Skip to main content

 



ผมเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยร่วมเคลื่อนไหวในคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) เพื่่อนๆ คงได้ข่าว ครก.112 บ้างนะครับ ผมอยากส่งจดหมายแสดงความเห็นใจและให้กำลังใจเพื่อนๆ เนื่องจากผมเป็นคนหนึ่งที่เห็นว่ากฎหมายนี้ไม่เป็นธรรม และก่อกรรมทำบาปกับประชาชนมาเป็นจำนวนมากแล้ว

แม้ว่าผมจะไม่ได้ลงแรงมากเท่ากับคนอื่นๆ แต่สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการรณรงค์กับครก.ในระยะ 112 วันก็มากมาย ที่สำคัญได้แก่

(หนึ่ง) ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ยุติธรรมกับผู้ต้องโทษในคดีนี้ นับตั้งแต่การกล่าวโทษว่าใครผิด ยิ่งอุดมการณ์เบื้องหลังกฎหมายมาตรานี้ยิ่งเลวร้าย ถึงขนาดบิดเบือนหลักสากลของกฎหมายสมัยใหม่ ที่จะต้องถือว่าผู้ต้องหาไม่ผิดจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าผิด

นอกจากนั้น ผู้ต้องหาคดีนี้ในรายที่ยากจน เป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมในประเด็นที่ล่อแหลม เป็นคนไม่มีฐานะทางสังคม ก็มักไม่ได้รับการให้ประกันตัว เหมือนไม่เป็นคนเท่าเทียมกับคนอื่นๆ

ปัญหาของ ม.112 ยังมีอีกมากมายจนอาจอภิปรายกันได้เป็นวันๆ แต่ข้อเลวร้ายที่อยากเอ่ยถึงอีกประการหนึ่งคือ ม.112 ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ใช้กลั่นแกล้งส่วนบุคคล และเลยเถิดไปถึงใช้เป็นข้ออ้างในการสังหารประชาชนกลางเมืองหลวง ดังที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายน - พฤษภาคม 2553

(สอง) แต่สังคมก็ไม่ได้หูหนวกตาบอดต่อปัญหาดังกล่าว ทำให้การรณรงค์ของครก.ไม่ได้มีเพียงนักกิจกรรมทางสังคม นักเขียน และนักวิชาการ แต่ยังมีประชาชนจำนวนมากให้ความสนใจ นั่นแสดงว่าประชาชนจำนวนมากเห็นว่ากฎหมายนี้ไม่เป็นธรรม

จากการไปสัญจรในเวทีต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ผมเห็นว่าการตื่นตัวที่จะเรียนรู้ถึงปัญหา ม.112 มีมากเกินกว่าที่เคยมีการหยิบยกปัญหานี้ขึ้นมาอภิปรายในที่สาธารณะในอดีต 

ที่สำคัญคือ ความตื่นตัวนี้ไม่ได้แบ่งแยกสีเสื้อ มีทั้งคนเสื้อแดง คนเสื้อเหลือง และคนเสื้อหลากสีที่เห็นปัญหานี้ ความตื่นตัวไม่ได้จำกัดเฉพาะคนรุ่นผู้ใหญ่ที่ตื่นตัวทางการเมือง แต่ยังมีนิสิต นักศึกษาจำนวนมากที่เข้าใจปัญหานี้ จึงกล่าวได้ว่า สังคมทั้งสังคมกำลังเฝ้าติดตามปัญหานี้อยู่

(สาม) คงมีแต่นักการเมืองและชนชั้นนำที่กุมอำนาจอยู่ ที่ไม่เห็นว่าสิ่งนี้เป็นปัญหา ผมวิเคราะห์เอาเองว่า พวกเขากลัวว่าการยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 จะทำให้พวกเขาสูญเสียอำนาจ มากกว่าที่จะเป็นการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างที่พวกเขากล่าวอ้าง

