ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์ เขียน
จุดเด่นหนังสือประเทศเล็กที่สมบูรณ์ ของ อ.ประทีป สุธาทองไทย คือเขาพยายามเสนอเป็นนัยว่า ต้องการเสนอวิธีการ “ค้นคว้าและศึกษา” ประวัติศาสตร์สังคม วัฒนธรรม วิถีชีวิตและการเมืองอีสานในรูปแบบเฉพาะ “สิ่ง” โดยค้นคว้าและศึกษาผ่าน “ปกหนังสือ” "ภาพถ่าย" "เรื่องเล่า นิทานพื้นบ้าน ความเชื่อท้องถิ่น"
รูปแบบเฉพาะ “สิ่ง” ยังไง แปลว่าอะไร เดี๋ยวผมจะลองอธิบายตามที่ผมที่เข้าใจ
เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้คร่าวๆ (แบบไม่พูดเยอะ เพราะอยากให้ผู้สนใจซื้อหามาอ่าน) พูดถึงประวัติศาสตร์การเมืองอีสานในช่วงสงครามเย็น บทที่ 1 เรื่อง ประเทศเล็ก : ใต้เงาสีแดง ของ ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์, บทที่ 2 จากนาข้าวสู่ดาวแดง: เรื่องราวการต่อสู้ด้วยอาวุธของชาวอีสานที่ไม่ถูกเล่า ของฟาเบียน ตระมูน นักข่าวและนักมานุษยวิทยา, บทที่ 3 ภาพ/ที่/ต่าง ของอนุสรณ์ ติปยานนท์, บทที่ 4 ความรู้และการเก็บรวบรวมเอกสารในฐานการปกครอง ของเก่งกิจ กิติเรียงลาภ, บทที่ 5 เรื่องเล่าเล็กๆ ที่ไม่เสร็จสมบูรณ์ในชนบทอีสาน ของ ชานนท์ ไยทองดี, บทที่ 6 ชาวนาอีสานหลากมิติ: การเปลี่ยนแปลงภายใต้โลกาภิวัตน์ และสุดท้าย สัตว์มนุษย์: ดุจดาว วัฒนปกรณ์
ขอเริ่มด้วยเรื่องนี้ก่อน อ.ประทีปเคยกล่าวไว้ในบทความเกี่ยวกับ นิทรรศการจิตรกรรมประเทศเล็กที่สมบูรณ์ของเขาใน เดอะอีสานเรคคอร์ด ประมาณว่า เขาอยากชวนย้อนดูร่องรอยประวัติศาสตร์สังคมอีสานช่วงทศวรรษ 2520 ซึ่งถูกเรียกว่า “ยุคเฟื่องฟูของงานเขียนประวัติศาสตร์อีสาน” ผ่านปกหนังสือ เช่นหนังสือแบบเรียน ท่องเที่ยวและวิทยานิพนธ์หลาย 10 เล่ม ที่รัฐและสื่อมวลชนยุคนั้นสร้างไว้ให้คนอีสานมีความคิด ความเชื่อและภาพจำอะไรบางอย่างผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ หนึ่งในเครื่องมือที่รัฐใช้ครอบงำความรู้ ความคิดของคนในสังคม
โดย “ปกหนังสือ” ก็คือ “สิ่ง” ที่ผมคิดว่า อ.ประทีป ยกให้มันเป็นวัตถุแห่งความรู้ทางประวัติศาสตร์ (ประโยคนี้ได้จากบทความของ เก่งกิจ กิติเรียงลาภ) - ที่เขียนไว้ในหนังสือเล่นนี้ ในบทที่พูดถึง “ความรู้และการเก็บรวบรวมเอกสารในฐานการปกครอง”
บทความของ อ.เก่งกิจ เหมือนมาขยายความให้เห็นถึงวิธีวิทยาในการค้นคว้าและศึกษา ปวศ. ในอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้ข้อมูล ข้อเท็จและการตีความทางประวัติศาสตร์อีกมุมหนึ่ง โดยอธิบายผ่านการวิเคราะห์ของ Foucault ในเรื่องเจตจำนงนำไปสู่ความรู้และวัตถุของความรู้
โดยผมเข้าใจประมาณว่า วิธีวิทยา (เทคนิค, วิธีการ) ในการค้นคว้า ศึกษาประวัติศาสตร์แบบสืบสาวหาจุดกำเนิดแบบหนึ่งเดียว เส้นตรง ต่อเนื่อง ผ่านวิธีวิทยาที่เหล่า นัก ปวศ. นักมานุษยวิทยายุคอาณานิคม “นิยมทำกัน” ซึ่งต้องเก็บรวบรวมหลักฐานข้อมูลข้อเท็จจริง ค้นคว้าเป็นขั้นตอนวิธี จัดเก็บแยกประเภทและจัดทำรายงานความรู้ที่ได้จากการตีความและวิเคราะห์เป็นเอกสารเผยแพร่ (ย่อยสิ่งที่ อ.เก่งกิจ เขียนไว้)
