ทุนนิยม + หุ่นยนต์ = สร้างงาน สินค้า ตลาดใหม่ ทุนนิยมไม่ล่มสลายง่าย ๆ

 

ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์ เขียน

 

หลังจากผู้เขียนได้เผยแพร่เรื่อง “หุ่นยนต์ทำงานให้มนุษย์-ทุนนิยมล่มสลาย สังคมอุดมคติที่เราฝันใกล้มาถึงแล้ว?” เรื่องนั้นได้ทิ้งท้ายไว้ว่า ฝ่ายทุนนิยมเชื่อมั่นว่า ระบบโครงสร้างเศรษฐกิจและการเมืองแบบทุนนิยมจะไม่มีวันล่มสลายง่าย ๆ เพียงแค่มี “หุ่นยนต์” เข้ามาทำงานแทนแรงงานมนุษย์เหมือนพวกมาร์กซิสต์เชื่อ

 

พวกมาร์กซิสต์เชื่อว่า เมื่อหุ่นยนต์เข้ามาทำงานแทน ทำให้มนุษย์ไม่ต้องทำงานแลกเงิน เมื่อแรงงานมนุษย์ไม่จำเป็นต้องทำงาน อุดมการณ์ความคิดที่เสมือนเป็นเหมือนรากฐานคอยพยุงให้โครงสร้างระบบทุนนิยมทำงานทั้งหมดอาจล่มสลายเหมือนพวกมาร์กซิสต์เชื่อ พูดง่าย ๆ เมื่อคนไม่ทำงานแลกเงิน คนไม่พึ่งพาเงินเป็นหลัก คุณค่าของเงินที่เป็นเหมือนหัวใจของทุนนิยมก็จะเสื่อมค่าลงตามไปด้วย

 

แต่สำหรับฝ่ายทุนนิยมกลับเชื่อว่า หุ่นยนต์ รวมถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) “เครื่องจักรกลอัฉจริยะ” (Automation) ที่เข้ามาในกระบวนการผลิตอุตสาหกรรมในยุคปัจจุบันนั้น เป็นเสมือนเครื่องมือช่วยให้การผลิตในระบบอุตสาหกรรมมีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น อีกทั้งมนุษย์ยังคงเป็นแรงงานในภาคการผลิตของอุตสาหกรรมอยู่ แต่จะทำงานในส่วนไหนในระบบการผลิตนั้นก็แล้วแต่ทักษะแรงงาน สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ระบบทุนนิยมทำงานต่อได้ ไม่ล่มสลายง่าย ๆ แน่นอน

 

เหตุผลที่ทำให้ฝ่ายทุนนิยมมีความเชื่อตามข้างต้นสอดคล้องกับความเห็นในหนังสือชื่อ The Second Machine Age (ยุคอุตสาหกรรมเครื่องจักรครั้งที่ 2) ของ Andrew McAffee และ Erik Brynjolfsson (2014) นักวิจัยแห่งสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ในสาขาธุรกิจดิจิทัล สหรัฐอเมริกา

 

พวกเขาบอกว่า ยุคหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ถูกจัดให้อยู่ในยุคอุตสาหกรรมเครื่องจักรครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นยุคที่พูดถึงการเปลี่ยนวิถีระบบการผลิตในอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 ของโลก เป็นยุคที่ระบบการผลิตในอุตสาหกรรมจะเชื่อมต่อกับชุดคำสั่งหรือโปรแกรมที่มนุษย์เป็นผู้ป้อนเข้าไป เพื่อใช้สั่งการผลิตเรียกรวม ๆ ว่าระบบ “เทคโนโลยีการผลิตแบบดิจิทัล” ซึ่งระบบดังกล่าวจะเชื่อมต่อกับระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Internet of Things) ในการผลิต รวมถึงการเกิดขึ้นของตลาดดิจิทัล หรือ รู้จักกันในชื่อ ตลาดออนไลน์ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ขายกับผู้ซื้อมาแลกเปลี่ยนซื้อขายกันได้สะดวกและง่ายขึ้น

 