คงมีก็แต่องค์กรอิสระที่ไม่มีความกล้าหาญทางจริยธรรมเพียงพอ ที่จะสามารถแปลงความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์อย่างตรงไปตรงมา ให้เป็นความรับผิดชอบต่อหน้าที่ขององค์กรที่ตนเองทำงานรับเงินเดือนอยู่ได้ จึงไม่เห็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของ ม.112

เพราะฉะนั้น แม้ผู้มีอำนาจในสังคมนี้จะยังหน่วงรั้งการเปลี่ยนแปลงอยู่ แต่คนจำนวนมากในสังคมกำลังเห็นปัญหาของม.112 นั่นแสดงด้วยว่า คนจำนวนมากเห็นอกเห็นใจเพื่อนๆ ที่ต้องขังในนามนักโทษ 112 

พวกเขาไม่ใช่ญาติพี่น้องของเพื่อนๆ ที่ต้องขังอยู่ พวกเขาไม่มีผลประโยชน์ใดๆ กับเพื่อนๆ ที่ต้องขังอยู่ แต่พวกเขาร่วมรณรงค์อย่างแข็งขัน และร่วมลงชื่อจำนวนมหาศาลถึงเกือบ 4 หมื่นรายชื่อ ทั้งๆ ที่กระแสต่อต้านจากกลุ่มที่เสียประโยชน์จากการแก้ไข ม.112 รุนแรงยิ่งนัก

แม้ว่าวันนี้กฎหมายจะยังไม่ถูกเปลี่ยนแปลง แต่สังคมย่อมก้าวหน้ากว่ากฎหมายที่ถูกบัญญัติไว้ และในท้ายที่สุด พลังของสังคมจะต้องผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมายจนได้

ขอให้นักโทษ 112 ได้รับกำลังใจจากกระแสสังคมที่ก้าวหน้าและนับวันจะทบทวีการตระหนักต่อปัญหาของม.112 มากย่ิงขึ้นนี้ 

พร้อมขอฝากไปยังผู้มีอำนาจว่า หากพวกคุณใช้ความรู้สึกสำเหนียกถึงความเป็นมนุษย์ในการบริหารประเทศมากกว่านี้ พวกคุณก็จะเข้าใจปัญหาสิทธิมนุษยชนได้ ในระดับเดียวกับที่ปุถุชนในสังคมไทยเขาเข้าใจกัน


ยุกติ มุกดาวิจิตร

 

ที่มาภาพ: รายงาน: นักโทษ112 ชวนส่ง 'อีเมล์หยดน้ำ'– โปสการ์ดฝีมือ‘หลานอากง

 

 