ตัวอย่าง จดหมายเหตุของรัฐ ที่ใช้วิธีวิทยาทางประวัติศาสตร์ข้างต้น ที่มีการวิพากษ์ว่า จดหมายเหตุมี “คนที่มีอำนาจ” คอยควบคุมและจัดการเนื้อหาให้เป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการทางการเมืองของผู้มีอำนาจ ก็คือ “รัฐ” เป็นต้น
ซึ่งสุดท้ายแล้วมันกลายเป็นข้อเท็จทางประวัติศาสตร์ในมุมมองเดียว ซึ่งเป็นมุมมองของเจ้าอาณานิคมและรัฐผู้ปกครองเพื่อตอบสนองความต้องการทางการเมืองอะไรบางอย่าง
อ.เก่งกิจยังกล่าวว่า Foucault ชวนใช้วิธีใหม่ในค้นคว้าศึกษาเพื่อให้เกิดตีความและวิเคราะห์ที่หลากหลายมุม ไม่ได้มีมุมของรัฐผู้ปกครองอย่างเดียว ประมาณว่า หากนำ “สิ่ง” บางสิ่งมาเป็นวัตถุความรู้ประวัติศาสตร์มาศึกษา ตีความอาจได้เห็นประวัติศาสตร์อีกด้านที่รัฐไม่เคยพูดถึงและให้พื้นที่ สุดท้ายแล้วอาจจะนำไปสู่ข้อค้นพบทาง ปวศ. ใหม่ (บทที่ อ.เก่งกิจ เขียนสำหรับผมมีรายละเอียดเยอะมาก แต่ผมจับประเด็นได้ประมาณนี้ ผมคิดว่า งานของ อ.เก่งกิจ ก็ศึกษาแผนที่ ซึ่งเป็น “สิ่ง” เช่นกัน เลยนำมาพูดถึงในการ ศึกษา “ปกหนังสือ” เช่นกัน
นอกจาก “ปกหนังสือ” ของ อ.ประทีป บทความเรื่อง ภาพ/ที่/ต่าง ของอนุสรณ์ ติปยานนท์ ก็พูดถึง “ภาพถ่ายหญิงสาวใบหนึ่ง” ถือเป็น “สิ่ง” - วัตถุแห่งความรู้ทางประวัติศาสตร์ ที่เขาได้มาจากอัลบั้มภาพเก่าร้านค้าแห่งหนึ่งที่อุบลราชธานี ซึ่งภาพนั้นมีข้อความเขียนว่า “บ.ภูริพัฒน์” ซึ่งคำว่า “ภูริพัฒน์” ตรงกับนามสกุลของทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ส.ส.อุบลราชธานี 1 ใน 4 รัฐมนตรีอีสานที่ถูกสังหาร ช่วงที่รัฐไทยกลัวภัยคอมมิวนิสต์ทำให้อนุสรณ์ตามหาว่า บ.ภูริพัฒน์ เป็นใคร ทั้งค้นคว้าอ่านงานเกี่ยวกับ ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ หลายชิ้นแต่ก็ไม่พบว่าเธอเป็นใคร (อยากรู้ไปหามาอ่านครับ - แอบขายของให้ 55)
รวมไปถึงงานของ เรื่องเล่าเล็กๆ ที่ไม่เสร็จสมบูรณ์ในชนบทอีสาน ของ ชานนท์ ไยทองดี ที่พูดถึง "เรื่องเล่า นิทานพื้นบ้าน ความเชื่อท้องถิ่น" ก็ถือเป็น “สิ่ง” เป็นวัตถุแห่งความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่สามารถศึกษาได้เช่นกัน
อ.ประทีป เคยกล่าวทิ้งท้ายในบทความเข้าที่เดอะอีสานเรคคอร์ดว่า
ผมไม่ขอสร้างข้อสรุปใด ๆ จากปกสิ่งพิมพ์เกี่ยวกับอีสานที่นำมากล่าวถึงในบทความนี้ นอกจากเห็นว่า สิ่งพิมพ์เหล่านี้มีความน่าสนใจในประเด็นของหนังสือกับการเลือกใช้ภาพ เพื่อแทนเนื้อหาสำคัญบางอย่าง ตั้งแต่ช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ที่อีสานถูกมองเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยชัดเจนขึ้น แต่ก็ยังไม่มีภาพอะไรที่จะสะท้อนถึงอีสานได้อย่างชัดเจน นอกจากการเป็นดินแดนของคนที่ถูกมองว่าต้อยต่ำในสายตาของส่วนกลาง ซึ่งเป็นประเด็นที่อยากชวนให้ผู้สนใจร่วมกันตั้งข้อสังเกตผ่านสิ่งพิมพ์ในช่วงเวลาดังกล่าวต่อไป
อ่านบทความที่เดอะอีสานเรคคอร์ดได้ https://isaanrecord.com/2019/08/11/prateep-suthathongthai-art/