ยุคอุตสาหกรรมเครื่องจักรครั้งที่ 1 ทำงานโดยแรงงานกายภาพของมนุษย์ แต่ยุคอุตสาหกรรมเครื่องจักรครั้งที่ 2 ทำงานโดยความคิดของมนุษย์ เพราะนับต่อจากนี้ไป อุปกรณ์ เครื่องใช้ สิ่งของทุกอย่างจะถูกสร้างขึ้นจากโปรแกรมที่มีการวางแผนด้วยหลักเหตุผลตามหลักคณิตศาสตร์ (algorithm)  ซึ่งหากเปรียบเทียบกับยุคอุตสาหกรรมเครื่องจักรครั้งที่ 1 (first machine age) ที่ระบบการผลิตต้องอาศัยแรงงานมนุษย์ในการผลิตและเครื่องจักรแรงม้า (horsepower) เช่น ลูกสูบ กังหัน มอเตอร์ไฟฟ้า

 

ยุคอุตสาหกรรมเครื่องจักรครั้งที่ 2 นี้ เป็นยุคแห่งความยิ่งใหญ่ของธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ใช้ซอฟแวร์คอมพิวเตอร์และนวัตกรรมโปรแกรมอัจฉริยะหรือที่เรียกกันว่า ยุคหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการดำเนินการการผลิต รวมถึงตลาดธุรกิจออนไลน์ ถือว่าเป็นยุคแห่งการสร้างสิ่งใหม่ ผลิตภัณฑ์ใหม่ ธุรกิจการบริการแบบใหม่ที่ตอบโจทย์กับประชาชนยุคใหม่ และถือเป็นยุคแห่งการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับนักธุรกิจ นักลงทุนหน้าใหม่ที่จะเข้ามาในตลาดทุนนิยมดิจิทัลที่ยิ่งใหญ่

 

Paul Mason ผู้เขียนหนังสือ Postcapitalism : A Guide to Our Future (2015) ก็วิเคราะห์ไปในทางเดียวกันกับ McAffee และ Erik ว่า ยุคนี้อาจจะเรียกว่ายุคความหลากหลายทางเศรษฐกิจ (diverse economies)

 

เขาเชื่อว่า เทคโนโลยีสารสนเทศอันเข้มข้นจะเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคที่เรียกว่าหลังทุนนิยมได้เร็วขึ้น หลังจากนั้นคนในสังคมจะมีวิถีชีวิต พฤติกรรมและค่านิยมในการใช้ชีวิตแบบใหม่

 

แต่นักวิเคราะห์บางคนก็บอกว่า ยุคนี้ก็ไม่ได้การันตีว่าอนาคตของมนุษยชาติจะดีขึ้น หรือดีกว่าที่ผ่านมา รวมถึงมันก็ไม่การันตีว่ามนุษย์ทุกคนจะสามารถประสบความสำเร็จตามแบบความฝันและมีชีวิตที่สมบูรณ์ของสังคมทุนนิยมได้ เพราะหลักการแบ่งปันผลประโยชน์ให้คนทุกคน ทุกกลุ่มในสังคมทุนนิยมยังไม่เท่าเทียม เป็นธรรมและชัดเจน

 

รวมถึง McAffee และ Erik ยังได้คาดการณ์ไว้อย่างน่าสนใจว่า ในยุคนี้ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้นสูงมาก เพราะในยุคนี้ใครสามารถครอบครองเทคโนโลยีในการผลิตล้ำสมัยในตลาดธุรกิจแบบดิจิทัลได้  ถือว่าเป็นผู้ชนะในโลกของทุนนิยมสมัยนี้ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนในสังคมเพิ่มขึ้น และปัญหาที่มาจากความเหลื่อมล้ำก็จะยิ่งเข้มข้นกว่าเดิม เป็นต้น

 

สำหรับผู้เขียนมันคล้ายกับช่วงการเปลี่ยนผ่านของสังคมยุคเกษตรกรรมมาเป็นยุคอุตสาหกรรม โดยปัจจัยที่เป็นเร่งในการเปลี่ยนผ่านก็คือ “เทคโนโลยี” ซึ่งเป็นการวิถีการผลิต ที่มีผลต่อความสัมพันธ์ทางการผลิต และจะสามารถนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงด้านความคิด ความเชื่อ วัฒนธรรมของสังคมได้ จนนำไปสู่การเกิดขึ้นประวัติศาสตร์สังคม เศรษฐกิจของมนุษย์ใหม่เท่านั้น

 

ภาพจาก - https://www.newequipment.com/industry-trends/automation-offshoring-are-why-workers-are-losing-wages

 

อ้างอิง -