อวัยวะที่แสดงเพศหญิงและส่งผลต่อความสามารถสืบทอดเผ่าพันธุ์คืออวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการเจริญพันธุ์ ทำให้ต้องมีการพูดถึงการอนามัย [1] เจริญพันธุ์ คือการไม่มีโรค มีสุขภาพดีของอวัยวะสืบพันธุ์
ในเพศหญิงมีมากกว่าหนึ่งอวัยวะ นั่นคือตั้งแต่ปากช่องคลอด ช่องคลอด ปากมดลูก มดลูก รังไข่ ปีกรังไข่ เต้านม รวมถึงการหลั่งฮอร์โมนเพศ การมีประจำเดือน การเจริญพันธุ์จะเกิดได้ก็เมื่อมีเพศสัมพันธ์ แต่เพศสัมพันธ์ไม่ได้มีไว้เพื่อการเจริญพันธุ์ล้วนๆ มีเพศสัมพันธุ์เพื่อความรัก เพื่อครอบครัว เพื่อความรื่นรมย์ เพื่อเศรษฐกิจ เพื่อแสดงอำนาจ เพื่อการควบคุม และอื่นๆ การมีเพศสัมพันธุ์จึงเกิดขึ้นได้ในหลายสถานการณ์รวมถึงเมื่ออยู่ในวัยรุ่น จนเลยวัยเจริญพันธุ์ได้ สำหรับเพศหญิง การดูแลอวัยวะสืบพันธุ์เป็นเรื่องยุ่งยาก เนื่องจากมีหลายอวัยวะ และการไม่สามารถควบคุมการมีเพศสัมพันธ์ของตนได้ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคจากการมีเพศสัมพันธ์ ได้ตลอดเวลา เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ ปีกรังไข่ การได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยาคุมกำเนิด เอดส์ หูด หนองใน ผลข้างเคียงจากการตั้งครรภ์ การแท้ง การทำแท้ง เหล่านี้เป็นต้น
โดยการติดเชื้อโรคนั้นมาจากการมีคู่เพศสัมพันธ์ที่ติดเชื้อด้วย เช่น มะเร็งปากมดลูก มาจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV:Human Papillomaviruses) ซึ่งเป็นไวรัสที่ผู้ชายมีหรือได้รับมาจากการมีเพศสัมพันธ์เช่นกัน แต่ไม่ทำอันตรายให้เพศชาย ความเสี่ยงของเพศหญิงคือ การมีเพศสัมพันธ์กับชายที่มีเพศสัมพันธ์กับคู่ที่หลากหลายมากมายมาก่อน การมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนหลายคน การมีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุน้อย เนื่องจากปากมดลูกในระยะนี้ไวต่อการติดเชื้อ เอชพีวี การสูบบุหรี่หรือการขาดสารอาหารบางอย่างทำให้ร่างกายมีความบกพร่องของกลไกป้องกันไวรัสเอชพีวี ( pooyingnaka.com.htm ) และโอกาสรับเชื้อก็สูงมากนั่นคือมีเพศสัมพันธ์ครั้งเดียวก็มีโอกาสได้รับเชื้อ
เมื่อรับเชื้อแล้วใช้เวลา 2-15 ปีเพื่อพัฒนาไปสู่ภาวะมะเร็ง มีเชื้อเอชพีวี กว่า 20 สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงก่อให้เกิดมะเร็ง และที่มีความเสี่ยงสูงคือสายพันธุ์เอชพีวี 16, 18, 31 และ 33 โดยส่วนใหญ่มะเร็งปากมดลูกมาจากสายพันธุ์ 16 และ18 กว่าร้อยละ 70 ทั่วโลก ระยะเวลาในการก่อมะเร็งที่ยาว ทำให้สามารถตรวจหาภาวะก่อนมะเร็งได้เมื่ออายุ 30-40 ปี ดังนั้น จึงมีข้อแนะนำให้มีการตรวจปากมดลูกเมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป โดยในระบบหลักประกันสุขภาพ สามารถไปขอตรวจได้ฟรี (บัตรทอง) รวมถึงในระบบประกันสังคมด้วย
ความจริงเรื่องวัคซีนมะเร็งปากมดลูก http://www.thaihealth.or.th/cms/detail.php?id=7931 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศเตือนว่า อย่าหลงเชื่อคำโฆษณาเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก [2] เนื่องจากวัคซีนนี้พัฒนามาจากเชื้อ เอชพีวี สายพันธุ์ 16 กับ 18 ในขณะที่มีอีกหลายสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้เช่นกัน
ดังนั้น วัคซีนไม่สามารถป้องกันได้ร้อยเปอร์เซนต์ และจะสามารถป้องกันได้มากที่สุดก็ต่อเมื่อได้ฉีดเข้าร่างกายก่อนการได้รับเชื้อเอชพีวี หรือหมายถึงก่อนการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกด้วยซ้ำ
ดังนั้น วัคซีนนี้จึงเหมาะกับเด็กสาวอายุน้อยกว่า 15 ปีหรือเมื่อกำลังเข้าสู่วัยเจริญพันธ์ มีประจำเดือน อวัยวะสืบพันธุ์พร้อมทำหน้าที่ ซึ่งก็น่าจะอยู่ราวๆ อายุ 12 ปีขึ้นไปและยังไม่มีเพศสัมพันธ์ สำหรับคนที่มีเพศสัมพันธ์ไปแล้วอาจได้รับเชื้อ หรือยังไม่ได้รับเชื้อก็ได้ การฉีดวัคซีนจึงลดความเสี่ยงได้กรณียังไม่ได้รับเชื้อเอชพีวีได้บ้าง การใช้เงินจำนวนหมื่น ถึงสองหมื่นบาท เพื่อฉีดวัคซีน 3 เข็ม สำหรับผู้หญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์มาแล้ว อายุเท่าไรก็ตามจึงอาจไม่คุ้มค่าเท่ากับการตรวจภายในเป็นประจำ
ดังนั้น การใส่ใจสุขภาพอวัยวะสืบพันธุ์ของตนเอง การไปตรวจภายใน การตรวจเนื้อเยื่อปากมดลูก การสังเกตอาการเกี่ยวกับมดลูก ประจำเดือน จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่าสำหรับเพศหญิง ข้อแนะนำสำหรับการเตรียมตัวก่อนไปตรวจภายในคือ ควรไปตรวจหลังจากมีประจำเดือนแล้วสองสัปดาห์ ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ก่อนการตรวจ 24 ชั่วโมง ไม่ควรใช้สารล้างช่องคลอดใดใดก่อนการตรวจ เตรียมบัตรหลักประกันสุขภาพ ตรวจสอบว่าหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนไว้มีข้อแนะนำเกี่ยวกับวันที่มีตรวจเฉพาะหรือไม่จะได้ไปตามวันเวลานั้น หรือการหาข้อมูลหมอที่ตรวจเพื่อความสบายใจ เช่น หมอหญิง หมอชาย เป็นต้น
การฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก ยังไม่อยู่ในสิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพ นั่นคือ หากต้องการฉีด ต้องจ่ายเองเท่านั้น
------
[1] อนามัย น. ความไม่มีโรค,สุขภาพ.ว. เกี่ยวกับสุขภาพ,ถูกสุขลักษณะ, เช่น ข้าวอนามัย กรมอนามัย,(ปาก)สะอาดปราศจากสารพิษเจือปน เช่น ผักอนามัย
[2] http://www.perfectwomaninstitute.com/cancer-woman.php?gclid=CLfSqvry4pECFQsNTAodqmSShw