรับการรักษาในโรงพยาบาลที่ไม่ได้อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพไม่ได้ทำสัญญาร่วมรักษาคนมีบัตรทอง ส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพฯ อย่างไรก็ตามกองทุนหลักประกันสุขภาพ ต้องจ่ายค่ารักษาทั้งหมดให้คนที่รักษาในโรงพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนกับระบบหลักประกันสุขภาพและส่งตัวไปรักษาต่อเนื่องที่โรงพยาบาลต้นสังกัดต่อไป ส่วนคนที่รักษาในโรงพยาบาลที่นอกเหนือจะมีเพดานกำกับอยู่ขึ้นกับลักษณะอาการและโรค จากนั้นสามารถส่งกลับไปรักษาโรงพยาบาลต้นสังกัด หรือหากเจ้าตัวอยากรักษาต่อ ต้องจ่ายส่วนเกินเอง หรือหากมีอาการที่ไม่สามารถย้ายผู้ป่วยได้ ทางกองทุนต้องพิจารณาจ่ายให้ หรือต้นสังกัดพิจารณาจ่ายให้ กรณี ซานติกาผับ นำมาเข้าวาระพิจารณาเพื่อให้มีการจ่ายช่วยเหลือเพิ่มเติมเนื่องจากบาดเจ็บรุนแรงและเพื่อเยียวยาเบื้องต้นกับผู้ได้รับอุบัติเหตุครั้งนี้
เพียงอยากบอกว่า เมื่อเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉิน ประชาชนทุกคนต้องได้รับการรักษาทันที ในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ไม่ต้องคำนึงว่าเป็นโรงพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพหรือไม่ แล้วเจ้าภาพจะตามจ่ายเงินให้ แม้มีเงื่อนไข มีเพดาน แต่ก็ไม่เป็นเหตุให้โรงพยาบาลปฏิเสธการรักษา ซึ่งคิดว่ากรณีข้าราชการ ลูกข้าราชการที่อายุไม่เกิน ๒๐ ปี และสมาชิกประกันสังคม ก็ต้องได้รับการรักษาด้วยเหมือนกัน อาจมีบางรายที่เป็นลูกข้าราชการแต่อายุ ๒๐ ปีพอดี หรือเกินไปแล้ว สิทธิรักษาพยาบาลโดยระบบราชการจะหมดทันที คนเหล่านี้ไม่ไปขึ้นทะเบียนบัตรทอง ก็จะทำให้เกิดสิทธิว่าง ในกรณีซานติกา ผับ มี ๖ รายที่เป็นสิทธิว่าง แต่เมื่อยื่นความจำนงขอขึ้นทะเบียนบัตรทองเลยก็ได้รับการคุ้มครองรักษาทันทีเช่นกัน ซึ่งเป็นหน้าที่ของโรงพยาบาลที่รับรักษาผู้ป่วยที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนบัตรทอง ต้องช่วยเขาขึ้นทะเบียนด้วยทันที เพื่อรับสิทธิได้ค่ารักษาพยาบาล และโรงพยาบาลเอกชนควรตระหนักถึงภาระกิจในการช่วยเหลือสังคมด้วย กรณีรับรักษาผู้ป่วยจากเหตุฉุกเฉิน อุบัติเหตุต่างๆ โดยแสดงเจตจำนงกับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่จะให้บริการกรณีฉุกเฉินต่างๆ
วันนี้ ผ่านมาครึ่งปี อยากระลึกถึงและไว้อาลัยแด่ผู้เสียชีวิตในกองเพลิงที่เผาไหม้ซานติกาผับ ท่ามกลางการเฉลิมฉลองด้วยความสนุกสนานเพื่อส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีไหม่ เวลาผ่านไปแต่ไม่เห็นความก้าวหน้าของคดีนี้สักเท่าไร ใครคือคนที่ต้องรับผิดชอบกับความหละหลวม การปิดบังข้อมูล การโฆษณาชวนเชื่อ ให้คนมาเที่ยวในสถานที่อันสามารถรองรับคนได้เพียง ๖๔๙ คน1 แต่มีคนเข้าไปแออัดยัดเยียดกันในคืนวันนั้นกว่า ๑,๐๐๐ คน โดยในอาคารไม่มีระบบประตูทางออกฉุกเฉินที่เพียงพอ ไม่มีระบบตรวจจับความร้อนและควันไฟ ไม่มีระบบแจ้งเหตุไฟไหม้ ไม่พบป้ายบอกทางออกหนีไฟ และอาจมีการใช้อาคารผิดวัตถุประสงค์ที่ขออนุญาติไว้
สุขภาพของชุมชน คือการเอาใจใส่ต่อสิ่งที่เป็นสาธารณะ หรือบริการต่างๆที่มีให้กับประชาชนว่าถูกสุขลักษณะ มีความปลอดภัย มีระบบป้องกันภัย และมีระบบเยียวยาเมื่อเกิดเหตุ ซานติกาผับ เป็นแค่หนึ่งในหลายพันหลายหมื่นแห่งของสถานบันเทิงที่กระจายอยู่ในกรุงเทพฯและทั่วประเทศไทย รัฐบาลไม่ได้มอบหมาย สั่งการ หรือออกมาตรการใดใดที่จะป้องกันไม่ให้ประชาชนต้องประสบวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นได้ จากข้อเสนอของคณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุข และคุ้มครองผู้บริโภค ของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ระบุให้ต้องมีการปรับปรุงกฎหมายยกระดับสถานบริการ สถานบันเทิงประเภทต่างๆ ต้องมีระบบความปลอดภัยเพิ่มขึ้น ต้องมีการทำประกันภัยเพื่อรับผิดชอบต่อชีวิตและทรัพย์สินเมื่อเกิดภัย มีหน่วยงานที่รับผิดชอบตรวจสอบ ตรวจตราที่ สามารถสั่งปิดได้เมื่อพบปัญหาหรือสิ่งผิดปกติ
ขณะเดียวกันประชาชนก็ควรได้รับข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริง เรื่องการใช้บริการ การตรวจสอบระบบบริการต่างๆว่ามีความปลอดภัยเพียงใด มีการรณรงค์ให้ข้อมูล ข่าวสาร อย่างสม่ำเสมอกับประชาชน ให้คุ้มครองสิทธิตนเอง ก่อนการเลือกใช้บริการต่างๆ ต้องตระหนักถึงความปลอดภัย และสอบถามหรือสังเกต สถานบริการ สถานบันเทิงต่างๆ ว่ามีทางออกเพียงพอ มีระบบเตือนภัย มีข้อระบุถึงพื้นที่ว่าสามารถรองรับคนได้กี่คน เหล่านี้คือสิ่งที่ประชาชนต้องสนใจใส่ใจที่จะพิจารณาและตัดสินใจให้ดีก่อนใช้บริการ
1รายงานการศึกษาเรื่อง ซานติกาผับ โดยคณะทำงานการพัฒนาคุณภาพชีวิต สาธารณสุข และคุ้มครองผู้บริโภค สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