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
รถกระบะพัฒนาจากการเป็นปัจจัยการผลิตจนกลายเป็นปัจจัยทางวัตถุเชิงวัฒนธรรมในระยะ 20 ปีมานี้เอง การเกิดขึ้นของวัฒนธรรมรถกระบะไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เกิดจากปัจจัยเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และรัฐบาลนั่นแหละที่มีส่วนสำคัญทำให้เกิดพัฒนาการนี้ขึ้นมา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไปโตรอนโตได้สัก 5 วัน แต่เวลาส่วนใหญ่ก็อยู่ในห้องประชุม กับนั่งเตรียมเสนองาน จะมีบ้างก็สองวันสุดท้าย ที่จะมีชีวิตเป็นของตนเอง ได้เดินไปเดินมา เที่ยวขึ้นรถเมล์ รถราง กิน ดื่ม ละเลียดรายละเอียดของเมืองบางมุมได้บ้าง ก็ได้ความประทับใจบางอย่างที่อยากบันทึกเก็บไว้ ผิดถูกอย่างไรชาวโตรอนโตคงไม่ถือสานัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อีกสถานที่หนึ่งที่ตั้งใจไปเยือนคือโรงเบียร์ใจกลางเมืองชื่อ Steam Whistle ทำให้ได้เห็นทั้งวิธีคิดของเมือง วิธีการทำเบียร์ ความเอาจริงเอาจังของคนรุ่นใหม่ในแคนาดา รวมทั้งเข้าใจอะไรๆ เกี่ยวกับเบียร์มากขึ้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แรกทีเดียวก่อนไปชม ก็ไม่คิดว่าจะได้อะไรมาก คิดว่าคงแค่ไปดูความเป็นมาของบาทาเป็นหลัก แล้วก็คงมีรองเท้าดีไซน์แปลกๆ ให้ดูบ้าง กับคงจะได้เห็นรองเท้าจากที่ต่างๆ ทั่วโลกเอามาเปรียบเทียบกันด้วยความฉงนฉงายในสายตาฝรั่งบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมมาประชุมวิชาการ AAS ประจำปี 2017 ที่โตรอนโต แคนาดา เมื่อเสนองานไปแล้วเมื่อวาน (18 มีค. 60) เมื่อเช้าก็เลยหาโอกาสไปทำความรู้จักกับเมืองและผู้คนบ้าง เริ่มต้นจากการไปแกลลอรีแห่งออนทาริโอ แกลลอรีสำคัญของรัฐนี้ ตามคำแนะนำของใครต่อใคร ไปถึงแล้วก็ไม่ผิดหวังเพราะแกลลอรีนี้น่าสนใจในหลายๆ ลักษณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดในการจัดแสดงงาน การเล่าเรื่องราว และการแสดงความเป็นแคนาดา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้มิวเซียมสยามมีนิทรรศการชั่วคราวชุดใหม่จัดแสดงอยู่ ชื่อนิทรรศการ "ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน !" ผมเพิ่งไปดูมาเมื่อสองวันก่อนนี้ ดูแล้วคิดอะไรได้หลายอย่าง ก็ขอเอามาปันกันตรงนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทันทีที่ คสช. ขอบคุณ ธีรยุทธ บุญมี ธีรยุทธก็ได้วางมาตรฐานใหม่ให้แก่การทำงานวิชาการเพื่อสนับสนุนและแอบอิงไปกับเผด็จการทหาร แนวทางสำคัญ ๆ ได้แก่งานวิชาการที่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (27 มค. 60) ไปสอน นศ. ธรรมศาสตร์ปี 1 ที่ลำปาง วิชามนุษย์กับสังคม ผมมีหน้าที่แนะนำว่าสังคมศาสตร์คืออะไร แล้วพบอะไรน่าสนใจบางอย่าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวันที่ 18 พย. ผมไปดูละครเรื่อง "รื้อ" มา ละครสนุกเหลือเชื่อ เวลาชั่วโมงครึ่งผ่านไปอย่างรวดเร็ว พอดีผู้จัดซึ่งเป็นผู้แสดงหลักคนหนึ่งด้วย คืออาจารย์ภาสกร อินทุมาร ภาควิชาการละคร ศิลปกรรม ธรรมศาสตร์ ชวนไปเสวนาแลกเปลี่ยนหลังการแสดง ก็เลยต้องนั่งดูอย่างเอาจริงเอาจัง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักมานุษยวิทยามีแนวโน้มที่จะ "โรแมนติก" นั่นคือ "อิน" ไปกับกลุ่มคนที่ตนเองศึกษา ความเห็นอกเห็นใจอาจเกินเลยจนกลายเป็นความหลงใหลฟูมฟายเออออไปกับกลุ่มคนที่ตนเองศึกษา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ความเคลื่อนไหวในสังคมไทยขณะนี้มีหลายเหตุการณ์ที่ชี้ให้เห็นถึงขีดจำกัดคุณค่าความดีของสังคมไทยปัจจุบัน นั่นคือข้อเท็จจริงที่ว่า ความดีแบบไทยๆ ไม่จำเป็นต้องดีเสมอไป ไม่จำเป็นต้องดีอย่างไม่ต้องสงสัย เป็นความดีที่ผูกติดกับสังคมนิยมชนชั้น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอก ผมไปเกาหลีเที่ยวนี้เพื่อไปประชุมวิชาการครบรอบ 50 ปีการก่อตั้งภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยฮันกุ๊กภาษาและกิจการต่างประเทศ (Hankuk University of Foreign Studies)